รู้จัก "แมงมุมพิษ" มหาภัย สารพัดสายพันธุ์-กัดถึงตาย!

 

รู้จัก "แมงมุมพิษ" มหาภัย สารพัดสายพันธุ์-กัดถึงตาย!
แมงมุม ตัวเล็กนิดเดียว แต่ถ้าเป็นสายพันธุ์พิษร้ายแรงก็ทำให้ "มนุษย์" เราถึงตายได้ถ้าโดนกัด

เคสภัยแมงมุมสยองล่าสุดในเมืองไทย เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายคือ นายอุทัย เวียงคำ อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 18 หมู่ที่ 5 ต.ห้วยไร่ อ.เด่นชัย จ.แพร่

วันที่ 8 ก.ค. เข้านอนอยู่ในบ้านตัวเองแท้ๆ จู่ๆ ถูกแมงมุมตัวสีน้ำตาลกัดเข้าให้ ด้วยปฏิกิริยาตอบโต้อัตโนมัติ จึงฆ่าแมงมุมตาย 

จากนั้นนอนหลับต่อ ไม่ได้คิดอะไร

ผ่านไปไม่กี่วัน ปรากฏว่าแผลเริ่มปวดบวมอักเสบร้ายแรง พิษจากแผลลามเข้าสู่ร่างกาย ต้องหามส่งโรงพยาบาลเด่นชัย ก่อนส่งต่อไปยังโรงพยาบาลแพร่

ล่าสุดแพทย์วินิจฉัยว่าอาจต้องตัดขาทิ้ง เพื่อรักษาชีวิต ขณะที่ญาติยังไม่แน่ใจ รอว่าอาจเกิดปาฏิหาริย์ขึ้นได้!

ข่าวคราวแมงมุมมหาภัยดังกล่าว ทำให้คนหวาดผวาไปทั่ว

สำหรับผลการตรวจวิเคราะห์โดย "ศิริราช" ชี้ชัดออกมาว่า แมงมุมพิษที่เล่นงานนายอุทัย ไม่ใช่สายพันธุ์ "แม่ม่ายสีน้ำตาล"

แต่แท้จริงแล้ว คือ พันธุ์ "แมงมุมพิษสีน้ำตาล"

18 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ตึกอำนวยการ ร.พ.ศิริราช พญ.ธัญจิรา จิรนันทกาญจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาคลินิก ศูนย์พิษวิทยาศิริราช แถลงข่าว ผลพิสูจน์ซากแมงมุม ว่า 

ศูนย์พิษฯ ได้รับการติดต่อจากร.พ.แพร่ เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับผู้ป่วยที่สงสัยว่าถูกแมงมุมพิษกัดที่ขา 2 ข้าง เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่สองหลังจากผู้ป่วยถูกแมงมุมกัด 

จากการพิจารณาพบว่าผู้ป่วยน่าจะถูกแมงมุมกัดจริง เนื่องจาก ผู้ป่วยเห็นตัวแมงมุม สามารถบอกได้ว่าเป็นสีน้ำตาลแดง ระบุขนาด และได้ตีแมงมุมจนตาย 

อาการของผู้ป่วยเข้าได้กับกลุ่มอาการที่เรียกว่า "ล็อกโซเซลิซึม (Loxoscelism)" ซึ่งเกิดจากแมงมุมพิษสีน้ำตาลในกลุ่มล็อกโซเซเลส สปีชีส์ เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณรอยกัด

ต่อมาผิวหนังบริเวณโดยรอบที่กัดมีการบวม เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินคล้ำ และมีถุงน้ำสีน้ำเงินออกม่วง

นอกจากนี้ ยังมีอาการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ การทำงานของตับและไตผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ และติดเชื้อแทรกซ้อนในกระแสโลหิต จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ยาหดหลอดเลือด การฟอกไต และการผ่าตัดแผลที่ติดเชื้อ

