บันทึกไม่ลับของ "มาลาลา ยูซาฟไซ" เด็กสาวนักสู้อายุ 15 ปี

นี่คือชีวิตของเด็กหญิงที่ถูกยิงและยังมีชีวิตอยู่ต่อเพื่อยืนหยัดสิทธิมนุษยชน

นี่คือเรื่องจริง

และนี่คือเรื่องที่ควรอ่านอย่างใจเย็นครับ



"มาลาลา ยูซาฟไซ" คือเด็กหญิงคนหนึ่งเช่นเด็กหญิงอื่น ๆ ในปากีสถาน แต่สิ่ง "พิเศษ" ในตัวเธอที่โลกต้องจำ คือหัวใจของความเป็น "นักสู้" ที่ยืนกรานในความถูกต้อง ยืนหยัดในสิทธิของเธอในฐานะมนุษย์

ความเป็นนักสู้ของเธอในวัย 15 ปี ทำให้นิตยสารไทมส์ยกย่องเป็นบุคคลแห่งปี 2555 อันดับ 2 รองจากบารัก โอบามา ขณะเดียวกันเธอตกเป็นเป้าหมายหัวของกลุ่มตาลิบัน



โลกจดจำเหตุการณ์ในวันที่ 9 ต.ค. ปีที่ผ่านมาได้ชัดเจน เมื่อกลุ่มตาลิบันบุกขึ้นรถบัสโรงเรียนของเธอ ถามหาเด็กนักเรียนคนใดในรถคือมาลาลา พวกเขามองหาเธอและแล้วมาลาลาก็ถูกยิงที่ศีรษะ

มาลาลาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิด้านการศึกษาและสตรี ต่อต้านกลุ่มตาลิบันที่พยายามเข้าควบคุมเมืองมินโกรา เขตสวัต ที่เธออาศัยอยู่ โดยมี "ไซอุดดิน ยูซาฟไซ" พ่อของเธอคอยสนับสนุน

"สิ่งเดียวที่ฉันต้องการคือการศึกษา" คือคำพูดของมาลาลา "และฉันก็ไม่เกรงกลัวใครทั้งนั้น"

ต้นปี 2552 ขณะอายุได้ 11 ขวบ มาลาลาเป็นบล็อกเกอร์ให้แก่บีบีซี เธอถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตที่ถูกจำกัดภายใต้ระบอบตาลิบัน และมุมมองที่เธอต้องการสนับสนุนการศึกษา

 มาลาลากับคุณพ่อ

ตอนที่เริ่มเขียนบล็อกให้บีบีซี มาลาลาเริ่ม พูดภาษาอังกฤษได้บ้างและวาดหวังอยากจะเป็นหมอ ทั้งพ่อและแม่ต่างสนับสนุนลูกสาววัย 11 ปีให้เขียนบล็อก  โดยเฉพาะนายไซอุดดิน ผู้เป็นพ่อซึ่งเป็นเจ้าของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งและเป็นนักเคลื่อนไหวคน หนึ่งที่ต่อสู้เพื่อสิทธิทางการศึกษาจนถูกตาลีบันขู่ฆ่า นายไซอุดดินยอมรับว่าเป็นเรื่องเสี่ยงและอันตรายไม่ใช่น้อย แต่คิดว่าการไม่พูดอะไรเลยจะยิ่งทำให้มีอันตรายมากกว่า เพราะท้ายสุดทุกคนก็เหมือนกับตกเป็นทาสใต้การปกครองที่ป่าเถื่อน รุนแรง และการก่อการร้าย 

อย่างไรก็ดี เมื่อสถานการณ์ทวีความตึงเครียดมากขึ้นเมื่อรัฐบาลเพิ่มปฏิบัติการทางทหาร หมายจะขับไล่ตาลีบันให้พ้นจากหุบเขานั้น ครอบครัวนี้ก็ต้องอพยพหนีภัยจากหุบเขาสวัตจนเมื่อตาลีบันล่าถอยออกจากหุบเขานั้น มาลาลาจึงมีโอกาสกลับบ้านอีกครั้งในปลายปีนั้น


