NCDs : โรคร้ายที่เราสร้างเอง

 

 

 

 

 

       

          การใช้ชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบัน เปรียบเหมือนทางด่วนที่ก่อให้เกิดโรคร้ายได้อย่างง่ายดาย และรวดเร็ว เพราะการดำเนินชีวิตประจำวันที่คุ้มเคยหลายอย่าง ล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่สมดุล ทั้งเรื่องการกิน การนอน การออกกำลังกาย และการทำงาน

          นายแพทย์ทักษพล ธรรมรังสี ผู้จัดการแผนงานเครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อ กล่าวว่า “โรค NCDs” ย่อมาจากคำว่า Non-communicable diseases หมายถึง กลุ่มโรคไม่ติดต่อ ที่ไม่สามารถแพร่กระจายโรคจากคนสู่คนได้ โดยทั่วไปอาจเรียกว่า กลุ่มโรคเรื้อรัง ซึ่งหมายถึงโรคที่เกิดต่อเนื่องยาวนาน และมีการดำเนินของโรคเป็นไปอย่างช้าๆ ซึ่งแตกต่างจากโรคติดเชื้อส่วนใหญ่ ที่มักมีการดำเนินโรคอย่างรวดเร็ว กลุ่มโรค NCDs ที่สำคัญประกอบด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด (รวมถึงโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง) 2.กลุ่มโรคเบาหวาน 3.กลุ่มโรคมะเร็ง และ4.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง (รวมถึงโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหอบหืด)

          “โรค NCDs จัดเป็นฆาตกรอันดับหนึ่ง ที่คร่าชีวิตประชากรโลกมากกว่าสาเหตุการตายอื่นๆ ทุกสาเหตุรวมกัน มากถึง 36.2 ล้านคนต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 66% ของการเสียชีวิตของประชากรโลกทั้งหมดในปี 2554 ขณะที่ในประเทศไทย กลุ่มโรค NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึงประมาณ 3.1 แสนคน หรือ ร้อยละ 73 ของการเสียชีวิตของประชากรไทยทั้งหมดในปี 2552”

          ผู้จัดการแผนงานเครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อ กล่าวว่า นอกจากผลกระทบทางด้านสุขภาพแล้ว โรค NCDs ยังส่งผลกระทบต่อสังคม โดยมีข้อมูลยืนยันว่า เป็นปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะด้านคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ โดยโรค NCDs ทำให้ประชากรเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เกิดการสูญเสียศักยภาพในการประกอบอาชีพ และผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยและโรคแทรกซ้อน โดยนอกจากจะเพิ่มภาระแก่คนรอบข้างแล้ว ยังสร้างภาระแก่สังคมโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มูลค่าของค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพในแต่ละปีที่มีมูลค่ามหาศาล

ความเชื่อว่าเป็นโรคของคนแก่

          นายแพทย์ทักษพล กล่าวต่อไปอีกว่า โดยทั่วไปมักมีความเข้าใจกันว่าโรค NCDs เป็นโรคของผู้สูงอายุ แต่จากข้อมูลพบว่า ประมาณ 1 ใน 4 ของการตายด้วยโรค NCDs พบว่าเป็นการเสียชีวิต ก่อนอายุ 60 ปี อาการของโรคที่เกิดขึ้นตอนสูงอายุ มักเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงสะสม ในช่วงวัยหนุ่มสาว เหมือนเราสะสมดินระเบิดเอาไว้เรื่อยๆ ซักวันมันก็ต้องระเบิดออกมา

ความเชื่อว่าเป็นโรคของคนรวย

          เนื่องจากสาเหตุของโรค NCDs มักเกี่ยวข้องกับการกินอยู่และวิถีชีวิต ส่วนใหญ่จึงเชื่อว่าโรคเหล่านี้ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน มักเป็นโรคของความอยู่ดีกินดี และมักเกิดขึ้นเฉพาะกับคนในสังคมเมือง หรือคนรวยเท่านั้น ซึ่งในควมเป็นจริง คนยากจนเสี่ยงต่อการเป็นโรค NCDs มากกว่าคนรวย เพราะมีพฤติกรรมสุขภาพที่เสี่ยงมากกว่า เช่น การสูบบุหรี่ และการดื่มสุรา เป็นต้น  ที่สำคัญเมื่อเป็นโรคแล้ว คนยากจนจะมีความสามารถในการดูแลรักษาสุขภาพที่น้อยกว่า จึงมักควบคุมอาการไม่ได้และเกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้มากกว่า

โรคที่มาจากการทำร้ายตัวเอง

          ผู้จัดการแผนงานเครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากโรค NCDs มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพต่างๆ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรา กินอาหารหวาน มัน เค็ม และการขาดการออกกำลังกาย ดังนั้น การจัดการวิกฤต โรค NCDs และปัจจัยเสี่ยงหลัก จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้อง ควรมีหน้าที่จัดการสิ่งแวดล้อมในสังคม ทั้งทางกายภาพและทางวัฒนธรรม เอื้อต่อพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพง่ายขึ้น เช่น การควบคุมการขายและการทำการตลาดของสินค้าทำลายสุขภาพ หรือสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น เป็นต้น

          แม้ว่ารูปแบบการดำเนินชีวิตที่เราเคยปฏิบัติกันมาจนเคยชิน จะสามารถทำให้เกิดโรคร้ายแรงได้มากมาย แต่วิธีป้องกันและลดความเสี่ยงก็ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตให้มีความสมดุล และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเท่านั้น

 

24 เม.ย. 57 เวลา 20:51 955 80
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...