ประวัติ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 29 ของประเทศไทย รู้รึยังครับ

หากพลิกดูปูมประวัติย้อนหลังเส้นทางชีวิตของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ บิ๊กตู่ เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2497 ที่ จ.นครราชสีมา เป็นบุตรชายของ พ.อ.(พิเศษ) ประพัฒน์ กับ เข็มเพชร จันทร์โอชา เป็นบุตรชายคนโตจากพี่น้องทั้งหมด 4 คน 1 ในน้องชายคือ พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 ซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 

สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 จากโรงเรียนสหะกิจวิทยา จ.ลพบุรี ต่อมาได้ศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียน

พิบูลวิทยาลัย จ.ลพบุรี แต่เรียนได้เพียง 1 ปี ก็ลาออกเนื่องจากบิดารับราชการทหารต้องโยกย้ายไปในหลายจังหวัดจึงเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ กรุงเทพมหานคร จนกระทั่งจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากนั้นได้เข้าเรียนเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 (ตท.12) และเป็นนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 23 (จปร.23)

สมัยวัยเยาว์ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเด็กเรียนหนังสือค่อนข้างเก่งมาก ถึงขั้นครั้งหนึ่งในวัย 15 ปี ขณะศึกษาอยู่ที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ เคยถูกสัมภาษณ์ลงคอลัมน์ “เรียนดี” ในนิตยสารชัยพฤกษ์ ปี พ.ศ. 2512 มาแล้ว (ข้อมูลตามภาพล้อมกรอบ) มีความถนัดและความชอบในวิชาคณิตศาสตร์, ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ ชีวิตส่วนตัวสมรสกับ รศ.นราพร จันทร์โอชา อดีตอาจารย์ประจำสถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบุตรสาวฝาแฝดสองคนคือ น.ส.ธัญญา และ น.ส.นิฏฐา จันทร์โอชา

สำหรับการเริ่มต้นรับราชการทหาร ที่ กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) ตั้งแต่เป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.21 พัน.2 รอ.) เป็นเสนาธิการกรมฯ รองผู้บังคับกรม และขึ้นเป็นผู้บังคับการกรมฯ ต่อมาย้ายมาเป็นรองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์(พล.ร.2 รอ.) และเป็นผู้บัญชาการกองพลฯ ต่อจากนั้นได้รับตำแหน่งเป็น รองแม่ทัพภาคที่ 1 เดินตามรุ่นพี่ สายบูรพาพยัคฆ์ นายทหารที่สังกัดหรือเจริญเติบโตมาจากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) ตั้งอยู่ค่ายพรหมโยธี จ.ปราจีนบุรี โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เป็นหน่วยทหารรักษาพระองค์ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงมักเรียกกันว่า “ทหารเสือราชินี” โดยมีหน่วยขึ้นตรงในระดับกรมและกองพันกระจายตัวอยู่ทั้งในพื้นที่ จ.สระแก้ว ชลบุรี และปราจีนบุรี 

ช่วงเกิดการรัฐประหาร โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่มี พล.อ.สนธิบุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งขณะนั้นมียศเป็น “พลตรี” ก็เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการยึดอำนาจด้วยรับคำสั่งตรงจาก พล.ท.อนุพงษ์ เผ่าจินดา แม่ทัพภาคที่ 1 (ตำแหน่งขณะนั้น) เมื่อ พล.ท.อนุพงษ์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) และเลื่อนชั้นยศเป็น “พลเอก” พล.ต.ประยุทธ์ ก็ได้เลื่อนชั้นยศขึ้นเป็น “พลโท” และรับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 อีกทั้งได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ด้วย

ต่อมาวันที่ 2 กันยายน 2553 พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็น ผบ.ทบ.ต่อจาก พล.อ.อนุพงษ์ ที่เกษียณอายุราชการ ว่ากันว่าพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายทหารที่มีความสนิทสนมกับ พล.อ.อนุพงษ์ เป็นอย่างมาก เนื่องจากเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชามาตลอดในกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์

ด้วยเพราะมีชื่อเล่นว่า ’ตู่“ สื่อมวลชนสายทหารจึงเรียกว่า ’บิ๊กตู่“ แม้จะเป็นนายทหารที่มีบุคลิกเคร่งขรึมดุดันเพราะมาจากหน่วยรบ

แต่บางครั้งก็จะมีลูกเล่นพูดจาอ่อนนุ่มติดคำว่า ’นะจ๊ะ“ ต่อท้าย จึงได้รับอีกชื่อหนึ่งจากสื่อมวลชนว่า ’ตู่นะจ๊ะ“

