รำลึก 24 ปี เหตุการณ์ "รถแก๊สระเบิดบนถนนเพชรบุรี" 24 กันยายน 2533

 

 

หลายคนคงจำเหตุการณ์รถแก๊สซึ่งแล่นลงมาจากทางด่วนเพื่อเข้าสู่ถนนเพชรบุรีพลิกคว่ำและเกิดการระเบิด ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ ในวันจันทร์ที่ 24 กันยายน 2533 เวลาประมาณ 22.00 น.

 

ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้น เกิดจากความประมาทของผู้ขับรถ และบริษัท สยามแก๊ส ซึ่งเป็นเจ้าของรถ และมีการดัดแปลงสภาพรถเพื่อนำมาบรรทุกแก๊ส LPG โดยผิดกฏหมาย

 

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อนายสุทัศน์ ฟักแคเล็ก คนขับรถบรรทุกแก๊สของบริษัท อุตสาหกรรมแก๊ส-สยาม จำกัด ได้พยายามขับลงจากทางด่วนเพชรบุรีตัดใหม่ด้วยความเร็วเพียงเพื่อที่จะข้ามผ่านให้พ้นไฟแดง แต่รถกลับเกิดอุบัติเหตุจนพลิกคว่ำไถลไปกับพื้นถนน ทำให้ถังบรรจุแก๊สขนาด 20,000 ลิตร จำนวน 2 ถัง หลุดออกจากตัวรถและปริแตก

 

แก๊สที่บรรจุอยู่ภายในพวยพุ่งออกมาทั่วทั้งถนน แล้วเมื่อไหลไปเจอกับประกายไฟก็เกิดระเบิดขึ้น เสียงดังสนั่นหวั่นไหวหลายครั้ง ลูกไฟพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าจนกลายเป็นสีแดงฉาน ทำให้บริเวณถนนเพชรบุรตัดใหม่และละแวกใกล้เคียงกลายเป็นทะเลเพลิงไปในพริบตา และลุกลามไปอย่างรวดเร็วจนเป็นวงกว้าง พร้อมกับครอกผู้คนที่อยู่ในรถยนต์บนถนนเส้นนั้น ทำให้หลายรายเสียชีวิตในทันที บางคนที่พอจะตั้งหลักได้ก็พากันวิ่งหนีเอาชีวิตรอดออกมาจากกองเพลิง แต่ส่วนมากอยู่ในสภาพบาดเจ็บสาหัส จากเปลวไฟทั้งสิ้น

 

จำได้ว่าในขณะนั้นได้นั่งชมภาพเหตการณ์ดังกล่าวผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์ ซึ่งได้ทำการติดตามข่าวและถ่ายถอดเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่เป็นเวลาหลายวัน ภาพถนนเพชรบุรีลุกโชนด้วยแสงไฟ ราวกับไฟนรกก็ไม่ปาน ภาพการช่วยเหลือ การหนีเอาตัวรอด การกู้สถานการณ์ รวมไปถึงการลำเลียงศพผู้เคราะห์ร้ายออกจากที่เกิดเหตุ ทั้งที่ติดอยู่ในรถ และที่ติดอยู่ในที่พักซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณนั้น

 

ภาพเจ้าหน้าที่เก็บกู้ศพแบกร่างไร้วิญญาณซึ่งส่วนใหญ่ดำเป็นตอตะโก และคาดบางคนแทบไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตนเองเสียชีวิตเนื่องมาจากเหตุใด ความรุนแรงและรวดเร็วของความเสียหายที่เกิดจากแก๊สระเบิดในครั้งนี้ กินอาณาบริเวณกว้างมากกว่าที่ใคร ๆ จะคาดไว้ สร้างความสลดใจให้กับผู้ที่ได้พบเหตุภาพเหตุการณ์ดังกล่าว

 

นอกจากความเสียหายที่เกิดกับทรัพย์สินแล้ว ความเสียหายที่ประเมินค่ามิได้ ได้เกิดขึ้นกับร่างกาย ชีวิต และจิตใจของผู้ที่ประสบเหตุ เพียงเพราะสาเหตุ "ความมักง่ายและประมาทเลินเล่อ" ของคนเพียงไม่กี่คน