 
ใน "บันทึกประจำวัน" มาลาลาได้ บอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่กลุ่มตาลีบันยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ บริเวณหุบเขาสวัต แล้วนำกฎหมายอิสลามหรือกฎหมายชาเรียมาใช้เพื่อจำกัดเสรีภาพของผู้หญิงและเด็ก

 

ในบันทึกประจำวันของเธอกล่าวว่า "ตอนที่ตาลีบันมาที่หุบเขานี้ พวกเขาก็ห้ามผู้หญิงไม่ให้ไปตลาดหรือไปช็อปปิ้ง ห้ามแต่งกายสีสันฉูดฉาด"  

 

จุดเริ่มต้นการขัดขืนของเธอมีขึ้นเมื่อตาลีบันเริ่มมีบัญชาประกาศิตห้าม เด็กหญิงไปโรงเรียน

โดยเฉพาะการสั่งปิดโรงเรียนของเธอในหุบเขาแห่งนั้น ซึ่งมีนักเรียนราว 600 คนเมื่อปี 2553 เพราะไม่ต้องการให้เด็กผู้หญิงมีโอกาสได้เล่าเรียนหนังสือ จนหลายครอบครัวต้องหอบลูกหลานอพยพไปยังเมืองอื่นเพื่อให้ลูกหลานได้รับการศึกษาโดยปราศจากความหวาดกลัวใดๆ หลังจากที่ตาลีบันได้สั่งทำลายโรงเรียนถึงกว่า 150 แห่งเฉพาะปี 2551 เพียงปีเดียว
 


มาลาลา

 

เด็กหญิงมุ่งมั่นสนับสนุนให้ผู้หญิงได้เรียนหนังสือ ใบหน้าของเธอเริ่มเป็นที่คุ้นเคยของชาวปากีสถาน  จากวีรกรรมหาญกล้าของเธอที่กล้าท้าทายความไม่เป็นธรรมในสังคมที่กีดกันไม่ ให้เด็กหญิงมีโอกาสได้รับการศึกษาเหมือนกับเด็กชาย รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มติดอาวุธตาลีบัน

 


 
             
           สิ่งที่อยากทำในอนาคต มาลาลาอยากจะตั้งพรรคการเมืองของเธอเอง มุ่งเน้นส่งเสริมการศึกษาเพียงอย่างเดียว จากจุดนี้ทำให้หลายคนมองว่าเธอเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านกับกลุ่มติดอาวุธ ตาลีบัน ทั้งๆ ที่มีอายุไม่ถึง 15 ปีด้วยซ้ำไป
 
          รางวัลที่มาลาลาได้รับเท่ากับตบหน้ากลุ่มตาลีบัน ซึ่งได้ขู่ให้เธอวางมือจากการเคลื่อนไหวดังกล่าวถึง 3 ครั้งด้วยกัน โดยระบุความผิดว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ส่งเสริมแนวคิดตะวันตก แต่ ด.ญ.มาลาลาไม่สนใจคำขู่นั้น ท้ายสุดผู้นำกลุ่มตาลีบันก็มีบัญชาประกาศิตเมื่อสองเดือนที่แล้วให้สังหารเด็กหญิงผู้นี้
 
          แล้วเหตุร้ายก็เกิดขึ้นในเย็นวันที่ 9 ตุลาคม เพื่อนของมาลาลาบอกเล่าด้วยอาการสะอึกสะอื้นน้ำตาไหลรินว่าก่อนที่รถโรงเรียนจะเคลื่อนออกจากโรงเรียน

          "...พวกเขาหยุดรถโรงเรียนของพวกเรา พวกเขาขี่จักรยานมา ผู้ชายคนหนึ่งที่สวมหมวกฮู้ดปิดหน้าเอาปืนชี้มาที่พวกเรา อีกคนหนึ่งก็ตะโกนถามว่า... พวกแกคนไหนวะชื่อมาลาลา ลุกขึ้น ไม่งั้น กูยิงพวก...ทุกคนเลย นังนั่นน่ะมันโฆษณาต่อต้านทหารของพระเจ้า มันจะต้องถูกลงโทษ" ทันใด นักรบตาลีบันก็จดจำใบหน้าของ ด.ญ.มาลาลาได้ จึงจ่อยิงเธออย่างเผาขนที่ศีรษะและที่ลำคออย่างเลือดเย็นและเหี้ยมโหด มาลาลาได้รับบาดเจ็บสาหัสแต่เธอก็ยังดวงแข็งรอดมาได้ท่ามกลางการสวดมนต์ภาวนาของคนทั่วโลกขอพรให้เธอพ้นขีดอันตรายกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง
 
