“สงกรานต์มอญสังขละฯ” งดงามอย่างมีเอกลักษณ์ ด้วยแรงแห่งศรัทธา

บรรยากาศการสรงน้ำพระผ่านรางไม้ไผ่ เมื่อสรงน้ำเสร็จเรียบร้อยทุกคนจะสาดน้ำใส่กันอย่างสนุกสนาน         “ประเพณีสงกรานต์” ประเพณีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของไทยที่มีมาตั้งแต่เมื่อครั้งอดีต และถือเป็นประเพณีไทยที่คนมักจะรู้จักกันเป็นอันดับแรก ในช่วงนี้ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทยจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ มากมาย อีกทั้งในแต่ละพื้นที่ก็ยังได้มีการนำวัฒนธรรมและประเพณีพื้นบ้านมาผสมผสานและประยุกต์ให้เข้ากับประเพณีส่งกรานต์ จนเกิดเป็นประเพณีอันงดงามที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เช่น “ประเพณีสงกรานต์มอญสังขละบุรี” ของชาวไทยเชื้อสายมอญแห่ง อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
       
       พระมหาสุชาติ สิริปญฺโญ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เล่าถึงงานประเพณีสงกรานต์มอญสังขละบุรีให้ฟังว่ามีการจัดงานทั้งหมด 5 วันด้วยกัน โดยยึดถือวันตามปฏิทินสงกรานต์ สำหรับปีนี้ตรงกับวันที่ 13-18 เมษายน โดยวันที่ 1 คือวันสงกรานต์ลง ซึ่งหมายถึงวันที่นางสงกรานต์จะนำเศียรของท้าวกบิลพรหมลงมายังโลกมนุษย์เป็นเวลา 3 วัน วันที่ 2 คือวันคาบปี หรือวันสิ้นปี วันที่ 3 คือวันสงกรานต์ขึ้น ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 4 คือวันสรงน้ำพระ และวันที่ 5 คือวันตรวจน้ำ หรือกรวดน้ำ 
  พระสงฆ์เดินเหยียบไปบนหลังชาวบ้านผู้ชายที่มีจิตศรัทธา         สำหรับประเพณีสงกรานต์ 3 วันแรก จะเป็นวันที่ผู้เฒ่าผู้แก่จะมาถืออุโบสถศีลอยู่ที่วัด ในช่วงเช้าลูกหลานจึงนำอาหารจากบ้านมาถวายพระ และนำมาให้พ่อแม่ปู่ย่าตายายที่ถือศีลที่วัดได้กินด้วย โดยส่วนมากจะเป็นอาหารที่เรียกเป็นภาษามอญว่า “เปิงดาด” (เปิง=ข้าว ดาด=น้ำ) มีลักษณะคล้ายข้าวแช่ที่เราคุ้นเคยกัน แต่เครื่องที่กินกับข้าวจะแตกต่างกัน โดยที่นี่นิยมใช้ปลาต้มจนยุ่ย นำมาผัดกับมะม่วงและหัวหอมให้ออกรสเปรี้ยว บางบ้านใช้กุ้งแห้งป่น หรือถั่วป่น
       
       ส่วนในช่วงเย็นเราจะเห็นภาพน่ารักๆ เมื่อลูกหลานจะนำน้ำมาอาบให้พ่อแม่หรือผู้เฒ่าผู้แก่ที่วัด ก่อนผู้ใหญ่เหล่านั้นจะนอนค้างที่วัดเพื่อถืออุโบสถศีลกันต่อ โดยลูกหลานนำเอาถังน้ำใส่ท้ายรถกระบะมา แต่เมื่อก่อนนี้ที่ยังไม่มีรถก็จะใช้วิธีหาบน้ำมาจากบ้านเพื่อมาอาบให้พ่อ แม่ปู่ย่าตายายของตัวเอง หรือไปอาบให้ญาติๆ หรือคนรู้จักที่ถือศีลที่วัดด้วยเช่นกัน 
  สาวชาวมอญแต่งกายอย่างงดงามมาร่วมสรงน้ำพระผ่านรางไม้ไผ่         ส่วนไฮไลต์ของสงกรานต์มอญสังขละบุรีที่หลายคนอาจเป็นภาพตามสื่อต่างๆ คือการนอนราบกับพื้นให้พระสงฆ์เดินเหยียบหลัง และการสรงน้ำพระผ่านรางไม้ไผ่นั้น พระมหาสุชาติเล่าให้ฟังถึงที่มาว่า
       
