ตามหา(นางพญา)เสือโคร่ง ณ “4 ขุน” บนดอยหนาวพราวชมพู

ดอกนางพญาเสือโคร่งหรือซากุระเมืองไทย         ฤดูหนาวล่วงเลยมาสักพัก ตามยอดดอยมีอากาศหนาวเย็นมาระยะหนึ่งแล้ว ขณะนี้ก็ได้เวลาออกตามหา “เสือโคร่ง” กันแล้ว!!
       
       เสือโคร่งที่ว่านี้ไม่ใช่สัตว์กินเนื้อดุร้าย แต่เป็นดอกไม้สีชมพูอ่อนหวานที่เรารู้จักกันในชื่อ “ดอกนางพญาเสือโคร่ง” หรือที่หลายๆ คนชอบเปรียบเปรยว่าเป็น “ซากุระเมืองไทย” เพราะเป็นต้นไม้ที่จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับต้นซากุระของประเทศญี่ปุ่น คือ วงศ์กุหลาบ (Rosaceae) โดยนางพญาเสือโคร่งอยู่ในสกุล Prunus เช่นเดียวกับต้นเชอร์รี แอปริคอต พลัม แอปเปิลท้อ และ สาลี่ ซึ่งเป็นพรรณไม้ที่ชอบอากาศหนาวเย็น
       
       ต้นนางพญาเสือโคร่งมักจะขึ้นตามไหล่เขา หรือบนสันเขา บริเวณเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป ที่มีอากาศหนาวเย็น พบมากในภาคเหนือและอีสาน ทั้งตามธรรมชาติและตามแหล่งปลูกต่างๆ โดยในขณะนี้ดอกนางพญาเสือโคร่งในหลายๆ แห่งก็เริ่มผลิบานให้เราได้ชมความสวยงามกันแล้ว
       
       วันนี้ “ตะลอนเที่ยว” จะพาไปล่าเสือโคร่งกันบนดอย 4 แห่ง หรือ “4 ขุน” อันได้แก่ “ขุนช่างเคี่ยน” “ขุนวาง” “ขุนแม่ยะ” และ “ขุนสถาน” ซึ่งแต่ละขุนก็มีความงามในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันไป 
  ต้นนางพญาเสือโคร่งออกดอกชมพูอร่ามริมถนนภายในศูนย์วิจัยเกษตรหลวงขุนวาง (แฟ้มภาพ)         ขุนวาง
       
       สำหรับ “ขุน” แรกนั้นอยู่ใน จ.เชียงใหม่ คือ “ขุนวาง” ซึ่งมีจุดชมนางพญาเสือโคร่งที่เป็นไฮไลต์อยู่ที่ “ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่” (ขุนวาง) ตั้งอยู่ที่บ้านขุนวาง ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ท่ามกลางแวดล้อมของแนวเทือกเขาอินทนนท์ สามารถขับรถยนต์ขึ้นไปได้สะดวก
       
       ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) มีพื้นที่ประมาณ 450 ไร่ ภายในศูนย์ฯ มีแปลงทดลองปลูก แปลงวิจัย แปลงสาธิตไม้ดอกกล้วยไม้ พืชเมืองหนาว ไม้ผล อาทิ เบญจมาศ แมกคาเดเมียนัต กาแฟ ท้อ บ๊วย สาลี่ พลัม ฯลฯ โดยมีการจัดสรรแปลงทดลองต่างๆ เรียงรายเป็นขั้นบันไดไปตามแนวลาดเขา 
  ดอกนางพญาเสือโคร่งสีขาว หาชมไม่ได้ง่ายๆ (แฟ้มภาพ)         จากสโมสรภายในศูนย์ฯ จะมีเส้นทางเดินชมซากุระเมืองไทย (ไปทางแปลงปลูกท้อ กาแฟ) ทั้งตามต้นที่ปลูกเรียงรายอยู่ริมทางและต้นที่อยู่ในแปลงปลูก โดยนอกจากดอกนางพญาเสือโคร่งสีชมพูที่เราคุ้นตากันดีแล้ว ก็ยังมีดอกนางพญาเสือโคร่งสีขาวที่หาชมได้ยากให้ชมกัน 2-3 ต้น และมีต้นซากุระญี่ปุ่นแท้ๆ ที่นำพันธุ์จากไต้หวันมาปลูกอยู่ภายในสวนขุนวางด้วยเช่นกัน
       
