เงือก หรือ นางเงือก

เงือก หรือ นางเงือก

เงือก หรือ นางเงือก เป็นความเชื่อในนิยายปรัมปราเกี่ยวกับน้ำ โดยเป็นจินตนาการเกี่ยวกับสัตว์น้ำ โดยมากจะเล่ากันว่าเงือกนั้นเป็นสัตว์ครึ่งมนุษย์ มีส่วนครึ่งท่อนบนเป็นคน ส่วนครึ่งท่อนล่างเป็นปลา ในหลายประเทศทั่วโลก มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนานเงือกมากมาย ความเชื่อในเรื่องดังกล่าว บางคนเสนอว่า บางทีอาจเป็นเพราะผู้คนในสมัยโบราณเข้าใจผิด คิดว่า พะยูน คือเงือกก็เป็นได้ 


เงือกคืออะไร?

"เงือก" ในภาษาอังกฤษเธอชื่อ mermaid แปลว่าหญิงสาวแห่งท้องทะเล เป็นสิ่งมีชีวิตเพียงในตำนาน ร่างกายครึ่งบนเป็นหญิงสาวครึ่งล่างเป็นปลา ส่วนพวกพ้องเธอที่เป็นชาย เรียก เมอร์แมน - merman ตำนานว่าเป็นเผ่าพันธุ์อมนุษย์สะเทินน้ำสะเทินบก อาจมีถิ่นกำเนิดบนฝั่งบริตานี และว่ายข้ามช่องแคบอังกฤษไปยังคอร์นวอลล์ เป็นที่มาของชื่อ เมอร์เมด-เมอร์แมน อันเป็นคำผสมแองโกล-ฝรั่งเศส

และจากคอร์นวอลล์เงือกก็แพร่พันธุ์ไปจนถึงฝั่งตะวันตกของเกาะอังกฤษ ไปถึงรอบๆ สกอตแลนด์ตอนเหนือ สู่สแกนดิเนเวีย นอกจากนั้น ยังอาจพบเห็นเงือกในจุดต่างๆ ตลอดแนวฝั่งยุโรปด้วย อาจเป็นเพราะเงือกชอบอากาศเย็นและแนวฝั่งแอตแลนติกของอังกฤษกับไอร์แลนด์ โดยที่ไอริชแห่งไอร์แลนด์เรียกเงือกว่า เมอร์โรว์ และ เมอรูชา 


ตำนานเกี่ยวกับเงือก

มีตำนานมากมายเล่าถึงกำเนิดเงือกแตกต่างเป็นหลากหลายเวอร์ชั่น เช่น 

ตำนานจากนิทานพื้นบ้านโรมัน

นิทานพื้นบ้านโรมันบอกว่าเศษไม้จากซากเรือรบที่ถูกเผาวอดในสงครามกรุงทรอย กลายสภาพเป็นเลือดเนื้อและเกิดเป็นสิ่งมีชีวิตคือเงือก ด้านชาวไอริชบอกว่าเงือกคือผู้หญิงนอกศาสนาที่ถูกเนรเทศออกไปจากแผ่นดิน ขณะที่อีกบางท้องถิ่นว่าเงือกคือลูกๆ ของฟาโรห์ที่จมน้ำในทะเลแดง 


ตำนานจากเทพปกรณัมของกรีก

เทพปกรณัมของกรีกเล่าว่า ต้นตระกูลเงือกคือ ไตรตอน โอรส โพเซดอน เทพแห่งท้องทะเล กับพรายน้ำสาว ไตรตอนมีหางเป็นปลา ไว้หนวดเครายาว ทรงอำนาจในท้องทะเลเหมือนพ่อ อาศัยอยู่ในปราสาททองคำที่ซ่อนตัวอยู่ก้นทะเล มีตรีศูล (ฉมวกสามง่าม) เป็นอาวุธ และมีแตรหอยสังข์เป่าควบคุมทะเลให้สงบหรือบ้าคลั่ง ไตรตอนจึงมีสมญาหนึ่งว่า นักเป่าแตรแห่งท้องทะเล

อีกเรื่องกล่าวว่าเงือกมาจาก โอนเนส เทพแห่งทะเลของบาบิโลน มีพลังอำนาจต่อดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ร่างกายเป็นมนุษย์ ศีรษะเป็นปลา ปรากฏกายขึ้นจากทะเลในยามเช้าและกลับลงทะเลตอนพลบค่ำ ต่อมา เทพอียา ครึ่งคนครึ่งปลาเหมือนกัน ได้เข้ามามีบทบาทแทนที่โอนเนส ที่สุดก็เชื่อกันว่าอียาเป็นบรรพบุรุษเงือก เช่นเดียวกับอาทาร์การ์ติส ที่มีลักษณะครึ่งคนครึ่งปลาเช่นกัน เหตุที่เทพเจ้าบาบิโลนมีลักษณะดังกล่าว เพราะเชื่อว่าเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในแต่ละวันดวงอาทิตย์และดวงจันทร์จะกลับลงทะเล เทพของอาทิตย์และจันทร์จึงควรมีรูปลักษณะที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ทั้งในน้ำและบนบก

