ปรากฏการณ์ "โซระ อาโออิ" นางสงกรานต์ "แฟนตาซี" บ่งชี้ "ความจริง" สังคมไทย

(มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 20-26 เมษายน 2555)

หากมองในบางแง่มุม ผู้หญิงญี่ปุ่นนาม "โซระ อาโออิ" ก็ไม่ต่างอะไรกับ "ครูอังคณา แสบงบาล" ที่เคยถูกลูกศิษย์พาดพิงถึง จนมีชื่อเสียงโด่งดังก้อง "โซเชียล มีเดีย" อย่างไม่น่าเชื่อ

นั่นคือ หากประเมินด้วยระบบคุณค่าบางชนิด

ข่าวคราวการเดินทางมาร่วมงานสงกรานต์ที่จังหวัดบุรีรัมย์ (ซึ่งไม่เคยมีชื่อเสียงในการจัดงานด้านนี้มาก่อน) ของดาราสาวผู้โด่งดังมาจากแวดวง "หนังผู้ใหญ่" แห่งแดนอาทิตย์อุทัย ก็ไม่น่าจะมีคุณค่าเป็นข่าวใหญ่โตอะไรมากมายนัก

ทว่า "ข่าว" และ "ภาพ" ของ "อาโออิ" กลับสามารถยึดครองพื้นที่ข่าวหน้าหนึ่งของสื่อสิ่งพิมพ์ ตลอดจนข่าวโทรทัศน์และอินเตอร์เน็ตกระแสหลัก ซึ่งดำรงชีพอยู่ได้ด้วยยอดจำหน่าย/เรตติ้ง/ยอดคลิก และโฆษณา เอาไว้ได้ทั้งหมด

ราวกับว่า "นางสงกรานต์" ประจำปีนี้ มิได้ชื่อ "กิมิทาเทวี" แต่ชื่อ "โซระ อาโออิ"



ท่ามกลางกระแสอันครึกโครม ก็มีคำถามก้องดังขึ้นว่า ข่าวคราวเกี่ยวกับ "อาโออิ" นั้น มีบ่อเกิดมาจากปัญหาที่ว่า

สื่อมวลชนทั้งหลายในสังคมไทยกำลัง "หากินแบบง่ายๆ" ด้วยการรวมหัวกับอดีตนักการเมืองผู้ผันตนมาเป็นประธานสโมสรฟุตบอลอันดับหนึ่งของประเทศ ซึ่งกำลังมีแววก้าวไกลไปสู่ระดับทวีปเอเชีย เพื่อมอมเมาประชาชน

ส่วนผู้บริโภค/คนอ่าน/คนดูก็ "โง่" "ไม่รู้เท่าทันสื่อ" "รู้เขาหลอก แต่เต็มใจให้หลอก" เสพติดแต่ข่าวสารไร้สาระ

เท่านั้นหรือ?

หากลองพิจารณาค้นคว้าหาคำตอบของคำถามดังกล่าว

เราอาจพบว่าการเดินทางมาร่วมเล่นน้ำเล่นโฟมของนักแสดงหนัง"เอวี"อย่าง"โซระ อาโออิ" กำลังสะท้อนให้เห็นภาพงานสงกรานต์แบบที่เป็นอยู่ "จริง" ในสังคมไทย (ส่วนเรื่อง "ดี" หรือ "ไม่ดี" ถือเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งต้องถกเถียงกันต่อไป)

เมื่องานสงกรานต์ร่วมสมัยเต็มไปด้วยข่าวคราวสาวๆ (หรือสาวประเภทสอง) แต่งกายวับๆ แวมๆ เต้นท่ายั่วยวนบนท้องถนน ขณะเล่นน้ำ หรือ ข่าวการล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งที่ชายกระทำต่อหญิง สาวประเภทสองกระทำต่อชาย หรือกระทั่งหญิงกระทำต่อชาย

นอกจากนั้น ก็ดูเหมือนผู้บริโภคสื่อจะให้การตอบรับข่าวประเภทนี้เป็นอย่างสูง ในช่วงเวลาหยุดยาว ซึ่งไม่มีข่าวหนักๆ ให้ติดตามกันมากนัก



อย่างไรก็ดี น่าสนใจว่าการนำตัว "โซระ อาโออิ" เข้ามาร่วมเทศกาลสงกรานต์ปี 2555 โดยสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กลับพยายามเจือจางหรือลดทอนภาพลักษณ์ "ความเป็นดาราเอวี" ของเธอให้เลือนรางไป

และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดกรณีเช่นนี้ขึ้น เพราะเมื่อคราวที่ "อาโออิ" เดินทางมาแสดงภาพยนตร์ไทยเรื่อง "ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น" ภาพลักษณ์ในหนังกับชื่อเสียงเก่าๆ ของเธอ ก็เคยดำรงอยู่อย่างสวนทางกันมาแล้วครั้งหนึ่ง

