76 ปีผ่านไป ชาตินิยมที่ยังหลงเหลือจากนโยบาย จอมพลป.

76ปีผ่านไป ชาตินิยม ที่ยังหลงเหลือจากนโยบาย จอมพลป.

วันนี้ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 76 ปีที่แล้ว  ใครจะยังจำได้ว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเปลี่ยงแปลงครั้งใหญ่ที่สุดนับหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี2475   โดยชายที่ชื่อว่า แปลก ขีตตะสังคะ หรือ พันตรีหลวงพิบูลสงคราม ต่อมาคือ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” นายกรัฐมนตรีที่ได้รับการขนานนามว่า นายกฯตลอดกาล และจอมพลกระดูกเหล็ก

จอมพล ป. พิบูลสงคราม

วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ถือว่าเป็นวันที่จอมพล ป.ก้าวขึ้นสู่อำนาจนายกรัฐมนตรีคนที่ 3ของประเทศไทย และเป็นนายกรัฐมนตรีถึง 2 สมัยครั้งแรก 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 – 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 (5 ปี 228 วัน)และครั้งที่2 คือ 8 เมษายน พ.ศ. 2491 – 16 กันยายน พ.ศ. 2500 (9 ปี 161 วัน) ถือว่ายาวนานมาก เด็กรุ่นนี้คงจำภาพของท่านจอมพลป.ในแง่ของชาตินิยมและการปลุกระดมในการคลั่งชาติ แต่ลืมไปว่าอีกภาพหนึ่งของจอมพลป. พิบูลสงคราม คือผู้พลิกโฉมประเทศไทยให้เข้าสู่ยุคใหม่อย่างเต็มตัว

MThai News ขอถือโอกาสนี้ยกเกร็ดประวัติศาสตร์การเมืองในอดีตเกี่ยวกับ รัฐนิยมของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ตกทอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน ให้คนรุ่นหลังได้ลองอ่านและเห็นถึงอีกมุมของคุณูปการของท่าน รวมไปถึงรู้ว่าแท้จริงวัฒนธรรมบางอย่างที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ก็เริ่มมาจาก จอมพลป. นายกฯคนนี้เอง

นโยบายยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม

 การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมดนตรี

จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีผู้นำที่มาพร้อมกับนโยบายสร้างชาติเปลี่ยนวัฒนธรรม มุ่งส่งเสริมอัตลักษณ์ให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในอารยประเทศ การเปลี่ยนแปลงนั้นรวมถึงวัฒนธรรมดนตรีที่ส่งผลกระทบต่อดนตรีไทยในปัจจุบัน
มีแบบแผนให้มีการพัฒนาปรับปรุงทั้งระบบเสียงให้มีความเทียบเท่ากับดนตรีสากล ปรับปรุงมาตรฐานของนักดนตรีให้มีความสามารถตามที่กรมศิลปากรเป็นผู้กำหนด รวมถึงการบันทึกโน๊ตในรูปของบรรทัด 5 เส้น ​ โดยมีการตราเป็นพระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมทางศิลปกรรมเกี่ยวกับการบรรเลง การขับร้องและการพากย์ พุทธศักราช 2486 หากไม่ทำตามมีโทษตามกฎหมาย เหตุนี้สร้างความยุ่งยากจากเรื่องของดนตรีไทยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นข้อจำกัด ดังเช่นปรากฎในภาพยนตร์โหมโรง กลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดนตรีไทยในยุคนั้นมาถึงยุคปัจจุบันเสื่อมความนิยมลงไปเรื่อยๆ บวกกับกระแสวัฒนธรรมต่างชาติที่รุนแรงและแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

สวัสดี เป็นคำทักทายประจำชาติ

สมัยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้กำหนดให้คนไทยใช้คำว่าสวัสดีเป็นคำทักทาย นอกจากนี้ยังมีการใช้การทักทายแบ่งตามช่วงเวลาเลียนแบบชาวตะวันตกด้วย เช่น

ตอนเช้า “อรุณสวัสดิ์” มาจากคำว่า “good morning”
“ทิวาสวัสดิ์” มาจากคำว่า “good afternoon”
“สายัณห์สวัสดิ์” มาจากคำว่า “good evening”
“ราตรีสวัสดิ์” มาจากคำว่า “Good Night”

