พุ่กันของ สง่า มะยุระ รุ้ไหมว่าท่านคือใคร

สง่า  มะยุระ เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ ที่ อ. ศรีประจันต์ จ. สุพรรณบุรี ศึกษาวิชาสามัญที่โรงเรียนวัดสัปรสเทศ พร้อมกับฝึกวิชาวาดเขียนมาตั้งแต่เด็กกับอาจารย์อู๋  ที่วัดมะนาว อ. บางปลาม้า จ. สุพรรณบุรี ต่อมาได้มาอยู่กับอาจารย์ม้วนที่วัดสุวรรณาราม  คลองบางกอกน้อย ธนบุรี  จึงได้มีโอกาสเรียนวาดเขียนกับครูสอิ้งที่อยู่ข้างวัดนั้น  ครูสอิ้งพาไปช่วยเขียนลายรดน้ำที่หน้าต่างพระวิหารวัดพระเชตุพนฯ  ต่อมาได้ไปสมัครทำงานเขียนพานแว่นฟ้ากับคุณผิน และเขียนตู้พระมาลัยที่วัดมหาธาตุ

     สง่า มะยุระ ได้รู้จักกับหลวงเจนจิตรยง ช่างเขียนอันลือชื่อในสมัยนั้น  ท่านชวนให้ไปช่วยเขียนลายบนโถกะยาคู โดยเอาฟักทองมากลึงให้เหมือนโถและจะต้องให้เสร็จในวันเดียว  มิฉะนั้นฟักทองจะเหี่ยว ทั้งสองท่านช่วยกันเขียนจนเสร็จ หลวงเจนจิตรยงชมฝีมือว่าดี  จึงชวนให้ไปช่วยเขียนที่วัดสุวรรณคีรีในคลองบางกอกน้อย โดยมอบหมายให้เขียนลายรดน้ำที่บานประตูหน้าต่างโบสถ์  ตอนนั้นหลวงเจนฯ  ท่านชราภาพมาก เมื่อเห็นว่าเขางานแข็งดีจึงมอบหมายให้เขียนทั้งหมด  นายสง่าต้องใช้เวลาเขียนถึงสี่เดือนจึงเสร็จ

     ต่อมาได้รับเหมาเขียนพานแว่นฟ้าและตู้พระมาลัยให้นายอู๊ด  ช่างหล่อ  และส่งขายที่ร้านแถวเสาชิงช้า  ระยะนี้ต้องทำงานหนักมาก  โดยเริ่มลงมือทำการเขียนตั้งแต่เช้าตลอดไปจนดึกดื่นจึงวางมือ เมื่อเขาอายุครบบวช  มารดาจึงจัดการบวชให้  โดยจำพรรษาที่วัดสุวรรณาราม  ธนบุรี

     ในระยะที่บวชสองพรรษานั้น นายสง่าได้มีโอกาสเข้าไปเขียนภาพรามเกียรติ์ที่พระระเบียงวัตพระศรีรัตนศาสดารามโดยมีพระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทียมศิลป์ไชย) เป็นผู้อำนวยการเขียนภาพที่นั่น เขาได้ฝากฝีมือไว้บนผนังพระระเบียงอันเป็นที่ยกย่องกันมาก หลังจากลาสิกขาแล้วก็มาตั้งร้านขายเครื่องดื่มที่หลังโรงพยาบาลศิริราช โดยให้บิดาเป็นผู้ขาย  ส่วนตนเองไปทำงานประจำที่ร้านคณะช่าง  อันเป็นร้านช่างเขียนรับงานเขียนต่าง ๆ และทำบล็อกด้วย  ทำงานอยู่ร้านคณะช่างได้สองปีก็ลาออก และไปทำงานที่โรงพิมพ์บุญครอง

     สง่าสมรสเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙ แล้วเลยคิดว่าจะตั้งตนด้วยการทำพู่กันขาย เขาพากเพียรแก้ไขดัดแปลงพู่กันจนดีได้ระดับมาตรฐาน  กิจการของเขาดำเนินมาด้วยดี นับวาเป็นโรงงานทำพู่กันแห่งแรกของเมืองไทย

     เนื่องจาก สง่า มะยุระ ได้เคยร่วมงานเขียนภาพที่พระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามกับพระเทวาภินิมมิต  ซึ่งคุณพระก็ได้ช่วยแก้ไขติชมให้ตลอด เขาจึงมีความเคารพและนับถือคุณพระเป็นครูตลอดมา สมัยต่อมาเมื่อภาพเขียนที่วัดพระแก้วเกิดชำรุดเสียหายมาก  แม้ว่าเขาจะชราภาพมากก็ได้มีโอกาสเข้าไปช่วยเขียนซ่อม บางห้องก็เขียนใหม่ทั้งหมดจนสำเร็จ

     ผลงานของ สง่า มะยุระ มีอยู่หลายแห่ง เช่น ออกแบบลวดลายตกแต่งหน้าบัน ซุ้มประตูหน้าต่างให้พระอุโบสถวัดราชบูรณะ เชิงสะพานพุทธ ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ และยังออกแบบให้วัดสัตหีบและวัดกอไผ่ที่อยุธยาเป็นต้น ระยะหลังนี้เขามีฐานะมั่นคงร่ำรวยจากกิจการค้าโรงงานทำพู่กัน เขาจึงช่วยทำงานแก่พระพุทธศาสนาโดยไม่รับเงินค่าจ้างเลย  บางครั้งถ้าทางวัดขาดแคลนเงินก็ยังช่วยทำบุญร่วมด้วย

     สง่า มะยุระ ถึงแก่กรรมวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๑ นับว่าเขาเป็นจิตรกรรุ่นเก่าที่มีอาชีพเป็นจิตรกรมาตลอด และตั้งตัวได้ด้วยความพากเพียร ละด้วยฝีมือโดยแท้

     ข้อมูลที่เล่ามานี้ “ซองคำถาม” ได้มาจากหนังสือ พจนานุกรมศิลป์ ของสำนักพิมพ์เมืองโบราณ

“ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี” 
สำเนามาจากเว็บไซต์ สนุก.คอม

#พุ่กัน
THEPOco
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
21 ต.ค. 57 เวลา 08:57 2,848 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...