"จานบิน"ของแท้ ของกองทัพอากาศสหรัฐ

เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ยกเลิก "ชั้นความลับ" ของเอกสารทางการออกมาชุดใหญ่ หนึ่งในจำนวนนั้น เป็นเอกสารที่ชี้ชัดว่า ครั้งหนึ่ง กองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาเคยตั้งอกตั้งใจพัฒนา "จานบิน" ทรงกลมไม่มีปีกขึ้นมาอย่างจริงๆ จังๆ ทีเดียว โครงการดังกล่าวมีชื่อรหัสเรียกกันว่า"โปรเจ็กต์ 1749" ที่มีขึ้นในยุคเริ่มแรกของสงครามเย็น ในเอกสาร "รายงานสรุปการพัฒนาชิ้นสุดท้าย" อันเป็นเอกสารในปี 1956 ที่เผยแพร่ออกมานั้น มีภาพสเกตช์โครงสร้างของอากาศยานที่ว่านี้ไว้อย่างชัดเจน (ดูภาพประกอบ)

อากาศยานที่ว่านี้จัดอยู่ในกลุ่ม ยานขึ้นลงในแนวดิ่ง (เวอร์ติเคิล เทคออฟ แอนด์ แลนดิ้ง-วีทีโอแอล) ตั้งเป้ากันว่าจะทำให้มันสามารถลอยตัวอยู่นิ่งในระดับเหนือพื้นดินได้ แต่ในเวลาเดียวกันก็สามารถบินได้ด้วยความเร็วระดับเหนือเสียงหรือ "ซุปเปอร์โซนิค" ว่ากันว่าตามการออกแบบนั้น ยานนี้น่าจะทำความเร็วได้ถึงมัค 4 (ราว 4,635 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และสามารถบินได้ในระดับความสูงราว 30 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน

เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของการออกแบบว่าเป็นจริงได้มากแค่ไหน กองทัพอากาศสหรัฐติดต่อบริษัท อาโฟร แอร์คราฟท์ ของแคนาดา ให้สร้างยานย่อส่วนตามแบบที่ว่านี้ขึ้นมา 2 ลำ เรียกกันว่า "อาโฟรคาร์ แอร์คราฟท์" เพื่อใช้ในการทดสอบปฏิบัติการจริง ผลจากการบินทดสอบ ที่ฐานทัพอากาศไรท์-แพทเทอร์สัน ในรัฐโอไฮโอ พบว่า อาโฟรคาร์ ออกอาการหมุน โคลงเคลง แล้วก็ไม่เคยทำความเร็วได้เกินกว่า 56 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเลยแม้แต่หนเดียว ร้ายยิ่งกว่านั้น เมื่อพยายามลอยตัวเหนือพื้นดินด้วยแรงอัดอากาศที่สร้างจากเครื่องยนต์เทอร์โบเจ็ตในยาน ก็ปรากฏว่ามันไม่เคยอยู่นิ่งได้อย่างที่คาด แม้จะอยู่เหนือพื้นไม่ถึงเมตรก็ตามที

เมื่อนำไปทดสอบในอุโมงค์ลมที่ ศูนย์วิจัย อาเมส ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ในเมืองมอฟเฟตต์ ฟีลด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ก็พบว่า สภาวะแอโรไดนามิกของยานไม่มีความเสถียรเอาเสียเลย ซึ่งจะส่งผลให้ยาน "ควบคุมไม่ได้" ที่ความเร็วสูง

ลงเอยด้วยการที่กองทัพอากาศยกเลิกโปรเจ็กต์ 1749 ไปเงียบๆ เมื่อเดือนธันวาคมปี 1961 ในที่สุด ทิ้งอาโฟรคาร์เอาไว้ให้ดูกันเล่นในพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศสหรัฐอย่างที่เห็นกันในภาพนั่นเอง

24 ต.ค. 55 เวลา 17:19 6,382 1 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...