 

 

จากการสืบค้นข้อมูลของผู้ที่เกียวข้องเกี่ยวกับกรณีนี้ ได้พบบทสัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ ๆ มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว ได้ให้สัมภาษณ์ไว้กับผู้สื่อข่าวของ www.manager.co.th เมื่อครั้งครบรอบ 17 ปีโศกนาฏกรรมดังกล่าว จึงขอนำมาประกอบเป็นกรณีศึกษา ณ โอกาสนี้

 

พ.ต.อ.ทนัย อภิชาติเสนีย์ ผกก.ฝอ.สลก.ตร. (พ.ศ. 2550) ซึ่งในขณะนั้น (ก.ย. พ.ศ. 2533) ดำรงตำแหน่งเป็น รอง สว.สส.สน.พญาไท รับผิดชอบพื้นที่เกิดเหตุ เล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้นเหมือนยังจำได้ขึ้นใจว่า ขณะเกิดเหตุกำลังพักผ่อนอยู่ที่แฟลตใกล้กับ สน.พญาไท น้องชายได้มาเรียกให้ดูข่าวทางโทรทัศน์ซึ่งรายงานเหตุการณ์น่าตกตะลึงที่เกิดขึ้น จึงรีบเดินทางมาที่ สน.พญาไท และพยายามขี่รถจักรยานยนต์สายตรวจเข้าไปยังจุดเกิดเหตุแต่ไม่สามารถเข้าไปได้เนื่องจากเพลิงยังคงโหมกระหน่ำอย่างรุนแรง จึงกลับมาประชุมพร้อมกับตำรวจในพื้นที่ ซึ่งตอนนั้นเป็นของกองกำกับการ 3 ประกอบด้วย สน.พญาไท, สน.ดินแดง, สน.ดุสิต, สน.สามเสน และสน.มักกะสัน โดยได้แบ่งงานกันออกไปรวบรวมรายชื่อผู้บาดเจ็บที่ส่งไปรักษายังโรงพยาบาลใกล้เคียง

 

“ผมได้รับมอบหมายให้ไปตรวจสอบที่โรงพยาบาลตำรวจ ผมไปถึงตอนประมาณตี 3 สถานการณ์ในโรงพยาบาลกำลังชุลมุนวุ่นวายเนื่องจากมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก แพทย์และพยาบาลต้องทำงานอย่างหนัก เราทำได้แค่เพียงรวบรวมรายชื่อและสอบปากคำผู้ที่ได้รับบาดเจ็บไม่มาก และผู้ที่ได้รับการรักษาแล้ว จากนั้นก็ไปที่สถาบันนิติเวชเพื่อไปดูศพ จำได้อย่างติดตาเพราะสภาพศพแต่ละศพถูกไฟเผาจนไหม้ตำเป็นตอตะโก ศพที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ก็จะถูกนำมาวางเรียงรายเต็มไปหมด ภาพที่เห็นแม้ว่าผมจะเป็นตำรวจและเคยเห็นศพมาก่อนก็ยังรู้สึกหดหู่ใจ” พ.ต.อ.ทนัย กล่าว

 

ในคืนนั้น...เจ้าหน้าที่กู้ภัยและหน่วยดับเพลิงต้องทำงานอย่างหนัก กว่าเพลิงจะสงบลงก็ใช้เวลาถึง 1 วันเต็มๆ หลังจากเพลิงสงบเมื่อเจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ก็ยังคงปรากฏภาพที่น่าโศกสลด เมื่อพบศพที่ถูกเผาทั้งเป็นติดอยู่กับรถโดยไม่ทันตั้งตัว อุบัติเหตุครั้งนี้คร่าชีวิตผู้คนไปทั้งสิ้น 59 ศพ บาดเจ็บอีก 89 ราย อาคารพาณิชย์และบ้านเรือนประชาชนในละแวกนั้นได้รับความเสียหาย ไปเกือบ 40 คูหา รวมไปถึงชุมชนแออัดอีก 100 หลังคาเรือน ส่วนนายสุทัศน์คนขับเสียชีวิตคาที่นั่ง แต่สิ่งที่ตอกย้ำความเจ็บช้ำของผู้ที่สูญเสียคือผลจากการตรวจพิสูจน์ที่พบว่าสาเหตุของโศกนาฏกรรมครั้งนั้นเกิดจากรถบรรทุกแก๊ส ไม่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด

