เทศกาลในชนบทของญี่ปุ่นที่หาดูได้ยาก

ด้วยอารยธรรมที่สั่งสมมาเนิ่นนานรวมเข้ากับสายเลือดของศิลปินที่มีอยู่ในจิตใจของชาวญี่ปุ่นโดยธรรมชาติ ทำให้การเฝ้ามองดูวันเวลาที่ผ่านพ้นในแต่ละนาทีของชาวญี่ปุ่นเต็มไปด้วยความหมาย จากฤดูกาลหนึ่งสู่ฤดูกาลหนึ่ง ได้ก่อให้เกิดความเชื่อความศรัทธาแห่งการสร้างสรรค์งานเทศกาลให้มีความงดงามและเต็มไปด้วยคุณค่าขึ้นตั้งแต่เหนือจรดใต้ของประเทศ

เทศกาลมากมายในญี่ปุ่นถือกำเนิดขึ้นจากความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างแน่นแฟ้นกับฤดูกาล การสวดอ้อนวอนเพื่อขอให้พืชผลเติบโตขึ้นแข็งแรงมีให้เห็นในหลายๆ เทศกาลของฤดูใบไม้ผลิ ขณะที่ช่วงปลูกข้าวตอนต้นฤดูร้อน บรรยากาศก็คลาคล่ำไปด้วยการฉลองความอุดมสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นกับปีต่อไปในฤดูหนาวอันแสนว้าเหว่

ในชนบท เทศกาลเหล่านี้ดูราวเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจให้กับผู้คนที่ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยการทำเกษตร แต่เมื่อเวลาผ่านไป หลายๆ เทศกาลได้กลายเป็นงานที่หาดูได้ยาก ดังนั้น คุณค่าที่หลบซ่อนอยู่ภายใต้ขุนเขาสลับซับซ้อน และแม่น้ำลำธารที่คดเคี้ยวในชนบท จะได้ถูกนำมาถ่ายทอดให้ได้รู้จักกัน ณ ที่นี้ แม้เพียงเสี้ยวน้อยนิดของที่มีอยู่ ก็ถือว่ามีความหมายมากมายที่จะได้กล่าวถึง


เทศกาลนะมะฮะเงะในเมืองโอะงะ ของจังหวัดอะคิตะ 
เมื่อวันสิ้นปีเดินทางมาถึง บรรดาชายหนุ่มในหมู่บ้าน 2-3 คน จะพากันสวมหน้ากากปีศาจดุร้าย และคลุมตัวด้วยเสื้อที่ทำจากฟางข้าว มือหนึ่งถือมีดปังตอ อีกมือหนึ่งถือถังไม้ ออกเดินไปตามบ้านเรือนต่างๆ พร้อมกับตะโกนด้วยเสียงอันดังและเกรี้ยวกราด เมื่อเข้าไปในบ้านหลังไหน ก็จะถามว่า “บ้านนี้มีเด็กร้องไห้อยู่ไหม” หรือ “มีเด็กขี้เกียจอยู่ไหม” ซึ่งเป็นเรื่องที่เรียกเสียงร้องไห้จากเด็กๆ ได้ทุกยุคทุกสมัย ส่วนเจ้าของบ้านก็จะนำเหล้าสาเกและขนมที่ทำจากแป้งข้าวเหนียวออกมาเลี้ยงรับรอง ทั้งนี้เชื่อกันว่านะมะฮะเงะเป็นปีศาจที่ดีที่คอยชำระล้างความเกียจคร้านให้ออกไปจากคนเรา พร้อมกับนำความสุขมาให้ในวันปีใหม่


เทศกาลโดะรนโกะ ฮะดะกะ มัทซึริ
ท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บของเดือนกุมภาพันธ์ เทศกาลโดะรนโกะ ฮะดะกะ มัทซึริ จะถูกจัดขึ้นที่ศาลเจ้ามิมุสุบิในจังหวัดชิบะ นับเป็นเทศกาลที่สนุกสนานและแสดงความกล้าหาญของบรรดาผู้ชายที่จะพากันนุ่งผ้าเตี่ยวผืนเดียวที่เรียกว่า “ฟุนโดะชิ” พากันไปชำระล้างร่างกายให้สะอาดบริสุทธิ์พร้อมกับสวดภาวนาให้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์โดยการเดินทางไป-กลับ ระหว่างนากับศาลเจ้า 100 เที่ยว ระหว่างนั้นก็จะพากันเข้ากอดเด็กทารกที่อายุยังไม่ครบ 1 ปีเอาโคลนทาหน้าเด็กเพื่อให้ปราศจากโรคภัย จากนั้นก็จะมีการเล่นคิบะเซนและขว้างปาโคลนใส่กันเป็นที่สนุกสนาน เมื่อเทศกาลจบลงผู้ชายเหล่านี้มักจะลงไปช่วยชาวบ้านดำนากันอย่างจริงจัง


