สัตวแพทย์เกษตรสุดเจ๋ง! ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในหัวใจสุนัขสำเร็จครั้งแรกในไทย

 

 

 

สัตวแพทย์เกษตรสุดเจ๋ง!

ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในหัวใจสุนัขสำเร็จครั้งแรกในไทย

 

 

สัตวแพทย์เกษตร เจ๋ง! ประสบความสำเร็จ ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจในสุนัขหัวใจเต้นผิดปกติ ครั้งแรกในประเทศไทย

 

สุนัขพันธุ์ชเนาเซอร์ เพศเมียทำหมันแล้ว อายุ 14 ปี มารับการรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2556 ด้วยอาการเป็นลมในช่วงเวลา   2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และถี่ขึ้นเรื่อยๆ สุนัขได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซิกไซนัสซินโดรม (Sick sinus syndrome)เป็นความผิดปกติของระบบ cardiac conduction system ซึ่ง sinus node ที่อยู่บริเวณหัวใจห้องบนขวา มีการทำงานผิดปกติ โดยส่งสัญญาณไฟฟ้าออกมาช้าบ้าง เร็วบ้าง ทำให้หัวใจเต้นช้า-เร็ว ไม่สม่ำเสมอ  ส่งผลให้ปริมาณเลือดและความดันเลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย  สัตว์ป่วยจึงแสดงอาการอ่อนแรงเป็นลมและหมดสติ  เนื่องจากความดันเลือดไม่เพียงพอ สาเหตุการเกิด sick sinus syndrome นั้น ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มีรายงานในสุนัขว่าพันธุ์ที่มีโอกาสพบได้มากหรือเป็นปัจจัยโน้มนำ ได้แก่ สุนัขพันธุ์ West Highland whites terrier , พันธุ์ Miniature schnauzer และ พันธุ์ Cooker Spaniels. 

รศ.สพ.ญ.อมรรัตน์ ศาสตราวาหา ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าทีม พร้อมด้วยทีมงานประกอบด้วย รศ.น.สพ.ดร.นริศ เต็งชัยศรี 

ผศ.น.สพ.ดร.จตุพร หนูสุด อ.สพ.ญ.ดร.สิริรัตน์ นิยม อ.สพ.ญ.ทักษอร ดวงอุไร น.สพ.วิจิตร สุทธิประภา

และ นอ.นพ.เกรียงไกร จิรสิริโรจนากร ที่ปรึกษา ได้ร่วมกันรักษาโดยใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจในสุนัข       หัวใจเต้นผิดปกติ สำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย


หัวหน้าทีม เปิดเผยว่า การวินิจฉัยสัตว์ป่วยที่มีปัญหาเรื่องหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น โดยปกติสัตวแพทย์จะตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography, ECG)  แต่หัวใจเต้นผิดจังหวะบางประเภทเกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ และหายไป ทำให้ไม่สามารถตรวจพบได้ สัตวแพทย์อาจต้องเครื่องมือที่เรียกว่า Holter monitor เป็นเครื่องมือช่วยบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอดระยะเวลา 24 ชั่วโมง โดยเจ้าของสัตว์จะช่วยบันทึกว่าสัตว์ป่วยทำกิจกรรมอะไรอยู่และแสดงอาการ หรือ มีความผิดปกติใด ณ เวลาใด  จากนั้นนำมาเทียบกับบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ได้เพื่อดูว่ามีความสัมพันธ์กันหรือไม่  ในสัตว์ คือสุนัขและแมว เราทำได้แค่ติด holter monitor แต่ยังไม่สามารถทำการตรวจระบบการนำไฟฟ้าภายในหัวใจได้ (Cardiac Electrophysiology Study) 

โรคซิกไซนัสซินโดรม (Sick sinus syndrome) ในสัตว์ป่วยรายนี้มาด้วยอาการเป็นลมหมดสติ และ    ถี่มากขึ้นใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา  เนื่องจากสัตว์ป่วยไม่ตอบสนองต่อการทำ atropine test และสัตว์ป่วยแสดงอาการเป็นลมก็มากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจในขณะสัตว์ป่วยมีอาการนั้นชัดเจนมาก จึงไม่จำเป็นต้องการติด Holter monitor และ เมื่อไม่ตอบสนองต่อ atropine test  ทีมงานจึงตัดสินใจฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker)  เป็นการฝังเครื่องมือเล็ก ๆ ไว้ใต้ผิวหนังบริเวณลำคอด้านขวาของสัตว์ป่วย  และสอดสายนำไฟฟ้าไปยังหัวใจ ผ่านหลอดเลือดดำ jugular และไปติดที่ผนังหัวใจห้องล่างขวา  เครื่องจะทำการตรวจจับจังหวะการเต้นของหัวใจ สายนำไฟฟ้าจะเป็นตัวควบคุมและกระตุ้นให้หัวใจเต้นตามอัตราที่กำหนด  สัตว์ป่วยรายนี้ตั้งที่ 70-170 ครั้งต่อนาที  ในการฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) ครั้งนี้ เราได้ เชิญ นาวาอากาศเอก เกรียงไกร จิรสิริโรจนากร อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระแสไฟฟ้าในหัวใจ  มาเป็น ที่ปรึกษา ผลการรักษาก็เป็นที่น่าพอใจมาก โดยทางคณะสัตวแพทย์ ทีมที่ดูแลสัตว์ป่วยได้ติดตามอาการใน 24 ชั่วโมงแรก  

หลังจากนั้นได้ติดตามอาการกับเจ้าของ พบว่าสุนัขแข็งแรงดี ไม่มีการเป็นลมหมดสติและวันรุ่งขึ้นได้ตรวจสุขภาพพบว่าสุนัขดูดี ไม่มีการเป็นลมหมดสติใด ๆ ทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจพบอัตราการเต้นหัวใจ 80 ครั้งต่อนาที เป็นของเครื่องกระตุ้นหัวใจ 3 ครั้ง และของสุนัขเต้นเอง 1 ครั้ง  ซึ่งถ้าไม่ได้ทำการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ สัตว์ป่วยอาจเสียชีวิตได้   หลังจากนั้นเราทำการติดตามใน 7 วันต่อมา พบว่า โดยรวมทุกอย่างดีมาก ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ บริเวณที่ฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจไม่มีอาการบวมเลือดคั่ง (hematoma)   แต่สุนัขแสดงอาการสะบัดคอบ่อยอาจจะเกิดจากความรำคาญ แต่ได้กำชับเจ้าของและทำการพันคอไม่ให้สุนัขขยับคอมากเพราะสายอาจจะเลื่อนหลุดได้

นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยทีมสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการรักษาสุนัขที่หัวใจเต้นผิดปกติได้สำเร็จ

คุณเป็นคนมีน้ำใจ ขอบคุณที่กด Like.ให้ครับ

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...