ราชินีองค์สุดท้ายของพม่า จากคำบอกเล่าของนางกำนัล

อีกไม่กี่เดือนอาเซียน 10 ประเทศจะรวมกันเป็นประชาคมเดียวกัน วันนี้เลยจะชวนท่านผู้อ่านมารู้จักประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา จากประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่การยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาของพม่า หรือการกู้บ้านเมืองของสยาม หากเป็นเหตุการณ์ช่วงการสิ้นราชวงศ์คองบอง ราชวงศ์สุดท้ายของพม่า

ท่านผู้อ่านหลายท่านคงเริ่มตั้งคำถามในใจว่าทำไมต้องเป็นช่วงเวลานี้

เพราะประวัติศาสตร์ช่วงนี้คือช่วงสุดท้ายของพม่าก่อนจะถูกอังกฤษยึดครอง และที่ผ่านมามักกล่าวถึงแต่การฆ่าฟันกันในหมู่สมาชิกราชวงศ์เพื่อช่วงชิงอำนาจราชบัลลังก์ การชิงรักหักสวาทของราชสำนักฝ่ายในเพื่อครองใจกษัตริย์และความเป็นใหญ่ ซึ่งบุคคลสำคัญในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ขณะนั้นมี "พระนางสุภยาลัต-ราชินีองค์สุดท้ายของพม่า" อยู่ในบท "นางร้าย"

แต่ที่จะชวนท่านผู้อ่านไปดูเป็นอีกมุมของพระองค์ที่ยังไม่เป็นที่เปิดเผยหรือรับรู้นัก ซึ่งนิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม" ฉบับเดือนตุลาคมนี้ นำมาเสนอในบทความเรื่อง "วันเวลาก่อนสิ้นสลาย : ราชินีสุภยาลัต นางพญากษัตริย์สุดท้ายของพม่า" โดยสุภัตรา ภูมิประภาส

พระนางสุภยาลัตเป็นพระราชธิดาของพระเจ้ามินโดงกษัตริย์พม่า กับพระนางซินผิ่วมะฉิ่นพระมเหสีรอง พระองค์เป็นพระราชินีของพระเจ้าธีบอ พระเชษฐาต่างพระมารดา ผู้เป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายของพม่า

บุคคลหนึ่งที่ตัดสินให้พระนางสุภยาลัตเป็น "นางร้าย" คือ ดอกเตอร์จอห์น แอบเบนีเซอร์ มาร์คส์ (John Ebenezer Marks) ผู้ก่อตั้งโรงเรียนมิชชันนารีที่มัณฑะเลย์ โรงเรียนที่พระเจ้ามินโดงทรงอุปถัมภ์ พระราชโอรสพระราชธิดาหลายพระองค์ก็เป็นศิษย์เก่าที่นี่ รวมทั้งพระนางสุภยาลัตเมื่อทรงพระเยาว์ด้วย เขาสอนหนังสืออยู่ที่มัณฑะเลย์ 7 ปี

http://www.matichon.co.th/online/2015/10/14441062031444106233l.jpg
ดร.จอหน์ มาร์คส์ และนักเรียนชาวพม่าที่ติดตามมาจากย่างกุ้ง เพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้ามินโดง ปี พ.ศ.2411
 

ดร.มาร์คส์บันทึกว่า พระนางสุภยาลัตมีอุปนิสัย "เหี้ยมโหดตั้งแต่เด็ก" จากที่เขาได้เห็นพระนางขณะชันษา 9 ปี เล่นสนุกโดยจับนกตัวเล็กๆ มาบีบจนปีกหักคามือ พระชนนีก็ทรงเมินเฉยที่จะขัดเกลาพฤติกรรมดังกล่าว

เมื่อ ดร.มาร์คส์ทราบข่าวเหตุการณ์สังหารหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชวังมัณฑะเลย์ช่วงต้นรัชกาลพระเจ้าธีบอ เขากล่าวโทษว่าพระนางสุภยาลัตทรงเป็นผู้ยุยงบงการ พระนางสุภยาลัตครอบงำพระเจ้าธีบอ และเป็นต้นเหตุของความหายนะทั้งหลายทั้งปวงในรัชสมัยของพระองค์ด้วย

บันทึกความทรงจำของ ดร.มาร์คส์มีการนำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ Forty Years in Burma ใน พ.ศ.2460 ซึ่งถ่ายทอดต่อมาอย่างแพร่หลายในหนังสือเล่มอื่นๆ ทั้งหนังสือภาษาอังกฤษและภาษาไทยอีกหลายเล่ม

