ประวัติศาสตร์ที่ชีวิตคุณอาจไม่เคยรู้ ญี่ปุ่นบุกไทย

ญี่ปุ่นบุกไทย

มหาสงครามโลกครั้งที่ 2 ขยายตัวลุกลามเข้ามาถึงทวีปเอเชีย เมื่อกองทัพญี่ปุ่นได้เปิดฉากโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ลฮาเบอร์ของสหรัฐอเมริกาในมหาสมุทรแปซิฟิก ฮ่องกงและเมืองโคตาบารูทางเหนือของมาลายู อย่างรุนแรง และฉับพลัน ในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) โดยมิได้ประกาศสงครามล่วงหน้าก่อน อังกฤษและสหรัฐอเมริกาจึงประกาศสงครามกับญี่ปุ่นในวันนั้น สงครามหาเอเชียบูรพา (The Greater East-Asia War) จึงได้อุบัติขึ้น และในวันเดียวกันนั้นเองญี่ปุ่นได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยขอให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทย

ขณะที่ประเทศไทยยังไม่ได้ตอบข้อเสนอของญี่ปุ่น และภายหลังการโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์เพียงหนึ่งชั่วโมง ครั้งนั้นกองทัพญี่ปุ่นก็ได้ส่งกองกำลังบุกเข้าประเทศไทยทางชายแดนด้านภาคตะวันออก และยกพลขึ้นบกทางชายฝั่งทะเลอ่าวไทยจังหวัดปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพรและตำบลบางปู สมุทรปราการ ทหาร ตำรวจ ยุวชนทหาร ลูกเสือ อาสาสมัครต่างๆ ในจังหวัดเหล่านั้นได้ต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยว ณ ทุกแห่งที่ถูกโจมตี และได้พลีชีพเพื่อชาติเป็นจำนวนมาก

เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อเวลา 06.50 น. ของวันที่ 8 ธันวาคม ที่ประชุมพิจารณาเห็นว่าไทยยังไม่พร้อมที่จะรบกับกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งมีกำลังและยุทโธปกรณ์มากมายมหาศาล ประกอบกับญี่ปุ่นได้แจ้งความประสงค์ เพียงแค่เดินทัพผ่านประเทศไทยโดยมีสัญญาว่าจะเคารพเอกราช อธิปไตร และเกียรติภูมิของไทย รัฐบาลไทยจึงมีคำสั่งให้หยุดยิง และยุติการสู้รบเมื่อเวลา 07.30 น. ของวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484

สัญญาพันธมิตร

รัฐบาลไทยได้พยายามเจรจาต่อรองกับข้อเสนอต่างๆ ของญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ เพื่อการผ่อนหนักเป็นเบา และในที่สุดก็ต้องยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านดินแดนประเทศไทย ไปยังพม่าและมลายู ระหว่างนั้นญี่ปุ่นทำการรบรุกอย่างรวดเร็วจนสามารถยึดครองดินแดนส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้ได้ ความได้เปรียบของญี่ปุ่นในสงครามครั้งนี้ทำให้รัฐบาลไทยตกลงทำสัญญา เป็นพันธมิตรทางทหารกับญี่ปุ่น รวมทั้งพันธมิตรทางการรุกรานและการป้องกันเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ฑ.ศ. 2484 ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยต้องประกาศสงครามอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 รัฐบาลไทยได้ให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นตามข้อเรียกร้อง ซึ่งเป็นผลให้ญี่ปุ่นยอมให้การบริหารประเทศชองรัฐบาลไทยดำเนินไปตามปกติ ญี่ปุ่นทำหน้าที่เป็นเพียง “ ที่ปรึกษา ” คอยดูแลไม่ให้ฝ่ายตนเสียประโยชน์ และพยายามหาทางทำให้รัฐบาลไทยให้ความร่วมมือกับตนมากยิ่งขึ้น

ทางด้านเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นได้บีบบังคับไทยหลายประการ ญี่ปุ่นเรียกร้องให้ไทยส่งกำลังบำรุงและวัตถุดิบทั้งหมดให้กองทัพของตน ไทยต้องค้าขายกับญี่ปุ่นเพียงประเทศเดียว และต้องยอมให้ญี่ปุ่นกู้เงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในกองทัพ การที่ญี่ปุ่นตั้งฐานทัพในประเทศไทย ทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยทรุดหนักยิ่งขึ้น เพราะกองทัพญี่ปุ่นต้องซื้ออาหารและของใช้จากพ่อค้าไทยไปเลี้ยงทหารญี่ปุ่นที่ประจำอยู่ในพม่าและมลายู ในราคาสูงกว่าตลาด ทำให้สินค้าขาดแคลน พ่อค้าฉวยโอกาสกักตุนสินค้าและเก็งกำไรเกิดตลาดมืด เกิดการทุจริตและการฉ้อราษฎร์บังหลวงขึ้น ประชาชนชาวไทยต้องเผชิญกับความขาดแคลนเครื่องอุปโภค ค่าครองชีพสูงขึ้น นอกจากนั้นยังประสบภัยพิบัติจากสงคราม บ้านเรือนต้องพินาศเสียหายจาการทิ้งระเบิดโจมตีของฝ่ายพันธมิตร และในช่วงปี พ.ศ. 2485 นี้เองประชาชนชาวไทยต้องผจญกับภัยธรรมชาติซ้ำเติมจากน้ำท่วมอย่างหนัก ไร่นาและพืชผลเสียหายอย่างมากอีกด้วย