 

พ.ต.อ.ทนัย เล่าถึงเหตุการณ์ในเช้าวันถัดมาว่า หลังจากที่ได้รวบรวมรายชื่อผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตแล้วจากโรงพยาบาลต่างๆ ตำรวจในทุก สน.ในพื้นที่ก็ได้นำรายชื่อมาส่งให้ตนพิมพ์ลงคอมพิวเตอร์ซึ่งสมัยนั้นตำรวจเพิ่งเริ่มมีการนำใช้ โปรแกรมที่มีก็ยังเป็นโปรแกรมแบบเก่าจึงไม่ค่อยมีใครใช้งานเป็น จึงต้องใช้เวลานานจนเกือบรุ่งเช้า จากนั้นได้นำไปติดไว้ที่บอร์ดหน้า สน. แล้วกลับมาพักผ่อนที่ห้อง แต่เพียงไม่นานสารวัตรใหญ่ก็ให้ลูกน้องมาตามให้ไปพิมพ์รายชื่อเพิ่ม เมื่อออกมาดูที่หน้า สน.ก็ตกใจกับภาพที่ปรากฏเพราะว่ามีประชาชนจำนวนมากมาออกันอยู่เต็มหน้า สน.จนมืดฟ้ามัวดิน เพราะประชาชนจากหลายที่ต่างมาดูรายชื่อญาติที่คิดว่าอาจจะอยู่ในที่เกิดเหตุ

 

พล.ต.ต.มณเฑียร ประทีปะวณิช ผบก.ประจำ สง.ผบ.ตร. เป็นอีกผู้หนึ่งซึ่งดำรงตำแหน่งสารวัตรใหญ่ สน.พญาไทในขณะนั้น กล่าวถึงการทำงานของตำรวจหลังเกิดเหตุการณ์รถแก๊สระเบิดว่า เมื่อเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามประสานทุกหน่วยงานเพื่อเข้าไปช่วยเหลือ แต่เนื่องจากเหตุรุนแรงมาก เหมือนพื้นที่ถูกระเบิดลงจึงกลายเป็นพื้นที่ปิด จึงทำให้การทำงานของตำรวจยากลำบาก การทำงานจึงเริ่มหลังจากเกิดเหตุไปแล้ว โดยได้เน้นที่งานสอบสวน พยายามที่จะย้ำให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุให้มากที่สุด โดยประสานงานกับเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานให้ทำงานอย่างเป็นระบบ เพราะท้ายที่สุดก็ต้องดำเนินคดีกับบริษัทที่รับผิดชอบให้ได้ โดยชี้ให้เห็นว่าเกิดจากความประมาทไม่ใช่อุบัติเหตุ

 

ในวันนี้...แม้ว่าโศกนาฏกรรมรถแก๊สระเบิดบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ จะผ่านมาจนครบ 17 ปีแล้ว แต่ความเจ็บปวดในครั้งนั้นก็ยังฝังใจทุกครั้งเมื่อมีข่าวคราวของรถแก๊สพลิกคว่ำ ซึ่งยังมีให้เห็นอยู่เสมอจนเกิดคำถามขึ้นในใจว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบได้เรียนรู้และแก้ไขอะไรบ้างจากเหตุกาณ์ที่เกิดขึ้น

 