แต่ผู้เขียน (สุภัตรา ภูมิประพาส) เสนออีกมุมมองที่แฮโรลด์ ฟีลดิ้ง-ฮอลล์ (Harold Fielding-Hall) เขียนขึ้นจากคำบอกเล่าของอดีต "นางกำนัล" ของพระนางสุภยาลัต ผู้มีหน้าที่มวนบุหรี่ถวายอยู่ด้านหลังพระนางในทุกๆ ที่ที่พระนางเสด็จพระราชดำเนินเป็นเวลา 4 ปี ตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อว่า "Thibaw′s Queen" ใน พ.ศ.2442 ตีพิมพ์ก่อนหนังสือ Forty Years in Burma ของ ดร.มาร์คส์ 18 ปี แต่กลับไม่ค่อยแพร่หลาย

ขอยกตัวอย่างหนึ่งจากหนังสือของฟีลดิ้ง-ฮอลล์ ที่เสนออีกภาพหนึ่งของพระนางสุภายาลัต เป็นช่วงเวลาก่อนที่พม่าจะตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ขณะที่เหล่าเสนาบดีต่างทูลแต่ข่าวชัยชนะของพม่า พระนางสุภยาลัตแสดงความยินดีกับข่าวดีและทรงจัดมหรสพเฉลิมฉลอง

http://www.matichon.co.th/online/2015/10/14441062031444106237l.jpg
ตำหนักฤดูร้อนในพระราชวังมัณฑะเลย์ (ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2446)


ขณะเดียวกันพระองค์ทรงแอบสืบข่าวของกองทัพอังกฤษเอาจากเด็กๆ ลูกของข้าราชบริพารในวัง

พระนางสุภยาลัตเรียกเด็ก 4 คนมาเข้าเฝ้าทีละคน พระนางแอบไปสืบสาวเอาความจริงจากเด็กๆ ทรงรับฟังสิ่งที่เด็กๆ เล่าอย่างสงบและประทานรางวัลให้เป็นการตอบแทน

"เมื่อฟังเด็กเล่าจบแล้ว พระราชินีทรงทอดพระบาทเดินจากไปอย่างช้าๆ และฉันก็เดินตามไป เมื่อพ้นต้นมะขามมาแล้ว พระนางทรงกำชับกับฉันว่า ′เจ้าได้ยินที่เด็กๆ พูดแล้ว เด็กพวกนั้นยังเล็กเกินกว่าจะโกหกเป็น ทั้งหมดนั้นต้องเป็นเรื่องจริง พวกเสนาบดีและนายทัพเหล่านั้นต่างหากที่ไม่กล้าบอกความจริงกับข้า แต่เจ้าอย่าได้นำเรื่องนี้ไปพูดกับผู้ใดโดยเด็ดขาด′ แล้วพระนางก็เสด็จออกจากอุทยาน พระนางดูเศร้าสร้อย...เศร้าสร้อยเหลือเกิน..."

หรือคำพูดที่พระนางสุภยาลัตรับสั่งให้พวกนางกำนัลของพระนางรีบออกจากวังหากมีที่พักพิงที่ปลอดภัยกว่า

"ข้าคงเสียใจมากหากมีอันตรายใดๆเกิดขึ้นกับนางกำนัลคนใดคนหนึ่งของข้าพวกเจ้าจงกลับไปบ้านกันเถิดพวกเจ้าคนใดมีที่พักพิงปลอดภัยก็จงไปเสีย เพราะข้าไม่อาจให้ความปลอดภัยพวกเจ้าที่นี่ได้อีกแล้ว ที่ไหนๆ ย่อมปลอดภัยกว่าที่นี่ จงไปเถิด แต่หากใครไม่มีที่ไปก็จงอยู่กับข้า และข้าก็จะอยู่กับพระเจ้าอยู่หัว"


หนังสือ Thibaw"s Queen ของฟีลดิ้ง-ฮอลล์ (ขวา) เป็นฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2442 ช่วงที่พระนางสุภยารัตถูกเนรเทศไปประทับที่เมืองรัตนคีรี ประเทศอินเดีย (ซ้าย) พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2515

ทั้งหลายนี้ชวนให้ลังเล และตั้งคำถามกับบทบาทของ "นางร้าย" ของพระองค์ จึงขอท่านได้โปรดอ่านเรื่องราวที่เหลือ จากนิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม"

พระนางสุภยาลัต-คนเดียว มองจากมุมของ ดร.มาร์คส์ก็เป็นแบบหนึ่ง มองจากมุมของฟีลดิ้ง-ฮอลล์ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง มุมไหนน่าเชื่อถือ ใครเล่าจะบอกได้ แล้วใครเล่าจะเชื่อ เช่นนี้จึงขอเชิญอ่านเถอะค่ะ เพื่อคลี่คลายหาคำตอบด้วยตนเอง

7 ม.ค. 59 เวลา 22:35 4,599
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...