ลัดเลาะเลียบย่าน “ถนนตะนาว” เดินดูตึกเก่า ไหว้พระ ไหว้เจ้า ชิมของอร่อย

ซุ้มประตูวังสรรพสาตรศุภกิจ         การได้เดินเล่นในย่านเก่าแก่นั้น ทำให้ได้เห็นถึงสิ่งก่อสร้างเก่าๆ ที่ยังคงเหลืออยู่ ได้ซึมซับความสวยงามในอดีตที่ถ่ายทอดมาจนถึงปัจจุบัน อย่างในย่าน “ถนนตะนาว” ซึ่งก็เป็นย่านที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน ย่านนี้ก็มีเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองเช่นกัน
       
       “ถนนตะนาว” เมื่อแรกสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเพียงส่วนหนึ่งของถนนเฟื่องนคร โดยสร้างตั้งแต่ปลายถนนบำรุงเมือง บริเวณสี่กั๊กเสาชิงช้า ตัดยาวผ่านถนนราชดำเนินกลางตรงสี่แยกคอกวัว ไปจนถึงถนนสิบสามห้างตรงบางลำพู
       
       มีข้อสันนิษฐานว่า เหตุที่ชื่อถนนตะนาว ก็เนื่องจากตั้งชื่อตามย่านที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้ชาวตะนาวศรีมาตั้งถิ่นฐานนั่นเอง 
  ศาลเจ้าพ่อเสือ         จากจุดเริ่มต้นของถนนตะนาว บริเวณสี่กั๊กเสาชิงช้า ก็ถือว่าเป็นย่านเก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง มีชื่อเรียกว่า “สามแพร่ง” อันประกอบด้วย “แพร่งสรรพศาสตร์” “แพร่งนรา” และ “แพร่งภูธร” ชุมชนสามแพร่งนี้ถือเป็นย่านการค้าที่เคยรุ่งเรืองในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาถึงรัชกาลที่ 6 โดยความเจริญนั้นเริ่มต้นขึ้นจากบริเวณเสาชิงช้าก่อนเพราะมีการตัดถนนสายแรกๆ คือถนนบำรุงเมืองและถนนเฟื่องนครขึ้น อีกทั้งยังมีการสร้างตึกแถวสไตล์ตะวันตกให้คนมาเช่าทำการค้าขาย ซึ่งก็มีทั้งชาวจีน ชาวเปอร์เซีย และชาวตะวันตกเข้ามาค้าขายกัน ทำให้ย่านเสาชิงช้าในขณะนั้นกลายเป็นย่านการค้าอันทันสมัย และความเจริญนี้ก็ได้ขยายไปถึงย่านสามแพร่งที่อยู่ใกล้เคียงต่อมา (คลิก!! อ่านเรื่องย่านสามแพร่ง)
       
       หากเราเดินเล่นบนถนนตะนาวก็จะสามารถเห็นทางเข้าของแพร่งสรรพศาสตร์ เป็นซุ้มประตูเก่าๆ ที่อยู่ติดริมถนนตะนาว ซึ่งซุ้มประตูที่เห็นนี้ก็คือ “ซุ้มประตูวังสรรพสาตรศุภกิจ” วังที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ก่อสร้างตามแบบศิลปะยุโรป มีกรอบประตูโค้งประดับแผ่นปูนปั้นที่กึ่งกลาง หน้าบันกรุกระจกสีกึ่งกลางเป็นช่องโปร่งตั้งรูปหล่อเทพธิดากรีกชูโคมไฟ 
  หลวงพ่อพระร่วงทองคำ         ถัดจากนั้นไม่ไกล ก็จะเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่ขึ้นชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก คือ “ศาลเจ้าพ่อเสือ” ซึ่งคนส่วนมากที่มากราบไหว้ที่ศาลเจ้าพ่อเสือ ก็เพื่อมาขอพรในเรื่องของการงาน การเงิน และโชคลาภต่างๆ คนที่ไม่คุ้นเคยกับศาลเจ้า หรือเพิ่งเคยมาไหว้เป็นครั้งแรก ก็อาจจะงงๆ กับธรรมเนียมการไหว้ ไม่รู้จะไหว้องค์ไหนก่อน เพราะมีเทพหลายองค์ทีเดียวภายในศาล หรือจะปักธูปปักเทียนตรงไหนก่อนดี เรื่องนี้ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะบริเวณหน้าศาลเจ้าก็จะมีพ่อค้าแม่ค้าที่ขายเครื่องเซ่นไหว้เจ้าพ่อเสือ เมื่อเราไปซื้อเครื่องเซ่นไหว้จากร้านของเขา บางร้านจะถามว่าไหว้เป็นหรือไม่ หากไหว้ไม่เป็นก็จะมีคนพาเข้าไปและแนะนำวิธีการไหว้ต่างๆ ให้
       
