70 หมอลำ ร่วมแบน แกรมมี่ ชี้เก็บค่าลิขสิทธิ์โหด ปีละ 2.5 แสน


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก ระเบียบวาทะศิลป์ 

         กลุ่มศิลปินหมอลำ กว่า 70 คณะ พร้อมใจเลิกใช้เพลงแกรมมี่และงดให้ศิลปินขึ้นเวที หลังเจอเรียกค่าลิขสิทธิ์ปีละ 250,000 บาทต่อคณะ แกรมมี่ชี้เป็นค่าวิชา - อาร์สยาม ยันไม่เรียกเก็บเงิน

          เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (5 ตุลาคม 2556) ณ ห้องประชุมวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น อ.เมือง จ.ขอนแก่น กลุ่มศิลปินหมอลำ หมอแคน ในภาคอีสานและภาคกลาง กว่า 70 คณะ นัดรวมตัวกันประชุมหารือถึงทางออกของการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่เรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ กรณีคณะหมอลำหรือศิลปินในคณะนำผลงานเพลงในค่ายไปร้องแสดงในที่สาธารณะ โดยคณะหมอลำที่เข้าร่วมการประชุม มีทั้งคณะใหญ่ที่ออกแสดงมาแล้วทั่วประเทศ และคณะเล็กที่แสดงในระดับท้องถิ่น อาทิ คณะระเบียบวาทะศิลป์ และ ราตรี ศรีวิไล

          ทั้งนี้ กลุ่มศิลปินหมอลำภาคอีสาน ได้เรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมาย ลิขสิทธิ์ พิจารณาทบทวนการจัดเก็บรายได้ของบริษัทเจ้าของค่ายเพลงที่ศิลปินวงหมอลำนำมาแสดงในงานต่าง ๆ เนื่องจากรายได้ที่รับจากเจ้าภาพว่าจ้างให้ไปแสดงนั้นไม่มากนัก บางครั้งขาดทุนแต่ก็ต้องไปแสดงด้วยความเป็นศิลปิน ซึ่งหากค่ายเพลงเรียกเก็บจำนวนสูง ๆ เช่นปัจจุบัน กลุ่มศิลปินหมอลำอีสานคงไม่สามารถจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ค่ายเพลงได้ และในอนาคตก็ไม่รู้จะรักษามรดกอีสานให้คงอยู่ต่อไปได้อย่างไร

          ทาง ดร.ประมวล เสติ นักวิจัยศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น เผยว่า การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ของค่ายเพลงใหญ่ มีการจัดเก็บในอัตราที่สูงมาก เริ่มจากบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่กำหนดค่าจัดเก็บในอัตรา 20 เพลง 250,000 บาทต่อปี กับคณะหมอลำทุกคณะที่นำผลงานเพลงของนักร้องในค่ายไปเล่นบนเวที ซึ่งถือเป็นอัตราจัดเก็บที่สูงมาก โดยจุดที่ศิลปินหมอลำกังวลคือ เมื่อแกรมมี่จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์แล้ว ค่ายเพลงอื่น ๆ ก็ย่อมต้องเรียกเก็บเช่นกัน แล้วคณะหมอลำคณะเล็ก ๆ ในท้องถิ่นซึ่งมีรายได้จากการแสดงน้อยอยู่แล้ว จะหาเงินจากไหนมาจ่ายให้กับค่ายเพลงเหล่านี้ได้ 

           ทั้งนี้ ค่ายเพลงเริ่มจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา หากวงหมอลำคณะไหนไม่ยอมจ่ายค่าลิขสิทธิ์ ก็จะต้องถูกปรับเป็นเงินจำนวนมาก พร้อมเผยว่า ค่ายเพลงใหญ่ได้จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ลงลึกไปถึงการเปิดเพลงในงานประเพณีต่าง ๆ ในท้องถิ่น เช่น งานบวช งานแต่งงาน ซึ่งเจ้าภาพที่จัดงานก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องถูกเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงด้วย

           โดย ดร.ประมวล กล่าวต่อว่า ในขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง มีคณะหมอลำขนาดต่าง ๆ รวมกว่า 70 คณะ โดยวงใหญ่มีประมาณ 5-6 วง ซึ่งต่างได้รับความเดือดร้อนจากการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ของค่ายแกรมมี่ จึงต้องมาหารือถึงทางออกกันในวันนี้ และได้เชิญศิลปินในพื้นที่ภาคกลางมาร่วมหารือด้วย สำหรับข้อสรุปของศิลปินวงดนตรีเครื่องเสียงภาคกลางมีความชัดเจนไปก่อนหน้านี้แล้ว คือ 1. ไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ 2. ไม่เล่นผลงานของค่ายแกรมมี่ และ 3. ไม่จ้างศิลปินค่ายแกรมมี่ขึ้นเวทีในพื้นที่ภาคกลาง 

