สงครามปูนิค ศึกชี้ชะตาแห่งสองจักรวรรดิ

ใน ยุคที่จักรวรรดิโรมัน ยังเป็นสาธารณรัฐนั้น ชาวโรมันต้องทำสงครามแย่งชิงดินแดนกับบรรดาชนชาติต่าง ๆ ที่อยู่รอบข้าง อย่างพวก อีทรัสกัน เซลต์  กรีก แต่ทุกครั้งชาวโรมันก็ได้รับชัยชนะ จนดูเหมือนกับว่าบรรดาเทพเจ้าจะเข้าข้างพวกเขา

อย่างไร ก็ดีในบรรดาศัตรูทั้งหลายของชาวโรมัน ก็ยังมีอยู่ชนชาติหนึ่งที่โรมไม่อาจพิชิตได้โดยง่าย และครั้งหนึ่งพวกเขาเกือบจะทำลายกรุงโรมลงเสียด้วยซ้ำไป ชนชาตินั้นก็คือ ชาวคาเธจ (Carthage)

ชาวคาเธจสืบเชื้อสายมาจากชาวฟินิเซีย (Phoenicians)  ซึ่ง เป็นชนชาติที่มีความเชี่ยวชาญในการค้าและเดินเรือของยุคโบราณ มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในเอเชียไมเนอร์ โดยอยู่ในบริเวณที่เป็นประเทศเลบานอนในปัจจุบัน พวกฟิเซียอยู่รวมแบบนครรัฐคล้ายกับชาวกรีก  ด้วยความชำนาญในการค้าและการเดินเรือทำให้ชาวฟินีเซียสามารถจัดตั้งนิคมการ ค้าในดินแดนชายฝั่งรอบเมดิเตอร์เรเนียน และคาเธจก็เป็นหนึ่งในนิคมการค้าของชาวฟินิเซียที่สร้างขึ้นเพื่อควบคุมเส้น ทางการค้าในชายฝั่งอาฟริกาเหนือ (ปัจจุบันอยู่ใน ประเทศตูนิเซีย)           

พวกฟินิเซียได้ทำให้ นครคาเธจเติบโตจนกลายเป็นนครการค้าที่สำคัญที่สุดของ อาฟริกาเหนือ  ต่อมาเมื่อนครรัฐต่าง ๆ ของฟินิเซียในเอเชียไมเนอร์ ถูกข้าศึกชาวเปอร์เซียและอัสสิเรียทำลายลง คาเธจจึงกลายเป็นนครรัฐเพียงแห่งเดียวของพวกฟินิเซียที่ยังคงอยู่  จนมาถึงในช่วงปีที่ 300 ก่อน ค.ศ. นั้น  อาณาจักรคาเธจก็มีกองทัพเรือที่เข้มแข็งที่สุดในเมดิเตอร์เรเนียน และขยายอาณาเขตครอบครองดินแดนเกือบทั้งหมดของชายฝั่งอาฟริกาเหนือ ตั้งแต่ภาคตะวันตกของลิเบียไปจนจรดช่องแคบยิบรอลต้า ข้ามมาถึงภาคใต้ของสเปน รวมทั้งเกาะซิซิลี คอร์สิก้า และ ซาดิเนียร์  ทั้งนี้ทำให้อาณาจักรคาเธจสามารถควบคุมเส้นทางการค้าสำคัญทั้งหมดของ เมดิเตอร์เรเนียนไว้ รวมทั้งยังครอบครองแหล่งแร่เงินและทองคำในสเปนไว้ด้วย

สำหรับสาธารณรัฐโรมัน นั้น หลังจากได้รับชัยชนะเหนือคาบสมุทรอิตาลี  ชาวโรมันก็วางแผนที่จะแผ่อำนาจสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อันเป็นเส้นทางการค้าสำคัญของโลกยุคนั้น ซึ่งในช่วงเวลานั้นเส้นทางการค้าสำคัญในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ถูกครอบครองโดยอาณาจักรคาเธจ ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งอาฟริกาเหนือ

