ปฏิบัติการ Market Garden การจู่โจมที่ ‘ล้มเหลวที่สุด’ ของฝ่ายสัมพันธมิตร ในสงครามโลกครั้งที่ 2

http://www.catdumb.com/operation-market-garden-064/

ปฏิบัติการ Market Garden การจู่โจมที่ ‘ล้มเหลวที่สุด’ ของฝ่ายสัมพันธมิตร ในสงครามโลกครั้งที่ 2

 

ถ้าพูดถึงปฏิบัติการของฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายคนอาจนึกถึงวันยกพลขึ้นบกหรือวันดีเดย์ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1944 ซึ่งปฏิบัติการนี้ ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรในเวลาต่อมา แต่รู้หรือไม่ เพียงไม่กี่เดือนหลังจากปฏิบัติการดีเดย์ พวกเขาต้องพบกับปฏิบัติการที่ล้มเหลวที่สุดครั้งหนึ่งของฝ่ายสัมพันธมิตร เรื่องราวจะเป็นอย่างไร เราไปติดตามชมกันเลยดีกว่า!

 

ปฏิบัติการที่ว่านี้ คือปฏิบัติการ Market Garden ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 – 25 กันยายน ค.ศ. 1944 โดยผู้นำของภารกิจนี้คือกองทัพอังกฤษ และมีกองกำลังผสมจากสหรัฐอเมริกาและโปแลนด์มาช่วย แผนการของภารกิจนี้ก็คือ กองทัพอังกฤษจะใช้พลร่มที่ 1, กองพลร่มที่ 101 ของสหรัฐอเมริกา ,และกองพลเล็กจากโปแลนด์ กระโดดลงไปอยู่หลังแนวข้าศึกเพื่อทำการยึดสะพานและเมืองสำคัญๆ ที่เป็นทางผ่านไปยังแคว้นไรน์ของเยอรมัน

 

จากนั้นเมื่อยึดแล้ว กองพลทหารราบและยานเกราะที่ 30 ของอังกฤษ จะรุกคืบขึ้นไปเพื่อบรรจบกับกองพลร่มที่ 1 ที่เมืองอาร์นเน็ม ก่อนจะบุกเยอรมันต่อไป เพื่อจะปิดฉากสงครามให้ได้ก่อนเทศกาลคริสต์มาสปี ค.ศ. 1944 แน่นอน ถ้าใครจำได้ สงครามโลกครั้งที่สองจบลงในปี ค.ศ. 1945 นั่นแปลว่าพวกเขาล้มเหลว แล้วมันเพราะอะไรกัน? เราไปดูกันดีกว่า

 

(ปฏิบัติการ Market Garden)

ในช่วงก่อนการบุกนั้น สายลับจากฮอลแลนด์ได้ส่งข่าวมาว่า มีการเคลื่อนไหวของกองพลยานเกราะแพนเซอร์อยู่ในเมืองอาร์นเน็ม แต่เหล่าเสนาธิกาของอังกฤษกลับละเลยข่าวนี้ และคิดว่าเป็นเพียงกองพลยานเกราะเล็กๆ จนทำให้กองพลร่มที่ 1 ต้องปะทะกับกองพลยานเกราะตามลำพัง

 

และที่ซวยยิ่งกว่าคือ ในช่วงที่ปฏิบัติการเริ่มขึ้น กองพลยานเกราะที่มาประจำอยู่ที่เมืองอาร์นเน็ม ดันเป็น “กองพลยานเกราะ เอส.เอส. ที่ 9” หรือ “โฮเฮนสเตาเฟน” ซึ่งเป็นกองพลที่รวมนายทหารระดับเทพมากประสบการณ์ของเยอรมันไว้ ทำให้ความหนักหน่วงที่กองพลร่มที่ 1 ต้องเจอ คงเป็นที่คาดเดาได้

(กองพลยานเกราะ เอส.เอส. ที่ 9 ที่มีรถถังไทเกอร์จอมโหดประจำการอยู่)

 

ยิ่งไปกว่านั้น ตามแผนเดิมกองพลร่มที่ 1 จะต้องได้รับการสนับสนุนจากกองพลทหารราบและยานเกราะที่ 30 แต่ด้วยความล่าช้าในการบุก เนื่องจากภูมิประเทศที่ค่อนข้างยากลำบาก รวมถึงกองทัพเยอรมันที่คอยตอดเล็กตอนน้อยตลอดทาง ทำให้พวกเขาไปถึงไม่ทันกำหนดการ จนกองพลร่มที่ 1 ต้องสู้ทั้งๆ ที่ขาดยุทโธปกรณ์ และกองกำลังสนับสนุน สุดท้ายแล้วกองพลร่มที่ 1 อันเก่งกาจของอังกฤษ แม้จะมากด้วยฝีมือแต่เมื่อขาดยุทโธปกรณ์และกำลังสนับสนุน ทำให้พวกเขาพ่ายแพ้อย่างหมดรูป จากจำนวนทหารกว่า 10,000 นาย สุดท้ายหนีรอดกลับมาได้เพียง 2,000 นายเท่านั้น ส่วนที่เหลือถ้าไม่เสียชีวิต ก็ถูกทหารเยอรมันจับเป็นเชลย

 

หนึ่งในสาเหตุที่พวกเขาพ่ายแพ้อย่างหมดรูป คือพวกเขาประมาทความแข็งแกร่งของกองทัพเยอรมันผิดไป เหล่าเสนาธิการคิดว่า หลังจากกองทัพเยอรมันถูกกองทัพสัมพันธมิตรบีบจากหลายด้าน แล้วพวกเขาจะอ่อนแอลง แต่ความจริงแล้ว มันกลับทำให้กองกำลังที่กระจัดกระจายของเยอรมัน กลับมารวมตัวเป็นกลุ่มเป็นก้อนอีกครั้ง และแม้พวกเขาจะเหนื่อยล้าจากสงครามที่รบกันมาหลายปี แต่ก็ยังแข็งแกร่งพอจะถล่มกองกำลังสัมพันธมิตรให้ราบคาบ

 

หลายคนอาจสงสัยว่า กองพลร่มที่ 101 ของสหรัฐอเมริกาล่ะหายไปไหน ตามแผนเดิมพวกเขาต้องไปรวมกับกองพลร่มที่ 1 ที่เมืองอาร์นเน็ม แต่พวกเขาต้องปะทะกับ “กองพลแพนเซอร์ที่ 107” ของเยอรมันอย่างหนักหน่วง จนพวกเขาขนานนามเส้นทางเส้นนี้ว่า “ทางสายนรก” หรือ “Hell’s Highway”

(ใครเคยเล่นเกม Brother’s in Arm : Hell’s Highway ก็คือเหตุการณ์นี้แหละ)

 

สุดท้ายแล้วแผนการที่จะจบสงครามโลกครั้งที่สองภายในสิ้นปีของอังกฤษ ก็ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง พร้อมๆ กับการล่มสลายของกองพลร่มที่ 1 อันแข็งแกร่งของพวกเขา และฝ่ายสัมพันธมิตรต้องกลับไปวางแผนการรบใหม่ ก่อนจะสามารถพิชิตเยอรมันได้ในปีถัดมา

ที่มา Wikipedia, Pantip

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...