หน่วยปฏิบัติการ s.w.a.t ในไทย

   หน่วย  SWAT ของไทย

 

    หน่วย SWAT คือหน่วยที่ปฏิบัติหน้าที่ชนิดลับเฉพาะ เพื่อกิจการ “กำจัด” หรือ
“ทำลาย” ผู้ก่อการร้ายในยุคปี พ.ศ.๒๕๑๗ หรือเมื่อประมาณ ๓๖-๓๗ ปีมาแล้ว
โดยการก่อตั้งของกรมตำรวจในยุคนั้น ซึ่งเรียกกันว่า “หน่วยสวาท” แต่เพราะ
เหตุผลทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้หน่วยนี้ต้องถูกยุบไป เป็นการสิ้นสุดไป
ของหน่วยที่มีการก่อตั้งและฝึกฝนกันมาเป็นชนิดพิเศษชนิดนี้แหละครับ ซึ่งจะ
อธิบายให้ทราบว่ามันไปยังไงมายังไง สำหรับการก่อตั้งขึ้นในยุคนั้น และผลที่สุด
ก็ต้องสลายตัวไป ซึ่งในปัจจุบันนี้ ก็อาจมีหน่วยที่ปฏิบัติงานในลักษณะเดียวกันนี้
 ก่อตั้งขึ้นมาแทน “สวาท” เดิม และอาจมีอยู่ในหน่วยอรินทราชในยุคปัจจุบัน
ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าจะมีการฝึกฝนกันอย่างเข้มงวดกวดขันจนมีประสิทธิภาพถึง
ขั้นไหน และใช้อาวุธปืนสไนเปอร์ยี่ห้อใด แบบใด เข้ามาแทนที่ รวมทั้งขนาด
ของกระสุนที่จะนำมาใช้งานด้วย

    “สวาท” ที่กำลังจะเขียนเล่าให้ฟังอยู่นี่ หัวเรื่องมันก็ฟังได้ไพเราะ โรแมนติก
เสนาะหูดีอยู่หรอกครับ แต่ความจริงแล้วมันไม่น่าจะพิศวาสอะไรจนนิดเดียว
เพราะมันไม่ได้ “รัก” ใคร มีแต่จะส่ง “ความตาย” ไปอภินันทนาการอย่างเดียว
เท่านั้น และก็เป็นความตายอย่างเฉียบขาดรวดเร็วฉับพลันทันที เพื่อยุติ
ปฏิบัติการร้ายในทุกรูปแบบจากฝ่ายตรงข้าม พร้อมทั้งช่วยเหลือ “ตัวประกัน”
หรือรักษาความปลอดภัยของสถานที่ ตลอดจนสิ่งสำคัญอื่นๆ ที่ผู้ก่อการร้าย
ยึดเอาไว้เป็นเครื่องต่อรองได้อย่างทันการด้วย ไม่ใช่ว่าพอลงมือปฏิบัติการ
ลงไปแล้ว ตัวประกัน สถานที่ หรือสิ่งสำคัญอื่นๆ ที่ผู้ก่อการร้ายยึดเอาไว้
เป็นเครื่องมือต่อรอง ต้องพลอยล้มตายหรือพินาศฉิบหายลงไปพร้อมๆ
กันด้วย

    อย่างเช่น เรื่องราวที่เกิดในเรือนจำจังหวัดชลบุรีในสมัยหนึ่ง หรืออย่าง
เช่นกรณีที่หน่วยคอมมานโดของอียิบต์บุกเข้าชิงตัวประกันในการจี้เครื่องบินที่
เกาะมอลต้าเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๒๘ ซึ่งปรากฏว่าตัวประกันพลอยตายไป
ด้วยถึง ๖๐ คน ซึ่งในลักษณะแบบนั้น หาใช่ฝีมือของ “สวาท” ไม่ แต่เป็นฝีมือ
 “สะห่วย” เสียมากกว่า เพราะกลเม็ดและฝีมือในการใช้อาวุธ การตัดสินใจ
และการวางแผนยังไม่ “เข้าขั้น” พอที่จะช่วยเหลือรักษาชีวิตของตัวประกันเอา
ไว้ได้ อันเป็นเรื่องน่าเอน็จอนาจใจยิ่ง หมายที่จะไปช่วยพวกเขา กลับไปทำ
ให้พวกเขาต้องตายเสียนี่ สาเหตุมันก็มาจากการที่ยังไม่รู้หลักในความปลอด
ภัยที่จะช่วยเหลือตัวประกันนั่นเอง ขาดการอบรม ฝึกปรือ ขาดยุทธวิธีอันถูกต้อง
ด้อยฝีมือ

