ร.ร.โสมใต้แข่งขันดุ ก่อปม'นักเรียนนักเลง'

ชะตากรรมของนักเรียนเกาหลีใต้ 2 ราย ที่จบชีวิตด้วยการปลิดชีพตนเองหลัง ถูกอันธพาลในโรงเรียนกลั่นแกล้ง เป็นข่าวสะเทือนใจแดนโสมขาวเมื่อรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

ลี เมียงบัก ประธานาธิบดีเกาหลีใต้กล่าวแสดงความเสียใจต่อประชาชนทั้งชาติ ขณะที่ คิม ฮวางซิก นายกรัฐมนตรีประกาศว่า จะปราบปรามบรรดานักเลงในคราบนักเรียนและ ขู่ลงดาบผู้บริหารโรงเรียนต่างๆ ที่ปกปิดหรือไม่สนใจปัญหาในโรงเรียนของตนเอง

ปัญหาอันธพาลในเกาหลีใต้เป็นวิกฤตสังคมขนานใหญ่ รายงานของมูลนิธิป้องกันความรุนแรงต่อเยาวชนของเกาหลีเมื่อปี 2552 ระบุว่า ร้อยละ 20 ของชาวเกาหลีที่สำรวจเคยประสบกับปัญหาถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนและร้อยละ 30 ของผู้ที่ประสบเหตุเหล่านี้เคยคิดฆ่าตัวตาย

การกลั่นแกล้งในโรงเรียนเกาหลีใต้มีหลายระดับ ตั้งแต่ต้องเป็นเด็กวิ่งซื้อของให้ 'ขาใหญ่' และถูกกักขังในห้องเรียน ไปจนถึงการล่วงละเมิดทางเพศ การข่มขืน และรุมทำร้ายโดยกลุ่มอันธพาล

นักวิเคราะห์กังวลว่า วัฒนธรรมนักเลงในโรงเรียนของเกาหลี ใต้เป็นหนึ่งในผลิตผลของระบบการศึกษาที่ถึงแม้หลายคนเชิดชูให้เป็นตัวอย่างของการศึกษาที่สร้างเศรษฐกิจและความเจริญที่เด่นชัดที่สุดในโลก แต่ก็ 'ปล้น' ชีวิตของเยาวชนในประเทศเช่นกัน



ดิ อีโคโนมิสต์รายงานเมื่อปลายปีที่แล้วว่า เกาหลีใต้เป็นดินแดนที่เน้นการแข่งขันสูงอย่างสาหัส เพราะระบบเอน ทรานซ์ของเกาหลีใต้ยังใช้คะแนนสอบในคราวเดียวและจะเป็นตัวตัดสินว่าเด็กนักเรียนคนนั้นจะได้ไปอยู่ในมหาวิทยาลัยใด

เนื่องจากบริษัทใหญ่ๆ ในเกาหลีมักรับแต่เด็กจากมหาวิทยาลัยดังๆ และวัฒนธรรมเกาหลีไม่ค่อยเปิดช่องให้มีการย้ายงาน

อนาคตกว่าครึ่งชีวิตของเด็กนักเรียนจึงขึ้นอยู่กับการสอบเอนทรานซ์เพียงอย่างเดียว

รายงานยังระบุอีกว่า เด็กเกาหลีขึ้นชื่อว่าเรียนหนักที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก โดยมีตารางเรียนตั้งแต่ 7 โมงเช้ากว่าจะเลิกก็เลยไปถึง 5 ทุ่มหรือตี 1 เพราะเด็กเกาหลีนิยมกวดวิชา (ครูในสถาบันกวดวิชามีจำนวนมากกว่าครูในโรงเรียนเกาหลี)

ขณะที่ไทมส์เคยตีแผ่เรื่องราวของตำรวจหน่วยพิเศษในกรุงโซลที่ต้องออกไล่ให้เด็กกวดวิชาเหล่านี้กลับบ้านหลัง 5 ทุ่ม

ชีวิตวัยเรียนของเกาหลีจึงมีแต่การแข่งขันและอัดแน่นด้วยตำราเรียน ความสัมพันธ์ในโรงเรียนหลายแห่งแทนที่จะเป็นเพื่อนกับเพื่อนกลับกลายเป็นศัตรูท่ามกลางสังคมที่ต้องแข่งขันกันดุเดือด



นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมที่นักเรียนถูกคาดหวังให้สร้างผลงาน มักจะมีเด็กที่แสดงออกอย่างก้าวร้าวและสถาปนาตนเป็นผู้แข็งแรงเหนือเด็กคนอื่นที่อ่อนแอกว่า ส่งผลให้ปัญหาอันธพาลเติบโตตามระบบการศึกษาลักษณะนี้โดยอัติโนมัติ

ขณะเดียวกัน ทัศคติที่มองการศึกษาว่าเป็นเพียงเครื่องมือที่ผลิตบุคลากรเพื่อป้อนพลังขับเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจของชาติ ยิ่งทำให้เด็กนักเรียนมีชีวิตไม่ต่างจากเครื่องจักรกลในโรงงานและอาจทำให้เด็กรุ่นใหม่ๆ ไร้ความคิดสร้างสรรค์และห่างไกลจากศิลปะในระยะยาว

หลังจากผู้นำเกาหลีใต้ประกาศเอาจริงกับนักเลงในโรงเรียน สหภาพครูเกาหลี (เคทียู) โต้ว่า นโยบายของรัฐบาลหลงประเด็น ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอให้โรงเรียนเก็บประวัติของเด็กที่มีพฤติกรรมอันธพาลเป็นเวลา 5-10 ปี ซึ่งถือเป็นตราบาปของเด็กไปตลอดชีวิตการศึกษา

หรือข้อเสนอให้เพิ่มชั่วโมงพละเพื่อแก้ปัญหาอันธพาล ทั้งที่ความจริงนักเรียนมักก่อเหตุรุนแรงต่อเพื่อนมากที่สุดในชั่วโมงพละนั่นเอง

ปัญหานี้ในเกาหลีจึงถือว่ายังห่างไกลจากการแก้ไขที่ยั่งยืน

คล้ายกับประเทศร่วมทวีปเอเชียอย่างไทยที่ประสบทั้งปัญหานักเรียนยกพวกตีกันและรับน้องโหดเช่นกัน

 

10 ก.พ. 55 เวลา 01:04 11,557 8 120
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...