กาลครั้งหนึ่งของพญามังกร

 

 

 

กาลครั้งหนึ่งของพญามังกร

 

 

 มังกรโคโมโดเพศเมียแลบลิ้นเพื่อตรวจจับความเปลี่ยนแปลงในอากาศบนเกาะรินจา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติโคโมโด ปลายลิ้นแต่ละแฉกจับโมเลกุลจากเหยื่อหรือซากเน่าเปื่อยแล้วส่งไปยังอวัยวะรับความรู้สึกในปาก ความเข้มข้นของโมเลกุลจะเป็นตัวกำหนดทิศทาง

 

 

มังกรโคโมโดเพศผู้ตัวเต็มวัยสองตัวบนเกาะโคโมโดช่วยกันทึ้งซากแพะ พวกมันแบ่งปันเหยื่อกันหากมีมากพอ แต่ต่อสู้แย่งชิงหากอาหารขาดแคลน ทว่าไม่ค่อยพบเห็นการบาดเจ็บรุนแรง มังกรโคโมโดไม่ต่างจากสัตว์พิษทั้งหลาย ตรงที่มีภูมิคุ้มกันพิษของพวกเดียวกัน

 

 

มังกรโคโมโดตัวเต็มวัยป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้หมู่บ้านโคโมโด การที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติและการกำหนดแนวถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าอย่างไม่ชัดเจน ทำให้การเผชิญหน้ากับมังกรเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่ ส่วนใหญ่จบลงโดยไม่มีเลือดตกยางออก

 

 

 กลิ่นอาหารดึงดูดมังกรโคโมโดวัยเยาว์มายังครัวของที่ทำการอุทยานแห่งชาติโคโมโด มันยอมล่าถอยไปหลังเจ้าหน้าที่งัดไม้แข็งข่มขู่ น้อยครั้งนักที่การเผชิญหน้านำไปสู่การบาดเจ็บ กระนั้นเจ้าหน้าที่ก็มักนำตัวผู้บุกรุกไปปล่อยที่อื่น แต่พวกมันก็หาทางกลับถิ่นเดิมได้เสมอ

 

 

 มังกรโคโมโดน้ำลายไหลย้อยตัวนี้เดินส่ายอาดๆบนเกาะรินจาในช่วงน้ำลง แม้น้ำลายของกิ้งก่าชนิดนี้จะเป็นพิษ แต่เหยื่อมักตายจากการถูกฉีกร่างให้ขาด หรือหากถูกกัดแล้วหนีรอดไปได้ ก็มักตายจากการติดเชื้อที่บาดแผล

 

 

โคโมโด มังกรในโลกแห่งความจริงมีชีวิตและชะตากรรมต่างจากมังกรในตำนานและจินตนาการอย่างไร

 


คลิ๊กเพื่อชมแผนที่ฉบับเต็ม

 

มังกรโคโมโด (Varanus komodoensis) ใช้ชีวิตเยี่ยงกิ้งก่าอย่างสมบูรณ์  ทั้งนอนอาบแดด ล่าเหยื่อและกินซากสัตว์ วางไข่และปกป้องไข่   พวกมันไม่เหลียวแลลูกหลังฟักเป็นตัว  โดยทั่วไปมังกรโคโมโดมีอายุขัยระหว่าง 30 – 50 ปี และใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตอาศัยตามลำพัง  ขณะที่ถิ่นกระจายพันธุ์ของพวกมันมีอยู่อย่างจำกัด โดยพบได้บนเกาะเพียงไม่กี่แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทั้งหมดล้วนเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเกาะอินโดนีเซีย

 

ในฐานะสัตว์นักล่ามือฉมัง มังกรโคโมโดสามารถวิ่งเร็วได้ถึง 19 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นช่วงสั้นๆ พวกมันซุ่มโจมตีเหยื่อและฉีกเนื้อส่วนที่อ่อนที่สุด เช่น ท้อง หรือกัดให้ขาขาด นอกจากนี้ มังกรยังพ่น “ไฟ” ได้สมชื่ออีกด้วย เพราะในปากมีน้ำลายพิษที่ทำให้เลือดไม่แข็งตัว  เหยื่อที่ถูกกัดจึงเสียเลือดอย่างรวดเร็ว  พวกที่บาดเจ็บและหนีรอดไปได้มักได้รับเชื้อโรคจากแอ่งน้ำ และลงเอยด้วยการติดเชื้อ ไม่ว่าทางใด จุดจบก็ดูเหมือนไม่อาจหลีกเลี่ยง

 

กิ้งก่าพวกนี้ยังกินซากด้วย พวกมันเป็นนักฉวยโอกาสที่สอดส่ายสายตาหาอาหารตลอดเวลา ไม่ว่าจะยังเป็นๆหรือตายแล้ว การหากินซากใช้พลังงานน้อยกว่าการล่า  และมังกรโคโมโดก็สามารถดมกลิ่นซากเน่าเปื่อยได้ไกลหลายกิโลเมตร กิ้งก่ายักษ์ยังไม่จู้จี้เลือกกิน พวกมันไม่กินทิ้งกินขว้าง และแทบไม่ปล่อยให้อะไรเสียของเลย

 

แม้นิสัยของมังกรโคโมโดออกจะน่าสะอิดสะเอียน แต่ก็ใช่ว่าชาวเกาะจะมีทีท่าหวาดกลัวหรือรังเกียจพวกมันเสมอไป