    ท่านอาจพอรับรู้กันมาบ้างคร่าวๆ ว่า “หน่วยสวาท” นั้น หมายถึงหน่วย
แม่นปืนหรือหน่วยซุ่มยิง เกี่ยวกับงานปราบปรามหรืองานรักษาความมั่นคง
ในพฤติการณ์ที่ยากจะใช้ระบบการปราบปรามปกติธรรมดาเข้าปฏิบัติงานได้
เช่น ซุ่มยิงพวกก่อการร้ายประเภทต่างๆ ที่ยึดตัวประกัน หรือยึดสถานที่ไว้
เพื่อแก้ไขคลี่คลายสถานการณ์ร้ายๆ นั้น ออกไป แต่ความจริงที่ลึกลงไป
กว่านั้น หน่วยสวาทมีหน้าที่กว้างขวางและวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งขึ้น
มากมายกว่าการซุ่มยิงหรือทำหน้าที่เป็นหน่วยแม่นปืนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
หน่วยสวาทในความหมายแท้จริง มาจากอักษรย่อภาษาอังกฤษสี่ตัว
คือ S.W.A.T. ซึ่งเมื่อนำมาผสมกันแล้ว อ่านออกเสียงว่า “สแวต”
หรือจะอ่านให้ฟังดูเป็นภาษาไทยว่า “สวาท” (ก็ได้) การย่อของอักษรสี่ตัวนั้น
 ก็มาจากคำเต็มดังนี้

    S. ตัวแรกคือ (Special)

    W. คือ (Weapons)

    A. คือ (And)

    T. คือ (Tactics)

    คำเต็มคือ “สเปเชี่ยล เว็บปอนส์ แอนด์ แทคติกส์” (Special Weapons
 And Tactics) อันหมายถึงหน่วยงานที่จะต้องได้รับการฝึกใช้อาวุธพิเศษ
ต่างๆ รวมทั้งกลยุทธเหนือเฆมทุกวิธีการเพื่อทำลายล้างศัตรู รวมทั้งช่วยเหลือ
ตัวประกันและผู้บริสุทธิ์ให้พ้นจากภัยอันตรายด้วย ซึ่งอาวุธนั้นไม่จำกัดว่าจะ
ต้องเป็นอาวุธปืนอย่างเดียว แต่หมายถึงสรรพอาวุธทุกชนิดที่จะใช้ฆ่าหรือใช้
ทำลายได้ในทุกรูปแบบ อันจะต้องนำมาศึกษาและฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ
ผนวกไปกับกลยุทธ เล่ห์เหลี่ยม กลอุบายต่างๆ เพื่อเอาชนะหรือพิชิตศัตรูให้ได้
ถือเป็นหน่วยจู่โจมปฏิบัติการพิเศษ นอกเหนือไปจากการปฏิบัติการของ
 “คอมมานโด” ที่เราเคยรู้จักกันทั่วๆ ไป ผมไม่แน่ใจว่าหน่วย “สวาท” นี้
จะมีการพัฒนาก่อตั้งกันขึ้นมาในโลกนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ครั้งแรก
ที่โลกถูกปลุกให้ตื่นผวาขึ้นมาด้วยการจี้เครื่องบิน และยึดตัวประกันสำคัญ
เพื่อใช้เป็นเครื่องมือต่อรองในทางการเมือง หน่วยงานชนิดนี้ได้ถูกก่อตั้งขึ้น
เพื่อต่อต้านกับผู้ก่อการร้ายประเภทนี้ก่อนบ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้ฝึกฝนพัฒนา
กันให้ดีพอ น่าจะเป็นการปฏิบัติการแบบหน่วยคอมมานโดธรรมดาเสียมากกว่า
 ผลที่เกิดขึ้นก็คือ กองโจรอาหรับที่เรียกตนเองว่า “แบล็คเซ็ปเท็มเบอร์”
หรือ “กันยายนทมิฬ” ที่ไปก่อการร้ายยึดตัวประกันเป็นนักกีฬาชาวยิว
ครั้งไปแข่งขันโอลิมปิกที่เมืองมิวนิค เยอรมันนี หน่วยงานชนิดนี้ปฏิบัติ
การผิดพลาด โดยไม่มีการประสานงานให้ถูกต้อง หรือมีวิธีการอันแยบยล
ลึ้กซึ้งพอ รวมทั้งหย่อนความชำนาญเท่าที่ควร ผลก็คือตัวประกันอันเป็น
นักกีฬาชาวยิว ถูกพวกก่อการร้ายอาหรับดังกล่าว โยนระเบิดมือเข้าใส่
และกราดปืนกลไปยังตัวประกัน ตายเรียบวุธทั้งชุด

