ธงช้างเผือก...ในแผ่นดินสยาม

                   

ประวัติศาสตร์การใช้ธงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย สามารถสืบได้ความแต่เพียงว่า ไทยได้ใช้ธงสีแดง เป็นเครื่องสำหรับเรือกำปั่นเดินทะเลทั่วไปมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และยังไม่ได้มีธงชาติไว้ใช้ดังที่เข้าใจในปัจจุบัน ในจดหมายเหตุต่างประเทศแห่งหนึ่งได้กล่าวว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2199 - พ.ศ. 2231) เรือค้าขายของฝรั่งเศสลำหนึ่ง ได้เดินทางมากรุงศรีอยุธยา เมื่อมาถึงที่ป้อมแห่งหนึ่งของไทย เรือฝรั่งเศสก็ชักธงชาติของตัวเองขึ้น ฝ่ายไทยยิงสลุตคำนับ ตามธรรมเนียม แต่เมื่อฝ่ายไทยชักธงขึ้นตอบบ้าง ฝ่ายฝรั่งเศสกลับไม่ยิงสลุตคำนับตอบ เพราะได้ชักเอาธงชาติฮอลันดา (เนเธอร์แลนด์) ขึ้นเหนือป้อมด้วยเหตุว่าไทยไม่มีธงชาติของตนใช้ (ขณะนั้นฝรั่งเศสกับฮอลันดาเป็นศัตรูกัน) ฝ่ายไทยได้แก้ไขปัญหาโดยชักผ้าสีแดงขึ้นแทนธงชาติฮอลันดา ฝรั่งเศสจึงยอมยิงสลุตคำนับตอบ เหตุการณ์ดังกล่าว จึงถือกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ธงชาติไทย
                                                                      


 ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งเรือหลวงและเรือค้าขายของเอกชน ยังคงใช้ธงสีแดงล้วนเป็นเครื่องหมายเรือสยาม จึงได้มีการนำสัญลักษณ์ต่างๆ มาประดับบนธงพื้นสีแดงเพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นธงสำหรับเรือหลวง ในกฎหมายธงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปจักรสีขาวลงในธงแดง สำหรับใช้เป็นธงของเรือหลวง ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ทรงได้ช้างเผือกเอก 3 ช้าง ถือเป็นเกียรติยศยิ่งต่อแผ่นดิน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปช้างเข้าภายในวงจักรของเรือหลวงไว้ด้วย อันมีความหมายว่า "พระเจ้าแผ่นดินอันมีช้างเผือก" แต่ในพระอธิบายของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มิได้กล่าวถึงเรื่องธงรูปจักรไว้ แต่กล่าวว่าเปลี่ยนแปลงจากธงแดง มาเป็นธงช้างเผือกในวงจักร ในคราวเดียว
 

 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยมีการทำสนธิสัญญากับชาติตะวันตกมากขึ้น อันเป็นผลต่อเนื่องจากการทำสนธิสัญญาเบาริ่ง กับ สหราชอาณาจักร ใน พ.ศ. 2398 พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริว่า สยามจำเป็นต้องมีธงชาติใช้ตามธรรมเนียมชาติตะวันตก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงพื้นสีแดงมีรูปช้างเผือกเปล่าอยู่ตรงกลางเป็นธงชาติสยาม เนื่องจากมีเหตุผลว่า ธงพื้นสีแดงที่เอกชนสยามใช้ทั่วไปไม่พอที่จะสามารถแยกแยะประเทศได้ ในการติดต่อระหว่างประเทศ ธงนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ได้ทั่วไปทั้งเรือหลวงและเรือเอกชน แต่เรือหลวงนั้นทรงกำหนดให้ใช้ธงช้างเผือกเปล่า พื้นสีน้ำเงิน ชักขึ้นที่หัวเรือ เพื่อเป็นเครื่องหมายสำหรับแยกแยะว่าเป็นเรือหลวงด้วย ธงนี้มีชื่อว่า "ธงเกตุ" (ต่อมาได้วิวัฒนาการมาเป็นธงฉานของกองทัพเรือไทยในปัจจุบัน)

 

 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า เมื่อมองธงชาติซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้นแต่ไกล จะมีลักษณะไม่ต่างจากธงราชการเท่าไร และรูปช้างที่อยู่กลางธงก็ไม่งดงาม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศเพิ่มเติมและแก้ไขพระราชบัญญัติธง ดังนี้ "ให้แก้ธงชาติเปนพื้นสีแดง กลางเปนรูปช้างเผือกทรงเครื่อง ยืนแท่น หน้าหันเข้าเสา สำหรับเปนธงราชการ" ประกาศมา ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน พระพุทธศักราช 2459 ซึ่งถือเป็นธงช้างรูปสุดท้ายของธงในสมัยรัตนโกสินทร์