“สิ่งที่ตำรวจได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ในลักษณะที่เกิดขึ้น เรื่องแรกคือด้านงานสอบสวน การรวบรวมหลักฐาน เพื่อใช้ให้เป็นประโยชน์ในการดำเนินคดี ส่วนที่เกิดขึ้นแล้วเราคงจะไปแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่การทำหน้าที่ของตำรวจอย่างเต็มที่ในครั้งนั้นเพื่อดำเนินคดีกับเจ้าของบริษัทแก๊สสยาม และกระแสสังคมที่เกิดขึ้น ส่งแรงผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการมาดูแลเข้มงวดยิ่งขึ้นแม้จะดูเหมือนวัวหายล้อมคอกก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนั้นนับเป็นบทเรียนสำคัญของคนไทยที่เราไม่คิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น แต่ในอนาคตต่อไปจะทำให้เราได้ตระหนักถึงภัยพิบัติในรูปแบบอื่นที่อาจจะเกิดตามมาซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เชื่อว่าในยามคับขันชาวไทยทุกคนจะออกมาช่วยเหลือกัน”พล.ต.ต.มณเฑียร กล่าว

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะถือว่าเป็นบนเรียนครั้งสำคัญสำหรับประเทศไทย แต่เมื่อวันเวลาเคลื่อนผ่านไป มาตรการการป้องกันต่างๆ อย่างเข้มงวดก็ถูกลืมเลือนที่จะนำมาปฏิบัติใช้ด้วย อันนำมาซึ่งโศกนาฏกรรมในรูปแบบอื่นที่ต่าง ๆ กันออกไป ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ไฟไหม้ โรงแรม รอยัลคลิฟบิช ที่พัทยา เหตุการณ์โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ถล่มา หรือจะต้องให้โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่เหล่านี้เกิดขึ้นต่อไป และต่อไป โดยที่เรามิได้ตระหนักถึงคุณค่าของความปลอดภัยใด ๆ จนกว่ามันจะมาอยู่ตรงหน้าคุณ !!!

 

ขอไว้อาลัยให้แก่เหยื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ และขอแสดงความเสียใจแก่บรรดาญาติผู้สูญเสีย ชีวิต ร่างกาย และจิตใจทุกท่าน โดยหวังว่าเหตุการณ์นี้จะช่วยเตือนใจให้คนไทยไม่ตั้งอยู่ในความประมาท

 

ขอบคุณค่ะ

ด้วยจิตคารวะ

 

สรุปข้อมูลต่าง ๆ จากเหตุการณ์ดังกล่าว

 (http://www.siamsafety.com)

ข้อมูลเฉพาะ

เจ้าของรถบรรทุก บริษัทแก๊สสยาม จำกัด สถานที่เกิดเหตุ ใกล้ทางด่วนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพมหานคร
วัน-เวลา วันที่ 24 กันยายน 2533 เวลา 22.00 น. ผลการเกิดอุบัติเหตุ ก๊าซ LPG รั่วไหลแล้วเกิดการระเบิดขึ้น มีผู้เสียชีวิต 89 ศพ บาดเจ็บ 67 ราย รถยนต์ไฟไหม้ประมาณ 40 คัน ตึกแถวไฟไหม้ 38 ห้อง

ข้อมูลทั่วไป

1. บริเวณที่เกิดเหตุ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ มีขนาดกว้าง 6 เลน ใกล้ทางลงของทางด่วนและใกล้กับทางรถไฟด้านข้างถนนมีตึกแถว 2 ชั้น ทั้ง 2 ฝั่ง มีห้องแถวรวมประมาณ 38 ห้อง

2. รถบรรทุกก๊าซ เป็นรถบรรทุก 6 ล้อ ไม่ได้รับอนุญาตจากกรมโยธาธิการ ใช้ถัง LPGมีลักษณะคล้ายแคปซูลยา ขนาดบรรจุ 2 ตัน จำนวน 2 ใบ ถังยึดกับรถโดยใช้แผ่นเหล็กคาดยึดไว้

3. ถัง LPG ทั้ง 2 ใบ ไม่มีวาล์วควบคุมการไหลเกิน (Excess Flow Value) โดยปกติจะบรรจุก๊าซ LPG เพียง 80 % ของปริมาตรบรรจุ

