ทำไมประเทศไทยต้องใช้น้ำมันยูโร4

ที่ผ่านมามีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับมาตรฐานคุณภาพน้ำมันที่ใช้อยู่ในประเทศไทยที่เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 4 ว่า เราใช้มาตรฐานสูงเกินตัวหรือไม่ ทำให้คนไทยต้องใช้น้ำมันราคาแพงเกินควรเพราะต้องบวกค่าปรับปรุงคุณภาพจากน้ำมันยูโร 2 ให้เป็นน้ำมันยูโร 4 ซึ่งคำวิจารณ์เหล่านี้กำลังทำให้ประชาชนมีความกังวลและสับสนว่า ประเทศไทยควรจะใช้น้ำมันคุณภาพสูงอย่างยูโร 4 ต่อไป หรือ ควรใช้น้ำมันคุณภาพต่ำอย่างยูโร 2 เพื่อที่จะได้ใช้น้ำมันราคาถูกลง?

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานน้ำมันยูโรว่าคืออะไร มาตรฐานยูโร หรือ European Emission Standards ได้เกิดขึ้นมาจากกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ที่ต้องการวางกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อดูแลป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมสำหรับภาคขนส่งที่มีการปล่อยไอเสียซึ่งเป็นสาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศ จึงนำไปสู่การควบคุมการปล่อยมลพิษจากยานพาหนะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา และกำหนดมาตรฐานไอเสียสำหรับยานพาหนะควบคู่กับมาตรฐานของน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้ยานพาหนะดังกล่าวมีการปล่อยไอเสียไม่เกินค่าที่กำหนดตามมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันก็มีการแบ่งมาตรฐานเรียงลำดับจากยูโร 1, ยูโร 2, ยูโร 3, ยูโร 4, ยูโร 5 และ ยูโร 6

โดยมาตรฐานของแต่ละระดับนั้นจะวัดกันที่สารเจือปนในน้ำมันเชื้อเพลิง และปริมาณการปลดปล่อยมลพิษของสารต่างๆ จากไอเสียรถยนต์ เช่น สารกำมะถัน สารพีเอเอช (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon) สารเบนซีน สารโอเลฟิน คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซไฮโดรคาร์บอนกับออกไซด์ของไนโตรเจน (HC+NOx) และฝุ่นละออง เป็นต้น รวมถึงการกำหนดค่าออกเทน ค่าซีเทนในน้ำมันอีกด้วย

การลดค่ากำมะถันจะช่วยทำให้ลดการเกิดฝนกรดและฝุ่นละอองได้อย่างมาก การลดคาร์บอนมอนอกไซด์ทำให้ควันดำลดลง การลดสารพีเอเอช สารเบนซีน สารโอเลฟิน ก๊าซโอโซนที่มาจากปฏิกิริยาเคมีระหว่างก๊าซไฮโดรคาร์บอนกับออกไซด์ของไนโตรเจนในแสงแดด จะช่วยลดสารก่อมะเร็ง ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ที่อยู่อาศัยหรือทำมาค้าขายริมถนนมีทิศทางที่ดีขึ้น

สำหรับประเทศไทยนั้น มีการบังคับใช้น้ำมันยูโร 4 เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 จากมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 12 ธันวาคม 2549 ที่มีมาตรการส่งเสริมให้มีการผลิตน้ำมันยูโร 4 เนื่องจากประเทศไทยโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีประชากรและการจราจรที่หนาแน่นนั้น มีปัญหาเรื่องคุณภาพของอากาศอย่างหนัก เช่น มีมลพิษฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน, สารกำมะถันและก๊าซโอโซนเกินกว่ามาตรฐานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ริมถนนใหญ่ จากการประเมินคุณภาพอากาศในเขตควบคุมมลพิษพบว่า การใช้น้ำมันยูโร 4 สามารถลดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ถึง 220 ตันต่อปี ลดการปลดปล่อยฝุ่นละอองได้ถึง 1,732 ตันต่อปี ลดการระบายสารเบนซีนลง 9 ตันต่อปี และลดการระบายสาร 1,3-บิวทาไดอีน 4.1 ตันต่อปี (ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ)

นอกเหนือจากการพัฒนาคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นมาตรฐานยูโร 4 ซึ่งทำให้เครื่องยนต์สามารถเผาไหม้ได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้นแล้ว ก็ต้องมีการพัฒนามาตรฐานของเครื่องยนต์และระบบการควบคุมการปลดปล่อยมลพิษของรถยนต์เช่นเดียวกัน รถยนต์รุ่นใหม่ๆ ตามมาตรฐานยูโร 4 นั้นมีการติดตั้งระบบ OBD (On Board Diagnostics) ที่เป็นแผงวงจรคอมพิวเตอร์ที่ใช้ตรวจสอบการทำงานของเครื่องยนต์รวมถึงการวิเคราะห์ปริมาณการปล่อยมลพิษของไอเสียโดยทำงานร่วมกับ ECU (Electric Control Unit) ที่รวบรวมข้อมูลเซนเซอร์ในหลายๆ จุดและควบคุมการฉีดเชื้อเพลิงให้สมดุล รวมถึงทำงานร่วมกับ Catalytic Convertor เพื่อจัดการมลพิษให้ได้ตามมาตรฐานยูโร 4 อีกด้วย ถ้าจะให้เปลี่ยนกลับไปใช้น้ำมันยูโร 2 รถยนต์เหล่านี้ก็จะมีปัญหาทันทีเพราะน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ได้มาตรฐาน

 

สำหรับประเทศเพื่อนบ้าน แม้วันนี้หลายๆ ประเทศยังคงใช้น้ำมันยูโร 2 หรือยูโร 3 กันอยู่ เพราะเขามีการจราจรที่ไม่หนาแน่น ปริมาณมลพิษยังอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ รวมถึงยังไม่ได้มีการกำหนดมาตรการควบคุมมลพิษที่จริงจังและยังไม่ได้บังคับใช้รถยนต์ที่มีไอเสียมาตรฐานยูโร 4 อีกด้วย แต่ในอนาคตประเทศเพื่อนบ้านเราหลายๆ ประเทศก็จะพัฒนาคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงเป็น ยูโร 4 และ ยูโร 5 เช่นเดียวกัน อย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์ ที่เพิ่งเริ่มใช้น้ำมันเบนซินยูโร 4 และน้ำมันดีเซลยูโร 5 ไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้ ประเทศเวียดนามก็มีแผนจะใช้น้ำมันยูโร 4 ภายในปี 2559 และเป็นยูโร 5 ในปี 2564 และประเทศมาเลเซียตั้งเป้าจะใช้น้ำมันยูโร 4 ทั่วประเทศในปี 2558 สำหรับประเทศไทยตอนนี้ก็ได้มีการพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงบางชนิดเป็นยูโร 5 ไปบ้างแล้วเช่น แก๊สโซฮอล์ E20 ของบางจาก และ ดีเซลพรีเมียม ของ ปตท.

หากมองไปทั่วโลกจะพบว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ประเทศกลุ่มยุโรปและสแกนดิเนเวีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ตอนนี้กำลังจะไปไกลกว่ายูโร 5 แล้วด้วยซ้ำ

ส่วนผลกระทบของผู้ที่ใช้รถยนต์ก็ต้องยอมรับว่าการผลิตน้ำมันยูโร 4 ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณลิตรละ 50 สตางค์ที่เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและค่าใช้จ่ายจากการที่ผู้ประกอบการได้ลงทุนปรับปรุงคุณภาพโรงกลั่นน้ำมันไปแล้ว แต่ก็คุ้มค่ากับการแลกมาซึ่งสภาพอากาศที่ดีขึ้นและสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้นของส่วนรวม เพื่อให้พวกเราและลูกหลานได้สูดอากาศหายใจได้เต็มปอด ลดอัตราการเจ็บป่วยทางเดินหายใจ โรคมะเร็ง ฯลฯ ซึ่งจากการประเมินพบว่า น้ำมันยูโร 4 สามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพของประชาชนสูงถึง 56,700 ล้านบาทต่อปี (ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ)

จะเห็นได้ว่าวันนี้เราแทบจะไม่เห็นควันดำและสภาพอากาศก็ดีขึ้นมากโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ดังนั้น เราควรเดินหน้าพัฒนาคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยไปเป็นยูโร 5 หรือมากกว่านั้น แทนที่จะถอยหลังกลับไปใช้น้ำมันยูโร 2 ตามข้อเสนอของบางกลุ่มที่จะให้ยกเลิกข้อบังคับมาตรฐานยูโร 4 เพื่อเปิดทางให้มีการนำเข้าน้ำมันยูโร 2 มาขายแข่งขันกับโรงกลั่นน้ำมันในประเทศในราคาที่ต่ำกว่าตามคุณภาพ ซึ่งจะไม่เป็นผลดีและไม่คุ้มค่าในระยะยาวเพราะจะส่งผลกระทบต่อสภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนไทยโดยรวม รวมถึงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันการเพิ่มประสิทธิภาพของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศอีกด้วย

ที่มา https://www.facebook.com/nongposamm/photos/a.1548159858783765.1073741828.1547935488806202/1697820997150983/?type=3&theater

17 ก.พ. 59 เวลา 06:11 1,883 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...