    นี่เป็นบทเรียนครั้งสำคัญของโลกทีเดียว เกี่ยวกับวิธีการช่วยเหลือตัวประกัน
 ซึ่งล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ทำให้เกิดการตื่นตัวกันขึ้นครั้งใหญ่ว่า จะมีการอบรม
ฝึกฝนหน่วยงานชนิดนี้อย่างไร จึงจะให้เกิดประสิทธิภาพได้เต็มที่ โดยจะต้อง
ทำงานไม่พลาด ก่อให้เกิดความล้มตายย่อยยับแก่ตัวประกันขึ้น หรือถ้าจำเป็น
ก็จะต้องเกิดขึ้นน้อยที่สุด และหลังจากนั้นมาอีก เยอรมันนีผู้พลั้งพลาดไปแล้ว
ในครั้งแรก ก็ฝึกหน่วยพิเศษชนิดนี้รวมทั้งอาวุธที่จะใช้งานประเภทนี้ ทำงานกู้
หน้าได้สำเร็จ เมื่อเกิดการจี้เครื่องบินขึ้นอีกครั้งที่เมืองโมกาดิชุ โดยสามารถจะ
บุกทะลวงจู่โจมเงียบ ราวกับหน่วยของปีศาจ เข้าไปเล่นงานพวกโจรจี้เครื่องบิน
เสียเรียบวุธ สามารถช่วยเหลือตัวประกันทุกคนได้อย่างปลอดภัย กับสามารถ
รักษาเครื่องบินไว้ได้สำเร็จ เป็นการ “แก้หน้า” ไปได้หลังจากได้ผิดพลาดอย่าง
แรงไปในครั้งแรก

    ในเมืองไทยบ้านเรา ราว พ.ศ.๒๕๒๑ หรือ ๒๕๒๒ สายการบินคารูด้าของ
อินโดนีเซีย มาถูกคนร้ายกลุ่มหนึ่งจี้ยึดในสนามบินดอนเมืองนี่เอง รัฐบาลไทย
ในยุคนั้น ฉลาดพอที่จะไม่รีบลงมือปฏิบัติการอะไรลงไป เพียงล้อมคุมเชิงไว้
เฉยๆ และติดต่อให้หน่วยสวาทของอินโดเนียมาทำหน้าที่จัดการกันเอง
โดยเราประสานงานอยู่ในวงนอกเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียในทางการเมือง
สวาทของอินโดนีเซียยกโขยงกันมาดำเนินการแก้ไขได้โดยเครื่องบินไม่
ถูกระเบิดก็จริง แต่เป็นที่ทราบกันว่าหน่วยจู่โจมที่เข้าไปกับพวกกองโจรและผู้โดย
สาร ตายกันเละทั้งสามฝ่าย ซึ่งทางอินโดนีเซียปิดเงียบเป็นความลับ ไม่ยอมเปิด
เผยให้ใครทราบทั้งสิ้น ว่ามีผู้โดยสารในเครื่องบินเสียชีวิตไปกี่คน หน่วยจู่โจมทั้ง
หมดตายไปกี่คน คนร้ายตายไปกี่คน พองานสิ้นสุดลง เขาก็รีบนำศพ นำเครื่อง
บินที่ถูกยึดนั้นกลับประเทศของเขาทันที ซึ่งฝ่ายเราอันเป็นเจ้าของบ้านก็โล่งอกไป
ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เพราะถือว่าเป็นการกระทำของพวกเขากันเอง
พ้นเคราะห์ไปได้!