       ส่วนเส้นทางที่เป็นไฮไลต์ในการเดินชมซากุระของที่นี่ก็คือทางเดินตั้งแต่แปลงสวนกาแฟไปจนถึงสวนอาร์เมเนีย โดยต้นนางพญาเสือโคร่งที่ปลูกอยู่เรียงรายริมสองข้างทางจะทอดโค้งโน้มกิ่งลง เป็นดังอุโมงค์ซากุระแสนโรแมนติกสีชมพูสะพรั่ง โดยในตอนนี้ดอกนางพญาเสือโคร่งผลิบานออกดอกอย่างสวยงามบ้างแล้ว คาดว่าจะบานเต็มที่ในช่วงกลางเดือน ม.ค.-ต้นเดือน ก.พ.นี้
       
       สอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) โทร.0-5311-4133, 08-1960-2033 
  สีชมพููแซมอยู่ในเขาที่ขุนช่างเคี่ยน (แฟ้มภาพ)         ขุนช่างเคี่ยน
       
       “สถานีวิจัยและศูนย์ฝึกอบรมเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน” ตั้งอยู่ใน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นับเป็นแหล่งชมซากุระเมืองไทยที่อยู่ใกล้กับตัวเมืองเชียงใหม่มากที่สุด โดยหากขับรถขึ้นไปยังดอยสุเทพ ผ่านวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ ผ่านพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ผ่านหมู่บ้านม้งดอยปุยไปอีกประมาณ 7 กิโลเมตร ก็จะถึงบ้านขุนช่างเคี่ยน โดยในระหว่างทางที่ใกล้จะถึงสถานีฯ จะมีต้นนางพญาเสือโคร่งยืนเรียงรายริมถนน ในช่วงผลิดอกก็จะเห็นเป็นโค้งถนนสีชมพู และมีเป็นระยะๆ ไปจนถึงภายในหมู่บ้านม้งขุนช่างเคี่ยน จนที่นี่ถูกขนานนามให้เป็น “หุบเขาสีชมพู” นับว่าเป็นแหล่งชมซากุระเมืองไทยที่สวยงามไม่แพ้ที่ใดเลย และในตอนนี้ดอกไม้ก็เริ่มผลิบานให้เห็นสีชมพูสวยแล้ว บางต้นบานก่อน บางต้นดอกกำลังตูม คาดว่ากลางเดือน ม.ค.-ต้นเดือน ก.พ.นี้จะบานสะพรั่งเต็มที่ 
  ดอกนางพญาเสือโคร่งชุ่มน้ำค้างยามเช้า (แฟ้มภาพ)         นักท่องเที่ยวสามารถกางเต็นท์พักแรมได้ภายในสถานีฯ มีจุดชมวิวให้ชมทะเลหมอก และยังมีบ้านชาวเขาเผ่าม้งขุนช่างเคี่ยนที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเที่ยวชมวิถีชีวิตของชาวบ้าน ชิมผลไม้เมืองหนาว และกาแฟสดที่ปลูกบนเขาได้ด้วย ทั้งนี้เส้นทางจากตั้งแต่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์เป็นต้นไปจะค่อนข้างแคบ และในช่วงวันหยุดมักมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปชมดอกนางพญาเสือโคร่งเป็นจำนวนมาก ทำให้รถติดเป็นทางยาวอยู่บ่อยครั้ง ถ้าไม่อยากรถติดแนะนำให้เช่ารถมอเตอร์ไซค์ขี่ขึ้นไปจะสะดวกที่สุด หรือถ้าไม่อยากขับรถเองก็สามารถเช่ารถสองแถวจากเมืองเชียงใหม่ หรือบริเวณพระธาตุดอยสุเทพขึ้นไปยังขุนช่างเคี่ยนก็ได้เช่นกัน
       
       สอบถามรายละเอียดได้ที่ สถานีวิจัยและศูนย์ฝึกอบรมเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน โทร.0-5394-4053 
  ลานกางเต็นท์ที่ขุนแม่ยะ (แฟ้มภาพ)         ขุนแม่ยะ
       
       "หน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะ" ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ 2 จังหวัดคือ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน เส้นทางจากบริเวณด่านตรวจแม่ยะเข้าไปยังหน่วยฯ ค่อนข้างลำบากเพราะเป็นทางดินลูกรังที่ค่อนข้างชัน ดังนั้นจึงควรใช้รถกระบะหรือรถขับเคลื่อนสี่ล้อ แต่หากได้เข้าไปชมดอกนางพญาเสือโคร่งเมื่อผลิบานเต็มที่ภายในหน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะรับรองว่าความงามนั้นจะประทับใจจนลืมความลำบากไปเลย
       
