โลกที่เห็นและเป็นอยู่ ปีงู(เล็ก)2013

 

“เวลา” ทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อสัตย์เที่ยงตรงเสมอ ปีมะโรง “งูใหญ่” หรือ “มังกรทอง” ทะยานจากไป พร้อมเรื่องราวหลากหลาย ปี “มะเส็ง” หรือ “งูเล็ก” เลื้อยปราดเข้ามารับช่วงแทน แต่แน่นอนว่า โลกยังเป็นใบเดิม มีทั้งเรื่องดีเรื่องร้าย บางสิ่งเลือนลับไป บางสิ่งยังยึดโยงกับปีเก่า บางสิ่งอุบัติขึ้นใหม่ นี่คือสัจธรรม!

•••••••••••••••••••

เป็น ที่รู้กันดีว่า ปี “งูใหญ่” ที่ลับล่วง ไม่มีปัญหาใดที่ส่งผลกระทบต่อโลกทั้งใบอย่างกว้างขวางรุนแรงเท่ากับวิกฤติ เศรษฐกิจ-การเงิน ในสหรัฐฯ และยุโรป ทำเอามหาอำนาจตะวันตกอ่วมอรทัยเป็นยักษ์ป่วย และยังไม่ฟื้นไข้ แม้อาจพ้นขีด “โคม่า” แล้ว แต่ยังคงป่วย “ลุกไม่ขึ้น” อยู่

ดังนั้น ในปี “งูเล็ก” ที่มาถึง คงไม่มีเรื่องนโยบายต่างประเทศใดๆ ที่จะสำคัญทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคงต่อทั้งโลก มากยิ่งไปกว่าเรื่องที่ว่า “พี่เบิ้ม” สหรัฐฯ และยุโรป จะฉุดตัวเองขึ้นมาจากหล่มวิกฤติเศรษฐกิจ-การเงินที่ว่านั้นได้หรือไม่เพียง ใด

ในส่วนของสหรัฐฯ “มหาอำนาจหมายเลข 1” ซึ่งประธานาธิบดีบารัค โอบามา ชนะเลือกตั้ง ได้ครองอำนาจสมัยที่ 2 อีก 4 ปี ภารกิจของเขาจึงหนักอึ้งยิ่งกว่า 4 ปีแรก ซึ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ รวมทั้งปัญหาการว่างงานและการขาดดุลงบประมาณมหาศาล

ปัญหา หนักหน่วงที่โอบามาต้องเผชิญตั้งแต่ปลายปีงูใหญ่ก็คือวิกฤติ “หน้าผาการคลัง” (Fiscal cliff) ซึ่งถ้าเขาบรรลุข้อตกลงกับพรรครีพับลิกันฝ่ายค้านไม่ได้ สหรัฐฯจะต้องขึ้นภาษีอย่างกว้างขวางและตัดงบประมาณภาครัฐมโหฬาร นำไปสู่ภาวะ “เศรษฐกิจถดถอย” อีกรอบ ส่งผลกระทบต่อทั้งโลกไปด้วย

ทางฟากยุโรป ซึ่งหลายชาติใน “ยูโรโซน” ที่ใช้เงินสกุลยูโรร่วมกัน 17 ประเทศ เผชิญ “วิกฤติหนี้สาธารณะ” อ่วมอรทัย โดยเฉพาะไอร์แลนด์ สเปน และกรีซ แม้สถานการณ์อาจพ้นขั้นตรีทูต แต่จะยังป่วยหนักแบบเรื้อรังต่อไปอีกหลายปี ส่วนประเทศอื่นๆที่มีอาการป่วยเช่นกัน ทั้งโปรตุเกส อิตาลี และฝรั่งเศส ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนไม่ให้อาการทรุดหนักลงจนเกินเยียวยา

นัก เศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า ในปีงูเล็ก “จีดีพี” ของยุโรปจะถดถอยอย่างน้อย 0.3% และถ้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปถดถอยรุนแรงกว่าที่คาด จะเป็นผลร้ายต่อ “จีน” ยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียอย่างหนักด้วย เพราะการนำเข้าสินค้ามหาศาลจากจีนจะลดลงฮวบฮาบ ส่งผลกระทบต่อจีนทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และภูมิรัฐศาสตร์

ถ้าจีนป่วยอีกราย นานาประเทศที่ทำมาค้าขายกับจีนจะพลอยย่ำแย่เป็นลูกโซ่!

