ครอบครัวข่าวเช้า ตายไม่รู้ตัว! เตือน 4 โรคร้ายซ่อนในลมร้อนที่คนไทยมองข้าม

ครอบครัวข่าวเช้า เตือนภัย 4 โรค จากแดด-ลมร้อน

รายการครอบครัวข่าวเช้า ช่อง3 รายงานว่า น.พ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สภาพอุณหภูมิของประเทศไทย นับวันยิ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลต่อสุขภาพ เสี่ยงเกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ง่าย เพราะอากาศร้อนจะทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น ที่มีผลกับการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด เมื่ออุณหภูมิในร่างกายสูงมากจนมีผลกระทบต่อระบบประสาท จะทำให้มีการเสียชีวิตจากอวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลว โรคที่เกิดจากอากาศร้อนที่พบบ่อยมี 4 โรค ได้แก่ โรคลมแดด หรือฮีทสโตรก โรคเพลียแดด โรคตะคริวแดด และผิวหนังไหม้แดด (Sun burn)

โรคที่อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต คือ โรคลมแดด แม้จะพบไม่ได้บ่อยในประเทศไทย แต่ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง เกิดได้กับทุกคนที่ถูกแดดจัด หรืออยู่ในที่ที่ร้อนจัดเป็นเวลานาน กำชับให้ทุกจังหวัดเร่งให้คำแนะนำความรู้ในการดูแลและป้องกันโรคลมแดดให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะ 4 กลุ่มพิเศษที่ต้องระมัดระวัง เนื่องจากอาจเสี่ยงเกิดโรคนี้ได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่น ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คนอ้วน และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง

นอกจากนี้ ยังพบได้ในผู้ที่ติดเหล้า นักกีฬา คนงาน เกษตรกร หรือทหาร ที่จะต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน มีรายงานข้อมูลในต่างประเทศ เช่น แถบยุโรป มีผู้เสียชีวิตจากอากาศที่ร้อนจัดปีละหลายพันราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ส่วนในประเทศไทย ข้อมูลในปี 2551 พบผู้ป่วยโรคลมแดด 80 ราย เสียชีวิต 4 ราย และในปี 2552 พบผู้ป่วยโรคลมแดด เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ด้วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 32 ราย

สัญญาณอาการของโรคลมแดดที่สังเกตได้ง่าย ได้แก่ ตัวร้อนจัดแต่ไม่มีเหงื่อ ผิวหนังแดง หัวใจเต้นเร็วและแรง มีอาการทางสมองเช่น เห็นภาพหลอน สับสน หงุดหงิด ชักหรือหมดสติ ภาวะนี้สามารถทำให้เกิดตับและไตวาย กล้ามเนื้อสลายตัว หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ น้ำท่วมปอด เกิดลิ่มเลือดอุดตันในกระแสเลือด และช็อกได้ ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน หากพบผู้ที่มีอาการที่กล่าวมา ให้รีบนำผู้ป่วยเข้าที่ร่มทันที รีบระบายความร้อนออกจากร่างกายให้ตัวเย็นลงโดยเร็ว เช่นการใช้ผ้าชุบน้ำธรรมดาหรือน้ำเย็นเช็ดตัว แช่ตัวในน้ำ ฉีดพรมน้ำแล้วเป่าด้วยลม ประคบน้ำแข็ง ถ้าไม่หมดสติให้จิบน้ำบ่อยๆ และส่งโรงพยาบาลทันที หรือโทร.แจ้งขอความช่วยเหลือที่เบอร์ 1669 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

 

ภาพประกอบจาก www.thinkstocks.com

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...