       ส่วนการสักการะเจ้าพ่อเสือนั้นจะมีเครื่องเซ่นต่างหาก โดยจะประกอบด้วยหมูสามชั้น ไข่ดิบ และข้าวเหนียวหวาน พวงมาลัย และกระดาษเงินกระดาษทองสำหรับเผาไหว้เจ้า เมื่อไหว้ขอพรจากเจ้าพ่อเสือ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของการงาน ใครอยากให้การงานของตัวเองรุ่งเรือง หรืออยากให้อุปสรรคต่างๆ ในชีวิตหมดไป ก็อธิษฐานขอกับเจ้าพ่อเสือได้ จากนั้นก็ยื่นเครื่องไหว้เหล่านี้ให้เจ้าหน้าที่ที่ยืนอยู่บริเวณนั้น ซึ่งเขาก็จะรับเอาเครื่องไหว้นั้นไปยื่นใกล้ๆ กับปากของเจ้าพ่อเสือเหมือนเป็นการถวาย แล้วเจ้าหน้าที่ก็จะพูดว่า “เฮงๆๆ” แก่เรา แล้วก็ส่งกระดาษกลับคืนมาให้เอาไปเผาตรงด้านหน้าศาล เป็นอันเสร็จพิธีไหว้
       
       แม้ในวันธรรมดา ก็จะเห็นว่ามีผู้คนเข้ามาสักการะองค์เจ้าพ่อเสืออยู่ไม่ขาดสาย แต่ยิ่งในช่วงเทศกาลปีใหม่ ตรุษจีน หรือช่วงวันพระต่างๆ ก็จะยิ่งมีผู้คนหนาแน่นมากขึ้นไปอีก 
  พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5         ข้ามมาที่อีกฟากของถนนตะนาว ก็จะเป็นที่ตั้งของ “วัดมหรรณพารามวรวิหาร” พระอารามหลวงชั้นตรีสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 สถาปัตยกรรมภายในวัดมีทั้งแบบไทยและแบบที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีน หลังคาของพระอุโบสถ ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา มีพระประธานปั้นด้วยปูน ลงรักปิดทอง เป็นพระพุทธรูปสมัยกรุงศรีอยุธยา
       
       ส่วนที่พระวิหาร ภายในประดิษฐาน “หลวงพ่อพระร่วงทองคำ” ซึ่ง เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยที่มีความงามเป็นอย่างยิ่ง แต่เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดโคกสิงคาราม อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี แต่ต่อมากรมหมื่นอุดมรัตนราษี หรือพระองค์เจ้าอรรณพ พระราชโอรสในสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้ทรงสร้างวัดนี้ขึ้นและรับสั่งให้เจ้าหน้าที่ทางเมืองเหนือเสาะหาพระพุทธรูปใหญ่มาประดิษฐานเป็นพระประธาน ครั้นได้พบก็ทรงรับสั่งให้อัญเชิญลงมายังกรุงเทพฯ เพื่อให้ทันกับการฉลองพระอุโบสถและผูกพัทธสีมา แต่การเดินทางล่าช้า ไม่ทันกำหนดเวลาที่พระอุโบสถสร้างเสร็จ ภายหลังจึงสร้างพระวิหารให้เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระร่วงตั้งแต่นั้นมา 
  ริมถนนตะนาว         พระพุทธรูปองค์นี้สร้างด้วยโลหะผสมทองคำมากถึง 60% องค์พระมีรอยต่อ 9 แห่งโดยมีหมุดเป็นเครื่องเชื่อมที่รอยต่อ กราบพระร่วงทองคำมองเห็นพระพักตร์อิ่มเอิบเหมือนยิ้มนิดๆ นิ้วพระหัตถ์เรียวงาม มีคนมากราบไหว้ท่านอยู่เสมอ และคนที่ต้องการบนบานก็มักจะถวายลูกตระกร้อและว่าวเป็นของบูชา
       