•••••••••••••••••••

พูด ถึง “จีน”...ปีมะเส็งคือปีแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่ง เพราะมีการผลัดผู้นำจากรุ่นที่ 4 เป็นรุ่นที่ 5 นายสี จิ้นผิง ผงาดขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแทนนายหู จิ่นเทา ภารกิจของเขาก็หนักหนาไม่น้อย

สี จิ้นผิง ขึ้นมากุมอำนาจในจังหวะที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวหลังพุ่งทะยานปานม้าศึกมากว่า 10 ปี ส่วนปัญหาสังคม ทั้งช่องว่างคนรวย-คนจนที่ถ่างกว้าง อัตราการว่างงานที่สูงขึ้น การประท้วงจากประชาชนผู้เดือดร้อนที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จะเป็น “โจทย์” ทดสอบฝีมือของเขาในเวลาเดียวกัน

นอก จากปัญหาภายใน จีนยังต้องเผชิญกับการแผ่ขยายอิทธิพลของสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะใน “อาเซียน” อย่างน่ากลัว ตามนโยบาย “หมุนรอบแกนเอเชีย” เพราะคราวนี้ สหรัฐฯมาแรงเหลือหลาย พยายามดึงพันธมิตรและเพื่อนบ้านของจีนไปเป็นพวกทั้งในทางลับและแจ้ง ทั้งเชิงเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร

นอกจากนี้ จีนยังมีกรณีพิพาทแย่งชิงหมู่เกาะในทะเลจีนใต้กับหลายประเทศ ทั้งเวียดนาม ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน อีกทั้งแย่งหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออกกับญี่ปุ่น ซึ่งท่าทีที่แข็งกร้าวขึ้นเรื่อยๆของจีน ทำให้ประเทศคู่กรณีอึดอัดขุ่นแค้น จนอาจหันหน้าไปพึ่งสหรัฐฯและอินเดีย หรือรวมตัวกันต่อต้านจีน

ให้จับตาดูศึกแย่งชิงหมู่เกาะที่ว่านี้ ถ้าจีนเพิ่มดีกรีแข็งกร้าว อาจถึงขั้นมีสงครามย่อมๆ!

•••••••••••••••••••

จุด ล่อแหลมอื่นๆ ในปีมะเส็ง ยังคงเป็นจุดเดิมๆ รวมทั้ง “เกาหลีเหนือ” ซึ่งยังไงๆก็ไม่เคยเปลี่ยน หลังนายคิม จอง อึน ขึ้นครองอำนาจได้ 1 ปี เขายังแข็งกร้าวท้าทายประชาคมโลกเหมือนสมัยบิดาและปู่

เมื่อปลายปี มะโรง เกาหลีเหนือปล่อยจรวดพิสัยไกลสำเร็จเป็นครั้งแรก อ้างว่าเพื่อปล่อยดาวเทียม แต่เชื่อว่าเป็นการทดลองเทคโนโลยีขีปนาวุธพิสัยไกล ต่อไปอาจสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ยิ่งถล่มไกลถึงสหรัฐฯ

จนแล้วจนรอด สหรัฐฯ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และพันธมิตร ยังไม่มีปัญญาจัดการกับโสมแดง ถ้ารื้อฟื้นการเจรจากันไม่สำเร็จ ก็คงได้แค่ผลักดันให้ยูเอ็นมีมติ “คว่ำบาตร” หนักขึ้นเท่านั้น

ส่วน “อิหร่าน” ซึ่งถูกกล่าวหาว่าลอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ยังท้าทายสหรัฐฯ และพันธมิตร มีหวังถูกคว่ำ บาตรหนักขึ้นเช่นเกาหลีเหนือ และถ้าการกดดันด้วยการทูตและการคว่ำบาตรหมดหวัง เป็นไปได้สูงที่จะถูกสหรัฐฯ และ “อิสราเอล” โจมตีแหล่งพัฒนานิวเคลียร์ ซึ่งอิหร่านอาจตอบโต้ จนภูมิภาคตะวันออกกลางลุกเป็นไฟ!

