ประวัติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย

 

 

 

 

หลังจากที่คณะกรรมาธิการสามัญประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิป สนช. เห็นชอบให้นำหลักเกณฑ์การเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ยกร่างข้อบังคับการประชุมสนช.เสนอมาใช้บังคับและใช้กับการสรรหาบุคคลที่มีความเหมาะสมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นงานแรก โดยสาระสำคัญนั้น สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 และรัฐธรรมนูญ ปี 2550 โดยผู้ที่ถูกเสนอชื่อต้องได้รับการรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกที่มีอยู่


ผู้ที่จะเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องตรวจสอบคุณสมบัติและได้รับการทาบทามมาแล้ว ดังนั้นผู้ที่ถูกเสนอชื่อจึงไม่จำเป็นต้องอยู่ในที่ประชุมและไม่มีเหตุให้ต้องแสดงวิสัยทัศน์ โดยผู้ที่ถูกเสนอชื่อจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด หรือ 99 เสียง โดยใช้วิธีขานรายชื่อในการลงคะแนน


ล่าสุดที่ประชุมได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ด้วย 191 เสียงสมาชิกสนช. เลือก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย

 

ประวัติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2497 ที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นบุตรชายของ พ.อ. (พิเศษ) ประพัฒน์ กับเข็มเพชร จันทร์โอชา มีชื่อเล่นว่า “ตู่” สื่อมวลชนนิยมเรียกว่า “บิ๊กตู่” เป็นบุตรชายคนโตจากพี่น้องทั้งหมดสี่คน[2] หนึ่งในน้องชายคือ พล.ท. ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3


สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 จากโรงเรียนสหะกิจวิทยา จังหวัดลพบุรี ต่อมาได้ศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัยในจังหวัดเดียวกัน แต่เรียนได้เพียงปีเดียวก็ลาออกเนื่องด้วยบิดาเป็นนายทหารจำต้องโยกย้ายไปในหลายจังหวัด เขาจึงเข้าศึกษาที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ กรุงเทพมหานคร จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3[ภายหลังได้เข้าเรียนเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 (ตท.12) และเป็นนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 23


อุปนิสัยที่เงียบขรึม ด้วยความที่เป็นพี่ชายคนโตจึงต้องทำตัวเป็นพี่ที่ดี ในวัยเยาว์เขาเป็นคนเรียนเก่งมีความถนัดและความชอบในวิชาคณิตศาสตร์, ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ จากการสนับสนุนของบิดามารดา


ชีวิตส่วนตัวสมรสกับ รศ.นราพร จันทร์โอชา อดีตอาจารย์ประจำสถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


บทบาททางการเมือง


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับราชการทหารอยู่ที่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ หรือ “ทหารเสือราชีนี” มาโดยตลอด โดยเริ่มมาจากตำแหน่งผู้บังคับการกองพัน จนถึงผู้บังคับการกรม จากนั้นจึงย้ายไปอยู่ที่กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ และรับตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 1

ในรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ที่มี พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งขณะนั้นมียศเป็น “พลตรี” ก็เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการยึดอำนาจด้วยรับคำสั่งตรงจาก พล.ท. อนุพงษ์ เผ่าจินดา แม่ทัพภาคที่ 1 หลังจากนั้นเมื่อ พล.ท. อนุพงษ์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกและเลื่อนชั้นยศเป็น “พลเอก” พล.ต. ประยุทธ์ก็ได้เลื่อนชั้นยศขึ้นเป็น “พลโท” และรับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 และได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ด้วย


พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายทหารที่มีความสนิทสนมกับ พล.อ. อนุพงษ์ เป็นอย่างมาก ด้วยความเป็นผู้ใต้บังคับบัญชามาตลอดในกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ โดย พล.อ. ประยุทธ์นับถือ พล.อ. อนุพงษ์เสมือนพี่และอาจารย์คนหนึ่งของตน โดย พล.อ. ประยุทธ์เป็นนายทหารที่มีบุคลิกที่อ่อนนุ่มโดยมักติดคำว่า “นะจ๊ะ” ต่อท้ายการพูด จึงได้รับอีกชื่อหนึ่งจากสื่อมวลชนว่า “ตู่นะจ๊ะ”


พล.อ. ประยุทธ์ ได้รับตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ระหว่างวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2551 ถึง 14 กันยายน พ.ศ. 2551 และรับตำแหน่งรองผู้อำนวยการกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน


ทั้งนี้เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารบกต่อจาก พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่เกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป


อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ถึง 22 ธันวาคม พ.ศ. 2554 และเป็นหนึ่งในคณะดำเนินคดีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา พ.ศ. 2554


รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557


พล.อ. ประยุทธ์ เป็นผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.รส.) ในการประกาศกฏอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 และรัฐประหาร ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 หลังการหารือกับตัวแทน 7 ฝ่ายไม่เป็นผล


ทั้งนี้คาดว่าจะมีพิธีรับสนองพระราชราชโองการฯ ในเวลาประมาณ 10.00 น. ของวันที่ 25 สิงหาคม 2557 โดยจะมีการเผยแพร่ภาพผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และหลังจากเสร็จสิ้นพิธีแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จะได้ชี้แจงการทำหน้าที่ต่อประชาชน

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...