เมื่อโรมพิชิตดินแดน ทางตอนใต้ของคาบสมุทรอิตาลีได้  ชาวโรมันก็ปรารถนาที่จะตั้งนิคมขึ้นในเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อส่งเสริมการค้า ทางทะเล และเห็นว่าดินแดนที่เหมาะสมที่สุดก็คือเกาะซิซิลี ทางใต้ของแหลมอิตาลี ทว่าขณะนั้นทางตะวันตกทั้งหมดของซิซิลีทางถูกครอบครองโดยพวกคาเธจอยู่ การแย่งชิงดินแดนซิซิลีของทั้งสองอาณาจักรดำเนินมาเรื่อย ๆ จนเมื่อ นครเมสสานา (Messana) ซึ่ง เป็นเมืองหนึ่งของซิซิลี ได้แข็งข้อต่อคาเธจ ทางโรมได้ถือโอกาสเข้าแทรกแซงให้การสนับสนุนเมสสานา ทำให้ความขัดแย้งของโรมและคาเธจมาถึงจุดแตกหัก และสงครามก็เริ่มขึ้น เนื่องจากชาวโรมันเรียกพวกคาเธจว่า ปูนิค (Punic หรือ Phoenic ตามชื่อเดิม) สงครามนี้จึงถูกเรียกว่า สงครามปูนิค (Punic war)

 

สงครามปูนิคครั้งที่1 (ปีที่ 264 – 241 ก่อน ค.ศ.)

เริ่มขึ้นในปีที่ 264 ก่อน ค.ศ. เมื่อกองทัพโรมันเข้าปิดล้อมดินแดนซิซิลี และช่วยเหลือนครเมสสานาทำศึกกับคาเธจ ในช่วงแรกโรมันเป็นฝ่ายเพี่ยงพล้ำต่อกองทัพเรืออันเกรียงไกรของคาเธจ กองทัพเรืออันเกรียงทว่าโรมันยังไม่ยอมแพ้ จากบทเรียนในช่วงต้นของสงคราม บอกให้พวกโรมัน รู้ว่า ถ้าจะเอาชนะคาเธจได้ ก็ต้องมีทัพเรือที่เข้มแข็งเท่านั้น โพลีบิอุส (Polybius) นักประวัติศาสตร์โรมันบันทึกไว้ว่า ในปีที่ 262 ก่อนคริสตกาล พวกโรมันใช้ซากเรือรบของคาเธจเป็นแบบต่อเรือรบของตนขึ้นพร้อมกับฝึกทหารให้ ชำนาญการรบทางน้ำและในระหว่างการรบ เมื่อเรือโรมันเทียบ กับเรือข้าศึกฝ่ายโรมันก็จะจรดไม้กระดานยาวทอดไปยังดาดฟ้าเรือคาเธจและส่ง ทหารราบข้ามไป ทำให้พวกโรมันสามารถทำการรบแบบบนบกซึ่งโรมันมีความชำนาญกว่าได้ และ ในปีที่260ก่อนคริสตกาล กองทัพโรมันก็สามารถเอาชนะทัพคาเธจได้ในการรบที่ ไมเล (Mylae) ต่อมาในปีที่ 256 ก่อนคริสตกาล กองทัพโรมันเข้ารุกรานอาฟริกา แต่พ่ายแพ้และต้องล่าถอยกลับมา และในปีที่254 ก่อนคริสตกาลทัพเรือโรมันก็พ่ายแพ้และเกือบจะถูกฝ่ายคาเธจทำลายลง แต่ต่อมาในปีที่ 247 ก่อนคริสตกาล ฝ่ายโรมันก็พลิกกลับมาเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะเหนือกองเรือคาเธจในการรบใกล้เกาะเอเกเตส  (Aegates)

จนถึงปีที่ 241 ก่อน ค.ศ. ทั้งสองฝ่ายต่างสูญเสียอย่างหนักจากสงคราม โดยเฉพาะโรมที่แม้จะได้รับชัยชนะในการรบหลายครั้ง แต่ก็สูญเสียเรือรบไปกว่า 2,500 ลำ และทหารอีกกว่า 200,000 คน อย่างไรก็ดีคาเธจเป็นฝ่ายที่เริ่มอ่อนกำลังลง ในที่สุดทั้งสองฝ่ายยอมทำสัญญาสงบศึก โดยคาเธจซึ่งกำลังเป็นฝ่ายเสียเปรียบ จะต้องแบ่งดินแดนซิซิลีและเสียค่าปฏิกรรมสงครามแก่โรมในราคายุติธรรมซึ่ง เป็นเงื่อนไขที่ยอมรับได้ แต่ทว่าในปีที่ 238 ก่อน ค.ศ. กองทหารรับจ้างในคาเธจก่อการจลาจลขึ้น ทางโรมฉวยโอกาสนี้ เคลื่อนทัพเข้ายึดครองเกาะคอร์สิก้าร์ และบีบให้คาเธจยอมทำข้อตกลงใหม่