    ทีนี้ว่าถึง “สวาท” ที่เคยก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยของเรา ซึ่งเกิดขึ้นภายหลัง
จากที่ได้มีการจี้ยึดตัวประกันในคราวโอลิมปิกที่มิวนิค เป็นหน่วยงานของกรม
ตำรวจ(ในยุคนั้นซึ่งก็คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติในยุคนี้) ผู้ได้รับมอบหมาย
ในการวางแผนก่อตั้งหน่วยนี้ขึ้นมา คือ ท่าน พล.ต.อ.เสริม จารุรัตน์ (ยศในขณะ
นั้นเป็น พล.ต.ต.) เพราะท่านผู้นี้เป็นผู้ชำนาญการทางด้านอาวุธปืนของกรม
ตำรวจอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งทางกรมตำรวจก็ได้เลือกสรรตัวบุคคลที่เข้ามารับผิดชอบ
ได้อย่างถูกต้องที่สุด และตั้งชื่อแบบไทยว่า“สวาท” คัดเลือกคนและอาวุธเข้า
ประจำหน่วย

    การฝึกหน่วยสวาทของเมืองไทยบ้านเรา ได้ถูกกระทำขึ้นอย่างระมัดระวัง
เข้มงวดและกวดขันที่สุด มีการทดสอบฝีมือการยิงปืนกันทุกเดือน จากบุคคล
ที่คัดเลือกแล้ว ซึ่งส่วนมากมาจากตำรวจและทหารซึ่งมีความแม่นปืนเป็นทุน
เดิมอยู่ก่อนแล้ว ทหารนั้นเลือกมาจากทุกเหล่าทัพ ในการทดสอบประจำเดือนนั้น
ถ้าใครฝีมือตกลงไป หรือหย่อนลงไป ก็จะถูกคัดออกจากหน่วย ผู้ที่ทำคะแนนได้
ดีเยี่ยม จะถูกส่งเข้าประจำการแทน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันอยู่ทุกๆ เดือน
แต่ละคนจะต้องพร้อมต่อการเสียสละและรับผิดชอบสูง รวมทั้งสามารถที่
จะถูกเรียกเข้ามาปฏิบัติการได้ทุกเวลาในรอบ ๒๔ ชั่วโมงของแต่ละวัน
และแล้วชั่วเวลาไม่นานต่อมานัก ก็เกิดคณะการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
ขึ้นมา มีการเปลี่ยนแปลงอะไรต่ออะไรหลายๆ อย่าง มีใครหรือคณะ
ใดก็ไม่ทราบ ไปเสนอแนะรัฐบาลยุคนั้นว่า ตำรวจมีหน้าที่เพียงการปราบ
ปรามผู้ร้ายสามัญธรรมดา ถ้าเป็นผู้ร้ายหรือผู้ก่อการร้ายระดับโลก
ควรจะเป็นหน้าที่ของทหาร และหน่วยสวาทนั้นมีประสิทธิภาพมาก
มีอาวุธชั้นดีพร้อมทั้งการฝึกฝนมาเป็นพิเศษ แต่ไฉนจึงให้ไปอยู่ในความ
รับผิดชอบควบคุมของตำรวจ จึงขอให้ราชการทหาร เรียกอาวุธประจำ
ตัวที่ใช้ในหน่วยนี้ อันจัดว่าเป็นอาวุธสงครามพิเศษโดยตรง มาเป็นของ
ทหารเสีย หน่วยสวาทจึงถูกยุบและยึดอาวุธไปเป็นของทหาร ต่อมาในสมัย

