ประเพณีการรัดเท้าของจีน

ประเพณีการรัดเท้าของจีน

ชีวิตคนเมืองจีน / คนสมัยนี้คงจะจินตนาการไม่ออกแน่ว่าเมื่อประมาณ 1,000 ปีที่แล้ว สังคมจีนมีประเพณีที่พิลึกพิลั่นในการประเมินความงามของหญิงสาว โดยใช้ขนาดของเท้าเป็นเกณฑ์ หมายความว่าหญิงสาวที่เท้ายิ่งเล็ก ก็ยิ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นคนสวย และยิ่งเป็นที่สนใจของเพศตรงข้ามมากขึ้นเท่านั้น

ชาวจีนในยุคนี้ กล่าวกันว่า สิ่งที่สร้างความอับอายขายหน้าให้แก่ชาวจีนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 5,000 ปี นอกเหนือจากนิสัยติดฝิ่น การไว้ผมเปียของผู้ชายชาวฮั่นเพราะถูกชนชั้นปกครองชาวแมนจูบังคับแล้ว อีกอย่างหนึ่งก็คือ ประเพณีการรัดเท้า เพื่อให้เท้าเล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยความเขลาของผู้หญิงเองที่คลั่งไคล้ใหลหลงไปกับการตีค่าความงามบนความเจ็บปวด ที่แลกมากับด้วยเลือดและน้ำตาของตัวเอง กอปรสภาพสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ บีบบังคับให้ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อแห่งการทารุณอย่างเลือดเย็น ด้วยความยินยอมพร้อมใจจากเพศเดียวกันตลอดหลายชั่วอายุคน เบื้องหลัง รองเท้าดอกบัวทองคำ 3 นิ้ว ที่สวยงามนั้นคือ เรื่องราวชีวิตที่สุดแสนรันทดของผู้หญิงจีนหลายล้านคน

เท้าใหญ่ไม่มีคนเอา รัดเท้าทีก็พันปี

เหอจื้อหัว นักสะสมวัตถุโบราณที่มีชื่อเสียงของจีน หยิบรองเท้าคู่หนึ่งขนาดยังเล็กกว่าฝ่ามือขึ้นมากล่าวว่า การรัดเท้าก็คือการใช้ผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมมารัดเท้าทั้งคู่ไว้จนรูปร่างเท้าตามธรรมชาติเปลี่ยนไปจนมีลักษณะเฉพาะ รองเท้าคู่หนึ่งของผู้หญิงนั้นแลกมาด้วยเลือดและน้ำตา จากการสืบค้นของนักประวัติศาสตร์ ประเพณีการรัดเท้าของผู้หญิงจีน เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยจักรพรรดิหลี่อี้ว์หรือหลี่โฮ่วจู่ ในยุค 5 ราชวงศ์ หลังจากการสิ้นสุดของราชวงศ์ถัง คือระหว่าง ค.ศ. 923-936 ตามสมมติฐานที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย กล่าวว่า นางกำนัลคนหนึ่งของจักรพรรดิหลี่อี้ว์ ชื่อ เหย่าเหนียง ต้องการทำให้จักรพรรดิพอพระทัย จึงใช้ผ้าที่ทำจากแพรไหมสวยงามรัดที่เท้าจนเรียวเล็กราวพระจันทร์เสี้ยว ขณะที่วาดลีลาการร่ายรำต่อหน้าพระพักตร์ จักรพรรดิหลี่อี้ว์ทรงพอพระทัยการแสดงครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง ต่อมาเหย่าเหนียงได้สั่งให้ทำรองเท้าที่ประดับประดาด้วยไข่มุกอัญมณีนานาๆชนิดอย่างสวยงาม แล้วให้นางสนมกำนัลสวมใส่หลังจากที่รัดเท้าแล้ว ท่วงท่าที่อ่อนช้อยบนรองเท้าคู่จิ๋ว เป็นที่พอพระทัยของจักรพรรดิยิ่งนัก นับแต่นั้นมา แฟชั่นการัดเท้าในหมู่นางวังในก็เริ่มขึ้น แล้วค่อยๆขยายวงออกไปยังหมู่ลูกสาวของเหล่าขุนนางในสังคมชั้นสูง เมื่อมาถึงในสมัยหมิง ( ค.ศ. 1368 1644 ) ความคลั่งไคล้การรัดเท้าได้แผ่กว้างไปในหมู่หญิงสาวสามัญชนทั่วประเทศ