•••••••••••••••••••

ที่ น่าจับตามองไม่แพ้กันคือผลพวงของ “การปฏิวัติดอกมะลิ” หรือ “อาหรับ สปริง” ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ซึ่งทำให้ผู้นำเผด็จการในตูนิเซีย ลิเบีย เยเมน และอียิปต์ ถูกโค่นล้มไปแล้ว

แต่ในซีเรีย ประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาด ยังเกาะกุมอำนาจ เดินหน้ากวาดล้างฝ่ายต่อต้านอย่างโหดเหี้ยม เข้าขั้นเป็นสงครามกลางเมือง มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 44,000 คน และยังไม่มีทีท่าจะลงเอย แต่ถ้ามหาอำนาจตะวันตก เข้าแทรกแซงเต็มตัว อัสซาดคงอยู่ไม่ได้ แต่ปัญหาต่อจากนั้นคือภารกิจฟื้นฟูซีเรียให้ศึกสงบ มีรัฐบาลใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งต้องใช้ทุนรอนมหาศาลและเวลายาวนาน

ส่วน ในอียิปต์ แม้ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ถูกโค่นล้มและต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่ปัญหากลับยิ่งบานปลาย เพราะพรรคภราดรภาพมุสลิม ฝ่ายเคร่งศาสนาอิสลาม ภายใต้การนำของนายโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ประธานาธิบดีคนใหม่ พยายามรวบอำนาจ โดยมีกองทัพหนุนหลัง จึงเกิดกระแสลุกฮือประท้วงรุนแรงอีกคำรบ

อียิปต์อาจเกิด “การปฏิวัติระลอก 2” และรัฐบาลถูกโค่นล้มอีกครั้ง!

••••••••••••••••••

กรณี พิพาทเรื้อรังอีกจุดที่ชาวโลกต้องทำใจต่อไปคือปัญหา “อิสราเอล–ปาเลสไตน์” ซึ่งปะทุหนักขึ้นอีก หลังกลุ่ม “ฮามาส” ระดมยิงจรวดใส่อิสราเอล ทำให้อิสราเอลโจมตีทางอากาศตอบโต้อย่างบ้าคลั่ง มีผู้บาดเจ็บล้มตายมากมาย เป็นวัฏจักรอุบาทว์ที่น่าเศร้าสลด

 

ส่วนสถานการณ์ในอิรักและ อัฟกานิสถานก็ยังไม่น่าไว้วางใจ แม้สหรัฐฯและพันธมิตรถอนทหารออกมาแล้ว แต่กองกำลัง “ตาลีบัน” และแนวร่วมยังเปี่ยมพิษสง ก่อเหตุโจมตีคร่าชีวิตผู้คนถี่ยิบ สงครามกลางเมืองอาจปะทุขึ้นมาได้อีก และปากีสถานเพื่อนบ้านก็ถูกฉุดเข้าไปในวังวนสงครามด้วย

•••••••••••••••••••

จุด ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกแห่งคือภูมิภาคละตินอเมริกา เพราะประธานาธิบดี ฮูโก ชาเวซ แห่งเวเนซุเอลา “พี่ใหญ่” ผู้นำระบอบสังคมนิยม ต่อต้านจักรวรรดินิยมตะวันตก ซึ่งกุมอำนาจเผด็จการมาถึง 14 ปี และเพิ่งชนะการเลือกตั้งอีกสมัย ล้มป่วยหนักด้วยโรคมะเร็ง ต้องไปผ่าตัดที่คิวบาแล้ว 3 รอบ