รัฐบาลควง อภัยวงศ์

ในปี พ.ศ. 2487 มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เนื่องจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะถูกสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจในการเสนอร่างพระราชบัญญัติสำคัญ นาย ควง อภัยวงศ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487

รัฐบาลของนาย ควง อภัยวงศ์ ได้แถลงนโยบายต่อสภาฯ ว่า “ จะร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่นโดยใกล้ชิดตามสัญญาพันธกรณีที่ได้มีต่อกันไว้ด้วยดี ” และให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นตามข้อเรียกร้องของญี่ปุ่นทุกประการ แต่รัฐบาลชุดนี้ก็ได้แต่งตั้งบุคคลระดับหัวหน้าใน “ องค์กรต่อต้านญี่ปุ่น ” เป็นรัฐมนตรีด้วยกันหลายคน และได้ช่วยเหลือการดำเนินงานของขบวรการเสรีไทยอย่างลับๆ นอกจากนั้นผู้นำทางการเมืองและการปกครองสำคัญๆ หลายคนก็ได้เข้าร่วมในองค์การต่อต้านญี่ปุ่น เช่น พลตรีสังวร สุวรรณชีพ และ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัล อธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุมตัว “ เสรีไทย ” จากสหรัฐ-อเมริกาและอังกฤษที่เดินทางเข้าประเทศ

ญี่ปุ่นขอชายฉกรรจ์ไทยไปเป็นทหาร

กองทัพญี่ปุ่นเริ่มระแวงสงสัยว่าไทยจะเล่นใต้ดินหักหลังญี่ปุ่น แม่ทัพญี่ปุ่นก็ยังรุกฆาตต่อไป โดยยื่นคำขาดให้รัฐบาลเกณฑ์ชายฉกรรจ์ชาวไทย จำนวน 100,000 คน ไปเป็นกองทหารเพื่อร่วมรบร่วมรุกกับญี่ปุ่นหากไม่สามารถจัดให้ได้คงต้องขัดใจกัน และสร้างความแตกหักคราวนี้เอง นายกฯ ควง อภัยวงศ์ กระอักกระอวลปันป่วนใจอย่างยิ่ง ด้วยเหตุ 2 ประการคือ

ประการแรก ถ้าไม่จัดหาชายฉกรรจ์ ตามจำนวนที่ญี่ปุ่นต้องการ ก็คงต้องเกิดเหตุร้ายอย่างแน่นอน เนื่องจากแม่ทัพญี่ปุ่นยื่นคำขาด โดยไม่มีการผ่อนผันใดๆ และมีอำนาจครอบงำเหมือนลูกไก่ในกำมืออยู่แล้ว

ประการที่สอง หากจะจัดให้ตามความต้องการของญี่ปุ่น ก็จะเป็นที่ขัดเคืองจากฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งช่วยเหลือขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นอย่างลับๆ ร่วมกับรัฐบาลไทย กรุงเทพต้องถูกทิ้งระเบิดอย่างหนักแน่นอน

เมื่อพบทางตันทั้ง 2 ด้าน ไม่มีทางแก้ไขเป็นอย่างอื่น ประกอบกับสถานการณ์คับขันยิ่งขึ้น ห้วงเวลาแห่งการแตกหักก็คืบเข้ามาทุกขณะ นายกฯ ควง อภัยวงศ์ ก็ได้ใช้ “ ไหวพริบปฏิภาณ ” อันเฉียบคม แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอันหนักอึ้งอีกครั้งหนึ่ง โดยยอมโอนอ่อนผ่อนคลายจามความต้องการของญี่ปุ่น เมื่อเปิดการเจรจาเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ นายกฯ ควง อภัยวงศ์ ได้ลงนามในสัญญาจัดหาชายฉกรรจ์ไทย จำนวน 100,000 คน เพื่อเป็นกองทหาร ร่วมรบร่วมรุกกับญี่ปุ่นด้วยหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ไม่มีแวววิตกกังวลใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้แม่ทัพญี่ปุ่นกับทหารซามูไรแปลกใจไปตามๆ กัน แต่แล้วก็ต้องสะอึก เมื่ออ่านสัญญาฉบับดังกล่าวปรากฏข้อความชัดเจนดังนี้

“ ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันว่ารัฐบาลไทย ยินดีจัดชายฉกรรจ์ชาวไทย จำนวน 100,000 คน เพื่อเป็นกองทหารร่วมรบร่วมรุกกับญี่ปุ่น ตามที่กองทัพญี่ปุ่นต้องการแล้ว เนื่องจากชายฉกรรจ์ชาวไทย เป็นชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ต้องปลูกข้าวและพืชผลเลี้ยงคนทั่วประเทศรวมทั้งทหารญี่ปุ่นทั้งกองทัพทั่วอาณาจักรไทยและส่งไป เลี้ยงทหารญี่ปุ่นที่ประจำอยู่ในประเทศพม่า มลายู ตลอดจนประเทศอื่นๆ ที่ญี่ปุ่นยึดครองได้อีกด้วย หากต้องใช้ชายฉกรรจ์ไทย 100,000 คน ไปเป็นทหารร่วมรบกับญี่ปุ่นประเทศไทยก็ไม่มีชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ผู้ผลิตผลเลี้ยงคนไทยและญี่ปุ่น จะพากันอดตายหมดทั้งคนไทยและกองทัพญี่ปุ่น ประกอบกับประชาชนชาวไทยต้องผจญกับภัยธรรมชาติ น้ำท่วมใหญ่ ไร่นา พืชผลเสียหายหมด

เพื่อมิให้เกิดปัญหาการขาดแคลนอาหารจนอดตาย และเพื่อให้มีอาหารส่งกำลังบำรุงกองทัพญี่ปุ่นได้ตลอดไป ในฐานะที่ไทยกับญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกัน มีข้อสัญญาว่าญี่ปุ่นจะเคารพเอกราชอธิปไตยและเกียรติภูมิของไทย จึงให้แม่ทัพญี่ปุ่นจัดทหารในกองทัพของญี่ปุ่นจำนวน 100,000 คนมาทำไร่ ทำนา ทำสวนแทนชายฉกรรจ์ไทย ไปจกว่าสงครามจะยุติ ถ้าหากว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อตกลงข้างต้น ให้ถือว่าสัญญานี้เป็น “ โมฆะ ”

แม้จะไม่บอกเล่าต่อไป ก็คงทราบได้ว่าสัญญาฉบับดังกล่าวนี้เป็น “ โมฆะ ” แน่นอน เพราะแม่ทัพญี่ปุ่นไม่ยอมให้ทหารที่ฝึกฝนอย่างดีเลิศ รบชนะตลอดอย่างช่ำชองต้องมาเป็นชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ตกบ่อ ล่อปลา ตามที่นายกฯ ควง อภัยวงศ์ ขุดหลุมพรางไว้ แม่ทัพญี่ปุ่นจึง “ หน้าแตก ” จนหมอไม่รับแย็บ

เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาสงบลง โดยญี่ปุ่นยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2488 “ คมเฉือนคม ” ตามที่เล่ามานี้เป็นที่ฮือฮามากในสมัยนั้น หนังสือพิมพ์ทุกฉบับในสมัยนั้น พาดหัววิจารณ์กรณี “ ญี่ปุ่นขอชายฉกรรจ์ไทยไปเป็นทหารญี่ปุ่น ” ว่า “ นายกฯควง ลวงแม่ทัพซามูไร ช่วยให้ชาติรอด ” หนังสือบางฉบับพาดหัวว่า “ นายก ไทย ใช้ลูกไม้ศรีธนญชัย ชายไทยนับแสน รอดพ้นเป็นทหารญี่ปุ่น ”

ต่อมาอีก 2 วัน คือ วันที่ 16 สิงหาคม 2488 ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ “ ประกาศสันติภาพ ” ในประปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลว่า การประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกาของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 เป็นโมฆะ เป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทย และฝ่าฝืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และกฎหมายบ้านเมือง

หลังสงครามตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2488 กองกำลังทหารอังกฤษและทหารในเครือจักรภพ โดยเฉพาะจากอินเดียเกือบสองหมื่นนายเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย จนกระทั่งวันที่ 19 มกราคม ปีต่อมา หลังจาเสร็จภารกิจแล้ว กองกำลังทหารอังกฤษและอินเดีย ได้ทำพิธีสวนสนามที่กรุงเทพฯ เพื่ออำลาประเทศไทย ต่อพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8

ประเทศไทยจึงเปลี่ยนสถานการณ์จากสภาพประเทศแพ้สงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริการวมทั้งร่วมรบร่วมรุกกับญี่ปุ่น (เมื่อญี่ปุ่นแพ้ไทยก็ต้องแพ้ด้วย) แต่ด้วยความชาญฉลาดของบรรพบุรุษไทย เป็นผลให้ไทยเป็นประเทศชนะสงครามอย่างเต็มภาคภูมิ

จากภาพที่พระมหากษัตริย์ไทยองค์พระประมุขของชาติเป็นประธานรับความเคารพจากทหารสัมพันธมิตร แสดงถึงความเป็นผู้ชนะสงครามอย่างชัดเจนเป็นที่ประทับใจยิ่ง

 

 

ที่มา: http://www.oknation.net/blog/kingkaoz/2007/09/08/entry-11

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...