ตลอดระยะการทำงาน ผู้บัญชาการทหารบก ได้ผ่านเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองมากมาย จนกระทั่งการชุมนุมของ กปปส.ที่นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งออกมา “เป่านกหวีด” ต่อต้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนนำมาซึ่งการเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก แต่รัฐบาลก็เลือกวิธีการยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้ง แต่การชุมนุมก็ยังไม่ยุติ มิหนำซ้ำยังขยายวงความขัดแย้งชุมนุมยืดเยื้อยาวนานมากกว่า 6 เดือน จนกระทั่งวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ได้แถลงการณ์ 7 ข้อ ระบุถึงสถานการณ์ที่มีแนวโน้มเกิดการจลาจลทำให้ทหารต้องออกมาระงับอย่างเต็มรูปแบบ และได้ประกาศใช้ “กฎอัยการศึก” เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ทั่วราชอาณาจักร เพื่อรักษาความสงบ และจัดตั้ง กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ขึ้นมาดูแลสถานการณ์ พร้อมกับเป็นตัวกลางในการนำผู้ขัดแย้งทางการเมืองทุกฝ่ายมาหาทางออกให้กับประเทศ

 แต่สุดท้ายก็หาข้อสรุปไม่ได้ จนกระทั่งมาถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 17.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จึงได้ประกาศยึดอำนาจและเข้าควบคุมตัวแกนนำกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ขึ้นรถตู้ไปยัง ร.1 รอ. ก่อนแถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจถึงความจำเป็นเข้าควบคุมอำนาจและจะดำเนินการเพื่อหาทางออกให้กับประเทศตามระบอบประชาธิปไตยต่อไป

หลังเข้าควบคุมอำนาจภายใต้การนำของกองทัพที่มีชื่อว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า คสช.

ได้ออกคำสั่งและประกาศเพื่อจัดการปัญหาต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองกลับเข้าสู่ความสงบโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการเชิญผู้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในทุกภาคส่วนเข้ารายงานตัว การเข้าควบคุมกลไกข้าราชการด้วยการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและแต่งตั้งข้าราชการซึ่งไม่มีภาพทางการเมืองติดตัวเข้ามาทำหน้าที่ 

ขณะเดียวกันก็ได้เข้ามาจัดการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 58 เข้าไปจัดระเบียบในรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาถูกมองว่าเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ของกลุ่มการเมือง แต่ที่ดูจะได้ใจสังคมไปแบบเต็ม ๆ นั่นคือการจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าวให้กับชาวนากว่าแสนล้านบาท นอกจากนี้ยังเข้ามาจัดระเบียบสังคมเพื่อ “คืนความสุข” ให้กับสังคมไม่ว่าจะเป็น รถตู้โดยสาร รถแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รวมไปถึงการกวาดล้างอาวุธสงครามและผู้มีอิทธิพล จนเริ่มมีเสียงเรียกร้องให้ คสช.โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาทำหน้าที่รัฐบาลเพื่อไม่ให้การรัฐประหารครั้งนี้สูญเปล่า

กระทั่งวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่ง โรดแม็พ โดยสาระสำคัญคือ

การมีแม่น้ำ 5 สายสำคัญ ประกอบด้วย สนช.,คณะรัฐมนตรีหรือ ครม., สภาปฏิรูปแห่งชาติหรือ สปช., คสช.,และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในส่วนของ สปช.นั้นกำลังเริ่มต้นกระบวนการ ขณะที่ สนช.ก็ได้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ที่ปรึกษาหัวหน้า คสช.เป็นประธาน สนช. โดยกระบวนการสำคัญคือการ เลือก  นายกรัฐมนตรี คนที่ 29 เพื่อไปจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดิน 

ในที่สุดแล้ว สนช.นัดประชุมกันเมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยมีเสียงสนับสนุนท่วมท้นเป็นเอกฉันท์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 รวมระยะเวลาตั้งแต่เข้ามาควบคุมอำนาจจนถึงการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี เบ็ดเสร็จ ภายในระยะเวลา 3 เดือน!!.

 

 

นิตยสารชัยพฤกษ์ ของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ปี พ.ศ. 2512 คอลัมน์ “เรียนดี” เคยลงข้อมูลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก. ของโรงเรียนวัดนวลนรดิศ สัมภาษณ์การเรียนตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เนื่องจากเป็นเด็กเรียนเก่ง ที่สำคัญเมื่อถูกถามว่า ถ้าสอบได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้ว จะสอบเข้าเรียนต่อที่ไหน? คำตอบที่ได้คือ ตั้งใจจะเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมทหาร และหวังว่าจะได้เป็นทหารบกในอนาคต 

หลังจากนั้นไม่มีใครคาดคิดว่า จากเด็กหนุ่มมาดเคร่งขรึม ถัดมาอีก 45 ปี เส้นทางชีวิตจะก้าวไกลจนได้มาเป็น ผบ.ทบ. แถมก่อนเกษียณยังขยับขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ของประเทศไทย.

 

 

21 ก.ย. 57 เวลา 21:56 3,831 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...