แม้ว่าชื่อของ "อาโออิ" จะขายได้ เพราะสถานะและชื่อเสียงดั้งเดิมก็ตาม

ในวันที่ 14 เมษายน 2555 ณ จังหวัดบุรีรัมย์ "อาโออิ" แปลงร่างเป็น "สปอร์ตเกิร์ล" และหญิงสาวผู้สวมใส่ "ชุดขาวบริสุทธิ์" ที่มีกิริยาเรียบร้อยสวยหวาน รวมทั้งหลงรักเมืองไทย

โชว์บนเวทีและการเล่นโฟมกับคนดูของเธอไม่มีอะไรน่าเกลียด วาบหวิวเกินควร หรือมีนัยยั่วยุทางเพศอย่างประเจิดประเจ้อ

ดาราสาว "หนังผู้ใหญ่" จากญี่ปุ่น สามารถกลืนกลายตนเองเข้ากับงานสงกรานต์ "แบบไทยๆ" ได้อย่างลงตัว



ภาพการปรากฏตัวของดาราสาวชาวอาทิตย์อุทัย ณ เบื้องหน้าสนามนิว ไอ-โมบาย สเตเดี้ยม เป็นดังการประนีประนอมกันระหว่าง ความโป๊เปลือยยั่วยวนทางเพศที่เกิดขึ้นจริงๆ ในช่วงวันขึ้นปีใหม่ไทย กับอุดมคติที่เชื่อกันต่อๆ มาว่างานสงกรานต์ คือ ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม

ภาพของ "อาโออิ" จึงแสดงให้เห็นถึงเทศกาลสงกรานต์ร่วมสมัยในสังคมไทยที่ผ่านการปรุงแต่งปรับประสานต่อรองมาแล้ว

คือ ไม่ใช่การสาดน้ำอย่างดิบกร้าน ที่วัฒนธรรมชนชั้นกลาง-ชนชั้นสูงรับไม่ได้ แต่ดำรงอยู่จริงในแทบทุกหนแห่ง

และมิใช่ความดีงาม "แบบไทยๆ" อย่างเดิม ที่คล้ายว่าจะไม่มีอยู่จริงอีกแล้ว

การปรากฏกายของ "อาโออิ" จึงถือเป็นการยอมรับความจริงว่าด้วยรสนิยมและการปลดปล่อยตัวเองในช่วงเวลา "พิเศษ-ไม่ปกติ" ของคนไทยจำนวนมาก

ทว่า ความจริงดังกล่าวก็ถูกนำเสนอออกมาในรูปลักษณ์ของ "แฟนตาซี" ซึ่งไม่แตกต่างอะไรกับหนังเอวีญี่ปุ่น เมื่อชายหนุ่มตัวเปียกชุ่มน้ำทั้งหลายทำได้เพียงชื่นชม

หากไม่สามารถล่วงล้ำก้ำเกิน "นางเอกในโลกจินตนาการ" ของพวกตนได้

แม้เธอจะหลุดออกจากจอโทรทัศน์ มาอยู่หน้าสนามฟุตบอลที่จังหวัดบุรีรัมย์แล้วก็ตาม



เพราะเชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับวิถีชีวิตของสามัญชนจำนวนมากในสังคมไทยเช่นนี้แหละ

ข่าวคราวของ"โซระอาโออิ"ถึงมีตำแหน่งแห่งที่ในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ ในภาพนำหลักของเว็บไซต์ข่าว ในช่วงเวลา "ไพรม์ไทม์" ของข่าวโทรทัศน์ และตกเป็นเป้าสนใจของมวลชนมหาศาล

หากสื่อมวลชนปฏิเสธกระแสความสนใจของมวลชนเสียแล้ว ก็ยากยิ่งที่สื่อเหล่านั้นจะดำรงอยู่ได้ในสังคม

"โซระ อาโออิ" จึงมิใช่ภาพแทนแห่งความเบาหวิว กลวงเปล่า และไร้ประโยชน์ แต่ดารา "หนังผู้ใหญ่" เช่นเธอ กลับมีความหมายผูกพันกับความเป็นไปของสังคมอย่างใกล้ชิดลึกซึ้ง

ห่างออกไปจากประเทศไทย

ไกลออกไปจากปีพ.ศ.2555

เคยปรากฏข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ว่า"หนังสือโป๊"นั้น มี "ความเป็นการเมือง" อย่างยิ่ง

เมื่อมันถูกตีตราให้เป็น "หนังสือต้องห้าม" ในช่วงก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส

ว่ากันว่าหนังสือประเภทนี้ถือเป็นอาวุธสำคัญในการคัดง้างต่อสู้กับขนบประเพณีดั้งเดิมและอำนาจของชนชั้นสูง

จนนำมาสู่การปฏิวัติในที่สุด

21 เม.ย. 55 เวลา 15:49 20,872 12 200
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...