แฉกลโกง เก็บค่าบริการ SMS มือถือ อัตโนมัติ เสียเงินไม่รู้ตัว

 

 

 

 

แฉกลโกง เก็บค่าบริการ SMS มือถือ อัตโนมัติ เสียเงินไม่รู้ตัว 

 

 




          ผู้เชี่ยวชาญแฉกลลวงเรียกเก็บค่าบริการ SMS โดยผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั้งแบบเติมเงิน และแบบจ่ายรายเดือน อาจถูกตัดเงินอัตโนมัติโดยไม่รู้ตัว เพียงเพราะสัมผัสถูกแบนเนอร์ในเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่มีการวางโปรแกรมซ่อนเอาไว้

          เมื่อวานนี้ (21 มีนาคม) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากอาจารย์ปริญญา หอมอเนก ผู้เชี่ยวชาญทางระบบคอมพิวเตอร์และความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ว่า ขณะนี้มีกลลวงเรียกเก็บค่า SMS ไม่ว่าจะเป็น SMS ดูดวง ใบ้เลขเด็ด ทำนายผลฟุตบอล ฯลฯ โดยที่เจ้าของเบอร์ไม่ทราบมาก่อนว่าได้สมัครไว้ และถูกตัดเงินอัตโนมัติ ทั้งมือถือแบบเติมเงิน และแบบจ่ายรายเดือน ซึ่งบริษัทที่เรียกเก็บค่า SMS เหล่านี้ มีเงินสะพัดนับหลายสิบล้านบาทต่อเดือน

          อาจารย์ปริญญา กล่าวว่า สาเหตุการเปิดโปงในครั้งนี้ เนื่องจากตนถูกเรียกเก็บเงินค่า SMS ใบ้หวยเลขเด็ดติดต่อกัน 3 เดือน เดือนละ 36 บาท ทั้งที่ไม่เคยสมัครรับข่าวสารมาก่อน จากนั้นจึงเริ่มตรวจสอบข้อมูลเพราะคิดว่ามือถืออาจติดไวรัสโทรจัน แต่กลับพบว่า ตนกำลังโดนกลลวงด้วยกรรมวิธีแฝงแบนเนอร์ไว้ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ

          ทั้งนี้ ก่อนการใช้บริการ SMS ส่วนใหญ่ บริษัทผู้ให้บริการจะส่ง SMS เข้ามือถือ ตัวอย่างเช่น"คุณได้รับสิทธิ์ดูดวงฟรี 15 วัน สมัครกด*234*1#"(ข้อมูลสมมติ) หากเจ้าของเบอร์ต้องการจะสมัคร ก็แค่กดเบอร์ตามที่ระบุไว้ แล้วโทรออก ทางบริษัทก็จะเรียกเก็บเงินตามที่ระบุไว้ใน SMS แต่ปัจจุบันเมื่อคนเริ่มใช้บริการน้อยลง บริษัทเหล่านี้จึงเริ่มคิดกรรมวิธีใหม่ ๆ ด้วยการแฝงแบนเนอร์ (ป้ายโฆษณา) ไว้ตามเว็บไซต์ เพราะคนหันมาใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบแอนดรอยด์ หรือ IOS ก็ตาม
 


          โดยเจ้าของแบนเนอร์จะทำการตกลงกับเครือข่ายมือถือว่า หากมีผู้มาสมัครใช้บริการ ทางเครือข่ายก็จะดึงข้อมูลเบอร์โทรศัพท์มือถือส่งไปให้บริษัทเจ้าของแบนเนอร์ และทำการให้ส่วนแบ่ง 50% จากรายได้ทั้งหมด ซึ่งเจ้าของแบนเนอร์ก็จะไปจ้างบริษัทจัดหาพื้นที่โฆษณา เพื่อนำแบนเนอร์บริการ SMS ไปแปะไว้ในเว็บไซต์ต่าง ๆ ซึ่งตนเชื่อว่า ลูกค้าเครือข่ายมือถือแบบรายเดือน คงไม่เคยอ่านสัญญาข้อหนึ่งว่า บริษัทสามารถนำข้อมูลไปเผยแพร่ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต

          อาจารย์ปริญญา ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่พบในระบบแบนเนอร์ดังกล่าว คือ มีการวางโปรแกรมที่เรียกว่า Hack jaking ซ่อนอยู่กับตัวแบนเนอร์ นั่นคือ ภายใต้ภาพที่เราคลิกจะถูกซ่อนด้วยปุ่มยืนยันการสมัครไว้แล้ว ทั้งที่การสมัคร SMS จริง จะต้องทำการสมัคร 2 ขั้นตอน คือกดไปที่แบนเนอร์ก่อน แล้วค่อยกดยืนยันการสมัครรับข่าวสาร แต่สำหรับกรณีนี้ คือ หากเราคลิกไปโดนภาพ ก็กลายเป็นว่าเราสมัครใช้บริการ SMS ไปโดยไม่รู้ตัว ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้กดยืนยัน ซึ่งกรณีนี้มีโอกาสเกิดขึ้นสูง เพราะสมาร์ทโฟนเป็นมือถือระบบสัมผัส ซึ่งมือเราอาจเผลอไปโดนแบนเนอร์ได้ตลอดเวลา

          เมื่อมี SMS จากทางบริษัทเหล่านี้ส่งเข้ามา เราก็จะถูกเรียกเก็บค่าบริการไปเรื่อย ๆ ทุกเดือน คนไหนที่ใช้บริการเครือข่ายมือถือแบบรายเดือนอาจไม่ทันทราบถึงเรื่องดังกล่าว เพราะถูกคิดยอดเงินอัตโนมัติทุกเดือน ยกเว้นคนที่ใช้ระบบเติมเงิน หากมีการตรวจสอบยอดเงินเป็นประจำก็จะพบความผิดปกตินี้ และรีบโทรสอบถามกับทางเครือข่ายที่ใช้บริการ เพื่อยกเลิก SMS

          อาจารย์ปริญญา ได้เน้นย้ำว่า เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาระดับชาติ ที่ทางบริษัทเจ้าของแบนเนอร์ และเครือข่ายโทรศัพท์มือถือกำลังเอาเปรียบผู้บริโภค เพราะการสมัคร SMS ต้องมาจากการสมัครใจ ไม่ใช่เล่นทีเผลอแบบนี้ โดยหากคิดมูลค่าความเสียหายต่อคน คงจะไม่กี่บาท เพราะค่าบริการ SMS เหล่านี้จะอยู่ที่ 19 – 49 บาท ต่อเดือน แต่เท่าที่สืบทราบมา พบว่า บริษัทเหล่านี้สามารถหาลูกค้าได้จำนวนหลักแสน ถึงหนึ่งล้านคนต่อเดือน ดังนั้น มูลค่ารวมที่ได้จึงนับเป็นหลายสิบล้านบาท

          อย่างไรก็ตาม หากเจ้าของมือถือคนไหนที่คิดว่าโดนเรียกเก็บค่าบริการตามที่ว่ามา แนะนำให้โทรไปที่ call center ของเครือข่ายที่ใช้บริการ เพื่อแจ้งขอยกเลิก SMS และขอเรียกเงินคืน ซึ่งตนได้ลองทำมาแล้ว และทางเครือข่ายก็ยอมคืนเงินให้อย่างง่ายดาย ราวกับรู้ว่าต้องมีคนรู้ตัว แต่เรื่องยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะจากที่มีการโทรไปยกเลิก SMS เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ แต่ต่อมาในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ กลับมี SMS ส่งเข้ามาอีกครั้ง

          นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวได้รายงานเพิ่มเติมว่า ในเว็บไซต์พันทิปดอทคอมได้มีสมาชิกตั้งกระทู้หลังจากได้รับความเดือดร้อนจากกรณีลวงเก็บค่าบริการ SMS อีกหลายราย ซึ่งในวันนี้ (22 มีนาคม) อาจารย์ปริญญา จะนำเรื่องดังกล่าวไปร้องเรียนกับ กสทช. เพื่อให้ดำเนินการเอาผิดกับผู้ให้บริการเครือข่ายกับบริษัทเจ้าของแบนเนอร์ต่อไป

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...