สนามแม่เหล็กโลกพลิก อาจมาเร็วกว่าที่คิด ส่งผลกระทบต่อชีวิตบนโลกอย่างไรบ้าง?

 

 

ยังจำเรื่องสนามแม่เหล็กโลกพลิกกันได้ใช่ไหม นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานว่า เราอาจได้พบกับปรากฏการณ์นี้เร็วกว่าที่คิด


          โลกมีสนามแม่เหล็กล้อมรอบอยู่ คล้ายกับว่าโลกทั้งใบเป็นแม่เหล็กแท่งยักษ์แท่งหนึ่ง ขั้วเหนือแม่เหล็กโลกอยู่ใกล้ขั้วโลกเหนือ ขั้วใต้แม่เหล็กโลกอยู่ใกล้ขั้วโลกใต้ แต่ทิศของแม่เหล็กมิได้เป็นเช่นนี้เสมอไป ในอดีต ขั้วแม่เหล็กโลกเคยสลับจากใต้เป็นเหนือ เหนือเป็นใต้มาแล้วหลายครั้ง ครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นคือเมื่อ 780,000 ปีก่อน


          นักธรณีฟิสิกส์ที่ศึกษาเรื่องสนามแม่เหล็กเชื่อกันว่า โลกเราอาจใกล้ถึงเวลาที่จะสลับขั้วแม่เหล็กอีกครั้งแล้ว และยิ่งกว่านั้น จากข้อมูลใหม่ที่เพิ่งค้นพบ เชื่อว่าเหตุการณ์นี้อาจมาถึงเร็วกว่าที่คิด 


          เมื่อปลายปีที่แล้ว องค์การอวกาศยุโรป ได้ปล่อยดาวเทียมสามดวงขึ้นสู่อวกาศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจ สวอร์ม (Swarm) มีเป้าหมายหลักคือสำรวจสนามแม่เหล็กโลก ข้อมูลจากภารกิจนี้เผยว่า สนามแม่เหล็กโลกกำลังอ่อนกำลังลงด้วยด้วยอัตราประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ต่อทศวรรษ แทนที่จะเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ต่อศตวรรษ นั่นคือ เร็วกว่าที่คาดไว้ถึง 10 เท่า การที่สนามแม่เหล็กอ่อนกำลังลงเรื่อย ๆ อาจแสดงว่าใกล้จะถึงเวลาสลับขั้ว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าอาจเริ่มเกิดขึ้นภายในเวลาไม่ถึง 2,000 ปีนับจากนี้ 


          จนถึงปัจจุบันนี้ นักธรณีฟิสิกส์ยังไม่เข้าใจกระบวนกาสลับขั้วแม่เหล็กโลกอย่างถ่องแท้นัก แต่เห็นพ้องกันว่า ที่แกนโลกประกอบด้วยแกนชั้นในที่เป็นเหล็กแข็ง และแกนชั้นนอกเป็นเหล็กหลอมเหลว ความร้อนทำให้เหล็กหลอมเหลวที่แกนเหล็กชั้นนอกลอยตัวและไหลเวียน การหมุนรอบตัวเองของโลกก็ปั่นให้กระแสไหลวนนี้กำเนิดสนามแม่เหล็กที่มีขั้วเหนือขั้วใต้ขึ้นมา 


          บางครั้ง กระแสไหลวนของเหล็กหลอมเหลวก็ถูกรบกวนและทำให้บางส่วนมีการหมุนกลับทางไปจากเดิม ส่งผลให้สนามแม่เหล็กอ่อนกำลังลง สาเหตุของการรบกวนนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด การรบกวนนี้อาจเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ในระบบที่มีความอลวนโดยธรรมชาติ และนักธรณีฟิสิกส์ก็พบสิ่งนี้อยู่เสมอในการจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ โดยปกติการกลับทิศทางการหมุนเฉพาะที่นี้จะลดลงภายในเวลาประมาณ 1,000 ปี แต่บางครั้งกลับแพร่กระจายจนมีอิทธิพลทั่วทั้งดวงและถึงกับทำให้สนามแม่เหล็กรวมกลับขั้ว การสลับขั้วแม่เหล็กโลกแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 5,000 ปีโดยเฉลี่ย แต่บางครั้งอาจสั้นเพียง 1,000 ปี และบางครั้งก็อาจยาวนานถึง 20,000 ปี


          อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังยืนยันไม่ได้ว่าการที่สนามแม่เหล็กโลกอ่อนกำลังลงดังที่สวอร์มพบในครั้งนี้จะเป็นการเริ่มต้นของการสลับขั้วแม่เหล็กโลก แม้ว่าความเข้มสนามแม่เหล็กโลกได้อ่อนกำลังลงไป แต่ความเข้มในขณะนี้ก็ยังเท่ากับความเข้มเฉลี่ยของสนามแม่เหล็กโลกในช่วงหลายล้านปีที่ผ่านมา แต่ถ้าหากสนามแม่เหล็กโลกยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องด้วยอัตรานี้ สนามแม่เหล็กโลกก็จะเริ่มสลับขั้วจริง ๆ ภายในเวลาประมาณ 2,000 ปีต่อจากนี้


          หากเกิดการสลับขั้วแม่เหล็กโลกขึ้นในยุคปัจจุบันจะส่งผลกระทบต่อชีวิตบนโลกอย่างไรบ้าง? เรื่องนี้ยังคงยากเกินคะเน แต่อย่างน้อยนักวิทยาศาสตร์ก็เชื่อว่าไม่น่าจะร้ายแรงถึงขั้นจะเรียกว่าหายนะ แม้สนามแม่เหล็กจะมีบทบาทสำคัญในการปกป้องโลกจากรังสีอันตรายจากอวกาศ แต่จากบันทึกที่พบจากซากดึึกดำบรรพ์ก็ไม่พบว่ามีการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับการสลับขั้วแม่เหล็กโลกในอดีต การสลับขั้วอาจรบกวนระบบสายส่งกำลังไฟฟ้าและการสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุ อย่างไรก็ตาม แกรี เอ. แกลตไมเยอร์ นักธรณีฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ให้ความเห็นว่าเรื่องนี้ไม่น่ากลัว “พันปีต่อจากนี้เราคงไม่ได้ใช้ระบบสายส่งกันแล้ว เทคโนโลยีขณะนั้นย่อมก้าวไกลไปมากจนป้องกันสถานการณ์เช่นนี้ได้อยู่แล้ว”

ที่มา:

Earth’s Impending Magnetic Flip - scientificamerican.com เรียบเรียงภาษาไทย  http://thaiastro.nectec.or.th/news/viewnews.php?newsid=233

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...