       นอกจากวัดแห่งนี้จะเป็นศาสนสถานแล้ว ก็ยังถือได้ว่าเป็นโรงเรียนประถมแห่งแรกของประเทศไทย เนื่องจากในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา ทรงได้พระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงเพื่อสามัญทั่วไปเป็นแห่งแรกขึ้น เมื่อพ.ศ.2427 ณ วัดมหรรณพารามแห่งนี้ ชื่อว่า"โรงเรียนวัดมหรรณพ์" ซึ่งถือเป็นการพระราชทานการศึกษาออกสู่ปวงชนเป็นครั้งแรก ทำให้การศึกษาของชาติได้เจริญพัฒนาไปทั่วประเทศตราบจนปัจจุบัน และเมื่อวาระครบ 100 ปีที่พระราชทานการศึกษา จึงได้สร้าง"พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5" ขึ้น เพื่อสักการบูชาในบริเวณวัดมหรรณพ์ ส่วนอาคารด้านหลังพระบรมราชานุสาวรีย์ซึ่งดูเก่าแก่นั้น ก็สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรมของประชาชน 
  อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา         ออกจากวัดมหรรณพาราม เดินเลียบมาตามถนนตะนาว ก็จะเห็นบ้านเรือนแบบเก่าๆ ที่ถูกปรับปรุงให้ดูงามตา จนมาถึงบริเวณแยกคอกวัว ก็ยังมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทยอีกแห่งหนึ่ง คือ “อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา” ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่รำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์วันที่ 14-16 ตุลาคม 2516 หนึ่งในประติมากรรมที่เด่นเป็นเอกลักษณ์ คือ สถูปวีรชน 14 ตุลา เป็นรูปกรวยคว่ำ สูง 14 เมตร จารึกรายชื่อผู้เสียชีวิตทั้งหมด 72 คนและบทกวีของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ รูปกรวยคว่ำเป็นสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณการมนุษย์ ส่วนปลายยอดกรวยที่ดูเหมือนยังสร้างไม่เสร็จแทนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย สิทธิ และเสรีภาพที่ยังต้องดำเนินต่อไป 
  ถนนข้าวสาร         ข้ามแยกคอกวัวมาที่ถนนตะนาวอีกฝั่งหนึ่ง ก็จะกลายเป็นย่านการค้าที่มีผู้คนและรถราคึกคัก มีทั้งร้านขายของ ร้านอาหาร และยังเป็นจุดเริ่มต้นของ “ถนนข้าวสาร” แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติรู้จักกันดี และยิ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์แบบนี้ ถนนข้าวสารก็ยิ่งคึกคักไปด้วยผู้คนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นสถานที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก
       
       วันหยุดในช่วงสงกรานต์แบบนี้ ใครว่างๆ ก็ลองไปเดินเล่นแถวถนนตะนาว ไหว้พระ ไหว้เจ้า เพื่อความเป็นสิริมงคลกับวันขึ้นปีใหม่ไทย มาชิมอาหารอร่อยๆ ที่มีขายกันอยู่ริมถนนตะนาวหลากหลายเจ้า (คลิก!! อ่านเรื่องกินย่านถนนตะนาว) และยังสามารถเดินต่อไปยังถนนข้าวสารเพื่อเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนานอีกด้วย 
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...