นอกจากนี้ยังมีการวางระเบียบการใช้คำแทนชื่อเป็นมาตรฐาน เช่น ฉัน, ท่าน, เรา เปลี่ยนจากสมัยก่อนที่ใช้ กู มึง เอ็ง ข้า

 

ว่าด้วยรัฐนิยม [ชาตินิยม]

รัฐนิยมเป็นประกาศ 12 ฉบับของจอมพลป. พิบูลสงคราม ลักษณะคล้ายกฎหมายบังคับใช้ทั่วไป มีจุดประสงค์เพื่อปลุกระดมให้รักชาติ โดยประกาศรัฐนิยม ฉบับที่ 1  คือการพลิกโฉมประเทศ เปลี่ยนชื่อจากสยามมาเป็น ประเทศไทย เรียกประชาชนในชาติว่า “คนไทย”

“….รัฐนิยมฉบับที่ 1: เรื่อง การใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ     โดยที่ชื่อของประเทศนี้ มีเรียกกันเป็นสองอย่าง คือ “ไทย” และ “สยาม” แต่ประชาชนนิยมเรียกว่า “ไทย” รัฐบาลเห็นสมควรถือเป็นรัฐนิยมใช้ชื่อประเทศให้ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความ นิยมของประชาชนชาวไทย ดั่งต่อไปนี้ 
ก. ในภาษาไทย  ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติให้ใช้ว่า “ไทย”
ข. ในภาษาอังกฤษชื่อประเทศ ให้ใช้ว่า THAILAND ชื่อประชาชน และสัญชาติให้ใช้ว่า THAI…”

ต่อมาก็มีนโยบายให้เรียกทุกคนว่าคนไทย แม้จะมีเชื้อสายอื่นก็ตาม ห้ามมิให้แบ่งแยก เพื่อส่งเสริมความเป็นปึกแผ่น [รัฐนิยมฉบับที่3]

หลังจากเปลี่ยนชื่อประเทศก็มีรัฐนิยมอีกหลายฉบับที่ประกาศตามกันมา เช่น เรื่องเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี การเคารพธงชาติ ที่ปัจจุบันกลายเป็นแบบแผน เคารพธงชาติเวลา 8.00น. และ 18.00น. ก่อนเข้าเรียนต้องมีการสวดมนต์ไหว้พระ

“…เมื่อได้เห็นผู้ใดไม่แสดงความเคารพดังกล่าวพึงช่วยกันตักเตือนชี้แจงให้เห็นความสำคัญแห่งการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี…”

คนไทยต้องอ่านออกเขียนได้

รัฐนิยมประกาศให้คนไทยต้องอ่านภาษาไทย เรียนภาษาไทย พูดภาษาไทย โดยระบุว่าเป็นหน้าที่ของพลเมืองไทยที่ดีประการที่หนึ่งนั้น คือ ศึกษาให้รู้หนังสือไทยอันเป็นภาษาของชาติ อย่างน้อยต้องให้อ่านออกเขียนได้ ประการที่สอง ชนชาติไทยจะต้องถือเป็นหน้าที่อันสำคัญในการช่วยเหลือสนับสนุนแนะนำชักจูง ให้พลเมืองที่ยังไม่รู้ภาษาไทย หรือยังไม่รู้หนังสือไทย ให้ได้รู้ภาษาไทย หรือให้รู้หนังสือไทยจนอ่านออกเขียนได้
โปรดช่วยเหลือเด็ก ผู้พิการและผู้สูงอายุ

ในรัฐนิยมฉบับที่ 12 มีการประกาศว่า ในที่สาธารณสถานหรือในถนนหลวง ให้บุคคลทำการช่วยเหลือคุ้มครองโดยลักษณะที่จะยังความปลอดภัยให้แก่เด็ก คนชราหรือคนทุพพลภาพในการสัญจรไปมา หรือในการหลบหลีกภยันตรายผู้ใดสามารถกระทำการช่วยเหลือคุ้มครองดังกล่าวในข้อ 1 ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้มีวัฒนธรรม ควรได้รับความนับถือของชาวไทย

 