ในสมัยจักรพรรดิคังซี ( ค.ศ. 1662-1721 ) แห่งราชวงศ์ชิง แฟชั่นการรัดเท้าดำเนินถึงจุดสูงสุด โดยเฉพาะในมณฑลซันซี เหอเป่ย ปักกิ่ง เทียนจิน ซันตง เหอหนัน ส่านซี กันซู่ แต่ชนเผ่าแมนจูไม่มีประเพณีให้ลูกสาวรัดเท้าอย่างชนชาวฮั่น ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อจักรพรรดิคังซีขึ้นครองราชบัลลังก์ได้ 3 ปี ทรงมีพระราชโองการให้เลิกประเพณีดังกล่าวเสีย โดยจะลงโทษพ่อแม่ของผู้ที่ฝ่าฝืน

อย่างไรก็ตาม ความพยายามของจักรพรรดิแมนจู ไม่ได้สร้างความหวั่นเกรงในหมู่ประชาชนเลยแม้แต่น้อย ประเพณีที่ดำเนินมาหลายร้อยปี ยังคงฝังแน่นอยู่ในระบบคิดของคนในสังคมอย่างยากที่จะเปลี่ยนแปลง ในที่สุดราชสำนักก็ต้องยกเลิกกฎข้อบังคับนี้ไป หลังจากประกาศใช้ได้เพียง 4 ปี

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เด็กสาวลูกหลานชาวแมนจูก็เริ่มฮิตรัดเท้าตามหญิงสาวชาวฮั่นบ้าง จักรพรรดดิซุ่นจื้อ ( ค.ศ. 1644-1661) ได้มีพระราชโองการ ห้าม แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นเดิม จนถึงสมัยของจักรพรรดิเฉียนหลง ( ค.ศ. 1736-1795) ก็ได้ทรงออกคำสั่งห้ามหลายครั้งไม่ให้รัดเท้า ความคลั่งไคล้ในแฟชั่นรัดเท้าจึงค่อยลดลงไปได้บ้าง แต่ก็ยังมีการลักลอบทำกันอยู่ สาวๆแมนจูที่เดิมใส่รองเท้าไม้ก็สู้อุตสาห์ออกแบบรองเท้าไม้มีส้นตรงกลาง แต่มีหน้าตาภายนอกเหมือนรองเท้าดอกบัวทองคำ สำหรับหญิงสาวชาวฮั่นแล้ว ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ พวกคลั่งไคล้แฟชั่นรัดเท้าต่างได้ใจว่า แม้แต่จักรพรรดิก็ยังไม่สามารถขัดขวางพวกตนได้ ถึงขนาดร่ำลือกันไปว่า การรัดเท้าเป็นสัญลักษณ์แห่งการไม่ยอมศิโรราบต่อผู้ปกครองแมนจูของผู้หญิงฮั่น

เพราะเหตุใดจึงต้องรัดเท้า

เพราะเท้าเล็กดุจดอกบัวทองคำ ยาวแค่ 3 นิ้ว เป็นมาตรฐานที่สังคมจีนเมื่อร้อยหลายปีมาแล้วประกาศว่า นั่นคือความสวยงามของผู้หญิง ผู้หญิงซึ่งไม่มีแม้แต่สิทธิในความเป็นมนุษย์ มีสิทธิเป็นได้แค่ ของเล่น ที่คอยรองรับอารมณ์ของผู้ชาย การกดขี่ทางเพศเป็นเรื่องปกติของสังคม

และเพื่อสนองความรู้สึกกระสันของผู้ชายเมื่อได้เห็นเท้าเล็กจิ๋วที่เล็ดลอดชายกระโปรงยาวมิดชิด พร้อมกับจินตนาทางเพศอันบรรเจิดทุกครั้งที่เห็นสะโพกขยับขึ้นลงในขณะเดิน อันเป็นผลจากลักษณะของฝ่าเท้าที่ไม่เสมอกัน เช่นเดียวกับท่าเดินของผู้หญิงสมัยนี้เวลาที่ใส่รองเท้าส้นสูง หญิงสาวนับไม่ถ้วนยอมทำร้ายเท้าที่สวยงามตามธรรมชาติของตัวเอง

