เคลียร์ชัด ๆ ดร.ธรณ์ แจง ทำทุ่นเส้นผมซับน้ำมันได้จริงหรือ ?

 
เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat 

           กลายเป็นประเด็นที่สังคมออนไลน์ให้ความสนใจและส่งต่อกันอย่างรวดเร็ว เมื่อได้รับทราบข่าวว่า มีการบริจาคเส้นผมเพื่อนำไปทำทุ่นดูดซับน้ำมันรั่วที่ จ.ระยอง โดยชาวเน็ตจำนวนมากสนใจที่จะช่วยเหลือทะเลไทยในภาวะวิกฤติเช่นนี้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีข้อสงสัยว่า การทำทุ่นเส้นผม หรือที่เรียกว่า บูม ดักคราบน้ำมันนั้น ใช้ได้ผลจริงหรือไม่

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้โพสต์ข้อมูลผ่าน เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat โดยระบุว่า เป็นการประชุมผู้เชี่ยวชาญในทุกด้าน เพื่อช่วยอธิบายให้เข้าใจบูมเส้นผมกันมากขึ้น ซึ่งข้อความมีดังนี้ 




          คำถามเรื่องเส้นผมช่วยชาติ เป็นคำถามที่ทุกคนสงสัยและพยายามสอบถามผม ผมจึงลองปริกษากับพี่ ๆ ในห้องประชุมที่มีผู้เชี่ยวชาญในทุกด้าน ได้คำตอบดังนี้ครับ

          1. เส้นผมใส่ถุงแล้วนำไปซับคราบน้ำมันได้ไหม ? คำตอบคือได้ครับ ได้เช่นเดียวกับกระดาษซับน้ำมัน ฟองน้ำ หรือแม้กระทั่งกากมะพร้าว

          2. เส้นผมมีผลกระทบหรือเปล่า ? หากนำใส่ถุง นำไปซับน้ำมัน นำไปกำจัดอย่างเหมาะสม ไม่ใช่ปล่อยให้ลอยเท้งเต้งเป็นขยะ ถุงเส้นผมก็เหมือนกับกระดาษซับน้ำมันที่ถูกนำไปทิ้งอย่างเหมาะสม เหมือนกับวัสดุอีกนานาชนิดที่นำไปใช้ในการซับน้ำมันได้ แต่ถ้าไม่ทิ้ง ก็กลายเป็นขยะในทะเลแน่นอน เช่นเดียวกับวัสดุอื่น ๆ ถ้าไม่ทิ้งก็เป็นขยะเช่นกัน

          3. ที่น่าถามคือเราจะนำเส้นผมดังกล่าวไปใช้ที่ไหน ? หากอยากไปใช้ที่อ่าวพร้าว ก็คงต้องติดต่อกับหน่วยงานในพื้นที่ ว่าจะเป็นอย่างไร ผมตอบไม่ได้ในเรื่องนี้ แต่ตอบได้ว่าก็เหมือนถามเขาว่า จะส่งฟองน้ำไปซับน้ำมันได้ไหม

          4. สำหรับการใช้ในบริเวณอื่น คงต้องยอมรับว่าคราบน้ำมันส่วนหนึ่งรวมกันอยู่ที่อ่าวพร้าว อีกส่วนกระจายเป็นฟิลม์บาง ๆ ลอยเลยเกาะเสม็ดไปแล้ว เข้าสู่อ่าวบ้านเพ ไล่ไปตามชายหาดสู่แหลมแม่พิมพ์ การป้องกันฟิล์มน้ำมันเหล่านั้นคงทำยาก เพราะพื้นที่กว้างใหญ่ น้ำมันกระจายออกเป็นฟิล์ม เราจะไปกั้นที่ไหน ในเมื่อน้ำมันกระจายออกจากช่องเสม็ดไปแล้ว สำหรับอ่าวพร้าว ก็คงต้องพูดคุยกับคนที่นั่นว่าจะช่วยได้ไหม

          5. สำหรับอาสาสมัครที่อยากช่วยทะเล ช่วยคนระยอง นักวิทยาศาสตร์ประชุมกันแล้ว สิ่งที่ทุกคนช่วยได้ คือการติดตามก้อนน้ำมันดินที่อาจแพร่กระจายอยู่ตามชายหาดยาวเหยียดจากบ้านเพไปถึงแกลง ชายหาดยาว 20-30 กิโลเมตร ฟิล์มน้ำมันเหล่านั้น จะผสมกับทราย อาจเกิดเป็นก้อนน้ำมันดินเหล่านั้นออกจากหาด

          ก้อนน้ำมันดินมีน้ำมันเหลวดำอยู่ด้านใน กลิ่นอี๋แหยะ เหยียบแล้วเละติดเท้าเต็มไปหมด เพราะฉะนั้น การไปช่วยกันเก็บ ย่อมเป็นการช่วยโดยตรง ถ่ายภาพไว้ ตรวจสอบจุดให้ชัดเจน เก็บไว้เป็นหลักฐาน หากมีเยอะก็ถ่ายภาพโดยรวมไว้ บันทึกวันที่ให้ชัดเจน ส่งหลักฐานไปที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เดี๋ยวคงมีข้อมูลชัดเจนตรงส่วนนี้ แต่อย่าไปจับนะครับ ใช้ไม้จิ้มหรือใช้ถุงมือจับครับ

          นั่นคือบางส่วนที่พอบอกได้ตอนนี้ แต่ถ้าอยากบริจาค คนมีใจอยากช่วยทะเล อยากช่วยคนอื่น เป็นเรื่องดีที่ไม่อาจห้ามครับ
 
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...