" นักเรียนทุนรับเชิญ": นักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นรุ่นแรกของไทยภายใต้ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นยุคสงครามโลก

 

" นักเรียนทุนรับเชิญ": นักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นรุ่นแรกของไทยภายใต้ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นยุคสงครามโลก

.

แต่เดิมมักเข้าใจกันว่าการส่งนักเรียนไทยไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่นนั้น เริ่มต้นในปี 2497 โดยทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ที่มักเรียกกันว่า ทุนมงบุโช แต่แท้จริงแล้วพบว่ามีการส่งนักเรียนไปศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2485 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อครั้งที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในสงครามโลก

.

มีการมอบทุนให้กับนักเรียนไทยโดยรัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งเรียกกันว่า 'นักเรียนทุนรับเชิญ' ซึ่งมีอยู่สองรุ่นในช่วงปีพ.ศ. 2485 และพ.ศ. 2486 โดยรัฐบาลญี่ปุ่นจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการศึกษาแต่อำนาจการคัดเลือกเป็นของกระทรวงศึกษาธิการไทย ในการคัดเลือกนักเรียนรุ่นแรกนั้น กระทรวงได้จัดให้มีการสอบคัดเลือกในกลุ่มโรงเรียนในจังหวัดพระนครและธนบุรี โดยให้ส่งนักเรียนเข้าสอบโรงเรียนละ 5 คน รวมทั้งหมดมีผู้เข้าสอบราว 200 คน มีผู้ได้รับการคัดเลือก 7 คน เป็นนักเรียนชาย 5 คนและนักเรียนหญิง 2 คน (มีนักเรียนหญิงคนหนึ่งเป็นมุสลิมด้วย)

.

สำหรับนักเรียนรุ่นที่สองที่เดินทางไปศึกษาในประเทศญี่ปุ่นนั้นอยู่ในช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังอยู่ในภาวะยากลำบากจากสงคราม เมื่อมีการจอดเรือพักที่ไต้หวัน นักเรียนจึงได้รับคำแนะนำให้ซื้อน้ำตาลกักตุนให้มากที่สุด เมื่อเดินทางไปถึงโตเกียวในช่วงแรกยังพอมีอาหารอยู่แม้จะไม่มาก และส่วนใหญ่ต้องรอคิวสำหรับอาหาร นักเรียนได้รับส่วนแบ่งข้าววันละ 300 กรัมในขณะที่คนญี่ปุ่นได้เพียงวันละ 250 กรัม แต่ก็กินไม่อิ่ม

.

สำหรับนักเรียนรุ่นที่สองแม้จะเรียนด้วยตำราเรียนแบบเดียวกับรุ่นที่หนึ่ง แต่ก็ได้เรียนน้อยกว่าเพราะเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังจะแพ้สงคราม ทำให้ทหารเข้ามาควบคุมระบบการศึกษาของญี่ปุ่นอย่างเข้มงวดขึ้น การเข้ามาควบคุมการศึกษาที่โรงเรียนนี้เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งระหว่างนักเรียนรุ่นที่สองกับโรงเรียน ดังพบว่า เมื่อนักเรียนชายไทยรุ่นที่สองถูกบังคับให้กล้อนผมแบบทหาร นักเรียนเหล่านี้รู้สึกว่าตัวเองแตกต่างจากนักเรียนเอเชียอื่นๆ ที่เป็นเมืองขึ้นของญี่ปุ่นเพราะถึงแม้ได้รับทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นแต่ก็เป็นโครงการร่วมระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นกับไทย จึงไม่ยอมกล้อนผม

.

ความขัดแย้งที่รุนแรงที่สุดและได้รับการบันทึกในเอกสารทางฝ่ายญี่ปุ่นด้วยก็คือการบังคับให้ ปราโมทย์ เขตนนท์ นักเรียนทุนคนหนึ่ง โครงคำนับพระจักรพรรดิหลังการเคารพธงชาติโดยให้ก้มต่ำลงอีก แต่ปราโมทย์ไม่ยอมเว้นวรรคนักเรียนชายไทยรุ่นที่สองจึงถูกพักการเรียนและถูกกักบริเวณ

.

เมื่อสถานการณ์ในประเทศญี่ปุ่นแย่ลงทำให้นักเรียนต้องหยุดเรียน นักเรียนจึงไม่ได้เรียนหนังสือ ได้แต่อ่านหนังสือบ้าง คุยกันบ้าง วันพฤหัสบดีซึ่งเป็นวันที่ทางสาธารณสุขจะทำการตรวจโรคโสเภณี ก็จะมีนักเรียนรุ่นพี่ไปเที่ยวโสเภณีแถบย่านอะสะกุสะ และ ทะมะโนะอิ

.

นักเรียนทุนรับเชิญเหล่านี้ไม่ได้สำเร็จการศึกษา เนื่องจากต้องเลิกการศึกษากลางคันเพราะประเทศแพ้สงคราม มีนักเรียนทุนรับเชิญคนหนึ่งเสียชีวิตที่ญี่ปุ่นเนื่องจากเป็นตะคริวขณะเล่นน้ำ นักเรียนคนหนึ่งกลับมาสอนภาษาญี่ปุ่นที่โรงเรียนของสถาบันวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น และมีนักเรียนคนหนึ่งได้หันไปทำงานเพื่อชนชั้นแรงงานก่อนเดินทางไปสหภาพโซเวียต ต่อมาได้ถูกประหารชีวิตตามคำสั่งของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (เพื่อนของเค้ายืนยันว่าเค้ามิใช่คอมมิวนิสต์แต่รักที่จะทำงานเพื่อชนชั้นแรงงาน)

.

จะเห็นว่านักเรียนทุนญี่ปุ่นในรุ่นแรกที่ได้เดินทางไปศึกษาที่ญี่ปุ่นนั้นไม่ใช่นักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (มงบุโช) ดังที่เข้าใจกัน แต่กลับเป็นนักเรียนทุนรับเชิญซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลก และถือเป็นกลุ่มนักเรียนที่มีพลวัตในการใช้ชีวิตที่สะท้อนให้เห็นถึงบริบททางสังคม การเมือง วัฒนธรรม ของไทยและญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี

...

ที่มา วรวุฒิ จิราสมบัติ. นักเรียนทุนรับเชิญ นักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นรุ่นแรก. ใน ทรายแก้ว ทิพากร และ วรเวศม์ สุวรรณระดา. 2552. เอกสารหลังการประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายญี่ปุ่นศึกษาในประเทศไทย ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สร้างสื่อ. หน้า 121-128

.

ภาพประกอบ 1: นักเรียนรุ่นที่หนึ่งขณะอยู่บนเรือเดินทางไปญี่ปุ่น

ภาพประกอบ 2: ตัวอย่างบัตรประจำตัวของนักเรียนทุนที่ออกให้โดยกระทรวงมหาเอเชียบูรพา

.

ที่มาภาพ 1: วรวุฒิ จิราสมบัติ. เพิ่งอ้าง. หน้า 124

ที่มาภาพ 2: วรวุฒิ จิราสมบัติ. เพิ่งอ้าง. หน้า 125

ขอบคุณที่มา: ประวัติศาสตร์สามัญชนไทย

https://www.facebook.com/1263989750282033/photos/pcb.1450907898256883/1450907631590243/?type=3&theater

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...