ซึ่งพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. ๒๕๒๖) ได้เล็งเห็น
ถึงภัยคุกคามจากต่างประเทศ เช่น ผู้ก่อการร้ายสากล ท่านจึงมีดำริให้
กรมตำรวจจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษ จึงได้จัดตั้งหน่วย นเรศวร ๒๖๑
และ อรินราช ๒๖ (โดยชื่อมาจาก อริ = ข้าศึก, ศัตรู + อินท = จอม,
ผู้เป็นใหญ่ + ราช = พระราชา + ๒๖ = ปีที่ก่อตั้งพ.ศ. ๒๕๒๖)
โดยแต่ต่างกันในเขตรับผิดชอบ และต้นสังกัด ปัจจุบัน อรินทราช  ๒๖
 อยู่ในสังกัด กองร้อยที่ ๕ กองกับการ ๒ ป้องกันและปราบปรามจลาจล
กองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ (กก.2 บก.ตปพ.) และขึ้นตรงกับ
 กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น) หน่วยนี้ปฏิบัติหน้าที่เหมือนหน่วย
สวาทเดิมที่ถูกยุบลงไป

อรินทราช 26 เป็นหน่วยตำรวจที่มีความเชี่ยวชาญการใช้อาวุธและยุทธ
วิธีพิเศษ (Special Weapons And Tactics : S.W.A.T.) มีขีดความสามารถ
ในการปฏิบัติการพิเศษต่อภัยคุกคามที่เป็นอาชญากรรม และการก่อการร้าย
ด้วยการแย่งชิงตัวประกัน การจับกุม ฯลฯ ตามแนว "การบริหารวิกฤตการณ์"
(Crisis Management) โดยมีพื้นที่รับผิดชอบในเมืองหลวง และปริมณฑล
 เป็นหน่วยระดับ กองร้อยมีอุปกรณ์ครบมือ เช่น ปืนยิงแห, ปืนไฟฟ้า, ปืนพก,
 ปืนลูกซอง, ปืนกลเบา, ปืนไรเฟิล, ระเบิดมือ, อุปกรณ์ต่อต้านการจลาจล ฯลฯ
 มีภารกิจ ยกตัวอย่างเช่น

ช่วยเหลือตัวประกัน ควบคุมการก่อจลาจล ปราบปรามอาชญากรรม ต่อต้านการก่อการร้าย ให้ความปลอดภัยบุคคลสำคัญ เพิ่มการรักษาความปลอดภัยในจุดสำคัญ ในเวลาปกติ และเมื่อ
มีกิจกรรมพิเศษ

ส่วนการฝึกนั้น แรกทีเดียวหน่วยอรินทราช ๒๖ รับผู้ที่เรียนจบจาก
โรงเรียนนายร้อยตำรวจ หรืออาสาสมัครตำรวจ การฝึกในครั้งแรกไม่
มีรูปแบบที่แน่นอน โดยได้รับการสนับสนุนครูฝึกจาก ตร. และยึดรูปแบบ
การปฏิบัติการเป็นทีม ๕ คน เหมือนหน่วยปฏิบัติการพิเศษ GSG 9 ของ
ประเทศเยอรมนี มีการฝึกการยิงปืนทางยุทธวิธี การฝึกพลแม่นปืน
การปฏิบัติการทางน้ำ การต่อสู้ป้องกันตัว การขับขี่ยานพาหนะในรูปแบบ
ต่างๆ เมื่อการฝึกรุ่นแรกสำเร็จ ก็มีการถ่ายทอดให้กับกำลังพลที่เข้าประจำ
การในกองร้อยปฏิบัติการพิเศษเรื่อยมา อีกทั้งมีการจัดส่งกำลังพลไปฝึก
ในหลักสูตรต่างๆ ของต่างประเทศและนำวิชาความรู้กลับมาถ่ายทอดให้กับ
กำลังพลที่อยู่ในหน่วย โดยจะทำการฝึกกันเองถ่ายทอดกันต่อๆ มา และ
ได้มีการจัดแบ่งหลักสูตร ออกเป็น ๕ หลักสูตร คือ

