วิถีนักชกงู ชีวิตบนเส้นด้าย เป็น-ตายแค่เสี้ยววินาที


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก นิตยสาร ค ฅน

         งูนับร้อยตัวที่ถูกเก็บอยู่ในลังไม้ทั่วทุกบ้านโคกสง่า ต.ทรายมูล อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น อาจสร้างความรู้สึกขวัญหนีดีฝ่อแก่ผู้มาเยี่ยมเยือน แต่สำหรับชาวบ้านที่นี่ ไม่มีใครกลัวอสรพิษตัวร้ายเหล่านี้ หนำซ้ำพวกมันยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการประกอบอาชีพพิเศษของชาวบ้านโคกสง่าแห่งนี้ ที่ถูกเรียกขานนามว่า "หมู่บ้านงูจงอาง"

         ย้อนกลับไปเมื่อ 60 กว่าปีก่อน หมู่บ้านแห่งนี้ก็ไม่ได้ต่างจากหมู่บ้านตามชนบททั่วไป แต่จุดเปลี่ยนสำคัญมาจาก "พ่อใหญ่เคน ยงลา" หมอยาผู้มีอาชีพเดินทางเร่ขายสมุนไพร ได้เริ่มจับงูเห่ามาแสดงประกอบการเร่ขายยาเป็นครั้งแรกในปี 2494 จากนั้นมา วิถีคนกับงูก็ได้เข้ามาเปลี่ยนชีวิตของคนในหมู่บ้านแห่งนี้ เพราะ "งู" ทำหน้าที่เรียกลูกค้าให้มาซื้อยาสมุนไพรโดยที่พ่อใหญ่ไม่ต้องบุกป่าฝ่าเขาหลายลูกไปขายในที่ไกล ๆ ดังเดิม จนเขาสามารถเก็บเงินส่งลูกส่งหลานเรียนจบปริญญา และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

         เมื่อเห็นว่าพ่อใหญ่มีชีวิตที่ดีขึ้น ชาวบ้านโคกสง่าจึงเริ่มสนใจขอฝึกฝนวิชาสมุนไพร และวิชาเล่นงูจากพ่อใหญ่เคนบ้าง ซึ่งพ่อใหญ่ก็ถ่ายทอดวิชาให้แบบไม่มีกั๊ก หลังจากนั้นมา ชาวบ้านที่นี่ก็มีอาชีพเสริมเร่ขายสมุนไพรบวกกับการโชว์งู นอกเหนือจากการทำนาตามฤดูกาล สร้างรายได้มหาศาลให้กับชาวบ้าน ซึ่งตัวเงินที่มากกว่าการทำนาเพียงอย่างเดียวก็ยิ่งเป็นแรงดึงดูดใจสำคัญให้คนทั้งหมู่บ้านยอมเสี่ยงที่จะเลี้ยงอสรพิษ
 เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจึงริเริ่มเปิดการแสดงชกมวยกับงูขึ้นในหมู่บ้าน จากเดิมที่ใช้งูเห่าก็เปลี่ยนมาเป็นงูจงอาง เพราะเกรงว่างูเห่าจะพ่นพิษใส่ผู้ชม เมื่อชื่อเสียงการแสดงชกมวยกับงูเป็นที่เลื่องลือ ก็ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกมาเยือนหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนี้ จนปัจจุบัน บ้านโคกสง่าก็ได้กลายเป็นที่ตั้งของ "ชมรมงูจงอางแห่งประเทศไทย" โดยมีชาวบ้านเป็นประธานและผู้บริหารงาน ขณะเดียวกัน ชาวบ้านทุกคนต่างยกให้พ่อใหญ่เคนเป็นปรมาจารย์คนแรกของโลกที่สอนวิชาเล่นกับงูแบบนี้

         อ.ก้อมชัย ขวัญใจโคกสง่า ในวัย 66 ปี ผู้ได้รับฉายาว่า "มนุษย์หิน" จากประสบการณ์ขึ้นสังเวียนชกงูมานานหลายสิบปี บอกว่า การชกกับงูนั้นไม่จำเป็นต้องใช้คาถาอะไร อาศัยความสามารถเฉพาะตัวอย่างเดียว