เทศกาลทะอุเอะ โอะโดะริ หรือระบำปลูกข้าว
จัดขึ้นที่จังหวัดอิวะเตะในหมู่บ้านเกษตรกรรมช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ ด้วยความเคารพและสักการะบูชาต่อเทพเจ้าแห่งอาทิตย์ ภูเขา และบรรพบุรุษ ในงานจะมีการเต้นรำเพื่อแสดงความยินดีที่ฤดูใบไม้ผลิได้มาเยือน พร้อมทั้งมีการสวดมนต์อ้อนว้อนขอพรให้การเก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ร่วงได้ผลดี ขั้นตอนที่สำคัญอย่างหนึ่งของเทศกาลนี้ก็คือ ก่อนที่จะมีการฉลองใหญ่ก็จะมี “การเฉลิมฉลองของเด็ก” ก่อนเช่นเดียวกับที่มีการจัดเทศกาลนี้ขึ้นในจังหวัดมิเอะ ณ ศาลเจ้าอิโซะโนะชิมะ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อถวายต่อเทพเจ้าแห่งนาพร้อมขอพรให้ต้นกล้าเจริญงอกงาม นอกจากนี้ยังมีการละเล่นที่เรียกว่า “ทะเคะโทะริ” หรือการแข่งกันแย่งไม้ไผ่ในนาที่เต็มไปด้วยโคลน พร้อมกับการแสดงการดำนาของเด็กหญิงให้เข้ากับท่วงทำนองของขลุ่ยและกลองที่มีเด็กผู้ชายอายุ 5-6 ปีแต่งตัวเป็นเด็กผู้หญิงคอยให้จังหวะ


เทศกาลทะอะโซะบิ 
เทศกาลนี้มีการจัดในหลายท้องที่ที่ทำเกษตรกรรม แต่ที่วัดทะฮะระทะจิในเมืองฮิโยะชิ จังหวัดเกียวโต ทุกต้นเดือนพฤษภาคมจะมีการจัดพิธีทะอะโซะบิหรือพิธีกรรมที่แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนในเการทำนาเพื่อขอให้ผลิตข้าวในปีนั้นๆ ได้ผลดีที่แปลกกว่าที่อื่นคือ มีพิธีที่เรียกว่า “องดะ” ซึ่งจะมีการแสดงให้เห็นตั้งแต่การหว่านเมล็ดพืช ไล่นก ซื้อวัว เก็บต้นกล้า ปลูกข้าว ดูแลข้าวโดยตัวละครนำ 2 คน คือซะกุทะโร่ และซะกุจิโร่ แสดงเล่าเรื่องโดยมีตัวละครประกอบเป็นเด็กเล่นเป็นวัว พร้อมกับร้องเพลงไปพร้อมๆ กันอย่างสนุกสนาน


เทศกาลอุมักโกะ ทซึนะงิ
หรือบางครั้งเรียกว่าเทศกาลชะงุ ชะงุ อุมักโกะ ซึ่งจัดขึ้นกลางเดือนมิถุนายนในเมืองโมะริโอะกะ จังหวัดอิวะเตะ นับเป็นประเพณีดั้งเดิมอีกประเพณีหนึ่งที่จัดขึ้นเพื่อให้ม้าที่ทำงานหนักในไร่นาได้พักผ่อนบ้าง วันงานม้าจะถูกจับประดับประดาตกแต่งอย่างสวยงามและถูกจูงไปยังศาลเจ้าโซะเซน ศาลเจ้าที่เชื่อกันว่าเป็นที่ประดิษฐานของเทพเจ้าผู้พิทักษ์รักษาม้า พร้อมกับสวดอ้อนวอนขอให้ม้ามีสุขภาพแข็งแรงและปลอดภัย จากนั้นก็พาต่อไปยังศาลเจ้าฮะชิมัง


เทศกาลชะเม็นจิ โอะโดะริ
จัดขึ้น ณ หมู่บ้านยะเสะในเกียวโต ช่วงเดือนตุลาคม แม้จะไม่มีความสัมพันธ์กับการเกษตรกรรม แต่ก็เป็นเทศกาลที่พิเศษที่มีจุดเด่นอยู่ที่ขบวนแห่โทโรหรือโคมไฟกระดาษ ทั้งนี้ตามตำนานกล่าวว่าช่วงที่เกียวโตเป็นเมืองหลวงนั้น มีจักรพรรดิองค์หนึ่งทรงยกเว้นการเรียกเก็บภาษีจากประชาชนในตำบลนี้ ดังนั้นเพื่อเป็นการแสดงความภักดีและขอบคุณต่อองค์จักรพรรดิ จึงได้มีการจัดเทศกาลนี้ขึ้นถวาย