ทางคาเธจซึ่งขณะนั้น ไม่พร้อมทำสงครามต้องจำยอมตามข้อเรียกร้องของโรม โดยการส่งมอบเกาะซิซิลี เกาะคอร์ซิก้าและเกาะซาร์ดิเนียร์ให้แก่โรม ทำให้คาเธจสูญเสียอำนาจควบคุมเส้นทางการค้าในเมดิเตอร์เรเนียนไปทั้งหมด การกระทำฉวยโอกาสที่เสมือนการเล่นไม่ซื่อของโรมครั้งนี้ สร้างความโกรธแค้นให้แก่ชาวคาเธจเป็นอย่างมาก  และจากรอยแค้นครั้งนี้เองที่นำไปสู่สงครามครั้งที่สอง ซึ่งเป็นครั้งที่ชี้ชะตาของสองอาณาจักร

(ทหารสาธารณรัฐโรมจับทหารคาร์เธจเป็นเชลย)

 

สงครามปูนิคครั้งที่ 2 (ปีที่218 – 201 ก่อน ค.ศ.)

ในสงครามครั้งนี้ได้ เกิดยอดขุนศึกฝ่ายคาเธจที่เกือบทำลายอาณาจักรโรมันลงได้ ขุนศึกผู้นั้นคือ ฮานนิบาล บาคาร์ แม่ทัพใหญ่ของคาเธจ  ทั้งนี้หลังจากความพ่ายแพ้ในสงครามปูนิคครั้งแรก  ฝ่ายคาเธจได้สร้างกำลังรบขึ้นใหม่ในดินแดนภาคใต้ของสเปนที่เมืองคาธาโกโนวา โดยแม่ทัพฮามิลคาร์ บาร์คา และฮัสดรูบาลบุตรเขย เพื่อรอเวลาล้างแค้นโรม แต่ในเวลาต่อมาทั้งคู่เสียชีวิตลงและฮานนิบาล (Hannibal) บุตร ชายของฮาร์มิลคาร์ขึ้น เป็นแม่ทัพใหญ่แทนและสานต่อเจตนารมย์ของบิดา ฮานนิบาลพยายามรวบรวมหัวเมืองต่างๆในอิตาลีเพื่อเป็นฐานกำลังในการทำศึก ขณะเดียวกันนครซาเกนตั้มซึ่งเป็นพันธมิตรของโรมในสเปน ได้พยายามขัดขวาง และชักชวนไม่ให้เมืองต่างๆเข้าร่วมกับคาเธจ ฮานนิบาลจึงนำทัพเข้าโจมตีนครซาเกนตั้มและตีได้ในปีที่ 219 ก่อน ค.ศ. เหตุการณ์นี้ทำให้ทางโรมโกรธมากและสั่งให้คาเธจส่งตัวฮานนิบาลไปยังโรม พร้อมกับถอนกำลังออกจากซาเกนตั้ม  คาเธจปฏิเสธและสงครามปูนิคครั้งที่สองก็เริ่มขึ้นในปีที่ 218 ก่อน ค.ศ.


(ทัพของฮันนิบาลกำลังข้ามเทือกเขาแอลป์)

