คองเกรส us ยอมถอย พักพิจารณาร่างกม ละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ SOPA- PIPA

คองเกรส US ยอมถอย พักพิจารณาร่าง กม.ละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ “SOPA-PIPA”

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 22 มกราคม 2555 18:01 น.
 
Share24
 
   

       เอเอฟพี - แกนนำสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ เห็นชอบให้ระงับการพิจารณาร่างกฎหมายต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ เมื่อวันศุกร์ (20) ที่ผ่านมา หลังจากมีกระแสประท้วงคัดค้านที่นำโดย “กูเกิล” และ “วิกิพีเดีย” ซึ่งประณามว่า เป็นภัยคุกคามต่อเสรีภาพบนโลกอินเตอร์เน็ต
       
       แฮร์รี รีด แกนนำวุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตซึ่งครองเสียงข้างมากในสภาสูง กล่าวว่า เขาตัดสินใจเลื่อนการลงมติกรณีร่างกฎหมายคุ้มครองไอพี (Protect IP Act - PIPA) ฉบับของวุฒิสภา ขณะเดียวกัน ลามาร์ สมิธ ประธานคณะกรรมาธิการด้านการยุติธรรมของสภาล่าง ก็ประกาศว่า จะทบทวนร่างกฎหมายหยุดยั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ (Stop Online Piracy Act - SOPA) ฉบับของสภาผู้แทนราษฎร
       
       “จากการประท้วงที่เพิ่งผ่านมา ผมตัดสินใจเลื่อนการลงมติรับกฎหมายคุ้มครองไอพี” คำแถลงของแฮร์รี รีด ส.ว.เดโมแครตจากมลรัฐเนวาดา ประกาศออกมา สองวันหลังการประท้วงบนโลกออนไลน์ “ผมยังมองในแง่ดีว่า เราจะหาทางประนีประนอมกันได้ในสัปดาห์หน้า”
       
       ด้าน ลามาร์ สมิธ ส.ส.พรรครีพับลิกันจากมลรัฐเทกซัส ก็แถลงว่า จะเลื่อนการพิจารณากฎหมายหยุดยั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ในคณะกรรมาธิการ ด้านการยุติธรรมออกไป จนกว่าจะมีทางออกที่หลายฝ่ายยอมรับได้ “เราต้องทบทวนหาวิธีการที่ดีที่สุด เพื่อแก้ปัญหาหัวขโมยต่างชาติที่จ้องขโมยและขายผลงานของคนอเมริกัน”
       
       คำประกาศของทั้งสองมีขึ้นท่ามกลางเสียงสนับสนุนร่างกฎหมายต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ในคองเกรสที่แผ่วลง
       
       ทั้งนี้ วิกิพีเดียระงับการให้บริการเว็บไซต์ภาษาอังกฤษ 24 ชั่วโมง ในวันพุธ (18) เพื่อประท้วงการผ่านกฎหมายดังกล่าว ขณะเดียวกัน มีเว็บไซต์จำนวนมากร่วมรณรงค์คัดค้านกฎหมายทั้งสองฉบับนี้
       
       ส่วนกูเกิลก็คาดแถบสีดำทับโลโก้ของหน้าเว็บไซต์กูเกิลสหรัฐฯ และเรียกร้องให้ผู้เยี่ยมชมร่วมลงชื่อยื่นฎีกาคัดค้าน ซึ่งกูเกิลระบุว่า มีผู้คนมากกว่า 7 ล้านคน ร่วมลงชื่อต่อต้านร่างกฎหมายดังกล่าว
       
       ขณะที่ฮอลลีวูด อุตสาหกรรมดนตรี กลุ่มธุรกิจบันเทิงยักษ์ใหญ่ เช่น นิวส์ คอร์ป ของรูเพิร์ต เมอร์ด็อก สภาหอการค้าสหรัฐฯ และภาคส่วนธุรกิจอื่นๆ ให้การสนับสนุน ทว่า กลุ่มบริษัทออนไลน์และกลุ่มสิทธิดิจิตอลต่างคัดค้าน โดยให้เหตุผลไว้ว่า เป็นการให้อำนาจทางการสหรัฐฯ สั่งปิดเว็บไซต์ที่ถูกกล่าวหาว่า ละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาคดี
       
       ในวันพฤหัสบดี (19) ทางการสหรัฐฯ สั่งปิดเว็บไซต์ Megaupload.com หนึ่งในเว็บไซต์แชร์ไฟล์ที่ใหญ่สุดในโลก และตั้งข้อหาดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง 7 ราย พร้อมทั้งระบุว่า คดีนี้เป็นหนึ่งใน “คดีเกี่ยวกับลิขสิทธิ์คดีใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ”
       
       การปิดเว็บไซต์เมก้าอัพโหลดเป็นประเด็นให้ “แอโนนีมัส” กลุ่มนักเคลื่อนไหวบนโลกไซเบอร์ ปฏิบัติการแก้แค้นทางการสหรัฐฯ อีกครั้ง โดยโจมตีเว็บไซต์ของกระทรวงยุติธรรม เอฟบีไอ และสมาคมผู้ประกอบกิจการเพลงของสหรัฐฯ กระทั่งไม่สามารถใช้งานได้ชั่วคราว
       
       เจย์ คาร์นีย์ โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ แถลงในวันศุกร์เช่นกันว่า สภาคองเกรสต้องหาทางออกที่สามารถจัดการปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ และรับรองเสรีภาพบนโลกอินเตอร์เน็ตได้ในขณะเดียวกัน

23 ม.ค. 55 เวลา 07:36 1,173 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...