เทศกาลฟุรู
ในฤดูใบไม้ร่วง เทศกาลฟุรู ของจังหวัดซะงะ จะถูกจัดขึ้นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ชาวบ้านจะร่วมกันจัดงานเพื่อเฉลิมฉลองความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ที่ธรรมชาติมอบให้ ทั้งขอบคุณในความเมตตาของเทพเจ้า บรรดานักเต้นทั้งหลายจะเต้นรำกันอย่างสนุกสนาน ขณะที่สวมหน้ากากที่เรียกว่าฟุรูไปพร้อมๆ กับการตีกลองและเคาะระฆัง


เทศกาลฌิโมะสึรุอุซึไดโคะโอะโดะริ(下水流臼太鼓踊り)
การร่ายรำไทโคะโอะโดะริ(太鼓踊り)ที่สืบทอดกันมาในเขตฌิโมะสึรุ(下水流地区)เพื่อขอพรให้พืชผลอุดมสมบูรณ์ดี ไม่มีอุทกภัยหรืออัคคีภัยเกิดขึ้นในพื้นที่แถบนี้ ความงดงามของเทศกาลนี้อยู่ที่การเต้นรำของบรรดาชายหนุ่มที่แต่งตัวเป็นซามูไรในสมัยโบราณพร้อมกับติดแหลนยาวไว้บนหลังและเต้นรำไปพร้อมๆ กับตีกลอง การเต้นรำแสดงให้เห็นถึงชัยชนะที่มีต่อข้าศึกศัตรูในสงคราม แม้จะเป็นเทศกาลของเหล่านักรบซามูไร แต่ก็จัดเป็นเทศกาลที่หาดูได้ยากเทศกาลหนึ่งของญี่ปุ่น
สถานที่ โฮะคิตะ(穂北)เมืองไซโตะ(西都市)
วัน – เวลา ช่วงต้นเดือน ก.ย.
http://www.pref.miyazaki.lg.jp/contents/org/chiiki/seikatu/miyazaki101/uta_geino/027.html


เทศกาลชิโมะทซึกิ คะงุระ หรือการเต้นรำใส่หน้ากาก
จัดเป็นเทศกาลหนึ่งในหมวดเทศกาลยุตะเตะ ชินจิ หรือเทศกาลต้มน้ำ จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งของเมืองโตะยะมะ จังหวัดนะงะโนะ นับเป็นเทศกาลที่ถือกำเนิดขึ้นโดยได้รับอิทธิพลจากศาสนาชินโต ทั้งยังเป็นเทศกาลที่มีความสัมพันธ์กับฤดูหนาวเป็นอย่างมาก จุดเด่นของงานอยู่ที่คนแต่งกายและสวมหน้ากากเป็นเท็มปะกุหรือเทพเจ้าที่ใหญ่ที่สุดจะออกมาแผลงศรออกไปทั้ง 4 ทิศ เพื่อเป็นการขับไล่วิญญาณชั่วร้ายของปีศาจที่แฝงตัวอยู่ให้ออกไป พร้อมทั้งปกป้องคนที่มีวิญญาณบริสุทธิ์


เทศกาลคะรัทซึ โอะคุนชิ
นับเป็นอีกเทศกาลหนึ่งที่มีการจัดไปทั่วในหลายท้องที่ของหมู่บ้านเกษตรกรรมราววันที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายน เพื่อเป็นการขอบคุณต่อพืชพรรณธัญญาหารที่ให้ผลดี แต่ที่จังหวัดซะงะ ขบวนรถที่เรียกว่าดะชินี้มีความงดงามเป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากที่อื่นที่เรียกว่า “ฮิคิยะมะ” อันประกอบไปด้วยขบวนสิงโต ปลา หรือเรือ เป็นต้น



เทศกาลโฮะเน็นอะชิ โอะโดะริ
เทศกาลนี้จัดขึ้นในจังหวัดไซตะมะโดยชาวนาทั้งหลายจะได้แสดงความขอบคุณต่อเทพเจ้าที่ได้บันดาลให้พืชผลอุดมสมบูรณ์ โดยการนำพืชผลที่เก็บเกี่ยวได้ไปถวายยังศาลเจ้า จากนั้นก็จะมีการแสดงละครหุ่นเชิดชายหญิงที่เท้าทั้งสองข้าง พร้อมกับแสดงละครที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและความเป็นอยู่ของชาวนา
 

 


เทศกาลยะโงะโระ อุดง มัทซึริ
เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ จัดขึ้นที่จังหวัดคะโงะชิมะ มีการจัดทำตุ๊กตาขนาดใหญ่ขึ้นจากฟางข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ในปีนั้นๆ ขนาดของตุ๊กตาจะใหญ่โตเพียงใดนั้น จะขึ้นอยู่กับปริมาณข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ในปีนั้นๆ เรียกตุ๊กตาชนิดนี้ว่า ยะโงะโระ

5 มี.ค. 58 เวลา 01:14 1,204 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...