เพราะทรงเห็นความลำบากของราษฎร ที่ต้องสั่งซื้อธงผ้าพิมพ์รูปช้าง มาจากต่างประเทศ และบางครั้งเมื่อเกิดความสะเพร่าติดธงผิด รูปช้างกลับเอาขาชี้ขึ้นเป็นที่น่าละอาย (สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2459 พระองค์ท่านได้เสด็จประพาสวัดเขาสะแกกรัง และได้ทอดพระเนตรเห็นชาวบ้านประดับธงช้างเผือกกลับหัว (หมายเหตุ: เหตุการณ์นี้เกิดก่อนพระราชบัญญัติธงฉบับธงช้างเผือกทรงเครื่อง ที่ปรากฏอยู่ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 ดังนั้นย่อมต้องเป็นธงช้างเผือกปล่อยบนพื้นแดง แบบสมัยรัชกาลที่ 5 อย่างแน่นอน)) ซึ่งหากเปลี่ยนเป็นธงแถบสีราษฎรก็สามารถทำธงใช้ได้เอง และจะช่วยขจัดปัญหาการติดผิดพลาด พระองค์ได้ทรงพยายามเลือกสี ที่มีความหมายในทางความสามัคคี และมีความสง่างาม โดยก่อนออกพระราชบัญญัติฉบับใหม่ ได้ทรงทดลองใช้ธงชาติไทยแบบริ้วขาวแดง 5 แถบติดอยู่ที่สนามเสือป่าในช่วงระยะหนึ่ง

 แต่เนื่องจากธงแดง 5 ริ้วเมื่อดูแล้วไม่สง่างาม จึงมีการปรับเปลี่ยนแถบตรงกลางซึ่งเป็นสีแดงให้เป็นสีน้ำเงินเข้ม การเพิ่มสีน้ำเงินนี้ปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขาในบันทึกส่วนพระองค์ ว่าได้ทอดพระเนตรบทความแสดงความเห็นของผู้ใช้นามแฝงว่า "อะแคว์ริส" ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ ภาษาอังกฤษ ฉบับวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2460 ได้ทรงแปลข้อความนั้นลงในบันทึกด้วย มีความโดยย่อว่า " เพื่อนชาวต่างประเทศของผู้เขียน (อะแคว์ริส) ได้ปรารภถึงธงชาติแบบใหม่ว่า ยังมีลักษณะไม่สง่างามเพียงพอ ผู้เขียนก็มีความเห็นคล้อยตามเช่นนั้น และเสนอแนะด้วยว่า ริ้วตรงกลางควรจะเป็นสีน้ำเงินซึ่งเป็นสีส่วนพระองค์ ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งถ้าเปลี่ยนตามนี้แล้ว ธงชาติไทยก็จะประกอบด้วยสีแดง ขาว น้ำเงิน มีสีเหมือนกับธงสามสีของฝรั่งเศส ธงยูเนียนแจ็คของอังกฤษ และธงดาวของสหรัฐอเมริกา ประเทศพันธมิตรทั้ง 3 คงเพิ่มความพอใจในประเทศไทยยิ่งขึ้น เพราะเสมือนยกย่องเขา ทั้งการที่มีสีของพระมหากษัตริย์ในธงชาติ ก็จะเป็นเครื่องเตือนให้ระลึกถึงพระองค์ ในวาระที่ประเทศไทยได้เข้าสู่เหตุการณ์สำคัญต่างๆ ด้วย... "
 


 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ เมื่อทรงทดลองวาดภาพธงสามสีสงในบันทึก ทรงเห็นว่างดงามดีกว่าริ้วขาวแดงที่ใช้อยู่ ต่อมาเมื่อเจ้าพระยารามราฆพ (ขณะนั้นยังเป็นพระยาประสิทธิศุภการ) ไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้นำแบบธงไปถวายเพื่อทูลขอความเห็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถก็ทรงเห็นชอบ และรับสั่งว่าถ้าเปลี่ยนในขณะนั้น จะได้เป็นอนุสรณ์ในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้พระยาศรีภูริปรีชา ร่างประกาศแก้แบบธงชาติ และได้ทรงนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะเสนาบดีเพื่อฟังความเห็น ที่ประชุมลงมติเห็นชอบธงสามสีตามแบบที่คิดขึ้นใหม่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้นเรียกว่า พระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460 ออกประกาศเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460 มีผลบังคับใช้ภายหลังวันออกประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว 30 วัน ซึ่งต่อมาธงไทยแบบล่าสุดนี้ถูกเรียกว่า "ธงไตรรงค์" ความหมายของสีธงไตรรงค์ คือ สีแดงหมายถึง ชาติและความสามัคคีของคนในชาติ และสีขาวหมายถึง ศาสนาซึ่งเป็นเครื่องอบรมสั่งสอนจิตใจให้บริสุทธิ์ ส่วนสีน้ำเงินหมายถึง พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศ หลังจากนั้นประเทศไทยก็ได้ใช้ธงไตรรงค์จวบจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้


 
ผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องธงช้าง ปัจจุบันมีการเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ธงสยามขึ้น
ให้ประชาชนทั่วไป ได้เข้าชม
สนใจ ชมพิพิธภัณฑ์ธงสยาม เปิดให้เข้าชมเฉพาะวันอาทิตย์ เวลา ๑๐.๐๐ น. ถึง ๑๒.๐๐ น.
โปรดกรุณาโทรศัพท์เพื่อจองจำนวนเข้าชมล่วงหน้าที่หมายเลข ๐๒๙๓๙๙๕๕๓
และ ๐๒๙๓๙๙๙๒๐

 หรือเข้าชม website
http://www.talkingmachine.org/siamflag/picture.html
 


 

#นานาสาระ
123581321
นักแสดงรับเชิญ
22 ม.ค. 53 เวลา 14:01 2,193 4 60
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...