แม่ที่ " มองการณ์ไกล" ยอมทำร้ายลูกสาวที่ยังไม่ประสีประสาของตน เพราะกลัวว่าเมื่อโตขึ้น จะไม่มีผู้ชายมาสู่ขอหรืออาจถูกดูหมิ่นจากคนทั่วไปว่าเป็นผู้หญิงชั้นต่ำ แม้จะรู้ซึ้งดีว่าจากนี้ไปทุกคืนวันลูกสาวตัวน้อยๆต้องเจ็บปวดทรมานเหมือนถูกเข็มหลายพันเล่มทิ่มแทงอย่างที่ตนเคยผ่านมาก็ตาม

ทำไมต้องเป็น ดอกบัวทองคำ 3 นิ้ว

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า หลังจากที่พุทธศาสนาเริ่มเข้าสู่ประเทศจีนและเป็นที่ยอมรับนับถืออย่างแพร่หลาย กรปอกับอิทธิพลของพุทธศิลปะที่นิยมวาดรูปพระโพธิสัตว์ภาคเจ้าแม่กวนอิมยืนบนดอกบัว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนความดีงาม สะอาด บริสุทธิ์ มีคุณค่า และเป็นมงคล ดอกบัว จึงถูกนำมาใช้เรียกเท้าเล็กจิ๋วของหญิงสาวราวกับเป็นสิ่งดีงาม เพราะผู้หญิงที่ดีต้องอ่อนแอ ช่วยเหลือตัวเอง ต้องพึ่งพาและเชื่อฟังของพ่อ สามีหรือลูกชาย เป็นกรอบความคิดที่สังคมผู้ชายเป็นใหญ่วาง กับดักไว้

นอกจากนี้ สิ่งที่มีค่าสูงส่งมักจะได้รับการเปรียบเปรยว่ามีค่าดุจดั่งทอง ในยุคสมัยนั้น ผู้คนต่างชื่นชมยินดีกับการมีเท้าเล็กจิ๋วกับรองเท้าดอกบัวทองคำคู่จิ๋ว แม้แต่ในยามที่เสพสังวาสกัน สตรีก็ไม่ยอมถอดรองเท้าดอกบัวทองคำที่หวงแหนราวกับเป็นเครื่องประดับล้ำค่าของนาง

ในปลายสมัยชิง ทุกปีในวันที่ 6 เดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติ ที่เมืองต้าถง มณฑลซันซี จะมี งานประกวดเท้าสวย โดยหญิงสาวจะแข่งกันอวดเท้าเล็กจิ๋วของตนให้คนที่เดินผ่านไปมา ชื่นชม และตัดสิน โดยดูจากขนาดของเท้าและความสวยงามของรองเท้า ที่มีลวดลายประณีตงดงาม ซึ่งเกิดจากฝีมือการเย็บปักถักร้อยของหญิงสาว แสดงให้เห็นว่าเท้าที่ถูกรัดจนพิกลพิการกับรองท้าคู่จิ๋ว ได้รับการเทิดทูนเพียงใดในสังคมศักดินายุคนั้น

ผู้หญิงสมัยนั้นบ้าคลั่งประเพณีการรัดเท้ามากถึงขั้นตั้งเกณฑ์ว่า หากเท้าผู้ใดยาวไม่เกิน 3 นิ้วจะเรียกว่าเป็น เท้าดอกบัวทองคำ ถ้ายาวกว่า 3 นิ้วแต่ไม่เกณฑ์ 4 นิ้วให้เรียกว่า เท้าดอกบัวเงิน หากยาวกว่า 4 นิ้วก็จะถูกลดชั้นเป็น ดอกบัวเหล็ก

เอากระเบื้องบาดให้เหากัด เบื้องหลังรอยยิ้มคือคราบน้ำตา

เหอจื้อหัวอธิบายว่า ในสมัยนั้น เด็กผู้หญิงเมื่อถึงช่วงอายุหนึ่ง ก็จำเป็นต้องรัดเท้า ถ้าไม่รัด เมื่อโตขึ้นก็จะไม่มีคนขอแต่งงาน เท้ารัดได้สวยหรือไม่ ส่งผลต่อชีวิตทั้งชีวิตของผู้หญิงทีเดียว

