ขี้ผง!อุโมงค์เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ลองไปดู อุโมงค์กอตทาร์ดเบส ไอ้หนอนยักษ์ทะลวงเทือกเขาแอลป

ยังจำกันได้ไหมกับการประชุมครม.สัญจรเมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมาในจังหวัดเชียงใหม่กับวาระการประชุมที่มีข้อเสนอสร้างอุโมงค์ลัดตัดภูเขาเชื่อมระหว่างเชียงใหม่ ไปยังแม่ฮ่องสอนเพื่อช่วยให้การสัญจรระหว่างสองจังหวัด

เป็นไปได้สะดวกขึ้น และช่วยให้การขนส่งสินค้าไปยังแม่ฮ่องสอน หรือส่งไปยังเมืองเนปิดอว์เมืองหลวงใหม่ของประเทศพม่าสะดวกสบายง่ายขึ้น

 

 

และว่ากันว่าหากอุโมงค์นี้ทำได้สำเร็จก็จะย่นระยะเวลาในการสัญจรไปมาระหว่างจังหวัดเชียงใหม่กับแม่ฮ่องสอนให้เหลือเพียงแค่ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น (และไม่ต้องนั่งรถผ่านโค้งทั้ง 1,864 โค้งให้เวียนหัวกันอีกต่อไปด้วย)

 

 

 


เมื่อข้อเสนอที่จะสร้างอุโมงค์นี้ออกมา แน่นอนว่าเสียงวิจารณ์ในเรื่องนี้ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับโครงการก็ย่อมตามมาไม่ขาดสาย

 

 

เสียงที่เห็นด้วยก็สนับสนุนว่า เมื่อมีอุโมงค์จะได้ส่งของไปค้าขายยังพม่าได้ง่ายขึ้น, ไปแม่ฮ่องสอนได้ง่ายขึ้นไม่ต้องกลัวจะอาเจียนอีกต่อไป, อุบัติเหตุจะลดลงเพราะไม่ต้องขับขึ้นลงเขา ฯลฯ

 

 

 

 

ส่วนเสียงที่ไม่เห็นด้วยก็มีทั้ง การสร้างอุโมงค์จะไปทำลายระบบนิเวศ, อุโมงค์นี้อาจจะมีอันตรายเพราะภูเขาแถบนี้เป็นดินอ่อนอาจจะพังทลายลงมาได้ ฯลฯ

 

 

 

เรื่องที่ว่าการสร้างอุโมงค์นั้นจะดีหรือไม่ดีก็คงต้องรอดูกันต่อไป

 

 


แต่สำหรับเรื่องการขุดเจาะภูเขาสร้างอุโมงค์นั้น คุณผู้อ่านอาจจะยังจินตนาการไม่ออกว่า อุโมงค์ที่จะขุดเจาะผ่านภูเขานั้นทำกันอย่างไร ?

 

 

วันนี้ "มติชนออนไลน์" จะพาไปพบกับ อุโมงค์กอตทาร์ดเบส อุโมงค์รถไฟที่ตัดลัดทะลุเทือกเขาแอลป์สายยาวที่สุดในโลก ที่ในตอนนี้กำลังก่อสร้างในประเทศสวิตเซอร์แลนด์กัน

 

 

 


สาเหตุที่สวิตเซอร์แลนด์ยอมทุ่มงบประมาณกว่า 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำการขุดเจาะเทือกเขาเพื่อสร้างอุโมงค์กอตทาร์ดเบสขึ้นมานั้นเพราะแถบเทือกเขาแอลป์ครอบคลุมภูมิภาคที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งเขตเยอรมนีตอนใต้และเขตอุตสาหกรรมในอิตาลีตอนเหนือ

 

 

ทำให้ในปัจจุบันสวิตเซอร์แลนด์ที่เคยเป็นประเทศเงียบสงบได้กลายมาเป็นชุมทางหลักของบรรดาคาราวานรถบรรทุกที่ในปีๆ หนึ่งจะมีรถบรรทุกนับล้านคันที่ต้องวิ่งผ่านช่องเขาในสวิตเซอร์แลนด์ โดยลัดเลาะไปตามถนนบนภูเขาอันคดเคี้ยว

 

 

สวิตเซอร์แลนด์จึงคิดแก้ปัญหาโดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งทางรถไฟขึ้น โดยการขุดเจาะอุโมงค์เพิ่มให้เป็นทางตรงทะลุใต้เทือกเขาไป

 

 

