ศรีธัญญา-หลังคาแดง..แหล่งพักพิงคนไม่ธรรมดา

หลังคาแดง...คือชื่อเรียกที่เราคุ้นเคยกันมานานนม..สงสัยกันไหมครับ ว่าทำไมจึงเรียก "หลังคาแดง"โรงพยาบาลศรีธัญญา กับที่ซึ่งเรียกกันติดปากว่า หลังคาแดง เป็นคนละสถานที่ แต่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน ดังนี้ โรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยทางจิตในประเทศไทย เริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 อันเป็นยุคเดียวกับการจัดตั้งโรงพยาบาลทั่วไป สถานที่เดิมตั้งอยู่ปากคลองสานฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า "โรงพยาบาลคนเสียจริต" เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2432 ในยุคแรกนั้นเป็นการนำคนเสียจริตมาฝากขัง การดูแลจึงมีแต่ขังไว้ หรือรักษาบ้างโดยให้ยาสมุนไพรที่ทำให้ง่วงซึม ที่วุ่นวายนักก็เป่าด้วยยานัตถุ์ ถ้าไม่ทุเลาลงก็ลงไม้ลงมือ หรือให้อดอาหาร หรือดูดเลือดออกโดยใช้เขาควายหรือใช้ปลิงดูด มีเวทมนตร์คาถาตามความรู้สมัยนั้น

   พ.ศ.2448 รัฐบาลให้สร้างโรงพยาบาลขึ้นใหม่ ณ ที่ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาขณะนี้ เปิดรับคนไข้ได้เดือนกันยายน 2455 เปลี่ยนแปลงวิธีจากการคุมขังและรักษาแผนโบราณ เป็นการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน โรงพยาบาลคนเสียจริตยุคปรับปรุงนี้อยู่ในความดูแลของนายแพทย์ เอ็ม. คาร์ทิว ชาวอังกฤษ งานชิ้นสำคัญนอกจากการวางผังป่าอันสวยงามร่มรื่น โดยถือหลักว่า ป่าเป็นเครื่องหมายของการระบายทุกข์และความสงบแห่งจิตแล้ว


   ท่านยังไปเหมาซื้อสีแดงค้างสต๊อกราคาถูกมาผสมน้ำมันแล้วทาหลังคาอาคาร สังกะสีทุกหลังเพื่อกันสนิม หลังคาโรงพยาบาลจึงเป็นสีแดงสะดุดตา เป็นที่มาของชื่อ "หลังคาแดง"

ปี 2467 โรงพยาบาลจึงได้มีแพทย์ผู้อำนวยการเป็นคนไทยคนแรก คือ หลวงวิเชียรแพทยาคม คนไทยคนแรกที่ได้ไปศึกษาวิชาโรคจิตโดยเฉพาะ ณ สหรัฐอเมริกา ท่านเปลี่ยนชื่อ โรงพยาบาลคนเสียจริตปากคลองสาน เป็น "โรงพยาบาลโรคจิตธนบุรี" กระทั่ง พ.ศ.2484 ถึงยุคของ ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้วางรากฐานวิชาจิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิต สมัยใหม่ เป็น "บิดาแห่งวงการจิตเวชและสุขภาพจิตไทย" โรงพยาบาลจิตเวชต่างๆ พัฒนาขึ้นอย่างมาก สภาพภายในโรงพยาบาลและกระบวนการรักษามีลักษณะเป็นโรงพยาบาลโดยสมบูรณ์ ไม่มีภาพของสถานที่กักขังหรือลูกกรงเหล็กแบบเดิมเหลืออยู่อีกต่อไป

