ปลุก “แผ่นดินเดือด ลุกเป็นไฟ” บนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม “ปั้นผิดเป็นดี” ตามวิถีทางแดง

และแล้ว…..วันที่คนไทยรอคอยก็มาถึง 7 ถึง 8 สิงหาคม 2556 กับวันนำร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ (แกนนำเสื้อแดง) และ 42 ส.ส.พรรคเพื่อไทย เข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรเป็นวาระแรก ( เพียงฉบับเดียว ) แม้จะมีทั้งหมดทั้งสิ้นถึง 9 ร่าง ( 9 ฉบับ ) ที่รอประกบ

“ครั้นในอดีตแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. พยายามประกาศ “บี้” ให้รัฐบาลเดินหน้าออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแต่ล้มเหลวใจไม่ถึง เกรงขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 184 แต่ก็ถือเป็นการเดินแผนรบครั้งใหม่…..ในแนว “คอแดง” แบบยัดเอาเป็นเพียง พ.ร.บ.เท่านั้น”

ด้วยเนื้อหาที่มีถึง 7 มาตราในกฏหมายฉบับนี้ เหตุผลและหลักการเป็นเช่นไรต้องดูกันชัดทุกประโยค

เนื่องจากสังคมไทยที่ผ่านมาอยู่ในสภาวะที่สร้างความแตกแยกทางความคิดมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายให้แก่ชาติบ้านเมืองจนปัจจุบัน ด้วยสืบเนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองตกอยู่ในความคิดที่ไม่เคารพในระบอบประชาธิปไตย มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาลจนนำไปสู่การยึดอำนาจการปกครอง เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เหตุการณ์นี้สร้างความขัดแย้งทางการเมืองและทางสังคมที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้เกิดการใช้บังคับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมสร้างความรู้สึกสับสนและไม่เท่าเทียม

การเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นในทางความคิดทางการเมืองของประชาชนเป็นวงกว้างจึงมีการชุมนุมประท้วงทางการเมืองของประชาชนจนเกิดการกระทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมืองอันนำไปสู่การกล่าวหาและมีการดำเนินคดีกับผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมจำนวนมาก ทำให้ถูกจำกัดเสรีภาพและอิสรภาพในระหว่างการถูกกล่าวหาทางอาญา อันเป็นผลมาจากภาครัฐได้ประกาศและบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัดและขาดความยืดหยุ่นจนเกินความจำเป็น ซึ่งสภาพปัญหาดังกล่าวได้เกิดเป็นปัญหาร้าวลึกลงไปสู่สังคมไทยในทุกระดับและนำมาซึ่งความหวั่นไหวขาดความเชื่อมั่นในการดำเนินชีวิตให้เป็นปกติสุขของประชาชนทั่วไป ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติทั้งทางด้านความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทย

ทั้งนี้ เมื่อได้คำนึงว่าบรรดาการกระทำต่างๆ ของประชาชนที่ได้กระทำไปเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดทางการเมืองของประชาชน ซึ่งมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับความขัดแย้งในทางการเมืองอันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ จึงสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนในกรณีดังกล่าวเพื่อเป็นการให้โอกาสแก่ประชาชนซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศและเป็นการรักษาคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทั้งเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยโดยใช้หลักนิติธรรม อันจะเป็นรากฐานที่ดีต่อการลดความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองของคนในชาติ โดยต้องคำนึงถึงมูลเหตุจูงใจของการกระทำที่ประชาชนได้แสดงออกทางการเมืองเพื่อจะทำให้สังคมไทยและประเทศชาติกลับมาสู่ความสงบสุขเรียบร้อยมีความสมัครสมานสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคงและเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. …”

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วงหรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ไม่เป็นความผิดต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว

มาตรา 4 เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้กระทำการตามมาตรา 3 วรรคหนึ่งยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวน หรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือให้ถอนฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ให้ศาลพิพากษายกฟ้องหรือมีคำสั่งจำหน่ายคดี ในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น

มาตรา 5 การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญบัตินี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิ หรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น

มาตรา 6 การดำเนินการใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐในการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง จากการกระทำของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย

มาตรา 7 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

โดยสรุปคือ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแห่งชาติ พ.ศ…ของ นายวรชัย มีจุดสำคัญ ที่ระบุไว้ใน “ มาตรา 3 “ของร่างฯ ที่เป็นประเด็น และมีปัญหาในการตีความหมาย ซึ่งก็อาจมีความชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว โดยการนิรโทษกรรมให้กับมวลชนในทุกกลุ่มการเมือง โดยไม่รวมแกนนำและผู้สั่งการระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2549 ถึง 10 พฤษภาคม 2554 ก็ถือเป็นความชอบธรรมที่อาจช่วยประชาชนได้จริง

แต่กระนั้น…..ก็อาจเกิดการตลบกลับในการแก้ไขได้เช่นกัน  ซึ่งในช่วงแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการอาจมีการสอดไส้ เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง โดยใช้เสียงข้างมากบีบคอก็อาจเป็นได้ นั่นจึงทำให้มองได้ว่าเกมนี้ “สาหัสสากรรจ์” ไม่น้อย หากมองข้ามขั้นเตรียมพุ่งเป้าผ่านวาระ 3 นั่นก็อาจเสี่ยงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หรือไม่อย่างไร….

กำลังตำรวจนครบาลรวมตำรวจภูธรภาค 1 ภาค 2 และภาค 7 จำนวน 33,600 นาย แถมพร้อมระดมสต็อกสำรองอีกเพียบ “ กับแหล่งข่าวที่ยืนยันถึงงบประมาณที่ใช้ถึง 400 ล้านบาท ก่อนเริ่มงานก็ฟาดเบิกไปล้วน ๆ แล้ว 200 ล้านบาท “ ถือได้ว่า เป็นการเตรียมความพร้อมที่ขึงขังเข้มข้นในทุกนาที ภายใต้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

ยุทธศาสตร์ม็อบกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ที่เริ่มมีความดุดัน “แม้ต้องยอมรับว่า ความพร้อมมวลชนยังถือเป็นรองตำรวจอยู่มากโข” ก็ได้เวลาพิสูจน์ขั้นแตกหักกับรัฐบาล นั่นหมายความว่า หากการชุมนุมในที่ตั้ง (สวนลุม) นิ่งเฉยไม่เคลื่อนไหวญัตติในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรคงไม่พ้น ไฟเขียวผ่านเป็นแน่แท้ ถึงแม้พรรคประชาธิปัตย์จะเปิดทั้งเวทีปราศรัย หรืออภิปรายคัดค้าน ร่างกฏหมายฉบับดังกล่าวในสภาก็ตาม

จากนี้จึงถือว่าการเมืองไทย มีความร้อนแรงถึงขีดสุด ( แม้เสื้อแดงจะไม่ออกมา ) เพราะอาจเข้าเงื่อนไขบางประการตามสูตร ฉะนั้น เวลานี้ต้องจับตาอย่างไม่กะพริบในเสี้ยวนาที กับเหตุการณ์บ้านเมือง

แท็ก : กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ, พ.ร.บ.นิรโทษกรรม, พรบ.นิรโทษกรรม, ม็อบโค่นระบอบทักษิณ, รัฐสภา, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ติดต่อทีมข่าว : news@mthai.com
9 ส.ค. 56 เวลา 13:53 981 3 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...