เป็นไปได้ สูงที่เขาจะสิ้นบุญในปี 2556 นี้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ประเทศต่างๆในละตินอเมริกาที่ยึดแนวทางสังคมจะขาดหัวเรือใหญ่ ส่วนผู้นำอิหร่าน ซีเรีย ไปจนถึงเบลารุส ก็จะขาดพันธมิตรที่สำคัญยิ่ง

•••••••••••••••••••

แม้ พื้นที่อื่นๆ ของโลกจะยังเร่าร้อน แต่ภูมิภาค “อาเซียน” ของเรามีพัฒนาการไปในทิศทางที่ดียิ่ง ถึงแม้จะขัดแย้งกันบ้างในบางเรื่อง รวมทั้งการแบ่งขั้วรับมือกับกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้กับจีน แต่ที่น่าชื่นใจที่สุดก็เห็นจะเป็น “พม่า” เพื่อนบ้านของไทย การปฏิรูปประชาธิปไตย เศรษฐกิจ การเมือง รุดหน้าอย่างรวดเร็ว

พม่า ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง สามารถปรองดองกับนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดีฝ่ายค้านได้ อีกทั้งทยอยปล่อยนักโทษการเมือง ออกกฎหมายใหม่ลดการควบคุมสื่อฯ ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ทำเอา “พี่เบิ้ม” ปลื้มสุดๆ ถึงขั้นประธานาธิบดีบารัค โอบามา เดินทางมาเยือนพม่าด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผู้นำสหรัฐฯมาเยือนพม่า

มาถึงขั้นนี้ การปฏิรูปและการเปิดประเทศของพม่าก้าวมาไกลเกินกว่าจะย้อนกลับแล้ว มีแต่ต้องลุยไปข้างหน้าสถานเดียว แม้จะยังมีอุปสรรคอีกมาก รวมทั้งการเจรจาปรองดองกับกบฏและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ขณะเดียวกัน ต้องพยายามควบคุมความไม่สงบที่ปะทุขึ้น หลังรัฐบาลผ่อนคลาย “กฎเหล็ก” ลง

ส่วน ในภาพรวม “อาเซียน” กำลังคึกคัก สมาชิก 10 ประเทศเร่งเตรียมความพร้อมเข้าสู่ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ในปี 2558 ซึ่งจะส่งผลให้อาเซียนแข็งแกร่ง มีอิทธิพลและ อำนาจต่อรองในเวทีโลกมากขึ้น แต่สำหรับไทย ต้องเร่งเครื่องให้ทันชาติเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเรื่อง “ภาษาอังกฤษ” กุญแจเปิดประตูสู่สากล!

•••••••••••••••••••

มิติ อื่นๆในปีงูเล็ก ชาวโลกยังต้องเตรียมเผชิญกับผลพวงจากวิกฤติ “โลกร้อน” ซึ่งส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้นทุกขณะ พายุไซโคลน “แซนดี้” ที่ถล่มชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ โดยเฉพาะรัฐนิวเจอร์ซีย์และนิวยอร์กจนราบคาบ ไปจนถึงไต้ฝุ่น “โบพา” ที่ถล่มฟิลิปปินส์ จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 1,500 คน คือตัวอย่างชัดเจน

นอก จากภัยธรรมชาติ “โรคภัยไข้เจ็บ” ทั้งหลาย คือสิ่งที่ชาวโลกจะชะล่าใจไม่ได้เลย โรคระบาดใหม่หรือโรคระบาดซ้ำอาจอุบัติขึ้นได้ทุกเมื่อ ตัวอย่างในฮ่องกงและอินโดนีเซีย “ไข้หวัดนก” ยังระบาดหนักต่อเนื่อง

แต่ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น โลกใบนี้ยังคงอยู่ และมนุษยชาติต้องปรับตัวอยู่กับมันให้ได้ จงพร้อมเสพสุขยามดี พร้อมทนทุกข์ยามร้าย แต่อย่าท้อแท้สิ้นหวัง.....แฮปปี้ นิว เยียร์!!!

•••••••••••••••••••

 

 

ทีมข่าวต่างประเทศ

ไทยรัฐออนไลน์
2 ม.ค. 56 เวลา 16:06 5,972 2 70
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...