"อาการป่วยเช่นนี้เป็นคนละกลุ่มกับแมงมุมแม่ม่าย สีน้ำตาล แต่อาจมีการสับสนเกี่ยวกับชื่อได้ เพราะมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลเช่นเดียวกัน ซึ่งอาการของผู้ป่วยที่ถูกแมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาลกัดจะมีอาการปวดอย่างรุนแรง อาจมีเหงื่อไหลออกมาก ปวดเกร็งกล้ามเนื้อท้อง ปวดขา อาการจะเด่นทางระบบประสาท และแผลไม่มีการอักเสบเช่นผู้ป่วยรายนี้" พญ.ธัญจิรากล่าว

พญ.ธัญจิรากล่าวอีกว่า นอกจากวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วยแล้ว ต้องดูลักษณะของแมงมุมที่กัดด้วย จึงบอกได้ว่าถูกแมงมุมชนิดใดกัด 

โชคดีที่ผู้ป่วยรายนี้ได้ตีแมงมุมจนตาย โดยญาติผู้ป่วยได้เก็บซากแมงมุมนำส่งศูนย์พิษวิทยาศิริราช ซึ่งเราได้รับการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงและสัตว์ขาข้อคือ ผศ.ณัฐ มาลัยนวล และ รศ.พญ.สุภัทรา เตียวเจริญ ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ด้วยการดูแมงมุมด้วยตาเปล่าและกล้องจุลทรรศน์ 

ผลตรวจเบื้องต้นพบว่า แมงมุมที่ส่งมานั้นมีทั้งตัวใหญ่และตัวเล็ก โดยแมงมุมตัวใหญ่เป็นแมงมุมที่พบทั่วไปตามบ้านและสวน ไม่มีพิษ ส่วนตัวเล็กขนาด 7 มิลลิเมตรนั้นพบว่าเป็นแมงมุมในกลุ่มแมงมุมพิษสีน้ำตาล (Family Brown Rescluse) ลักษณะเด่นของแมงมุมกลุ่มนี้คือ มีตา 3 คู่กระจายอยู่เป็นรูปตัวยู รวมเป็น 6 ตา ซึ่งต่างจากแมงมุมทั่วไปที่มี 4 คู่หรือ 8 ตา ขณะที่เขี้ยวของแมงมุมก็โค้งเข้ามาด้านใน ไม่ได้โค้งลง

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากซากแมงมุมมีการเปลี่ยนสภาพ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบลักษณะเด่นของแมงมุมกลุ่มนี้ได้คือลายที่มีลักษณะคล้ายไวโอลินที่ลำตัว จึงต้องมีกระบวนการตรวจสอบเพิ่มเติมต่อไป ก่อนระบุได้ชัดเจนมากกว่านี้ 

ถือว่าผู้ป่วยรายนี้เป็นรายแรกของประเทศไทยที่เข้ามารักษาจากการถูกแมงมุมชนิดนี้กัด พร้อมด้วยซากแมงมุม เพราะปกติส่วนใหญ่จะเข้ามารักษาอย่างเดียว โดยไม่มีซากแมงมุมและมักจะอธิบายลักษณะแมงมุมไม่ได้

ด้าน รศ.พญ.สุภัทรากล่าวว่า แมงมุมพิษที่พบทั่วไปเท่าที่มีรายงานคือ แมงมุมแม่ม่ายดำ แม่ม่ายน้ำตาล และแมงมุมพิษสีน้ำตาล 

โดยแมงมุมแม่ม่ายดำจะมีขนาด 1-2 เซนติเมตร ตัวสีดำ เมื่อผสมพันธุ์แล้วจะ "จับตัวผู้กิน" จึงได้ชื่อว่าแม่ม่าย ลักษณะเด่นคือมีลายนาฬิกาทรายใต้ท้อง 


ส่วนแมงมุมแม่ม่ายน้ำตาลจะมีลักษณะเช่นเดียวกับแมงมุม แม่ม่ายดำ แต่มีสีน้ำตาล 

โดยพิษในกลุ่มแมงมุมแม่ม่ายจะส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ผิวหนังตาย มีเลือดออก มีพิษรุนแรง อาจทำให้เสียชีวิตได้ 