       บริเวณทางเดินและลานกางเต็นท์จะมีต้นนางพญาเสือโคร่งปลูกไว้เป็นแนว เมื่อออกดอกพร้อมกันจึงเป็นเส้นทางเดินสีชมพูสุดโรแมนติก ทั้งยังสามารถกางเต็นท์ใกล้ๆ กับต้นนางพญาเสือโคร่งได้ สัมผัสอากาศเย็นๆ ชมดอกไม้สีชมพูอ่อนหวาน เมื่อลมพัดแรงกลีบดอกก็ปลิวกระจายงดงามน่าประทับใจ แม้การเดินทางขึ้นมาจะยากลำบากสักหน่อยแต่ก็คุ้มค่าเต็มอิ่ม และตอนนี้ดอกนางพญาเสือโคร่งก็กำลังเริ่มเบ่งบาน คาดว่าจะบานเต็มที่ในช่วงกลางเดือน ม.ค.นี้ และบานให้ชมไปจนถึงราวๆ สิ้นเดือน ม.ค. 
  กางเต็นท์แคมปิ้งกันใต้ต้นนางพญาเสือโคร่งที่ขุนแม่ยะ (แฟ้มภาพ)         นอกจากความสวยสดงดงามของมวลหมู่ซากุระแล้ว ที่ขุนแม่ยะแห่งนี้ยังเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญของอำเภอปาย เนื่องจากสายน้ำเล็กๆ หลายสายที่กระจัดกระจายเหมือนเส้นเลือดฝอยเหล่านี้จะไปรวมตัวกันเป็นแม่น้ำปาย เส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวเมืองสามหมอกมาช้านาน
       
       สอบถามรายละเอียดได้ที่ หน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะ โทร. 08-1798- 5017 
  ดอกนางพญาเสือโคร่งอ่อนหวานผลิดอกที่ขุนสถาน (แฟ้มภาพ)         ขุนสถาน
       
       ในช่วงกลางเดือน ม.ค.นี้ เป็นช่วงที่ดอกนางพญาเสือโคร่งกำลังจะเบ่งบานที่ “สถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน” อ.นาน้อย จ.น่าน ซึ่งอยู่เลยจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติขุนสถานไปประมาณ 2 กม. ขับรถเก๋งไปได้สบายๆ เส้นทางชันและคดโค้งแต่ไม่มากเกินไปนัก โดยบริเวณนี้เป็นพื้นที่ต้นกำเนิดน้ำแหงก่อนที่จะไหลมารวมกับลำน้ำอื่นๆ ในลุ่มน้ำน่าน ทางสถานีฯ ได้ดูแลพื้นที่และปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่ต้นน้ำให้อุดมสมบูรณ์ และในบริเวณสถานีฯ นี้เองก็ได้ปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งภายในและริมถนนด้านหน้าสถานีฯ
       
       ภายในสถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถานนี้เป็นแหล่งปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งไว้เป็นดงเลยทีเดียว เมื่อยามออกดอกพร้อมกันคงจะกลายเป็นบรรยากาศสีชมพูสะพรั่งรอบกาย ภายในสถานีฯ มีที่พักจำนวนหนึ่งซึ่งอาจจะจองยากเล็กน้อย แต่เราสามารถกางเต็นท์ชมความงามได้ภายในสถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน หรือจะกางเต็นท์นอนที่อุทยานแห่งชาติขุนสถาน และขับรถมาชมหรือมาถ่ายภาพที่สถานีฯ ก็ได้เช่นกัน
       
       สอบถามรายละเอียดได้ที่ สถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน โทร.08 7286 3672, 08 4707 6056 
  ต้นนางพญาเสือโคร่งเรียงรายริมถนนด้านหน้าสถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน (แฟ้มภาพ)         ทั้งนี้ก่อนวางแผนการเดินทาง ควรโทร.สอบถามสถานการณ์การบานของดอกนางพญาเสือโคร่งกับเจ้าหน้าที่อีกครั้ง และหากต้องการกางเต็นท์พักแรมก็ควรสอบถามหรือจองสถานที่ไว้ก่อนจะเดินทางอีกครั้งหนึ่งด้วย เพื่อจะได้จับเสือโคร่งแสนหวานตัวนี้ให้ได้ถูกช่วงถูกเวลา และสวยงามสมความตั้งใจ 
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...