๑.   หลักสูตรการต่อต้านการก่อการร้ายสากล ๒๔ สัปดาห์ สำหรับ
กำลังพลที่บรรจุใหม่

๒.    หลักสูตรทบทวนการต่อต้านการก่อการร้ายสากล ๖ สัปดาห์
สำหรับกำลังพลที่ประจำการอยู่ในหน่วย และฝึกทดสอบแผนปฏิบัติ
การต่อต้านการก่อการร้าย ๑ สัปดาห์

๓.    หลักสูตรการทำลายระเบิด ๑๒ สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่
บรรจุในตำแหน่ง "พลเก็บกู้ทำลายระเบิด"

๔.    หลักสูตรพลแม่นปืน ๔ สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุใน
ตำแหน่ง "พลซุ่มยิง"

๕.    หลักสูตรผู้ชำนาญการอิเล็กทรอนิคส์ ๑๒ สัปดาห์ สำหรับกำลังพล
ที่บรรจุในตำแหน่ง "ผู้ชำนาญการอิเล็กทรอนิคส์"

นอกจากนี้ยังมีการฝึกต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น "แผนกรกฏ ๔๘"
การฝึกในสถานการณ์สมมุติ และการฝึกร่วมกับหน่วยงานอื่น

อุปกรณ์สำหรับปฏิบัติหน้าที่

ในการแต่งกายจะไม่สามารถเปิดเผยใบหน้าได้ ที่ชุดบริเวณไหล่ซ้าย มีอาร์ม
สีบานเย็น รูปสี่เหลี่ยมคางหมู ตรงกลางมีรูปอักขระยันต์ มีตัวหนังสือบอกหน่วย
สังกัดว่า "ตำรวจนครบาล ปฏิบัติการพิเศษ" นั่นคือ "ตำรวจ 191" เนื้ออาร์มมี
คำว่า "อรินทราช ๒๖" บริเวณหน้าอก มีรูปโล่อยู่ตรงกลาง พื้นโล่สีดำแดง
กลางโล่มีสายฟ้าสีขาว มีดอกชัยพฤกษ์สีทองพุ่งเข้าหาโล่จากด้านข้าง ข้างละ
๖ ดอก สีพื้นของชุดจะเป็นสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีสำหรับหน่วยงานที่ทำหน้าที่
บริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยชุดแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท ได้แก่

๑.   ชุดทำงานปกติ สามารถเห็นได้ทั่วไปตามจุดสำคัญ

๒.    ชุดเวสสีน้ำเงิน ใช้สำหรับฝึกและเตรียมพร้อมก่อนปฏิบัติงาน

๓.    ชุดเวสพร้อมอุปกรณ์ โดยจะมีอุปกรณ์ครบมือ ตั้งแต่หมวกกัน
กระสุน, เสื้อกันกระสุน, อาวุธอื่นๆ ที่เพิ่มเข้า

๔.    ชุดปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย โดยชุดนี้จะเหมือนแบบที่ ๓
เว้นแต่สีชุดที่เป็นสีดำ จะใส่ชุดนี้เมื่อต้องทำงานกับหน่วยงานอื่น
 (การสนธิกำลัง)

อาวุธประจำกาย

ในหน่วยงานราชการมีการเปลี่ยนแปลงแทนที่ยุทธภัณฑ์อยู่เสมอ สำหรับปืนสั้น
 เคยมีการใช้ Browning ปัจจุบันมีการใช้ Glock 19 และ HK P7M8 ส่วนอาวุธ
ประจำกายคือ MP5 สำหรับบางคนจะใช้ปืนไรเฟิล หรือปืนลูกซองแทน ในการ
ปราบจลาจลอาจมีการใช้โล่ และกระบอง หรือใช้กระสุนซ้อมมาแทนที่

หมายเหตุ : ข้อมูลจากหนังสือ GUNS&TACTICS โดย ฉัตรชัย 
วิเศษสุวรรณภูมิ (เมื่อ”สวาท” วาย) และสารานุกรมวีกีเพียเดีย

 ขออภัยถ้าตัวหนังสือเล็ก

 

#swat
mon2543
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
18 ม.ค. 54 เวลา 18:35 13,955 38 60
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...