         "งูไม่ต้องฝึก แต่ต้องฝึกที่คน ใจต้องกล้า ต้องฝึกหลบหลีกให้ถูกจังหวะ งูที่แสดงดีคืองูที่สู้ ถ้างูที่หนีจะแสดงยาก การทำให้มันสู้ก็ต้องทำให้มันโกรธ เช่น เอามือไปตีหลังมัน มันก็จะฉก แต่ละตัวก็ฉกไม่เหมือนกันนะ ตัวไหนที่ชูคอสูงจะระวังง่าย แต่ตัวที่ฉกต่ำ ๆ ระวังยากสำคัญคือใจเราต้องจดจ่อ ถ้าแสดงกับงู ไม่ต้องมองหรอกใครนั่งอยู่ เราต้องมองงูอย่างเดียว" ก้อมชัย เล่าถึงเคล็ดลับ และยังบอกอีกว่า การชกงูต้องพัฒนาไปเรื่อย ๆ อย่าหยุดนิ่ง ต้องทำให้คนดูสะใจมากขึ้นด้วยลีลาที่ชวนให้ผู้ชมเสียวไส้ 

         "แต่ก่อนงูฉกมาเราอาจหลบเฉย ๆ แต่วันนี้เราต้องมีลูกหวาดเสียวให้เขาดู เช่น งูฉกมาปุ๊บ เราหมอบปั๊บ งูจะผ่านหัวเราไป ให้มันฉกมาใกล้ ๆ ดูหวุดหวิด มันก็จะเป็นความดึงดูดใจ"

         แต่ไม่ว่าอย่างไร การคลุกคลีอยู่กับงูจงอางมาแทบทั้งชีวิตตั้งแต่อายุ 13 ปี จนถึงอายุ 66 ปี ก็คงหนีไม่พ้นการพลาดท่าถูกฉกกัด ไม่ว่าจะบนเวทีหรือล่างเวที แต่ก้อมชัยก็บอกว่า ทุกครั้งที่เขาถูกงูกัด เขาไม่เคยไปโรงพยาบาลเลย แม้เลือดจะออกมาก เพราะจะรีบกินว่านพญางูทันทีตามสิ่งที่พ่อใหญ่เคน ซึ่งเป็นอาจารย์ของเขาได้สอนสั่ง แม้จะรู้ว่าการเล่นงูแบบนี้สุดเสี่ยงต่อการเสียชีวิต แต่เขาก็ไม่คิดหันไปทำอาชีพอื่นที่น่าจะปลอดภัยกว่า เพราะการเล่นกับงูเป็นสิ่งที่เขาถนัดไปเสียแล้ว และก็ไม่เคยเข็ดเมื่อพลาด เพราะคิดง่าย ๆ ว่า 

         "มันยังไม่ถึงคราวเรา คนเราถ้าไม่ถึงคราวก็ไม่ตายหรอก แต่ถ้าคนเราถึงคราวนะ ผมว่าไม่ต้องถูกงูกัด แค่ไม้จิ้มฟันทิ่มเหงือกก็เสือกตายได้ เหมือนเราดำนา เราก็คงไม่คิดหรอกว่าดำไปแล้วฝนจะแล้ง ทำอะไรก็ต้องเสี่ยงทั้งนั้น ต่อให้ถูกรางวัลฝาชาเขียวได้เงิน 10 ล้าน ก็ยังจะแสดงต่อ เพราะมันเป็นอาชีพของผม เป็นชีวิตของผม ก็จะแสดงจนกว่าตาจะมองไม่เห็น" ก้อมชัย บอก แต่เมื่อถามถึงรายได้ เขากลับบอกว่า 

         "พูดถึงเงินที่ได้ มันก็ไม่คุ้มหรอก แต่คิดให้มันคุ้ม มันก็คุ้ม เพราะใจเรารัก เราอย่าไปคิดว่าเห็นแก่เงินแก่ทองมากเกินไป เพราะถึงยังไงก็ขึ้นชื่อว่าหมู่บ้านงูจงอางอยู่แล้ว ได้ไม่ได้ยังไงเราก็ต้องไปแสดงให้เขาดู มันเป็นหน้าที่ของเรา" 
 แม้ปัจจุบันจะคิดเช่นนี้ แต่ ก้อมชัย ผู้ซึ่งเป็นหมองูที่มีชื่อเสียงอย่างมากในยุคแรก ๆ และออกรายการโทรทัศน์มาแล้วทุกช่อง รับโล่รางวัลมาแล้วก็หลายแห่ง ก็ยอมรับว่า ในตอนแรก ๆ เขายึดอาชีพนี้ก็เพื่อหารายได้มาเลี้ยงแม่เท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งมีชีวิตพิษร้ายก็ได้เพิ่มพูนความหมายและกลายเป็นความภาคภูมิใจของชีวิต เพราะครั้งหนึ่ง เขาได้มีโอกาสแสดงต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระเทพฯ และทรงมีพระราชปฏิสันถารด้วยนานนับชั่วโมง เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ก้อมชัยภูมิใจที่สุดในชีวิต
 