นิยายปรัมปราอีกเรื่องพูดถึงเงือกแนวดุดัน ว่าเป็นลูกหลานของมนุษย์คนหนึ่งที่ถูกเทพแห่งท้องทะเลสาปเอาไว้เนื่องจากได้ล่วงเกินท่าน จากนั้นมาเขาได้กลายเป็นครึ่งคนครึ่งปลา ต้องดื่มเลือดหรือกินเนื้อสดๆ ทุกวัน มีผิวสีเทา ซีด คล้ำ คล้ายกับศพที่ไร้เลือด มีฟันอันคมกริบหากแต่จำแลงไว้ ครึ่งท่อนล่างเป็นปลาเกล็ดสีน้ำตาลคล้ำ ส่วนเกล็ดส่วนหางสามารถเปลี่ยนสีตามอารมณ์ได้ 


ตำนานเงือกทางอัสซีเรีย

ตำนานเงือกทางอัสซีเรียก็มี เล่าว่าเทพธิดาเซมิรามิสรักกับหนุ่มเลี้ยงแกะ และได้ทำให้เขาตาย ด้วยความละอายเธอได้กระโดดลงทะเลสาบไป แต่เพราะเทวภาพทำให้ไม่จมน้ำ เธอจึงแปลงร่างให้ครึ่งล่างเป็นปลาจนเป็นเงือก สำหรับเงือกที่เป็นนิทาน เล่าเรื่องอย่างเป็นระบบในหนังสือ เงือกน้อย และเรื่องอื่นๆ ของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เสน เป็นที่ชื่นชอบทั่วโลกถึงวันนี้กว่า 200 ปีแล้ว


ตำนานเงือกของญี่ปุ่น

ในประเทศญี่ปุ่น มีความเชื่อเกี่ยวกับเงือกมากมายเช่นเดียวกัน โดยความเชื่อหลักเกี่ยวกับการกินเนื้อเงือก คือ เมื่อในอดีต มีสาวนางนึงได้ช่วยนางเงือกเอาไว้ที่ชายหาด นางเงือกทราบซึ่งบุญคุณของสาวนางนั้น จึงให้กินเนื้อเงือกเป็นการตอบแทน แต่ทว่า อาพรรณของเนื้อเงือก จะทำให้ผู้ที่กินเข้าไปไม่แก่ไม่ตาย สาวนางนั้นมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีวันแก่ตาย แล้วเห็นคนรอบข้างตายไปทีล่ะคนจนทนไม่ได้ จึงบวชเป็นชี ชื่อ แม่ชีเบคุนิ 


ตำนานเงือกของไทย

เงือกในประเทศไทย ถูกกล่าวขานมาตั้งแต่สมัยอดีต ผ่านเรื่องราวต่างๆ มากมาย แต่ที่เห็นว่าจะเป็นเงือกที่ได้รับความนิยม และกล่าวขวัญกันมากที่สุดนั้นคือ เงือกในวรรณคดีของ สุนทรภู่ เรื่อง พระอภัยมณี ที่นางเงือก (เงือกสาว) และเงือกตายาย ช่วยพาพระอภัยมณีหนีจาก ผีเสื้อสมุทรได้จนสำเร็จ และนางเงือกได้เป็นชายาของพระอภัยมณี จนมีโอรสด้วยกัน 1 องค์ ชื่อว่า สุดสาคร

ในภาษาไทยโบราณ รวมทั้งในวรรณคดีสมัยอยุธยา ถึงรัตนโกสินทร์ มีคำว่า เงือก มาแล้ว แต่มีความหมายแตกต่างกันไป พอจะสรุปได้ดังนี้

งู : คำว่าเงือกในภาษาไทยโบราณ และภาษาตระกูลไตบางถิ่นนั้น มักจะหมายถึง งู ดังปรากฏในลิลิตโองการแช่งน้ำ ที่ว่า "ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก เอาเงือกเกี้ยวข้าง อ้างทัดจันทร์เป็นปิ่น" นั่นคือ เอางูมาพันรอบกาย, "เสียงเงือกงูว้าง ขึ้นลง" หมายถึง เสียงงู เหล่านี้เป็นภาษาเก่าที่ไม่ปรากฏแล้วในปัจจุบัน

สัตว์ร้าย จำพวกผี หรือปิศาจ : ปรากฏในลิลิตพระลอ วรรณกรรมสมัยอยุธยาเช่นกัน

สัตว์ครึ่งคนครึ่งปลา : เชื่อกันว่าเงือกในลักษณะนี้ปรากฏครั้งแรกในวรรณคดีพระอภัยมณีดังกล่าวมาข้างต้น แต่อาจมีค้นเค้าจากเรื่องอื่นก็เป็นได้

มังกร : คนไทบ้างกลุ่มในประเทศจีนและเวียดนาม จะเรียกมังกรว่า "เงือก" เช่น ไทปายี ไทเมือง และกะเบียว ในเวียดนาม

11 ต.ค. 56 เวลา 01:36 9,185 1 50
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...