ก่อนทำการรัดเท้า จะต้องเตรียมอุปกรณ์ต่างๆไว้ให้พร้อมก่อน ซึ่งก็จะประกอบไปด้วยผ้ารัดเท้า นุ่น อ่างน้ำ น้ำอุ่น กรรไกร สารส้ม ขั้นแรกหญิงสาวต้องล้างเท้าให้สะอาดก่อน นำสารส้มมาถู หลังจากนั้นจึงพันเท้าด้วยผ้าเป็นชั้นๆจากส้นเท้าไล่มาจนถึงนิ้วเท้า โดยหักนิ้วเท้าทั้งสี่ให้ติดชิดกับฝ่าเท้าด้านใน แล้วพันจนแน่น ผ้าที่ใช้รัดเท้าปกติกว้างประมาณ 3 นิ้ว - 3.5 นิ้ว แคบสุดไม่ต่ำกว่า 2.5 นิ้ว และยาว 7 10 ฟุต

เหอจื้อหัว พูดไปพลางหัวเราะไปพลางว่า คำพังเพยประโยคหนึ่งของคนเทียนจินบอกว่า ผ้าพันเท้าของคุณยายทั้งยาวทั้งเหม็น ก็แสดงว่าผ้ารัดเท้านั้นยาวมาก และในเวลานั้น เพื่อให้เท้าเล็กอย่างที่ต้องการ ตามปกติสิบกว่าวันถึงจะแกะผ้าล้างเท้าสักครั้ง

โดยทั่วไป เด็กผู้หญิงจะถูกบังคับให้รัดเท้าเมื่ออายุ 4-5 ขวบ อย่างช้าก็ 8 ขวบ ก่อนที่จะทำการรัดต้องมีการดูฤกษ์ดูยามกันก่อน ผู้ที่ทำหน้าที่รัดเท้าคือ แม่ ย่า หรือผู้ที่มีอาชีพรัดเท้าโดยเฉพาะ แม้ว่าแม่จะทำได้ แต่โดยมากเธอจะทำไม่ลง เพราะทนเห็นลูกเจ็บปวดทรมานไม่ไหว

ผ้าที่รัดเท้าตั้งแต่กระดูกยังไม่เติบโตเต็มที่ จะขัดขวางการเจริญเติบโตของกระดูกและนิ้วเท้า นานวันเข้า ฝ่าเท้าก็จะยุบตัวเข้า หลังเท้าก็โก่งงุ้ม ปลายนิ้วทั้งสี่ก็หักงอเข้าไปทางส้นเท้า มีเพียงหัวนิ้วโป้งที่ห้อยต่องแต่งอยู่

ทั้งนี้ ระยะเวลาแห่งความทุกข์ทรมานก่อนที่เนื้อและกระดูกที่ฉีกขาดและหักงอจะประสานกันในแต่ละคนนั้นก็ไม่เท่ากัน ถึงแม้ในที่สุดเท้าจะหดเล็กสมใจ แต่ก็ทำให้พวกเธอกลายเป็นคนเท้าพิการ และเดินกะโผลกกะเผลก

บทความตอนหนึ่งจากหนังสือ ย้อนรอยปริศนา.. รองเท้าดอกบัวทองคำ โดยปารวี ไพบูลย์ยิ่ง ซึ่งเป็นบันทึกจากผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการพันเท้าคนหนึ่งในมณฑลหูหนันทางภาคกลาง กล่าวไว้ว่า

หลังผ่านไปครึ่งปี นิ้วเท้าที่ถูกมัดอย่างแน่นหนาเริ่มไม่เป็นธรรมชาติเพราะถูกบิดงอ เท้าเริ่มเรียวแหลมทุกวัน หลังจากนั้นหนึ่งปี นิ้วเท้าเริ่มเน่า ปรากฏเป็นตาปลาหนาขึ้นมองเห็นได้ชัด แม่จะเปลี่ยนผ้าพันแผลและใช้เข็มเจาะเอาเลือดที่คั่งจนเน่าออกจากตาปลา และคว้านเอาแกนของมันออกให้หมด ฉันรู้สึกเจ็บปวดจนแทบทนไม่ไหว แต่แม่ก็ยังจับขาฉันแน่นไม่ให้ขยับไปไหน