ซึ่งเมื่ออุโมงค์แห่งนี้เปิดให้ใช้งานได้ในปี ค.ศ.2017 จะทำให้รถไฟความเร็วสูงความเร็วกว่า 250 กม./ชม. ที่มาจากเมืองซูริกประเทศสวิตเซอร์แลนด์ไปถึงเมืองมิลานประเทศอิตาลี จะสามารถวิ่งทะลุผ่านเทือกเขาไปได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที และย่นระยะเวลาการเดินทางที่เคยใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมงให้เหลือเพียง 2 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น

 

 

 


สำหรับอุโมงค์กอตทาร์ดเบสนี้เป็นอุโมงค์ที่เจาะลึกเข้าไปในแกนหินแกรนิตของเทือกเขากอตทาร์ดมาซีฟ บริเวณเทือกเขาแอลป์ เป็นอุโมงค์ที่มีความยาวถึง 57 กิโลเมตร ซึ่งความยาวขนาดนี้สามารถชนะอุโมงค์แชนเนลที่เชื่อม

อังกฤษและฝรั่งเศสที่มีความยาว 50 กิโลเมตร ไปได้อย่างสบายๆ

 

 

อุโมงค์นี้ประกอบไปด้วยอุโมงค์หลัก 2 อุโมงค์ความยาว 57 กม., ปล่องทางเข้า, ทางออกฉุกเฉิน, ช่องระบายอากาศ และชุมทางให้รถไฟเปลี่ยนช่องทางเดินรถ

 


ในการก่อสร้างอุโมงค์นี้ใช้ระยะเวลา 5 ปีกับงบประมาณอีกกว่า 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการสำรวจพื้นที่ที่จะทำการขุดเจาะ โดยหลีกเลี่ยงยอดเขาที่สูงที่สุด เลี่ยงบริเวณที่อาจมีปัญหากับน้ำใต้ดินและทำการสำรวจข้อมูลระยะไกลเพื่อทำแผนที่ช่องโพรงและรอยแยกของเทือกเขาเพื่อให้ได้ข้อมูลแม่นยำในระยะ10 เมตร

 


คนงานต้องขุดหินจำนวน 25 ล้านตันออกมาจากใต้ภูเขา หินจำนวนหนึ่งนำไปถมทะเลสาบลูเซิร์น ส่วนหินคุณภาพดีกว่านำมาบดอัดทำเป็นคอนกรีตสำหรับทำเป็นโครงสร้างตลอดแนวอุโมงค์

 

 

 


สำหรับเครื่องจักรที่ใช้ในการทำงานนี้มีเครื่องจักรที่เรียกว่า ตัวหนอน ความยาวกว่า 600 เมตรที่จะเคลื่อนตัวไปตามอุโมงค์พร้อมกับฉาบผนังคอนกรีตและวางท่อระบายน้ำ

 

 

 


เครื่องจักรอีกเครื่องหนึ่งมีความยาว 400 เมตรนั้นคือเครื่องขุดเจาะอุโมงค์ TBM (Tunnel Boring Machine) มีทั้งสิ้น 4 ตัว ในแต่ละวันนั้นเครื่องจักรเหล่านี้จะเจาะชั้นหินแข็งระยะทางวันละ 20-25 เมตร พร้อมยึดผนังอุโมงค์ที่ขุดเสร็จใหม่ ด้วยสลักเกลียว คอนกรีตพ่นและตาข่ายเหล็ก

 

 

 

 

ซึ่งเครื่องจักรเหล่านี้มีความแม่นยำในการขุดเจาะสูงมาก โดยตลอดระยะเวลาในการขุดอุโมงค์นี้เป็นเวลาหลายปี เครื่องจักรนี้ได้ขุดเจาะออกไปนอกเส้นทางเพียง 5 มิลลิเมตรเท่านั้น น่าทึ่งไหมล่ะ?

 

 

 

 

เห็นสวิตเซอร์แลนด์เขาสร้างอุโมงค์สำหรับรถไฟความเร็วสูงกันแล้ว คนไทยเองก็อยากได้บ้างเหมือนกันทั้งอุโมงค์ลัดภูเขาและรถไฟความเร็วสูง ... แต่เมื่อไหร่กันหนอที่คนไทยจะได้เห็น ?

 

 

เรื่อง : ทิพาภรณ์ สุคติพันธ์

ข้อมูลประกอบ : นิตยสาร National Geographic ฉบับ เดือน พ.ย. 2554

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...