โดยฮานนิบาลได้นำกองทัพอันประกอบด้วยทหารม้า 12,000 นาย ทหารราบ 70,000 นาย และช้างศึก 40 เชือก ออกจากที่มั่นในคาธาโกโนวา และเนื่องจากฝ่ายโรมันเชื่อว่ากองทัพคาเธจคงจะเข้าตีโรมโดยทางเรือ เหมือนกับสงครามครั้งก่อน  จึงได้เตรียมการป้องกันตลอดแนวชายฝั่งด้านใต้ของคาบสมุทรอิตาลี  ทว่าฮานนิบาลกลับทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดฝัน  โดยการเดินทัพข้ามเทือกเขาแอลป์โดยมีเป้าหมายเพื่อเข้าโจมตีภาคเหนือของ อิตาลี  แม้ว่าผลของการเดินทัพนี้จะทำให้ฮานนิบาลต้องสูญเสียทหารราบและทหารม้าไปถึง ครึ่งหนึ่ง แต่ก็ทำให้เขาสามารถเข้าถึงที่ราบอิตาลีได้โดยเร็วเกินกว่าที่ข้าศึกจะคาด หมาย   ทั้งนี้ นักประวัติาสตร์ได้ประมาณว่าในเวลานั้นอาณาจักรโรมันมีกำลังรบทั่วอาณาจักร ทั้งหมดเกือบ 800,000 นาย ทว่าแม้จะมีกำลังน้อยกว่าแต่ฮานนิบาลก็สามารถเอาชนะกองทัพโรมันได้ทุกครั้ง จนสามารถยึดครองอิตาลีภาคเหนือไว้ได้ หลังจากได้กองทัพหนุนจากชาวกอล ศัตรูเก่าของโรม ฮานนิบาลก็เคลื่อนสู่กรุงโรมและได้รับชัยชนะเหนือกองทัพโรมัน 200,000 คน ในการรบใหญ่ที่คานาเอ เมื่อปีที่ 216 ก่อน ค.ศ. สังหารทหารโรมันกว่า 70,000 นาย  กองทัพคาเธจยกมาถึงหน้ากรุงโรม แต่เนื่องจากฮานนิบาลเห็นว่าโรมแข็งแกร่งเกินกว่าจะเข้าตี เขาจึงทำเพียงเดินทัพเลียบกรุงโรมเพื่อเขย่าขวัญศัตรู ก่อนจะถอนกำลังออกไป  ในเวลานั้นสถานการณ์ของโรมเริ่มคับขัน บรรดานครพันธมิตรต่างๆของโรมพากันยอมจำนนกับคาเธจจนเกือบหมดสิ้น

อย่างไรก็ดีแม้ว่าจะได้ชัยชนะในการรบทุกครั้งแต่ฮานนิบาลก็มีกำลังน้อยลง อีกทั้งขาดกำลังสนับสนุน แม้ว่าจะได้พระเจ้าฟิลิปที่5 แห่งมาซิโดเนีย  มาเป็นพันธมิตรแต่ก็ยังไม่อาจเอาชนะโรมได้อย่างเด็ดขาด  ขณะที่ฝ่ายโรมแม้จะแพ้ศึก แต่ก็ยังมีทหารอีกมาก โรมได้ใช้วิธีรบแบบถ่วงเวลาเพื่อทำให้ฝ่ายคาเธจค่อยๆอ่อนกำลังลง ในเวลาต่อมา ฮันนิบาลได้ขอกำลังหนุนจากสเปน ทว่ากองทัพหนุนที่นำโดยฮัสดรูบาลน้องชายของเขา ถูกกองทัพโรมันที่นำโดย ปับลิอุส คอเนลิอุส สคิปิโอ (Publius Cornelius Scipio) ซุ่มโจมตีตายหมดทัพ ในปีที่ 207 ก่อน ค.ศ.

และในปีถัดมา สคิปิโอ ก็ได้ยกทัพขึ้นบกที่อาฟริกาเหนือเข้าโจมตีคาเธจ  ฮานนิบาลรีบกลับไปช่วย ทั้งสองฝ่ายปะทะกันที่ทุ่งราบซามาในอาฟริกาเหนือ เมื่อปี 202 ก่อน ค.ศ. ทว่าในครั้งนี้ฮานนิบาลเป็นฝ่ายแพ้ นครคาเธจยอมจำนน สำหรับฮานนิบาลผู้เป็นแม่ทัพนั้นในเวลาต่อมา ทางโรมได้มีคำสั่งให้คาเธจส่งตัวฮานนิบาลมาให้ แต่ทว่าฮานนิบาลได้หลบหนีไป ก่อนจะถูกล้อมจับและฆ่าตัวตายในภายหลัง ผลจากการพ่ายแพ้ ทางโรมได้บังคับให้คาเธจสละดินแดนทั้งหมดในสเปน อาฟริกาเหนือและเมดิเตอเรเนียน  ทั้งยังจำกัดจำนวนเรือรบคาเธจให้มีเพียง 10 ลำเท่านั้น พร้อมทั้งจ่ายค่าเสียหายจำนวนมหาศาล และต้องยินยอมให้โรมควบคุมนโยบายต่างประเทศทั้งหมด คาเธจรับเงื่อนไขทั้งหมดอย่างไม่มีทางเลือก สำหรับนครที่หันไปเข้าข้างฮานนิบาลระหว่างสงคราม ทางโรมได้ลงโทษอย่างรุนแรงและกดพลเมืองของนครเหล่านั้นลงเป็นทาสของโรม  แม่ทัพสคิปิโอได้รับฉายาว่า อาฟริกานุส (Africanus) หรือผู้พิชิตอาฟริกา และเป็นอันสิ้นสุดสงครามปูนิคครั้งที่2 พร้อมกับอำนาจของนครคาเธจทั้งหมดในเมดิเตอร์เรเนียนก็หมดลงในปีที่201 ก่อน ค.ศ.

