ทีมงานนักวิจัยจากไทย ลาว และสหราชอาณาจักร พบสัตว์พันธุ์ใหม่ 3 ชนิดของโลก

 เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ดร.พิพัฒน์ สร้อยสุข นักวิจัยประจำพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา สยามบรมราชกุมารี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เปิดเผยว่า ทีมนักวิจัยนานาชาติค้นพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดใหม่ของโลก 3 ชนิด ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของทีมงานนักวิจัยจากประเทศไทย ลาว และสหราชอาณาจักร 
 
 ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า โดยชนิดแรกคือ ค้างคาวจมูกหลอดบาลา (Bala Tube-nosed Bat) เป็นค้างคาวกินแมลง พบได้ในพื้นที่ป่าดิบชื้น และที่ราบต่ำบริเวณผืนป่าบาลา อ.แว้ง จ.นราธิวาส เพียงแห่งเดียวเท่านั้น มีลักษณะเด่นอยู่ที่ขนด้านหลังเป็นสีทอง ขนด้านท้องเป็นสีเทา ขนาดลำตัว 28-31 มิลลิเมตร และมีแง่ง ที่ฟันเขี้ยวบน ส่วนจมูกที่เป็นหลอดกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาในเชิงลึกว่ามีประโยชน์อย่างไรกันแน่
 
 นักวิจัย ม.อ. กล่าวต่อว่าชนิดที่ 2 คือ ซากฟอสซิลค้างคาวชนิดใหม่ที่มีชิวิตอยู่เมื่อปลายยุคไพลสโตซีน หรือเมื่อประมาณ 16,350 ปีที่ผ่านมา โดยทีมวิจัยค้นพบภายในถ้ำหินปูน ที่อ.สะเดา จ.สงขลา ตั้งชื่อว่าค้างคาวท้องสีน้ำตาลอาจารย์จุฑามาส (Chutamasžs Serotine) เพื่อเป็นกียรติให้แก่ รศ.ดร.จุฑามาส ศตสุข ผอ.พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา สยามบรมราชกุมารี คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. หัวหน้าทีมวิจัย โดยในเบื้องต้นพบว่าค้างคาวชนิดนี้เป็นค้างคาวขนาดเล็ก เช่นเดียวกับค้างคาวจมูกหลอดบาลา แต่ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปแล้ว
 
 ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า สุดท้ายคือ พญากระรอกบินลาว (Laotian Giant Flying Squirrel) เป็นพญากระรอกบินชนิดใหม่ของโลก ที่ค้นเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณแขวงบอลิคำไซ ตอนกลางของประเทศลาว หลังจากที่พญากระรอกบินชนิดแรกของสกุลนี้ ถูกค้นพบที่ประเทศอินเดีย เมื่อปีพ.ศ.2524 ขณะที่พญากระรอกบินลาวเป็นกระรอกบินขนาดใหญ่ มีความยาวจากหัวถึงหาง 107.5 เซนติเมตร หนัก 1.8 กิโลกรัม อาศัยอยู่ในป่าลึก หาพบได้ยากมาก
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...