จากวันเป็นเดือน เท้าของฉันถูกล้างด้วยน้ำยาบางอย่าง 2-3 ครั้ง ฉันรู้สึกแสบจนบอกไม่ถูก เมื่อมองต่ำลงฉันเห็นว่านิ้วเท้าทุกนิ้ว ยกเว้นนิ้วโป้งเป็นแผลอักเสบและดูแย่มาก แม่บุญธรรมพูดว่า "ทั้งหมดที่เป็นแบบนี้ ดีแล้ว!"

ฉันกำมือแน่นก่อนที่จะพยายามพยุงตัวขึ้นเพื่อเปลี่ยนผ้าพันแผล ซึ่งมีหนองและเลือดที่แห้งกรังติดอยู่ นิ้วเท้าทั้งหมดใช้งานไม่ได้เพราะถูกหักงอ พอเพ่งมองที่ผิวหนังพบว่ามีเลือดไหลออกมาและส่งกลิ่นเหม็นอย่างแรง ขณะที่ฉันรู้สึกเจ็บปวดลึกเข้าไปข้างใน

ในขณะที่ความนิยมมัดเท้าแพร่ขยายไปที่ต่างๆ ความเจ็บปวดจากการพันเท้าก็ถูกนำมาเสียดสีด้วยคำพังเพย อาทิ ตื่นเช้ามาก็รัดเท้า รัดจนฟูกสกปรกโสโครก หรือ ไม่เน่าไม่เล็ก ยิ่งเน่ายิ่งเล็ก เป็นต้น

เพราะอย่างนี้เองจึงมีบางคนนำเศษกระเบื้องมาวางไว้ที่ฝ่าเท้าระหว่างที่พัน เพื่อให้กระเบื้องบาดเท้าเป็นแผล หนำซ้ำบางคนยังใส่ตัวเหาเข้าไปเพื่อให้เกิดการอักเสบและเน่า เพราะว่าเมื่อเนื้อเน่า การหลอมรวมเป็นเนื้อก้อนใหม่ที่รูปร่างเรียวแหลมเหมือนกับหน่อไผ่ก็จะง่ายขึ้น

เสียงร้องไห้ของเด็กผู้หญิงดังกึกก้อง เพื่อให้ได้รับการยกย่องจากสังคมว่าเป็นหญิงสาวที่เกิดในตระกูลผู้ดี เพราะผู้หญิงที่มีชาติตระกูลเท่านั้นจึงจะมีสาวใช้เดินประคอง พวกเธอจึงถูกสอนให้ทำร้ายตัวเองให้พิกลพิการเสีย

เล่ากันว่า เมื่อเวลาที่หญิงสาวรัดเท้าพบกับหญิงสาวที่ไม่รัดเท้า หญิงคนแรกก็จะเดินเชิดแล้วปรายตามองหญิงที่ไม่ได้รัดเท้าด้วยแววตาที่ดูถูกดูแคลน ส่วนหญิงสาวที่เท้าใหญ่ก็เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตาของตัวเองที่ไม่มีโอกาสได้รัดเท้า เพราะยังต้องทำงานด้วยสองแขนและสองเท้าของตน แต่เบื้องหลังรอยยิ้มแห่งความภาคภูมิใจของผู้หญิงคนแรก ใครจะรู้บ้างว่ามันคือน้ำตาที่หลั่งริน

แสงสว่างแห่งความหวัง

เสียงแรกในประวัติศาสตร์ที่แสดงความเห็นใจต่อผู้หญิงที่ถูกรัดเท้า ปรากฏในหนังสือชื่อ เจี่ยวชี่จี๋ ซึ่งเป็นหนังสือที่ว่าด้วยโรคเท้าเปื่อย เขียนโดยเชอรั่วสุ่ย นักคิดหัวก้าวหน้าในลัทธิเต๋าสมัยซ่งใต้ ( ค.ศ.1127-1279 ) ซึ่งเริ่มตั้งคำถามกับพฤติกรรมการรัดเท้าในเด็กวัย 4-5 ขวบ ว่าได้ประโยชน์อะไรจากความทรมานแสนสาหัสนั้น เขากล่าวว่า