  ลูกกรงเหล็กที่รื้อออก ขายได้ราคาดีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านนำเงินไปสร้างโรงพยาบาลที่นนทบุรี ระบายผู้ป่วยประมาณ 200 คนไปไว้ที่นั่น พัฒนาระบบสุขาภิบาล และขุดบ่อน้ำสำหรับใช้ทั่วบริเวณโรงพยาบาล และนั่นคือ "โรงพยาบาลศรีธัญญา" สืบทอดความคิดริเริ่มดำเนินการของ นายแพทย์หลวงวิเชียรแพทยาคม เดิมใช้ชื่อ "โรงพยาบาลโรคจิตนนทบุรี" ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ที่ 4 ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี สังกัดกรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย เปิดดำเนินการวันที่ 24 มิถุนายน 2484 ปัจจุบัน โรงพยาบาลศรีธัญญาสังกัดกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง บำบัดรักษาผู้ป่วยโรคทางจิตเวช

ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการกองโรงพยาบาลโรคจิต ได้พิจารณาเห็นว่าสังคมตั้งข้อรังเกียจ "โรคจิต" จึง ได้ดำเนินการให้โรงพยาบาลโรคจิตเปลี่ยนชื่อใหม่ทั้งหมด สำหรับชื่อ ศรีธัญญา มาจากสภาพของพื้นที่ซึ่งเป็นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะกับการทำนาข้าว จึงได้เปลี่ยนชื่อจาก โรงพยาบาลโรคจิตภาคกลาง (นนทบุรี) เป็น "โรงพยาบาลศรีธัญญานนทบุรี" ในปี 2497 นับแต่นั้น มีผู้อำนวยการหลายท่านทำหน้าที่บริหารจัดการ และพัฒนาโรงพยาบาลศรีธัญญาอย่างต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

  วนโรงพยาบาลอื่นๆ เปลี่ยนชื่อดังนี้ โรงพยาบาลโรคจิตธนบุรี เป็นโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ปัจจุบันคือ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา โรงพยาบาลโรคจิตภาคใต้ เป็นโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ โรงพยาบาลโรคจิตภาคเหนือ เป็นโรงพยาบาลสวนปรุง และโรงพยาบาลโรคจิตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์

โรง พยาบาลศรีธัญญา ห่วงผู้ป่วยโรคจิตเวชพบผู้ป่วยจิตเภทรายใหม่เพิ่มปีละ 6,000 คน  มอบนโยบายกรมสุขภาพจิตจัดโครงการคืนชีวิตใหม่ ลดตราบาป โรงพยาบาลศรีธัญญาจัดอบรมญาติดูแลผู้ป่วยทางจิตเวชช่วยลดปัญหาและคืนผู้ป่วย สู่สังคม 

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์สายใยครอบครัวให้การดูแลผู้ป่วย 3 โรค ได้แก่ โรคจิตเภท อารมณ์แปรปรวนและซึมเศร้า ดำเนินโครงการอบรมหลักสูตรสายใยครอบครัวตั้งแต่ปี 2547 มีผู้ผ่านการอบรมแล้ว 6 รุ่น จำนวน 164 คน แต่ละปีจะมีผู้สมัครเข้ามาอบรมจำนวนมากแต่ศูนย์จะคัดเลือกเฉพาะผู้ดูแลผู้ ป่วยจริง ๆ และผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นเท่านั้น เสียค่าลงทะเบียนคนละ 250 บาท โดยกิจกรรมประกอบด้วยการบรรยาย ทำแบบฝึกหัด อภิปรายในกลุ่มย่อยแบ่งปันประสบการณ์ในกลุ่มใหญ่ และการแสดงบทบาทสมมุติ ซึ่งจะช่วยลดความรู้สึกกดดันระหว่างสมาชิกในครอบครัว สร้างความตระหนักถึงอารมณ์ความรู้สึกที่ซับซ้อน และแก้ไขการสื่อสารที่ด้อยประสิทธิภาพ ความสำเร็จที่น่าภูมิใจคือผู้ที่ผ่านการอบรมในรุ่นก่อน ๆ มีความชำนาญจนสามารถกลับมาเป็นวิทยากรในการอบรมผู้ป่วยและญาติรุ่นต่อ ๆ ไปถึง 35 คน

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...