องค์การแรงงานระหว่างประเทศ

 

 

 

 

 

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ ( International Labour Organization; ILO) องค์การไอแอลโอ ตั้งขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของสันนิบาตชาติ เมื่อ ค.ศ. 1919 เป็นองค์การชำนาญเฉพาะเรื่อง และเข้ามาอยู่ในสังกัดของสหประชาชาติเมื่อสันนิบาตชาติถูกยุบลงเมื่อ ค.ศ. 1946 องค์การนี้มีอายุได้ 77 ปี ใน พ.ศ. 2539 ในบรรดารัฐสมาชิกสหประชาชาติที่นับว่าเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง มีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย ประเทศอื่นในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์

 
 ภารกิจหลัก

ภารกิจหลักของไอแอลโอ คือช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานทั่วโลกให้ได้รับความยุติธรรมจากสังคม ให้มีชีวิต และสภาพการทำงานที่ดีขึ้น ผลงานขององค์การทำให้ได้รับรางวัลโนเบล เพื่อสันติภาพ เมื่อ ค.ศ. 1969  ทั้งนี้โดยที่องค์การยึดมั่นในหลักการที่ว่า สันติสุขแห่งโลกจะเกิดขึ้นได้และมีความต่อเนื่องมั่นคงก็ด้วยการที่มีความยุติธรรมในสังคม มีฐานรากคือ ความเคารพในสิทธิมนุษยชน มีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดี มีสภาพการทำงานซึ่งเกื้อกูลความผาสุกของผู้ใช้แรงงาน การมีโอกาสทำงานและมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ยุทธศาสตร์การปฏิบัติงานของไอแอลโอ

ยุทธศาสตร์การปฏิบัติงานของไอแอลโอ คือจัดให้มีการเจรจาร่วมของผู้เกี่ยวข้องสามฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายแรงงาน ในกรณีที่มีความขัดแย้งและพยายามแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยมีมติเป็นเอกฉันท์ ภารกิจขององค์การนี้ในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกมีความหลากหลายและยุ่งยาก เพราะประเทศต่างๆ มีสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม โครงสร้าง รายได้และสวัสดิการสังคม การพาณิชย์ การลงทุน แรงงาน ปัญหาด้านสังคมและแรงงาน ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้านเศรษฐกิจและสังคม ในประเทศที่เริ่มเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ก็ได้นำมาซึ่งปัญหาใหม่ๆ อีกมากมาย

ไอแอลโอ จัดลำดับเรื่องสำคัญรีบด่วนไว้สามประการ คือ

การจัดให้มีงานทำและขจัดความยากจน การคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน ส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิแห่งมนุษยชน

ในข้อแรกไอแอลโอ ช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในการฝึกอบรมผู้ใช้แรงงานให้มีประสิทธิภาพ ในข้อที่สอง ไอแอลโอ ช่วยประเทศต่างๆ ให้เพิ่มพูนประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัย และให้ตระหนักถึงภัยที่เกิดจากการทำงานในโรงงาน ในข้อที่สามไอแอลโอช่วยเหลือในการออกกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน และอุตสาหกรรมสัมพันธ์ระหว่างแรงงานกับนายจ้าง สนับสนุนองค์การของผู้ใช้แรงงาน ได้กำหนดมาตรฐานสากลเกี่ยวกับแรงงาน ซึ่งช่วยในการสร้างเสริมประชาธิปไตยและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

 สำนักงานประจำภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก

องค์การไอแอลโอ มีสำนักงานภูมิภาคและสำนักงานประจำประเทศหลายแห่งในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ จัดการฝึกอบรม ทำการศึกษาวิจัย เพื่อส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างรัฐบาล แรงงานและนายจ้าง ในระดับประเทศ สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร

อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ

 

                  อนุสัญญาเป็นตราสารที่มีสภาพบังคับ โดยได้บัญญัติข้อกำหนดมาตรฐานแรงงานในแต่ละประเด็นไว้ ปัจจุบันมีอนุสัญญาILO ทั้งสิ้นจำนวน 188 ฉบับ (ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2551) อนุสัญญาจะมีผลบังคับใช้กับประเทศสมาชิกต่อเมื่อประเทศสมาชิกได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนั้นแล้ว ประเทศสมาชิกสามารถพิจารณาเลือกให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับใดก็ได้ที่เห็นว่าจะเกิดประโยชน์ต่อสถานการณ์แรงงาน สภาพเศรษฐกิจ และสังคมของตน หลังจากการให้สัตยาบันแล้ว ประเทศดังกล่าวต้องออกกฎหมาย ข้อบังคับ หรือแนวปฏิบัติภายในประเทศให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของอนุสัญญา และต้องขจัดอุปสรรคในการปฏิบัติตามอนุสัญญา ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกกฎหมายหรือแนวปฏิบัติภายในประเทศที่ขัดกับอนุสัญญา

 

                  อย่างไรก็ตาม ในบรรดาอนุสัญญาทั้ง 188 ฉบับนี้ มีอนุสัญญาจำนวน 8 ฉบับด้วยกันที่มีความสำคัญยิ่ง อันเป็นอนุสัญญาที่ ILO มีนโยบายส่งเสริมและติดตามผลให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติให้สอดคล้องกับอนุสัญญาทั้ง 8 ฉบับนี้ แม้จะไม่ได้ให้สัตยาบันก็ตาม เนื่องจากเป็นอนุสัญญาที่กำหนดมาตรฐานแรงงานเกี่ยวกับประเด็นหลัก 4 ประการ ภายใต้ปฏิญญา ILO เรื่อง หลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน (ILO Declaration on Fundamental Principles and Rights at Work) ดังนี้ เสรีภาพในการสมาคม และการยอมรับสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรอง ซึ่งครอบคลุม การขจัดแรงงานบังคับและการเกณฑ์แรงงานในทุกรูปแบบ การยกเลิกการใช้แรงงานเด็กให้เป็นผล และการขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ

ผลของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศต่อประเทศไทย

                  ประเทศไทยนอกจากจะต้องจ่ายค่าบำรุงองค์การเป็นเงินประมาณปีละ 738,994 ฟรังก์สวิสแล้ว ประเทศไทยยังมีพันธกิจเช่นเดียวกับประเทศสมาชิกทั้งปวงของ ILO ที่ต้องปฏิบัติภายใต้ธรรมนูญ ILO ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมประชุมใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ การพิจารณาตรวจสอบ แก้ไข และ   ให้ความเห็นต่อร่างตราสาร การจัดทำรายงานการปฏิบัติตามตราสาร การจัดทำรายงานด้านกฎหมายและแนวปฏิบัติภายในประเทศที่สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงาน ILO หรือการจัดทำคำชี้แจงเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงาน ILO แต่พันธกิจที่สำคัญยิ่งในฐานะประเทศสมาชิกคือ การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน การปรับปรุงสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ของคนงาน และการเสริมสร้างโอกาสในการจ้างงาน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พันธกิจในการปฏิบัติให้สอดคล้องตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศของ ILO

                  ILO มีสำนักงานภูมิภาคและสำนักงานประจำประเทศหลายแห่งในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ จัดการฝึกอบรม ทำการศึกษาวิจัย เพื่อส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างรัฐบาล แรงงานและนายจ้าง ในระดับประเทศ

                  สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ตู้ไปรษณีย์ 1759 กรุงเทพมหานคร 10501โทรศัพท์ 02-282-9164

 
6 พ.ค. 56 เวลา 12:11 645 70
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...