สตรีรัดเท้า ไม่รู้เริ่มจากเหตุใด เด็กอายุแค่ 4-5 ขวบ ไม่รู้เรื่องรู้ราวก็ถูกจับรัดเท้า ทุกข์ทรมานเหลือคณา เท้ารัดจนเล็ก แล้วจะมีประโยชน์อะไร

จนมาถึงสมัยชิง ( ค.ศ.1616-1911) ความคิดต่อต้านประเพณีนี้ได้รับการจุดประกายขึ้นอีกครั้งโดยหลี่หยู่เจิน ผู้ประพันธ์นิยายแนวเสียดสีเรื่อง จิ้งฮวาหยวน เรื่องราวของชายหนุ่มคนหนึ่งที่หลงเข้าไปในอาณาจักรของผู้หญิง แล้วถูกจับให้รัดเท้า

นอกจากสุภาพบุรุษสองท่านข้างต้น ที่ควรค่าแก่การกล่าวถึงและยกย่องแล้ว ก่อนหน้านี้ในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง ( ค.ศ.1736-1795 ) ยังมีสุภาพสตรีอีกท่านหนึ่งที่กล้าคิด นอกกรอบ

หนังสือของหย่วนจ้าง บันทึกว่า ผู้ชายคนหนึ่งชื่อเจ้าจวินไถ ได้เดินทางไปหังโจว ( เมืองที่เลื่องชื่อเรื่องความงามของสตรี ) เพื่อมองหาหญิงสาวมาเป็นภรรยา ปรากฏว่าได้พบกับสตรีแซ่หลี่นางหนึ่ง ซึ่งมีใบหน้างดงามแต่ไม่รัดเท้า ทำให้เจ้าจวินไถเกิดความลังเล แม่สื่อที่หิวเงินได้พยายามชักจูงให้จวินไถเปลี่ยนความคิด โดยบอกแก่จวินไถว่า หญิงสาวผู้นี้แม้ไม่รัดเท้า แต่มีพรสวรรค์ในการแต่งกาพย์กลอน

จวินไถต้องการทดสอบคำพูดของแม่สื่อ จึงหยิบรองเท้าดอกบัวทองคำขึ้นเป็นหัวข้อในการแต่งกลอนของหลี่ แล้วนางก็ได้ ตอกกลับ เป็นกลอนออกไปว่า อันเท้าเล็กมิได้มีมาแต่เกิด แม้แต่เจ้าแม่กวนอิมยังไม่รัดเท้า มิรู้ความคิดนี้มาจากหนไหน ฤาชายผู้คร่ำครึดักดานเป็นผู้กำหนด

หลังการสิ้นสุดสงครามฝิ่น วัฒนธรรมทางตะวันตกเริ่มเข้าสู่สังคมจีน ความรู้สึกต่อต้านประเพณีคร่ำครึค่อยๆก่อตัวขึ้นเองตามธรรมชาติในจิตใจของชาวจีนรุ่นใหม่ มีการจัดตั้ง สมาคมผู้ไม่รัดเท้าในกว่างตง (กวางตุ้ง) ครั้งแรกในปี 1896 ที่เปิดรับสมาชิก ก็มีสมาชิกมากกว่าหมื่นคน

รัฐบาลในยุคนั้นก็ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะลบล้างประเพณีนี้ออกไปจากสมองของคนจีน เช่น บรรจุเนื้อหาการเลิกรัดเท้าลงในหนังสือแบบเรียนชั้นประถม เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลิกรัดเท้า ตลอดจนการตรากฎหมายที่มีบทลงโทษชัดเจน

และบทเรียนราคาแพงที่ตอกย้ำความเลวร้ายของการรัดเท้าได้ดีที่สุด คือ การอพยพหนีตายที่เต็มไปด้วยความลำบากยากเย็นของผู้หญิงที่รัดเท้าจำนวนมาก ในช่วงสงครามต่อต้านญี่ปุ่นซึ่งเริ่มในปี 1937...

ในที่สุดการเดินทางที่ยาวไกลของประเพณีที่เหยียบย่ำคุณค่าของผู้หญิงมากว่าพันปีก็ได้ถึงกาลอวสาน.

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...