รัฐนิยมในชีวิตประจำวัน

ต่อมารัฐนิยมเริ่มก้าวล่วงเข้ามาถึงการใช้ชีวิตประจำวันของคนในยุคสมัยนั้น โดยมีการประกาศอย่างจริงจังในรัฐนิยม ฉบับที่10 11  โดยระบุว่า

รัฐนิยม ฉบับที่ 10 เรื่องการแต่งกายของประชาชนชาวไทยและห้ามผิดเพศ ผู้ชายสวมหมวกใส่เสื้อชั้นนอกคอเปิดหรือปิด สวมกางเกงขายาวแบบสากล สวมรองเท้าหุ้มส้นและหรือหุ้มข้อ และถุงเท้า ส่วนผู้หญิงก็ต้อง สวมหมวก ใส่เสื้อนอกคลุมไหล่ สวมผ้าถุง ใส่รองเท้าหรือหุ้มส้นและถุงเท้า เป็นต้น

รัฐนิยมในชีวิตประจำวัน

พักกลางวันไม่เกิน1ชั่วโมง
รัฐนิยม ฉบับที่ 11 เรื่องกิจประจำวันของคนไทย ( ประกาศเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2484 ) โดยชนชาติไทยพึงบริโภคอาหารให้ตรงเวลา ไม่เกินวันละ 4 มื้อ และนอนประมาณ 6-8 ชั่วโมงต้องมุ่งมั่นทำงาน พักกลางวันไม่เกิน 1 ชั่วโมง มีเวลาทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ ทั้งชำระร่างกายแล้วจึงรับประทานอาหารว่าง

ในเวลากลางคืนก็ควรใช้ในการพบปะสนทนาในครอบครัว มิตรสหาย ทั้งใช้ศึกษาหาความรู้ หรือในการมหรสพ ส่วนวันหยุดก็ควรใช้ให้เป็นประโยชน์ ต่อร่างกายและจิตใจ เล่นกีฬา พักผ่อน ทำบุญ ฟังเทศน์ เป็นต้น

สาเหตุที่มีประกาศรัฐนิยมทั้ง2ฉบับ ต้องเข้าใจว่าสมัยก่อนคนไทยไม่ได้ใช้ชีวิตกันแบบนี้ บางกลุ่มเป็นคนป่า คนเรือแพ ใช้เวลาไปกับการทำไร่นา บางคนก็ปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ ไม่ทำมาหากินเพราะถือว่ามีที่ดิน ข้าวปลาที่สมบูรณ์พร้อมอยู่แล้ว ค่อยทำเมื่อไหร่ก็ได้ การกำหนดแบบแผนนี้ ช่วยทำให้คนไทยขยันขึ้นมาบ้าง และเพื่อให้ใช้เวลาอย่างเป็นประโยชน์ รู้จักการจัดสรรเวลาที่ถูกต้อง

ที่สำคัญคือรัฐนิยมที่ประกาศมาเกือบทุกฉบับส่งเสริมภาพลักษณ์ให้คนไทยดูดีขึ้นเปลี่ยนจากพวกบ้านป่าเมืองเถื่อนเป็นผู้ดีศิวิไลซ์  ซึ่งจะเห็นได้ว่าจากรัฐนิยมข้างต้น ปัจจุบันก็ยังคงเป็นมรดกตกทอดมาสู่คนยุคหลังและกลายเป็นชีวิตประจำวัน เป็นแบบแผนที่บางคนเรียกมันว่ากรอบแห่งการดำเนินชีวิต ใครผิดแปลกจากนี้จะกลายเป็นคนนอกกรอบไปทันที ผิดกฎไปในทันที ซึ่งต่อมาแม้จะหมดยุคการบังคับใช้รัฐนิยมไปแล้ว แต่ใครจะไปรู้ว่า รัฐนิยมมันฝังลึกลงไปในวัฒนธรรมของคนไทยไปเป็นส่วนหนึ่งเป็นที่เรียบร้อย เราประพฤติปฏิบัติตามโดยไม่ถือว่ามันเป็นข้อบังคับกันไปแล้ว

By @Nookkill 

 : จอมพลป., จอมพลป. พิบูลสงคราม, ชาตินิยม, รัฐนิยม
#ชาตินิยม
THEPOco
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
19 ธ.ค. 57 เวลา 15:33 4,485
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...