            สำหรับผลการหารือในที่ประชุมคณะหมอลำในภาคอีสาน ก็มีมติร่วมกันเหมือนข้อตกลงของกลุ่มวงดนตรีเครื่องเสียงภาคกลาง คือ ต่อไปนี้จะไม่เล่นเพลงของนักร้องค่ายแกรมมี่ จะไม่ให้นักร้องค่ายแกรมมี่ขึ้นเวที และจะไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับค่ายแกรมมี่อย่างเด็ดขาด

            ด้าน นายศุภชัย นิลวรรณ กรรมการผู้จัดการ ค่ายอาร์สยาม เครืออาร์เอส เผยว่า ทางบริษัทจะไม่เก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงกับวงดนตรีอย่างหมอลำ หรือวิทยุชุมชนในต่างจังหวัด แต่จะเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงกับสถานบันเทิง เช่น ผับ เธค และสถานีวิทยุในกรุงเทพฯ ที่เป็นคลื่นหลักเท่านั้น

            ขณะที่ นายกษม อดิศัยปัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจเพลง บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้กล่าวชี้แจงถึงการเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงของทางบริษัทว่า เพลงแต่ละเพลงที่เกิดขึ้น มาจากมันสมองผู้สร้างสรรค์ หากนำไปทำให้เกิดการค้า เจ้าของสิทธิ์ก็ต้องได้ผลประโยชน์ด้วย ซึ่งทางแกรมมี่ก็ได้ตกลงกับนักร้องว่า ถ้านำเพลงไปร้องก็ต้องแบ่งจ่ายให้กับผู้สร้างสรรค์งานเพลงด้วย ดังนั้น ถ้าบุคคลอื่น ๆ จะนำเพลงไปใช้ในทางการค้าก็ต้องถูกเก็บค่าลิขสิทธิ์เช่นกัน 

             ส่วนเรื่องอัตราการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์คือ 0.5% ของค่าจ้างวง/ครั้ง/เพลง ถ้ามีการใช้เป็นประจำก็จะมีส่วนลดอีก หรือเหมาก็แล้วแต่ราย ซึ่งแต่ละวงจะจ่ายไม่เท่ากัน วงที่มีอัตราค่าจ้างน้อยก็เสียค่าลิขสิทธิ์ส่วนน้อย วงที่มีอัตราค่าจ้างสูงขึ้นมาก็เสียมากกว่า และทางแกรมมี่ก็มีเพลงทุกแนว  เพราะได้รับความไว้วางใจจากผู้สร้างสรรค์งานเพลงให้ดูแลสิทธิ์ให้ โดยตอนนี้ก็มีผู้เข้ามาเจรจาตกลงเรื่องลิขสิทธิ์การแสดงสดกับทางแกรมมี่หลายวง เช่น วงไหมไทย หัวใจศิลป์, วงคำผุนร่วมมิตร, วงแคนลำโขง, วงแก่นนครบันเทิงศิลป์ ฯลฯ ซึ่งต้องชื่นชมวงเหล่านี้ เพราะเมื่อเปิดฤดูกาลโชว์ปีนี้พวกเขาสามารถแสดงสดเพลงของแกรมมี่ได้อย่างสบายใจ

             อนึ่ง วงที่บอกว่าจะไม่จ่าย ไม่เล่น และไม่ให้นักร้องแกรมมี่ขึ้นเวทีนั้น นายกษม กล่าวว่า เขารู้สึกนับถือ เพราะถ้าไม่เล่นเพลงของแกรมมี่ ก็ไม่ต้องจ่าย เป็นเรื่องที่ถูกต้องอยู่แล้ว ส่วนที่จะไม่ให้ศิลปินแกรมมี่ขึ้นเวที ก็ต้องคุยกับผู้จัดงานว่าจะเอาแบบนั้นหรือเปล่า ก็ขอฝากทางผู้จัดงานด้วยว่าเห็นด้วยกับเงื่อนไขหรือไม่ สำหรับเรื่องลิขสิทธิ์เพลงนี้ ต่างประเทศทำกันมานานแล้ว แต่บ้านเรายังเป็นเรื่องใหม่อยู่ ก็ขอย้ำว่าทางบริษัทพร้อมเจรจาเป็นราย ๆ หรือรวมกันมาเพื่อเจรจาก็ได้ เพราะถือเป็นประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...