นักเรียน นักเลียน มายาจริตในเครื่องแบบ

 

 

 

นักเรียน นักเลียน มายาจริตในเครื่องแบบ

 

 

 

ดูจากเครื่องแบบที่หุ้มห่อร่างบอบบางแล้ว เธอน่าจะเป็น “นักเรียน” ชั้นมัธยมต้นจากที่ไหนสักแห่ง แต่พอพิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า เราก็ชักเกิดอาการไม่มั่นใจขึ้นมาทันควัน เธออาจไม่ใช่ “นักเรียน”  เพราะจากสีสันของเครื่องสำอางที่บรรจงแต้มลงบนแก้ม อีกทั้งลิปสติกสีแปร๊ด อายไลเนอร์เข้มคล้ำรอบขอบตา และมาสคาราถูกปัดงอนงาม ล้วนชวนให้เราสงสัยในความเป็นนักเรียนของเธอคนนี้

 

เดินไปตามท้องถนน ย่านร้านตลาด หรือห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ไม่ยากที่คุณจะได้พบ “นักเรียน” แบบที่เราอ้างถึง เธอเป็น “นักเรียน” จริงๆ แถมสังกัดโรงเรียนชื่อดังทั้งนั้น เพราะป้ายบอกชัดติดแปะที่หน้าอก เพียงแต่ภาพลักษณ์ภายนอกของเธอต่างกันลิบลับกับ “นักเรียน” ในอดีต ที่มีดวงหน้าสวยใสเป็นธรรมชาติ เสื้อไม่รัดติ้วเผยถึงเนินเนื้ออันนวลเนียนอย่างจงใจ ที่สำคัญจริตจะก้านก็มีไม่มากเท่านี้ จนแทบหาแววความน่ารักไร้เดียงสาไม่เจอ


ศิลปินหนุ่มไฟแรงจากเมืองเลยเฟส-อัมรินทร์ บุพศิริ” เพิ่งจะได้เป็นบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากรมาหมาดๆ ใช้เวลาค้นหาตัวเองระหว่างเป็นนิสิต คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ทำงานเสียดสีสังคม โดยอาศัยจังหวะประเด็น “การลอกเลียน” ที่มีผลจากกระแสส่งถ่ายด้านวัฒนธรรมต่างถิ่น เพื่อสะท้อนถึงจุดเปลี่ยนทางความคิดของเยาวชนไทย ทั้งในฐานะ “ผู้บริโภค” อย่างไร้สติ และ “เหยื่อ” อันแสนอดสู


ความตั้งใจของผมก็แค่อยากวิพากษ์พฤติกรรมของเด็กยุคนี้ ที่นับวันจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ กึ่งๆ อารมณ์หมั่นไส้นิดๆ นั่นละครับ แต่ก็ไม่มีเจตนาจะว่าใครคนใดคนหนึ่ง มองในภาพรวมมากกว่าว่ามันรับไม่ไหวแล้วนะ ติดแฟชั่น แล้วมันก็กลายเป็นการเลียนแบบต่อๆ กัน”

อัมรินทร์ บุพศิริ

อัมรินทร์ใช้ชื่อนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกว่า “นักเรียน”ความหมายของมันสื่อ 2 นัย เป็นคนที่ชอบลอกเลียนแบบพฤติกรรม อันเกิดจากสื่อที่หลั่งไหลเข้ามา โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ดนตรี แฟชั่น อาหาร อีกหนึ่งความหมายนั้นเขาล้อกับตัวละครที่ปรากฏบนเฟรม ซึ่งทั้งหมดเป็นเด็กสาวรุ่นที่กำลังอยู่ในวัยศึกษาในชุดนักเรียน แต่สามารถบ้าบอไปกับค่านิยมแต่งสวยได้โดยไม่ลืมหูลืมตาว่าบางทีบางอย่างก็อาจไม่เหมาะไม่ควรกับตัวเอง


“ที่ผมใช้เด็กผู้หญิงเป็นคนสื่อ เพราะผู้หญิงมันบ่งบอกถึงความใส ความน่ารัก แล้วยังเป็นการสะท้อนเรื่องเพศอีกด้วย ดูเผินๆ เออ...น่ารักนะ แต่พอมาทำพฤติกรรมแบบนี้ แต่งตัว แต่งหน้า ทาปากจัดๆ เออ...จากน่ารักก็เป็นไม่ค่อยน่ารักละ”


งานชุดนี้อัมรินทร์ไม่ได้ตั้งใจนำมาจัดแสดงนิทรรศการ แต่เพราะอาจารย์ที่ปรึกษาตอนทำวิทยานิพนธ์ส่งปีสุดท้าย


“อิทธิพล ตั้งโฉลก” แนะว่าให้ลองปรับแนวคิด เนื้อหา ลายเส้น เพื่อให้มีความหนักแน่นยิ่งขึ้น เขาจึงลองมุ่งมั่นลงมือทำ จากภาพสเกตช์หลายร่าง แก้แล้วแก้อีก ในที่สุดมันก็มาสรุปเป็นภาพสีน้ำมัน ให้อารมณ์ขำแบบขื่น เน้นสีสันแต่แฝงไว้ซึ่งความหดหู่ เห็นแล้วอยากหัวเราะ แต่เสียงหัวเราะนั้นอาจเจือด้วยความแห้งแล้ง ขณะเดียวกันสีหน้าและแววตา บวกกับท่าทางของบรรดาสาวน้อยในเฟรม ก็นำพาคนดูเข้าไปสำรวจถึงความผิดเพี้ยนชีวิตพวกเธอ


อารมณ์ของภาพมันค่อนข้างจะดูเป็นการ์ตูนนะ แต่ไม่มากหรอก ผมอยากให้มันดึงความสนใจผู้คนให้มาจับจ้องมอง ส่วนว่าจะตีความอะไรนั้นอันนี้แล้วแต่ ใครจะมองแค่ความสนุกก็ได้ หรือจะคิดมากไปไกลถึงปัญหาระดับประเทศก็ไม่ว่ากัน เพราะสิ่งที่เด็กสาวเหล่านี้พยายามบอกเล่าความหมายชัดเจนอยู่แล้ว”


เด็กสาวในเครื่องแบบส่งยิ้มหวานผ่านลิปสติกสีแปร๊ด ดวงตากลมเป็นประกายฉายถึงความสุขขณะนั่งอยู่ในห้องส่วนตัว บ้างก็มีเพื่อนเคลียคลออยู่ข้างๆ ช่วยกันแต่งแต้มความสวยให้กันและกัน


กระจกเงาแต่ละบานสะท้อนให้เห็นว่าพวกเธอรักที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองจากพฤติกรรม “เลียนแบบ” ความเป็น“นักเรียน” วัยละอ่อนค่อยๆ จางหายไปทีละน้อย ด้วยเพราะเครื่องสำอางที่เคลือบปิดความน่ารักของพวกเธอจนมิดชิดตามกฎแห่ง “การลอกเลียน”


 

 

นิทรรศการ “นักเรียน” ที่มา จาก posttoday.com

25 เม.ย. 57 เวลา 14:06 3,419 50
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...