6 เรื่องควรรู้วิธีดูฉลาก ไม่ตกเป็นเหยื่อ “ยาเถื่อน-เครื่องสำอางปลอม”

เห็นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกมาแถลงข่าวการจับกุมสินค้าผิดกฎหมายคราใด ก็ให้รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตแทบทุกครั้ง เพราะสินค้าผิดกฎหมายที่อยู่ในความดูแลของ อย.นั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของคนไทยเราแทบทั้งสิ้น ไล่ตั้งแต่อาหาร ยา เครื่องสำอาง ไปจนถึงเครื่องมือทางการแพทย์

ล่าสุด ก็เพิ่งมีข่าวบุกทลายโรงงานยาเถื่อนย่านสายไหม มูลค่ารวมราว 10 ล้านบาท พบว่า ไม่มีการขึ้นทะเบียนตำรับยาตามกฎหมาย รวมไปถึงจับกุมฝรั่งชาวเดนมาร์กนำเข้ายาฮอร์โมนเพิ่มกล้ามเนื้อ ที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยาเช่นกัน และเวย์โปรตีนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร และที่ผ่านๆ มา ก็มีทั้งเครื่องสำอางที่มีสารพิษอย่างพวก สารตะกั่ว สารไฮโดรควิโนน เป็นส่วนประกอบ รวมถึงไม่มีเครื่องหมาย อย.มีการสวมเลขทะเบียน เป็นต้น ซึ่ง อย.ก็ทำได้แค่ออกเตือนให้ระวังสินค้าเหล่านี้ ด้วยวิธีการดูฉลาก เพราะหากซื้อมาอุปโภคหรือบริโภคก็คงจะอันตรายมิใช่น้อย

แม้ อย.พยายามแนะนำให้ประชาชนดูฉลากผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะมีระบุถึงเครื่องหมาย อย.ข้อมูลต่างๆ ของสินค้าไปจนถึงผู้ผลิต เพื่อช่วยสกรีนเบื้องต้นว่าสินค้านั้นมีความน่าเชื่อถือหรือไม่อย่างไร ถึงกระนั้นก็ยังคงมีการสวมเลขทะเบียน หรือทำทะเบียนปลอมขึ้นมาหลอกลวง แล้วประชาชนจะรู้ได้อย่างไรว่าฉลากแบบไหนคือของจริง เพราะที่ผ่านมา อย.ก็แทบไม่เคยออกมาให้ข้อมูลในเรื่องดังกล่าว หรือมีแหล่งค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อเป็นความรู้ให้แก่ประชาชน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แม้ อย.จะสร้างแอปพลิเคชันให้ตรวจสอบเลขทะเบียนสินค้าได้ แต่ก็เป็นเพียงในส่วนของเครื่องสำอางเท่านั้น ดังนั้น การสร้างความรู้ติดอาวุธให้สมองด้วยตัวเราเอง ก็น่าจะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้เราไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของสินค้าอันตรายและหลอกลวงผู้บริโภคอีกต่อไป

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับฉลากผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในความดูแลของ อย.ก่อนว่า สินค้าเหล่านั้นมันมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร เพราะสมัยนี้ก็ไว้ใจไม่ได้ มีการเอาเครื่องหมาย อย.สำหรับอาหาร มาใส่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางก็มี ทั้งนี้ในคู่มือ “กินดี ใช้เป็น คนไทยไกลโรค” จัดทำโดย อย.ได้ให้ข้อมูลไว้ดังนี้


1.ฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร

หากได้รับอนุญาตจาก อย.แล้ว จะต้องแสดงเครื่องหมาย อย.บนฉลาก เรียกว่า “เลขสารบบอาหาร” ซึ่งจะมีตัวเลข 13 หลัก อยู่ในกรอบเครื่องหมาย อย.เช่นนี้ xx-x-xxxxx-x-xxxx ส่วนข้อความอื่นๆ ในฉลาก ได้แก่ ชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือแบ่งบรรจุ หรือสำนักงานใหญ่ของสถานที่ผลิตหรือแบ่งบรรจุ วันเดือนปีที่ผลิต และวันเดือนปีที่หมดอายุ น้ำหนักสุทธิ ส่วนประกอบที่สำคัญ เลขสารบบอาหาร คำเตือน คำแนะนำในการเก็บรักษา และวิธีปรุงเพื่อรับประทาน

แต่หากเป็นผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย อาหารทั่วไป เช่น กะปิ พริกไทย เครื่องปรุงรส เป็นต้น สถานที่ผลิตต้องผ่านหลักเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยไม่กำหนดให้ต้องขอเลขสารบบอาหาร แต่หากต้องการแสดงเครื่องหมาย อย.บนฉลาก ก็สามารถยื่นขอได้ ตามสมัครใจ