ที่หมู่บ้านโคโมโด ฉันปีนบันไดไม้หงิกๆงอๆขึ้นไปบนบ้านใต้ถุนสูงของผู้เฒ่าชื่อจาโจซึ่งเดาว่าตัวเองน่าจะอายุ 85 ปี คนนำทางของฉันบอกว่า ชายร่างเล็กผู้นี้เป็นหมอมังกร ซึ่งผู้เฒ่าก็ไม่ได้ปฏิเสธ ฉันถามแกว่าชาวบ้านรู้สึกกับมังกรและอันตรายที่พวกมันอาจก่อขึ้นอย่างไร “คนที่นี่เชื่อว่ามังกรเป็นบรรพบุรุษของเรา เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ครับ” ผู้เฒ่าจาโจตอบ และเล่าต่อว่า  สมัยก่อนเมื่อชาวเกาะฆ่ากวาง พวกเขาจะทิ้งเนื้อไว้ครึ่งหนึ่งเพื่อแบ่งปันให้ญาติมีเกล็ดของพวกเขา

 

จากนั้น ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป แม้จะไม่มีใครมีตัวเลขที่แน่ชัด แต่ดูเหมือนว่าประชากรมังกรโคโมโดจะลดลงอย่างต่อเนื่องตลอด 50 ปีที่ผ่านมา  รัฐบาลอินโดนีเซียออกกฎหมายคุ้มครอง เพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันจากนักอนุรักษ์ รวมทั้งความตระหนักถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับมังกรโคโมโด พอถึงปี 1980 ถิ่นอาศัยส่วนใหญ่ของมังกรโคโมโดได้กลายเป็นอุทยานแห่งชาติโคโมโด ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของเกาะโคโมโด เกาะรินจา และเกาะขนาดเล็กอีกหลายเกาะ ต่อมา เขตอนุรักษ์ธรรมชาติอีกสามแห่งก็เกิดขึ้นโดยสองในสามแห่งอยู่บนเกาะฟลอเรส

 

ภายในเขตอุทยานแห่งชาติโคโมโด มังกรได้รับการปกป้องจากการรุกรานของมนุษย์ ยิ่งไปกว่านั้น เหยื่อของพวกมันยังเป็นสิ่งต้องห้ามอีกด้วย การฆ่ากวางถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านจึงไม่สามารถแบ่งเนื้อให้มังกรได้อีกต่อไป

บางคนบอกว่านั่นทำให้มังกรขุ่นเคืองไม่น้อย

 

การโจมตีของมังกรโคโมโดไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่สองสามครั้งหลังเมื่อไม่นานมานี้กลายเป็นข่าวใหญ่  เมื่อปีที่แล้วมังกรโคโมโดตัวยาวร่วมสองเมตรหลุดเข้าไปในที่ทำการอุทยานแห่งชาติโคโมโดและกัดเจ้าหน้าที่สองนายบริเวณขาซ้าย ทั้งคู่ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลบนเกาะบาหลีและฟื้นตัวในเวลาต่อมา  อีกกรณีเป็นหญิงชราวัย 83 ปีที่สู้กับมังกรโคโมโดตัวยาวกว่าสองเมตรด้วยไม้กวาดทำเอง  และลูกเตะที่เข้าตรงจุด  มังกรกัดมือหญิงชราทำให้ต้องเย็บถึง 35 เข็ม

 

ความอยู่รอดของมังกรโคโมโดขึ้นอยู่กับเรื่องพื้นๆอย่างการบริหารจัดการที่ดินเป็นอย่างมาก บนเกาะฟลอเรสแม้จะมีเขตอนุรักษ์ธรรมชาติหลายแห่ง แต่ชาวบ้านยังคงจุดไฟเผาเพื่อเปิดพื้นที่ทำไร่และเลี้ยงสัตว์ ทำให้ถิ่นอาศัยของมังกรโคโมโดกระจัดกระจายเป็นหย่อมเล็กๆ นอกจากนี้ ชาวบ้านบางส่วนรวมทั้งสุนัขจรจัดยังล่ากวางและหมูที่มังกรโปรดปรานด้วย นักวิทยาศาสตร์ยังสงสัยว่า สุนัขจรเหล่านั้นอาจไล่ และกระทั่งฆ่ามังกรวัยเยาว์ที่ใช้ชีวิตขวบปีแรกบนยอดไม้ก่อนจะลงมายังพื้นดิน

 

หากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อภูมิประเทศ มังกรโคโมโดก็ไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น เกลาดีโอ โชฟี นักชีววิทยาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยฟลอเรนซ์ และทิม เจสซอป นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ผู้ทำการวิจัยเรื่องมังกรโคโมโดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อธิบายว่า ด้วยจำนวนประชากรน้อยกว่า 5,000 ตัวที่กระจัดกระจายอยู่บนเกาะไม่กี่แห่ง ทำให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมลดลง ส่งผลให้ขีดความสามารถในการปรับตัวของพวกมันมีจำกัด

 

โชฟีและเพื่อนร่วมงานกระตุ้นการทำงานของเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียอย่างให้เกียรติ และระดมการสนับสนุนเพื่ออนุรักษ์มังกรโคโมโด พวกเขาไม่เพียงพูดคุยกับชาวเกาะฟลอเรสว่า การสูญเสียถิ่นอาศัยและการลักลอบล่าสัตว์ที่เป็นเหยื่อของมังกรโคโมโดส่งผลร้ายต่อพวกมันอย่างไร แต่ยังหวังด้วยว่าจะสามารถเฝ้าติดตามพื้นที่คุ้มครองได้ดีขึ้นและให้การอบรมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเกี่ยวกับชีววิทยาของมังกรโคโมโด เพื่อที่บุคลากรเหล่านั้นจะสามารถให้ข้อมูลแก่นักวิทยาศาสตร์ได้ว่า เหล่ามังกรยังอยู่ดีมีสุขหรือไม่อย่างไร


คุณเป็นคนมีน้ำใจ ขอบคุณที่กด Like.ให้ครับ

5 ม.ค. 57 เวลา 10:47 5,253 80
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...