          เมื่อการผ่าตัดในปากีสถานไม่ได้ผล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็รีบส่งเครื่องบินที่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์พร้อมพาตัว เธอไปยังอังกฤษแล้วก็มีการผ่าตัดด่วนที่โรงพยาบาลควีน อลิซาเบธ ทางภาคกลางของอังกฤษ  แพทย์ของโรงพยาบาลแห่งนั้นต้องเร่งผ่าตัดซ้ำเพื่อรักษากะโหลกศีรษะที่เสีย หาย รวมถึงการฟื้นฟูระบบประสาท กระทั่งเธอกลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยคำถามแรกหลังฟื้นคือ ตอนนี้เธออยู่ที่ไหน พร้อมกับฝากขอบคุณผู้ให้กำลังใจทุกฝ่าย รวมทั้งหมอและพยาบาล ด้วยกำลังใจอันเข้มแข็ง หลังจากฟื้นสติกลับมาไม่นาน มาลาลาก็สามารถลุกขึ้นยืน พยายามเดินด้วยตัวเองและเริ่มเขียนหนังสือได้บ้างแล้ว

          
           นี่คือส่วนหนึ่งของไดอารีออนไลน์ที่มาลาลาเขียนขณะมีอายุแค่ 11 ปี

 

 

วันเสาร์ 3 มกรา 2552 : ฉันกลัว


          เมื่อวานนี้ หนูนอนฝันร้าย ฝันเห็นเฮลิคอปเตอร์ของทหารและของตาลีบัน หนูเริ่มฝันร้ายอย่างนี้บ่อยๆ หลังจากทหารเริ่มปฏิบัติการทางทหารแถวหุบเขาสวัต แม่จะเตรียมอาหารเช้าให้หนูก่อนจะเดินทางไปโรงเรียน หนูกลัวมากเลยเวลาต้องไปโรงเรียนเนื่องจากตาลีบันมีคำสั่งห้ามขาดไม่ให้เด็ก หญิงทุกคนไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน
 
          ตอนนี้ในชั้นเรียนมีนักเรียนแค่ 11 คนจากเดิมที่มี 27 คน เนื่องมาจากคำขู่ของตาลีบัน เพื่อนของหนู 3 คนได้ย้ายไปที่เปชาวาร์ ละฮอร์ และราวัลปินดี พร้อมกับครอบครัวหลังประกาศิตของตาลีบัน
 
          ระหว่างเดินออกจากโรงเรียนกลับบ้าน หนูได้ยินเสียงผู้ชายคนหนึ่งพูดว่า "กูจะฆ่า..." หนูรีบสาวเท้าเร็วๆ สักพักหนึ่งจึงหันกลับไปมองข้างหลังดูว่าผู้ชายคนนั้นยังเดินตามหลังหรือไม่ แต่แล้วก็ถอนหายใจเฮือก โล่งอกที่เห็นเขากำลังพูดโทรศัพท์และอาจจะขู่ใครบางคนทางโทรศัพท์นั้น

 

วันอาทิตย์ 4 มกรา : หนูต้องไปโรงเรียน


          วันนี้เป็นวันหยุดและหนูก็ตื่นสายเกือบ 10 โมงเช้า หนูได้ยินพ่อกำลังพูดถึงศพ 3 ศพบริเวณทางแยก หนูรู้สึกแย่เมื่อได้ยินข่าวร้ายนี้ ก่อนจะมีปฏิบัติการทางทหาร ทุกวันอาทิตย์พวกเรามักจะไปปิกนิกกันที่มาร์กาซาร์ ฟิซา กัต และคานจู แต่สถานการณ์ในตอนนี้ทำให้พวกเราอดไปปิกนิกมานานถึงปีครึ่งแล้ว
 