ส่วน "แมงมุมสีน้ำตาล" มีขนาดเล็กเช่นกันประมาณ 1-2 เซนติเมตร ลักษณะเด่นคือมีลายไวโอลินที่ส่วนของอก แต่พิษของแมงมุม สีน้ำตาลจะไม่เป็นพิษต่อระบบประสาท แต่พิษจะทำปฏิกิริยาที่เยื่อ หุ้มเซลล์ ทำให้เซลล์ตาย เมื่อถูกกัดมักไม่มีอาการในระยะแรกแต่ หลังจากนั้น 3-8 ชั่วโมงจะเริ่มรู้สึกเจ็บ บวมแดง มีการอักเสบ เป็นผื่น แผลเริ่มมีสีดำไหม้ เป็นหนอง ขนาดแผลเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2.5 เซนติเมตร

หากไม่รักษาเนื้อจะตายลุกลามไปเรื่อยๆ 

แมงมุมสีน้ำตาลไม่ใช่แมงมุมในถิ่นบ้านเรา ส่วนใหญ่ อยู่แถบอเมริกากลาง เช่น เม็กซิโก

นพ.สุชัย สุเทพารักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสมาคมพิษวิทยาคลินิก และที่ปรึกษาสถานเสาวภา ให้ความรู้ว่า 

สถานเสาวภามีคลินิกพิษจากสัตว์ รับปรึกษาผู้ป่วยจากงูกัด สัตว์มีพิษ สำหรับแมงมุมมีเข้ามาปรึกษาประปราย ปีละไม่ถึง 10 ราย แต่เชื่อว่าคนที่ถูกแมงมุมกัดมีมากกว่านั้น แต่ไม่ได้เข้ามาปรึกษา 

ทั้งนี้ แมงมุมนั้นมีพิษทั้งหมด อยู่ที่ว่ามีพิษมากหรือพิษน้อย อย่างแมงมุมทั่วไปก็สามารถกัดได้ แต่อาการจะคล้ายแมลงกัดต่อย มีอาการปวดบวมร้อน ดังนั้น เวลาถูกแมงมุมกัดจะแยกว่ามีพิษมากหรือน้อย ควรไปพบแพทย์หรือไม่ ให้สังเกตจากอาการ เพราะส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจำลักษณะแมงมุมไม่ได้ 

หากถูกกัดแล้วให้รอดูอาการ 1 คืน หากมีอาการแค่ปวดบวมธรรมดา เจ็บหรือผื่นขึ้นก็ไม่เป็นไร แต่หากอาการไม่ดีขึ้นต้องรีบ มาพบแพทย์ 

นอกจากนี้ หากถูกกัดแล้วมีอาการปวดจนทนไม่ไหว หน้ามืด อาเจียน ไข้ขึ้น ให้มาพบแพทย์ทันที 

ส่วนการป้องกันแมงมุมกัดนั้น พวกยาทาป้องกันอาจใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง ทางที่ดีคือควรจัดบ้านให้สะอาด และไม่แหย่แมงมุมเล่น

"แมงมุม 1 ตัว ทำให้เสียชีวิตน้อยมาก แต่ทำให้อาการหนักได้ บางสายพันธุ์แม้พิษจะรุนแรงมากกว่างู แต่ด้วยสัดส่วนของแมงมุมแล้ว ซึ่งมีขนาดเล็ก ปริมาณพิษจึงน้อยมาก ก็ไม่ทำให้เกิดพิษรุนแรง นอกจากนี้ แมงมุมแต่ละตัวปริมาณน้ำพิษไม่เท่ากัน แม้จะเป็นแมงมุมชนิดเดียวกัน แต่กัดแต่ละครั้งก็ทำให้ ผู้ป่วยเกิดอาการมากน้อยต่างกันได้ บางรายกัดเป็นแผล บางรายก็อาจรุนแรง" นพ.สุชัยกล่าว
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...