ลำดับเหตุการณ์และข้อสันนิษฐานการเกิดเหตุ

เวลาประมาณ 22.00 น. ของวันที่ 24 กันยายน 2533 รถบรรทุกก๊าซได้วิ่งขึ้นทางด่วนจากบางนามาลงทางด่วนที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ขณะลงจากทางด่วนเลี้ยวขวาเพื่อไปยังสะพานลอยอโศกที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ซึ่งเป็นทาง One way ให้รถวิ่งจากประตูน้ำไปยังสะพานลอยอโศก ได้ประมาณ 5 ช่องจราจร

โดยเฉพาะ 2 เลนซ้ายมือจะให้วิ่งผ่านตลอด เมื่อรถบรรทุกก๊าซวิงลงจากทางด่วนแล้วเลี้ยวขวาด้วยความเร็วสูง มาเจอรถที่วิ่งตัดหน้าจึงหักเลี้ยวซ้าย รถบรรทุกเสียหลักวิ่งตะแคงซ้ายสวนทิศทาง One way ถังแก๊ส LPG ที่อยู่บนรถจึงตกลงมา ก๊าซ LPG ที่อยู่ในถังทั้ง 2 รวมกันประมาณ 3200 Kg ซึ่งอยู่ในรูปของเหลว เมื่ออยู่ภายใต้ความดันจึงรั่ว ไหลออกมาแล้วแตกตัวกลายเป็นไอของ LPG ที่ความเข้มข้น 100 % (LPG แตกตัวกลายเป็นไอจะขยายตัวประมาณ 250 เท่า ) ประมาณ 1,440,000 ลิตร หรือ 1,440 ลูกบาศก์เมตร ก๊าซ LPG เหล่านี้จะหนักกว่าอากาศจึงไหลไปยังที่ต่ำกว่า

ขณะที่ไหลความเข้มข้นสูงเกินไปจึงไม่ลุกไหม้จนกระทั่ง LPG ที่ไหลค่อย ๆ เจือจาง จนอยู่ในช่วงความเข้มข้นสูงสุด (U.E.L) ขณะนั้นจะมีปริมาณ LPG ประมาณ 15,158 ลบ.เมตร ปกคลุมทั่วพื้นที่ เมื่อเกิดประกายไฟขึ้น ก็จะเกิดการลุกไหม้เป็น BLEVE หรือ Fire Ball ขึ้น ด้วยอุณหภูมิทีสูงทำให้คน และสิ่งต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง และโดยรอบ ได้รับความร้อนสูงทำให้คนเสียชีวิตทันที 54 ศพ บาดเจ็บสาหัส 102 คน ต่อมาเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 89 ศพ ตึกแถวฝั่งซ้ายและขวา จำนวน 38 ห้อง เกิดเพลิงไหม้เสียหาย

สาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ

1. รถบรรทุกก๊าซ LPG ที่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นรถที่ไม่ได้ออกแบบไว้สำหรับบรรทุกถังก๊าซ LPG จึงไม่ได้จัดเตรียมที่ยึดถังไว้เพียงพอ อีกทั้งรถอาจจะได้รับการตรวจสภาพไม่ดีพอ

2. ถังก๊าซ LPG ทั้ง 2 ถัง ไม่ได้เป็นถังที่ออกแบบไว้สำหรับติดตั้งไว้บนรถ แต่ออกแบบใว้ติดตั้งที่พื้น อีกทั้งไม่มีวาล์วควบคุมการไหลเกิน ดังนั้นเมื่อท่อที่ต่อจากถัง LPG ขาด ก๊าซภายในถังจึงรั่วไหลออกมาอย่างรวดเร็วทันทีทันใด

3. คนขับรถประมาท เนื่องจากรถบรรทุกก๊าซ LPG เป็นสารไวไฟ คนขับอาจไม่เกิดความตระหนักถึงผลที่เกิดขึ้นจึงขับรถด้วยความเร็ว จนกระทั่งรถพลิกคว่ำ

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...