          ก่อนนั้นพวกเราก็มักจะออกไปเดินเล่นหลังอาหารค่ำแล้ว แต่ตอนนี้พวกเรากลับอยู่แต่ในบ้านก่อนพระอาทิตย์จะตกดินด้วยซ้ำ วันนี้หนูช่วยงานบ้าน ทำการบ้านและเล่นกับน้อง แต่หัวใจหนูเต้นแรงเมื่อรู้ว่าต้องไปโรงเรียนในวันพรุ่งนี้

วันจันทร์ 5 มกรา : อย่าสวมชุดสีสดใส


          หนูกำลังจะสวมชุดนักเรียนก่อนจะไปโรงเรียน แต่แล้วก็นึกขึ้นได้ว่าครูใหญ่บอกกับพวกเราว่าอย่าสวมชุดนักเรียน ให้สวมชุดธรรมดาๆ แทน หนูก็เลยเตรียมสวมชุดโปรดสีชมพูสดใส นักเรียนหญิงคนอื่นๆ ก็ล้วนแต่สวมชุดสีสันสดใส อยู่โรงเรียนก็เลยเหมือนกับอยู่ที่บ้าน เพื่อนคนหนึ่งเข้ามาพูดกับหนูว่า "โอ พระเจ้า ช่วยบอกฉันตามตรงนะว่าตาลีบันจะเข้ามาโจมตีโรงเรียนของพวกเราหรือเปล่า" ช่วงที่มีการประชุมตอนเช้า พวกเราก็ได้รับการบอกเล่าว่าไม่ควรสวมชุดที่มีสีสันสดใสเพราะพวกตาลีบันไม่ ชอบ
 
          หนูเดินกลับบ้านและมีการสอนพิเศษหลังเที่ยง ตอนเย็นหนูเปิดโทรทัศน์และได้ยินข่าวยกเลิกเคอร์ฟิวที่ชาคาร์ดรา หลังประกาศใช้มานาน 15 วัน หนูดีใจมากที่ยินข่าวนี้เพราะครูสอนภาษาอังกฤษของเราอยู่ที่นั่น เธออาจจะมาสอนที่โรงเรียนได้แล้ว

พุธ 7 มกรา : ไม่มีเสียงปืนหรือความกลัว


          หนูมาที่บูเนียร์เนื่องจากเป็นวันหยุดทางศาสนา หนูชอบที่นี่มากเพราะมีเขาล้อมรอบ ทุ่งหญ้าก็เขียวขจี หุบเขาสวัตที่หนูอยู่ก็สวยงามเช่นกัน แต่ไม่มีสันติภาพ แต่ที่บูเนียร์มีทั้งสันติภาพและความสงบร่มเย็น ที่นี่ไม่มีเสียงปืนและไม่มีความหวาดกลัวใดๆ พวกเราทุกคนต่างมีความสุขมากที่สุด
 
          ที่นี่ เราได้ไปที่ฝังศพพีร์ บาบยา ที่นั่นมีคนเต็มไปหมด ผู้คนมาที่นี่เพื่อสวดมนต์ แต่พวกเรามาเที่ยว ที่นี่มีร้านค้ามากมาย ขายกำไล ต่างหู ล็อกเก็ต และอัญมณีอื่นๆ หนูอยากจะซื้ออะไรบางอย่างแต่ดูแล้วก็ไม่อยากได้อะไร ส่วนแม่ซื้อกำไลและต่างหู

 

วันพุธ 14 มกรา : ฉันอาจจะไม่ได้ไปโรงเรียนอีกแล้ว


หนูอารมณ์ไม่ดีตอนไปโรงเรียน เนื่องจากการปิดเทอมในช่วงหน้าหนาวจะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้แล้ว ครูใหญ่ประกาศเกี่ยวกับวันหยุดแต่ไม่บอกว่าจะเปิดเทอมเมื่อใด นี่เป็นครั้งแรกที่เกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้น
 
