"เริม" ติดแล้วเป็นจนตาย!

 

 

 

 "เริม" ติดแล้วเป็นจนตาย!

 

 

คนส่วนใหญ่คงเคยได้ยินโรคเริมกันมาบ้าง คนจำนวนไม่น้อยเคยเป็นโรคนี้บริเวณปากและส่วนต่างๆ ของร่างกาย โรคนี้ถือเป็นโรคติดต่อที่สามารถแพร่เชื้อได้ง่ายเพียงการสัมผัสเท่านั้น แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า ความจริงแล้ว เริมเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง!

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลได้ให้ความรู้ไว้ว่า เริมเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า herpes simplex virus (HSV) มี 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 โดยชนิดที่ 1 เมื่อติดเชื้อจะทำให้เกิดรอยโรคที่บริเวณปากและจมูก ส่วนชนิดที่ 2 จะเกิดรอยที่บริเวณด้านนอกของอวัยวะเพศ

เชื้อไวรัส HSV ดังกล่าว สามารถติดต่อกันได้โดยการสัมผัสและการมีเพศสัมพันธ์ แม้จะไม่ได้สอดใส่ก็ตาม รวมถึงการใช้อุปกรณ์เสริม หรือ SEX TOY ก็เป็นช่องทางเสี่ยงของการแพร่เชื้อเช่นกัน โดยที่การใส่ถุงยางอนามัยไม่สามารถป้องกันการแพร่เชื้อได้ทั้งหมด เพราะรอยของโรคอาจอยู่นอกบริเวณที่ถุงยางครอบคลุม หรือมือที่เคยสัมผัสกับอวัยวะเพศที่ติดเชื้อ ไม่เพียงเท่านั้น มารดาที่เป็นเริมอาจแพร่เชื้อให้กับบุตรในระหว่างที่คลอดบุตรผ่านช่องคลอดได้

ทั้งนี้เมื่อติดเชื้อเริม จะเกิดรอยถลอกของผิวหนังหรือเยื่อบุอ่อนบริเวณใกล้เคียงกับจุดสัมผัส มีระยะฟักตัวประมาณ 4-5 วัน การติดเชื้อในครั้งแรกจะแสดงอาการทั่วทั้งร่างกาย ได้แก่ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย แต่หลังจากติดเชื้อประมาณ 1-2 สัปดาห์ จะเริ่มมีรอยตุ่มใสขนาด 1-2 มม. ที่อวัยวะเพศ ไม่นานตุ่มเหล่านั้นจะแตก และจะรู้สึกเจ็บบริเวณแผลโดยเฉพาะเวลาที่ถ่ายปัสสาวะ รวมระยะเวลาที่มีอาการทั้งสิ้นประมาณ 2-4 สัปดาห์ และโรคนี้สามารถเป็นซ้ำอีกได้ โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดในจุดเดิมและหายภายใน 1 สัปดาห์

ส่วนลักษณะอาการของผู้ที่ติดเชื้อเริมในตอนแรกจะรู้สึกคันยิบ ๆ ที่อวัยวะเพศ แต่บางคนจะมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวเล็กน้อย ซึ่งอาการสามารถหายเองได้แต่ใช้เวลาสักระยะ ส่วนการเกิดโรคในครั้งต่อ ๆ ไปจะสัมพันธ์กับภูมิต้านทานที่อ่อนแอลง เช่น ช่วงก่อนมีประจำเดือน มีความเครียด อดนอนหรือการไม่สบายจากโรคอื่น

อย่างไรก็ตาม เมื่อติดเชื้อเริมแล้วจะไม่สามารถกำจัดออกไปได้ทั้งหมด ดังนั้นเป้าในการรักษาคือเพื่อรักษาอาการปวดและลดการเพิ่มจำนวนของไวรัส ซึ่งช่วง 5 วันแรกนับตั้งแต่แสดงอาการจะเป็นเวลาที่ดีที่สุดในการรักษา เพราะเป็นช่วงเวลาที่สามารถลดปริมาณไวรัสที่จะเข้าสู่ร่างกายได้.

ทีมเดลินิวส์ออนไลน์

13 เม.ย. 57 เวลา 09:28 12,236 3 60
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...