 



2.ฉลากผลิตภัณฑ์ยา

ผลิตภัณฑ์ยาทุกชนิดทั้งยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณ จะไม่มีเครื่องหมาย อย.แสดงบนฉลาก แต่จะแสดงเลขที่รหัสใยบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา หรือที่เรียกว่า “เลขทะเบียนตำรับยา” เช่น 1A12/35 G 99/55 โดยฉลากยาและเอกสารกำกับยาจะต้องแสดงรายละเอียดดังนี้ ชื่อยา เลขทะเบียนตำรับยา ชื่อและปริมาณ หรือความแรงของสารออกฤทธิ์ที่เป้นส่วนประกอบ (กรณียาแผนปัจจุบัน) เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตหรือวิเคราะห์ หรือ Lot. Number ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต นำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักร วันเดือนปีที่หมดอายุ เช่น Exp. หรือ Exp date หรือข้อความว่า “ยาสิ้นอายุ” แล้วตามด้วยวันเดือนปีที่หมดอายุ นอกจากนี้ ยังมี คำว่า “ยาอันตราย” “ยาควบคุมพิเศษ” “ยาใช้เฉพาะที่” “ยาใช้ภายนอก” ตามแต่กรณี คำว่า “ยาสามัญประจำบ้าน” “ยาแผนโบราณ” “ยาสำหรับสัตว์” ตามแต่กรณี วิธีใช้ และคำเตือน

ทั้งนี้ ตัวเลขที่นำหน้าตัวอักษรจะมีเฉพาะยาแผนปัจจุบันเท่านั้น มีความหมายดังนี้ เลข 1 หมายถึง ยาที่มีตัวยาสำคัญที่ออกฤทธิ์เพียงตัวเดียว เลข 2 หมายถึงยาที่มีตัวยาสำคัญออกฤทธิ์ตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป

ตัวอักษร A-F เป็นตัวอักษรสำหรับยาแผนปัจจุบัน มีความหมายดังนี้ A คือ ยามนุษย์ผลิตภายในประเทศ B คือ ยามนุษย์แบ่งบรรจุ C คือ ยามนุษย์น้ำหรือสั่งเข้า D คือ ยาสัตว์ผลิตภายในประเทศ E คือ ยาสัตว์แบ่งบรรจุ F คือ ยาสัตว์น้ำหรือสั่งเข้า ส่วนตัวอักษร G-N เป็นตัวอักษรสำหรับยาแผนโบราณ โดย G คือ ยามนุษย์ผลิตภายในประเทศ H คือ ยามนุษย์แบ่งบรรจุ K คือ ยามนุษย์น้ำหรือสั่งเข้า L คือ ยาสัตว์ผลิตภายในประเทศ M คือ ยาสัตว์แบ่งบรรจุ N คือ ยาสัตว์น้ำหรือสั่งเข้า

 



3.ฉลากผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทุกชนิดจะไม่มีเครื่องหมาย อย.แสดงบนฉลาก แต่จะต้องแสดงเลขที่ใบรับแจ้ง เป็นตัวเลข 10 หลัก เช่น 10-1-5512345 พร้อมทั้งฉลากภาษาไทยมีรายละเอียดดังนี้ ประเภทหรือชนิดของเครื่องสำอาง ชื่อการค้าและชื่อเครื่องสำอาง (ต้องมีขนาดใหญ่กว่าข้อความอื่น) ชื่อสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสม เรียงลำดับจากสารที่มีปริมาณมากไปสารที่มีปริมาณน้อย วิธีใช้ คำเตือน ชื่อ-ที่ตั้งของผู้ผลิต ปริมาณสุทธิ เลขที่แสดงครั้งที่ผลิตเครื่องสำอาง เดือน/ปีที่ผลิต เดือน/ปีที่หมดอายุ (กรณีมีอายุการใช้งานน้อยกว่า 30 เดือน) และเลขที่ใบรับแจ้ง

 