แต่ก่อนนั้นจะมีการย้ำชัดเจนว่าโรงเรียนจะเปิดเทอมเมื่อใด ครูใหญ่ไม่ได้ให้เหตุผลกับพวกเราว่าทำไมถึงไม่ประกาศว่าจะเปิดเรียนเมื่อใด แต่หนูเดาว่าเป็นเพราะตาลีบันประกาศห้ามเด็กนักเรียนหญิงเรียนหนังสือ ตั้งแต่วันที่ 15 มกรา เป็นต้นไป ครั้งนี้ประกาศชัด บรรดาเด็กผู้หญิงไม่มีใครตื่นเต้นเมื่อถึงวันปิดเทอมเพราะพวกเราต่างรู้ว่า ถ้าตาลีบันเอาจริงกับคำสั่งห้ามขาดไม่ให้เด็กนักเรียนหญิงเรียนหนังสือ พวกเราก็คงไม่ได้มาที่โรงเรียนอีกนักเรียนหญิงบางคนมองในแง่ดีว่าโรงเรียนอาจจะเปิดอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ แต่หลายคนบอกว่าครอบครัวกำลังจะย้ายไปอยู่ที่เมืองอื่นเพื่อให้ลูกๆ มีโอกาสได้เรียนหนังสือ
 
วันนี้จึงเป็นวันสุดท้ายของโรงเรียน พวกเราตัดสินใจจะเล่นกันที่สนามหญ้าให้นานขึ้นอีกสักหน่อย หนูได้แต่หวังลึกๆ ว่าโรงเรียนจะต้องเปิดเรียนในสักวันหนึ่ง แต่เมื่อเดินออกจากโรงเรียน หนูเหลียวหลังกลับไปมองตัวอาคารแล้วก็รู้สึกเหมือนกับว่าจะไม่มีโอกาสกลับมาอีกแล้ว

 

วันเสาร์ 15 มกรา : สะดุ้งตื่น

ตลอดทั้งคืนมีแต่เสียงปืนใหญ่ดังสนั่นจนหนูสะดุ้งตื่นถึง 3 ครั้ง แต่เนื่องจากไม่ต้องไปโรงเรียนอีกแล้ว หนูจึงตื่นสายตอน 10 โมงเช้า จากนั้นพวกเพื่อนก็มาหา แล้วเราก็คุยกันถึงเรื่องการทำการบ้าน วันนี้เป็นวันสุดท้ายก่อนที่ประกาศิตของตาลีบันจะเริ่มมีผล เพื่อนของหนูพูดถึงเรื่องการทำการบ้านราวกับว่าจะไม่มีอะไรจะเกิดขึ้นใน ชีวิตประจำวันของเราอีกแล้ว  

วันนี้อีกเช่นกันที่หนูได้อ่านบันทึกประจำวันที่เขียนให้แก่บีบีซีภาคภาษาอู รดู แม่ของหนูชอบนามแฝงว่า "กุล มาไค" มาก หนูก็ชอบชื่อนี้เช่นกันเพราะชื่อจริงของหนูมีความหมายว่า "ฟาดฟันกับความเศร้า"

 


 ระหว่างที่มาลาลารักษาตัวที่อังกฤษ เธอได้รับข่าวไม่ดีเกี่ยวกับเพื่อนของเธอ "เด็กหญิงอเยชา เมอร์" ลูกสาวของ "ฮามิด เมอร์" นักข่าวดังที่ขณะนี้เป็นที่หมายหัวของกลุ่มตาลิบัน

"ฮามิด เมอร์" โดนวางระเบิดใต้ท้องรถ แต่ระเบิดถูกตรวจพบก่อน เขาไม่ได้รับอันตราย "อเยชา เมอร์" ตกอยู่ในความเครียดและไม่ได้ไปโรงเรียนหลังจากนั้น

มาลาลาบนเตียงคนไข้ต่อโทรศัพท์หา "เด็กหญิงอเยชา เมอร์" และให้กำลังใจกับปลายสายว่า"ฉันเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่เธอต้องเข้มแข็ง เธอจะยอมแพ้ไม่ได้"

 

 'บันทึกไม่ลับของมาลาลา'ด.ญ.ยอดนักสู้ : คอลัมน์ เปิดโลกวันอาทิตย์ โดย... บุญรัตน์ อภิชาตไตรสรณ์ -

http://vrzaa.net/node/228

http://www.ipernity.com/blog/248956/444373?lg=en&hash=638411e016e1d30c977a70c03d545cb1

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...