ม.ศิลปากร เผยแผ่นทองพัทลุง เคยใช้แทนธนบัตร

 
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Silpakorn University 

          ข่าวขุดทองพัทลุง ล่าสุด ม.ศิลปากร โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุ แผ่นทองพัทลุง เปรียบเสมือนกับธนบัตรที่ใช้แลกเปลี่ยนซื้อขายแทนเงินในสมัยก่อน 

          สืบเนื่องจากกรณีที่มีการขุดพบทองในสวนปาล์ม เขาชัยสน จ.พัทลุง เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 ทำให้ชาวบ้านต่างแห่เข้าไปขุดทองในบริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก จนกรมศิลปากรต้องเข้าไปตรวจสอบ พร้อมประกาศขอให้ชาวบ้านนำมาส่งคืนให้ทางราชการเพื่อเก็บรักษาเป็นทรัพย์สมบัติของแผ่นดินและจะมอบเงินให้ 1 ใน 3 ของราคาทองนั้น

          ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557  เฟซบุ๊ก Silpakorn University ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้มีการโพสต์ข้อความระบุว่า ตามผลการวิเคราะห์แผ่นทองพัทลุงของ อาจารย์อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พบว่า มีตัวอักษรจีนประทับลงบนแผ่นทองคำดังกล่าวด้วย และจากการวิเคราะห์ตัวอักษรจีน ทำให้เชื่อว่า แผ่นทองถูกนำมาใช้แทนธนบัตรในการซื้อขายแทนเงินตราในสมัยก่อน เนื่องจากมีน้ำหนักเบาและง่ายต่อการพกพา ทั้งนี้ จากลักษณะของแผ่นทองพัทลุงบางแผ่นมีลักษณะฉีกขาดมาแต่เดิมนั้น เชื่อว่า เกิดจากการถูกฉีกเมื่อมีการนำแผ่นทองมาใช้ซื้อสินค้าตามมูลค่าของสินค้านั้น ๆ นั่นเอง
 
          สำหรับข้อความเรื่องผลการวิเคราะห์แผ่นทองพัทลุง ของมหาวิทยาลัยศิลปากร มีรายละเอียด ดังนี้ 
 
          คณะโบราณคดี-ศิลปากร ถอดความหมายของอักษรจีนที่ประทับอยู่บนแผ่นทองคำที่พบที่พัทลุง
 
          เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ "อาจารย์อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช" ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้วิเคราะห์ตัวอักษรจีนที่ประทับลงบนแผ่นทองคำไว้อย่างน่าสนใจ โดยอธิบายว่าแผ่นทองคำที่พบนั้นทำหน้าที่แลกเปลี่ยนซื้อขายแทนเงินตราเนื่องจากในสมัยโบราณเงินเหรียญมีน้ำหนัก ยากแก่การพกพา จึงคิดทำแผ่นทองขึ้นมาใช้แทนเปรียบเสมือนกับธนบัตรที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งการผลิตทองคำแผ่น ต้องมีการสัมปทานจากรัฐ หรือราชสำนัก เมื่อได้ทองคำเป็นแผ่นมาแล้วก็จะนำมาพับ และปั๊มตัวหนังสือลงไปบริเวณมุมแผ่น และกลางแผ่นทองคำ สังเกตุดูจะพบว่ามีตัวหนังสือคล้ายๆกันกระจายไปทั่วทั้งแผ่น
 
          ตัวอย่างทองคำแผ่นหนึ่งจากตัวหนังสือจีนที่พออ่านได้ บอกถึงสถานที่ผลิตชื่อว่า ป้าเป่ยเจียซี
 
          ป้าเป่ยคือชื่อของสถานที่ เจียแปลว่าถนน ซีแปลว่าตะวันตก เมื่อแปลความหมายโดยรวมแล้วหมายถึง โซนฝั่งตะวันตกของถนนป้าเป่ย หรือถนนป้าเป่ยฝั่งตะวันตก ชื่อป้าเป่ย เป็นคำโบราณ ซึ่งนักวิจัยพบว่าชื่อนี้ใช้เรียกกันในสมัยราชวงศ์ ชุ้งใต้ ปัจจุบันไม่พบชื่อนี้แล้ว (ป้าเป่ยเจียซี เป็นสถานที่แห่งหนึ่งอยู่บริเวณทะเลสาบซีหู เมือง หางโจว มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ในปัจจุบัน)
 
          ตำแหน่งต่อไปพบบริเวณส่วนกลางของแผ่นทองคำคือชื่อผู้การันตี หรือรับรองคุณภาพทองคำว่าเป็นทองคำแท้ จากอักษรตัวนามสกุลอ่านได้ว่า แซ่หาน แต่ชื่อไม่สามารถอ่านได้เนื่องจากตัวหนังสือไม่ชัดเจน และท้ายสุดเป็นอักษรที่บอกเปอร์เซ็นต์ทอง ซึ่งอ่านได้ว่า "สือเฟินจิน" สือเฟินแปลว่าสิบส่วน จิน แปลว่าทอง รวมแล้วหมายถึงทองคำสิบส่วน ซึ่งการบ่งบอกถึงสัดส่วนทองถือเป็นการบอกระดับคุณภาพของทอง ซึ่งทองสิบส่วนถือเป็นทองที่มีคุณภาพสูงหรือเปอร์เซ็นต์ทองคำสูง และทองคำแต่ละแผ่นที่พบมีลักษณะคล้าย ๆ กันคือมีชื่อผู้ผลิต ชื่อผู้การันตี และค่าเปอร์เซ็นต์ทอง 
 
          ที่น่าสังเกตคือทองบางแผ่นมีลักษณะฉีกขาดมาแต่เดิมอันเนื่องมาจากการฉีกใช้ซื้อสินค้าตามมูลค่าของสินค้านั้นๆ นั่นเอง 

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...