 

สงครามปูนิคครั้งที่3 (ปีที่ 149 – 146 ก่อน ค.ศ.)

หลังการพ่ายแพ้ในสงครามปูนิคครั้งที่ 2 ผ่านพ้นไปราว 50 ปี แม้ว่าคาเธจจะต้องมีสภาพเป็นเมืองขึ้นของโรม  แต่ด้วยความสามารถทางการค้า นครคาเธจก็สามารถสร้างสมอำนาจการค้าและความมั่งคั่งได้อีกครั้ง ทำให้โรมต้องจับตามองอย่างไม่ไว้วางใจแม้ว่าคาเธจจะมิได้สร้างสมอำนาจทาง ทหารก็ตามด้วยว่าความเคียดแค้นที่คาเธจเกือบจะทำลายโรมลงในสงครามปูนิวครั้ง ที่2ยังฝังอยู่ในใจของชาวโรมจำนวนมาก โดย มาคุส คาโตผู้นำคนสำคัญของโรมมองว่าตราบใดที่คาเธจยังอยู่ อันตรายของโรมก็ยังไม่สิ้นไป

ทุกครั้งที่เขากล่าวสุนทรพจน์ คาโตได้กล่าวปลุกใจประชาชนโรมเสมอด้วยคำว่า “Carthago delenda est!” ซึ่งหมายถึง “คาเธจต้องถูกทำลาย”  และเมื่อความหวาดระแวงของโรมเพิ่มมากขึ้น โรมจึงตัดสินใจทำลายอำนาจการค้าของคาเธจลง ดังนั้นในปีที่149ก่อน ค.ศ. ทางโรมได้ยื่นคำขาดให้ชาวคาเธจอพยพออกจากดินแดนชายฝั่งของอาฟริกาเหนือและ ถอยร่นลึกไปในทวีป แน่นอนว่าชาวคาเธจซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพทำการค้าและมีเศรษฐกิจที่ขึ้นกับการ ค้าทางทะเล ไม่อาจรับเงื่อนไขนี้ได้ ทางสาธารณรัฐโรมจึงถือเป็นเหตุประกาศสงครามทันที

และในปีเดียวกันนั้น เอง กองทัพโรมันก็เข้าโจมตีคาเธจ หลังจากการปิดล้อมนานถึงสามปี ทัพโรมันก็เข้าเมืองได้ กองทัพโรมันได้รับคำสั่งให้เผาทำลายเมืองให้สิ้นซากไฟได้โหมไหม้นานถึงสิบ เจ็ดวัน พลเมืองจำนวนมากถูกสังหาร ส่วนพวกที่รอดชีวิตก็ถูกจับเป็นทาสจนหมดนอกจากนี้ทหารโรมันยังเอาเกลือไถและ หว่านทั่วนคร เพื่อมิให้พืชใดขึ้นได้ และออกคำสั่งห้ามสร้างเมืองขึ้นอีกในพื้นที่นี้ ในครั้งนั้นเล่ากันว่า สกิปิโอ เอมิลินุส แม่ทัพโรมันถึงกับร้องไห้เมื่อเห็นไฟไหม้เมืองด้วยคิดไปว่าถ้าเมืองใหญ่ อย่างโรมหาก ต้องถึงคราว ล่มสลายลงเมื่อใด ก็คงจะมีสภาพไม่แตกต่างไปจากคาเธจในยามนี้ และสงครามครั้งนี้เองก็เป็นอันปิดฉากมหานครคาเธจและประวัติศาสตร์ของชาวฟินิ เชี่ยนยอดนักเดินเรือลงโดยสิ้นเชิง

1 ม.ค. 57 เวลา 09:45 3,429
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...