4.ฉลากเครื่องมือแพทย์

เครื่องมือแพทย์ มี 3 ประเภท มีการแสดงเครื่องหมาย อย.ที่แตกต่างกัน

-เครื่องมือแพทย์ที่ต้องมีใบอนุญาต ได้แก่ ถุงยางอนามัย ถุงมือสำหรับศัลยกรรม ชุดตรวจที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอชไอวี คอนแทกต์เลนส์ เป็นเครื่องมือแพทย์ที่ต้องแสดงข้อความบนฉลากเป็นภาษาไทย เช่น ชื่อเครื่องมือแพทย์ ชื่อและสถานที่ตั้งของผู้ผลิต ปริมาณที่บรรจุ เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต เลขที่ใบอนุญาตหรือเลขที่ใบรับแจ้งรายละเอียด ข้อบ่งใช้ วิธีการใช้ และวิธีการเก็บรักษา ให้แสดงข้อความว่า “ใช้ได้ครั้งเดียว” คำเตือนและข้อควรระวัง อายุการใช้งาน และเครื่องหมาย อย.บนฉลาก โดยตัวอย่างเครื่องหมายจะมีข้อความ ผ 999/2550 ในเครื่องหมาย อย ซึ่งหมายถึงผลิต หรือ น 999/2550 ในเครื่องหมาย อย หมายถึงนำเข้า

-เครื่องมือแพทย์ที่ต้องแจ้งรายการละเอียด ได้แก่ เครื่องใช้หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่อกายภาพบำบัด เครื่องตรวจวัดระดับหรือปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกาย เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย เป็นต้น เป็นเครื่องมือแพทย์ที่ต้องแสดงฉลากเหมือนกัน แต่ไม่ต้องแสดงเครื่องหมาย อย.ให้แสดงเลขที่ใบรับแจ้งบนฉลาก

-เครื่องมือแพทย์ทั่วไป ได้แก่ เตียงผ่าตัด เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด เครื่องตรวจวัดความดันโลหิต เป็นเครื่องมือแพทย์ที่ไม่มีการบังคับให้แสดงฉลากภาษาไทย และไม่ต้องแสดงเครื่องหมาย อย.หรือเลขที่รับแจ้งบนฉลาก

 



5.ฉลากผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน

ผลิตภัณฑ์นี้จะมีการแสดงฉลาก 3 แบบ โดย วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน ที่ฉลากต้องมีเลขทะเบียนในกรอบเครื่องหมาย อย. เช่น วอส.999/2550 เช่น ผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัด/ไล่แมลง ผลิตภัณฑ์กำจัดหนู ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้นผิวประเภท กรด-ด่าง ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่ใช้ในบ้านเรือน ผลิตภัณฑ์ลบคำผิด เป็นต้น

ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องมีเครื่องหมาย อย.แต่ต้องมีเลขที่รับแจ้งข้อเท็จจริง ตัวอย่าง 999/2550 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ล้างจาน ผลิตภัณฑ์ซักผ้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น ฝาผนัง เครื่องสุขภัณฑ์และวัสดุต่างๆ ที่มีเฉพาะสารลดแรงตึงผิวบางชนิดเป็นสารสำคัญ ผลิตภัณฑ์ประเภทคลอรีนที่ใช้ในการฆ่าเชื้อโรคหรือกำจัดกลิ่นในสระว่ายน้ำ เป็นต้น

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องแสดงเครื่องหมาย อย.ได้แก่ ก้อนดับกลิ่น/ลูกเหม็น

 



และ 6.ตรวจผ่านแอปพลิเคชัน Oryor Smart Application

แอปพลิเคชันนี้มีประโยชน์ต่อผู้บริโภค เพราะสามารถเข้ามาเช็กข้อมูลได้ว่า ผลิตภัณฑ์ใดบ้างที่ขึ้นทะเบียนรับรองจาก อย.หรือผลิตภัณฑ์ใดปลอมเลขทะเบียน โดยการคีย์ตัวเลขสารบบว่า ถูกต้องกับระบบของ อย.หรือไม่ ก็จะทราบทันที โดย นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย.กล่าวว่า อย.เตรียมพัฒนาแอปพลิเคชันเวอร์ชัน 2 เพื่อเพิ่มศักยภาพให้มากขึ้น ซึ่งเวอร์ชันแรกจะเน้นตรวจสอบเลขที่ใบรับแจ้งกลุ่มเครื่องสำอางเป็นหลัก แต่เวอร์ชัน 2 จะครอบคลุมทั้งเลขทะเบียนตำรับยา เลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย เป็นต้น เป็นการเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนในการตรวจสอบข้อมูลมากขึ้น เพราะปัจจุบันสินค้าแม้จะมีเลข อย.แต่ก็อาจเป้นการสวมทะเบียนหรือเป็นเลขปลอมก็ได้ จึงต้องมีช่องทางในการตรวจสอบให้รับรู้ ซึ่งแอปพลิเคชันดังกล่าวสามารถตรวจเช็กข้อมูลได้รวดเร็ว ตลอด 24 ชั่วโมง

แหล่งที่มา :

ผู้จัดการออนไลน์


กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...