         "เราต้องพัฒนาไปเรื่อย ๆ ต้องให้สะใจคนดูมากขึ้น แต่ก่อนงูฉกมาเราอาจหลบเฉย ๆ แต่วันนี้เราต้องมีลูกหวาดเสียวให้เขาดู เช่น งูฉกมาปุ๊บ เราหมอบปั๊บ งูจะผ่านหัวเราไป ให้มันฉกมาใกล้ ๆ ดูหวุดหวิด มันก็จะเป็นความดึงดูดใจ" 

         แล้วสงสัยบ้างไหมว่า ชาวบ้านโคกสง่าที่มีวิถีชีวิตคุ้นเคยกับงูขนาดนี้ จะมีใครต้องมาจบชีวิตลงเพราะงู เหมือนกับสำนวนไทยที่ว่า "หมองูตายเพราะงู" บ้างไหม คำตอบก็คือ "มี" โดยนับตั้งแต่ปี 2494 เป็นต้นมา หมู่บ้านแห่งนี้มีหมองูตายเพราะงูไปแล้ว 4 คน แต่สาเหตุส่วนใหญ่มาจากความประมาทมากกว่างู โดยรายล่าสุดที่เป็นข่าวดังตามหน้าหนังสือพิมพ์ก็คือ "เก้าแสน เก้าพยัคฆ์" ผู้ทำสถิติถูกงูกัดสูงสุดในหมู่บ้านถึง 43 ครั้ง แต่ต้องมาเสียชีวิตในครั้งที่ 44 และไม่ใช่การถูกกัดบนเวที แต่คือการถูกกัดขณะล้วงงูออกจากกล่องก่อนไปแสดง

         อย่างไรก็ตาม แม้จะมีคนสิ้นลมหายใจเพราะงู แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ชาวบ้านตื่นตระหนกตกใจกลัวกัน เพราะสถิติคนที่ถูกงูกัดแล้วรอดชีวิตมีมากกว่าเยอะ คนในหมู่บ้านยังมีวิถีชีวิตที่ไปด้วยกันกับ "งู" ต่อไป ซึ่งก็ไม่เพียงแต่ผู้ใหญ่เท่านั้น แม้แต่เด็ก ๆ ในหมู่บ้านก็สามารถจับงูได้ราวกับเป็นของเล่น บางคนที่มีแววหน่อยก็สามารถขึ้นเวทีโชว์ชกกับงูเรียกทุนการศึกษาจากนักท่องเที่ยวได้โดยทั้งนี้ งูที่บรรดาเด็ก ๆ ได้รับการอนุญาตให้เล่นได้ คือ งูไม่มีพิษ หรือมีพิษอ่อน ๆ เช่น งูสิงห์, งูทางมะพร้าว แต่งูพิษร้ายแรงอย่างงูจงอางยังเป็นสิ่งต้องห้าม จนกว่าอายุจะเกิน 15 ปี

         และทุกปีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนในหมู่บ้านที่ไปเร่ขายยาจะกลับมารวมตัวกัน ทางชมรมก็ถือโอกาสจัดเป็น "เทศกาลวันงูจงอาง" ขึ้น ภายในงานมีทั้งขบวนแห่, การประกวดธิดางู, การชกมวยกับงูที่มีพิธีไหว้งูอย่างเต็มรูปแบบ, โต๊ะจีนงู ซึ่งก็คือการให้อาหารงูให้นักท่องเที่ยวชม, การให้งูว่ายน้ำแข่งกัน ฯลฯ 

          หากมองในมุมเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้คือจุดขายและเป็นหนทางสร้างรายได้อันสำคัญ แต่มากกว่านั้น อสรพิษเหล่านี้ยังได้ทำหน้าที่ดึงให้คนกลุ่มหนึ่งกลับมารวมกันที่บ้านเกิด ไม่ต้องไปรับจ้างใคร มีอิสระ และทำให้คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านก็ไม่ต้องอยู่อย่างเงียบเหงาเพียงลำพัง หลาย ๆ คนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อยู่อย่างนี้มีความสุขกว่าตอนที่ไปทำงานในกรุงเทพฯ หลายเท่า เพราะได้อยู่กับญาติพี่น้องพร้อมหน้าพร้อมตา อีกทั้งสิ่งเหล่านี้ยังเป็นสิ่งทำให้ชาวบ้านโคกสง่าเกิดความภาคภูมิใจในหมู่บ้านของตนเองอย่างที่สุด ...






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

นิตยสาร ค ฅน ปีที่ 8 ฉบับที่ 4 (87) มีนาคม 2556
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...