       “วันที่ 4 หลังจากออกจากอุโบสถศีล ช่วงบ่ายจะมีการสรงน้ำพระ ชาวบ้านจะช่วยกันทำรางน้ำจากไม้ไผ่ บางวัดอาจประยุกต์ใช้ท่อพีวีซีแทนรางไม้ไผ่ แต่หลวงปู่ (หลวงพ่ออุตตมะ) เคยบอกว่า สงกรานต์ปีหนึ่งมีครั้งเดียว หากใช้ไม้ไผ่มาช่วยกันทำจะต้องใช้ความกลมเกลียว สามัคคี ช่วยกันทำช่วยกันตัดไม้ไผ่ในป่า เวลาที่ช่วยกันทำก็จะได้คุยกันก็จะซึบซับความรู้สึกอันดีต่อกัน ได้เสียสละร่วมกัน ดังนั้นหลวงปู่จะให้ทำใหม่ทุกปี ถ้าใช้ท่อพีวีซีซึ่งทำครั้งเดียวเก็บไว้ใช้ได้นานหลายปี มันจะทำให้ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขาดไป” 
  ขบวนแห่กองผ้าป่าไปยังวัด         “ส่วนการให้พระสงฆ์เดินเหยียบหลังนั้น เมื่อก่อนไม่ใช่พระสงฆ์ทุกรูปจะขึ้นเหยียบ แต่จะเป็นหลวงปู่รูปเดียว เพราะคนนับถือหลวงปู่มาก เมื่อคนมาสรงน้ำพระก็จะมาให้หลวงปู่เหยียบเพื่อเป็นสิริมงคล มันเกิดขึ้นจากความศรัทธาในหลวงพ่ออุตตมะ ไม่ใช่ประเพณีอะไร” พระมหาสุชาติกล่าว และเล่าถึงที่มาของความเชื่อว่าการให้พระสงฆ์เหยียบหลังแล้วจะเกิดสิริมงคล ว่า มาจากพุทธชาดกตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าเสวยชาติเป็นดาบส ชื่อสุเมธดาบส ในยุคของพระพุทธเจ้าทีปังกร สุเมธดาบสได้ลงนอนราบกับพื้นโคลนเลนให้พระพุทธเจ้าเดินเหยียบไปบนหลัง เพื่อไม่ให้เท้าของพระองค์ต้องเปื้อนโคลน พร้อมกับตั้งจิตปรารถนาอธิษฐานขอให้ตนสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง พระพุทธเจ้าทีปังกรก็พยากรณ์ไว้ว่า ในอนาคตข้างหน้าสี่อสงไขยกำไรแสนกัป เธอจะเป็นพระพุทธเจ้าชื่อว่าโคดม ดังนั้นจึงเกิดความเชื่อว่าการอุทิศตนให้พระสงฆ์เหยียบหลังจะเป็นมงคลแก่ตัวเอง 
  สาวมอญในขบวนแห่เทินสำรับอาหารไว้บนศรีษะอย่างชำนาญ         สำหรับพิธีในวันที่ 4 หรือวันสรงน้ำพระนี้ ในช่วงบ่ายชาวบ้านจะทยอยเดินมาที่ลานหน้าเจดีย์พุทธคยา ในงานบุญเช่นนี้แต่ละคนจะแต่งตัวแบบจัดเต็ม โดยเฉพาะสาวๆ ที่จะแต่งตัวและแต่งหน้าสวยงาม ใส่เสื้อแขนยาวลูกไม้โปร่งสีสันสดใสและผ้านุ่งยาวกรอมเท้า ประดับร่างกายด้วยทองหยองตามกำลังของแต่ละคน
       
       การสรงน้ำจะเริ่มขึ้นเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีเป็นผู้ อัญเชิญพระพุทธรูปจากเจดีย์พุทธคยามาที่ปลายรางไม้ไผ่ ชาวบ้านก็จะเริ่มสรงน้ำพระพุทธรูปด้วยน้ำอบน้ำปรุงลอยดอกไม้ จากนั้นพระสงฆ์จะเดินเรียงกันออกมาจากองค์เจดีย์ และเดินเหยียบไปบนหลังชายผู้มีศรัทธาที่นอนคว่ำเรียงรายกันเป็นแถวตั้งแต่ องค์เจดีย์มาจนถึงปลายรางไม้ไผ่เพื่อให้ชาวบ้านได้สรงน้ำทีละรูปๆ รูปใดสรงเสร็จแล้วจะมีชาวบ้านผู้ชายมาช่วยกันอุ้มกลับไปยังองค์เจดีย์ 
  ชาวบ้านมาร่วมกันทำพิธีสวมยอดฉัตรเจดีย์ทราย         และเมื่อสรงน้ำพระสงฆ์ครบทุกรูปแล้ว ชาวบ้านที่มารวมกันอยู่ตรงลานหน้าเจดีย์จะนำน้ำในขันที่เหลือสาดขึ้นฟ้า และสาดกันเองทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่และคนเฒ่าคนแก่เป็นที่สนุกสนาน สร้างความชุ่มฉ่ำและสร้างรอยยิ้มให้เต็มไปทั่วทั้งลานวัด
       
       ส่วนในวันสุดท้ายของงานสงกรานต์ซึ่งเป็นวันกรวดน้ำ หลังจากทำบุญปีใหม่มาตลอด 4 วันแล้ว วันสุดท้ายก็จะแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้ผู้อื่น แต่ละบ้านหรือแต่ละชุมชนจะนำกองผ้าป่ามารวมกันที่ตลาดในตอนเช้า จากนั้นจะแห่กองผ้าป่า เครื่องไทยทาน รวมถึงสำรับกับข้าวขึ้นมาที่วัด เป็นขบวนยาวที่มีสีสันและความสนุกสนานด้วยเสียงดนตรีและท่าฟ้อนของสาวน้อย สาวใหญ่ชาวมอญ เมื่อนำกองผ้าป่าและสำรับกับข้าวไปไว้ที่วัดแล้ว ก็จะร่วมกันแห่ฉัตรยอดเจดีย์ทรายจากวัดไปที่เจดีย์ทรายบริเวณด้านหน้าลาน เจดีย์พุทธคยา ทำพิธียกฉัตรและสวมฉัตรเจดีย์ทราย จากนั้นจะกลับมาที่ศาลาอีกครั้ง มาสมาทานศีล ถวายเพลพระ ถวายผ้าป่า กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลและเป็นอันเสร็จพิธี งานประเพณีสงกรานต์มอญสังขละบุรีจึงนับเป็นประเพณีสงกรานต์ที่งดงามอย่างมีเอกลักษณ์ที่ควรค่าแก่การคงรักษาไว้สืบต่อไปให้ลูกหลานได้ชื่นชม
       
       **********************************************************************************
       
       สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม การท่องเที่ยวในจังหวัดกาญจนบุรี โทร. 0-3451-1200, 0-3451-2500
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...