อับราฮัม ลินคอล์น สงครามกลางเมือง และการเลิกทาสในอเมริกา

หลังจาก อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) แห่งพรรครีพับรีกันได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1860 ความขัดแย้งในปัญหาเรื่องทาสของสหรัฐที่ยืดเยื้อมาหลายปีก็ถึงจุดแตกหักโดยในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1861 รัฐทางใต้ 7 รัฐ ได้ประกาศถอนตัวออกจากสหภาพและรวมตัวกันเป็นสมาพันธรัฐอเมริกา

ฝ่ายสมาพันธรัฐโจมตีป้อมซัมเทอร์

เมษายน ค.ศ. 1861 หนึ่งเดือนหลังจากประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ กองกำลังแบ่งแยกดินแดนในเซาท์แคโรไลน่าได้ปิดล้อมป้อมซัมเทอร์ในท่าเรือชาร์ลสตันเพื่อกดดันให้ทหารในป้อมยอมแพ้ แม้สถานการณ์จะเข้าขั้นเลวร้ายแต่ลิงคอล์นไม่ต้องการถูกมองว่าเป็นผู้นิยมความรุนแรงจึงประกาศว่าจะส่งเสบียงและสิ่งของจำเป็นอื่น ๆ ให้กับป้อมซัมเทอร์แต่จะไม่มีการเสริมกำลังทหารหรืออาวุธใด ๆ ทว่าความพยายามที่จะให้ปัญหาจบลงอย่างสันติกลับล้มเหลว โดยในวันที่ 12 เมษายน ฝ่ายสมาพันธรัฐได้เข้าโจมตีป้อมซัมเทอร์และตีป้อมแตกในสองวันให้หลัง และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามกลางเมือง ในเวลานั้นสหรัฐอเมริกาถูกแบ่งเป็นสองฝ่ายโดยฝ่ายเหนือหรือฝ่ายสหพันธรัฐมีอับราฮัมลิงคอล์นเป็นผู้นำมีเมืองหลวงอยู่ที่วอชิงตันดีซี ส่วนฝ่ายใต้หรือฝ่ายสมาพันธรัฐมี เจฟเฟอร์สัน เดวิส เป็นประธานาธิบดีตั้งเมืองหลวงที่ริชมอนด์

เจฟเฟอร์สัน เดวิส

นายพลโรเบิร์ตอีลี

นายพลทอมัสแจ็คสัน

ในการรบช่วงแรกฝ่ายใต้ซึ่งมีผู้บัญชาการที่เก่งกาจอย่างนายพลโรเบิร์ตอีลีและนายพลทอมัสแจ็คสันฉายาสโตนวอลล์เป็นฝ่ายได้เปรียบโดยสนามรบใหญ่อยู่ที่เวอร์จิเนียและเทนเนสซี ซึ่งฝ่ายเหนือได้ส่งทัพรุกลงใต้เพื่อยึดชัยภูมิสำคัญอย่างเมืองวิสเบิร์กในมิสซิสซิปปีและแอตแลนตาในจอร์เจียแต่ฝ่ายใต้ได้พยายามสกัดเอาไว้

การรบสำคัญครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนกรกฏาคม ค.ศ. 1861 ที่บุลล์รันใกล้เมืองมาแนสซัส รัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งในครั้งนั้นกองทัพฝ่ายใต้ได้ผลักดันกองทัพฝ่ายเหนือกลับไปได้สำเร็จ

นายพลจอร์จแมคลีแลน

ต่อมาในปี ค.ศ. 1862 ประธานาธิบดีลินคอล์นจึงส่งนายพลจอร์จแมคลีแลนนำทัพไปเสริมเพื่อรุกเข้าสู่ริชมอนด์แต่ก็ถูกกองทัพของนายพลลีตีโต้กลับก่อนที่ทั้งสองจะเผชิญหน้ากันที่แอนทีทัมในวันที่ 17 กันยายน หลังการรบอันดุเดือดที่ปลิดชีวิตทหารกว่า 5,000 นาย และมีผู้บาดเจ็บเกือบ 20,000 นาย กองทัพของนายพลลีก็ถอยทัพออกมาได้เมื่อนายพลแจ็คสันสโตนวอลล์นำทัพมาสกัดกองทัพฝ่ายเหนือเอาไว้ ทำให้ฝ่ายเหนือสูญเสียโอกาสที่จะทำลายกำลังหลักของฝ่ายใต้ซึ่งการที่แมคคลีแลนพลาดโอกาสในการทำลายกองทัพข้าศึกครั้งนี้ทำให้ลินคอล์นปลดเขาออกจากตำแหน่งแม่ทัพ

ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1863 ประธานาธิบดีลินคอล์นได้ลงนามในประกาศเลิกทาสซึ่งแม้ว่าจะไม่สามารถบังคับใช้กับรัฐฝ่ายใต้ได้แต่ก็ส่งผลให้สงครามนี้ถูกเปลี่ยนเป็นสงครามเลิกทาสทำให้ชนผิวดำพากันสมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพฝ่ายเหนือทั้งยังยับยั้งไม่ให้อังกฤษซึ่งได้ประกาศเลิกทาสไปแล้วเข้ามาสนับสนุนฝ่ายใต้ซึ่งเป็นแหล่งผลิตฝ้ายที่ป้อนโรงงานสิ่งทอในอังกฤษด้วย

ในฤดูร้อนของปีเดียวกันนายพลรอเบิร์ตลีสามารถรุกเข้ายึดชัยภูมิสำคัญในเวอร์จิเนียได้หลังได้รับชัยชนะในการรบที่แซนเซลเลอร์สวิลล์ เขาได้นำทัพไปยังเพนซิลวาเนียเพื่อทำศึกชี้ชะตากับนายพลจอร์จมี้ดแม่ทัพฝ่ายเหนือซึ่งหากฝ่ายใต้ได้ชัยชนะที่นี่นอกจากจะสกัดกั้นการส่งกำลังบำรุงของฝ่ายเหนือได้สำเร็จแล้วยังเป็นการเปิดเส้นทางเข้ายึดกรุงวอชิงตันได้โดยง่ายอีกด้วย และสมรภูมิที่จะชี้ชะตาในศึกครั้งนี้ก็คือเมืองเล็ก ๆ ชื่อ เกตทีสเบิร์ก

นายพลจอร์จมีด

ในวันที่ 1 กรกฏาคม กองทัพของนายพลลีได้เผชิญหน้ากับกองทัพของนายพลจอร์จมีดโดยในการปะทะกันวันแรกนั้นกองทัพของนายพลลีสามารถตีทัพฝ่ายเหนือให้ถอนร่นไปได้ ทว่ากองทัพฝ่ายเหนือยังคงตรึงกำลังอยู่บนเนินสูงทางใต้ของเมือง ในเวลานั้นนายพลลีได้สูญเสียนายพลสโตนวอลล์แจ็คสันแม่ทัพคนสำคัญไปแล้ว อีกทั้งตัวเขาเองก็ไม่ค้นเคยกับภูมิประเทศที่นี่ขณะที่จอร์จมีดนั้นมีกำลังพลมากกว่าและตั้งมั่นในชัยภูมิที่ได้เปรียบ อย่างไรก็ตามปีกซ้ายของมี้ดนั้นค่อนข้างเปราะบางดังนั้นนายพลลีจึงส่งทหารเข้าตีที่นั่นในวันที่ 2 กรกฎาคม ทั้งสองฝ่ายสู้รบกันอย่างรุนแรงจนถึงตอนเย็นกองทัพฝ่ายสมาพันธรัฐสามารถรุกคืบจนเกือบยึดชัยภูมิปีกซ้ายของฝ่ายเหนือได้ ทว่าฝ่ายเหนือก็ระดมกำลังเข้าต่อต้านอย่างเต็มที่จนทำให้ทัพฝ่ายใต้ต้องล่าถอยกลับไป

ในวันที่ 3 กรกฏาคมนายพลลีได้ระดมทัพเข้าปะทะกับทหารของมี้ดที่สันเขาเซเมเทอรี ในระหว่างการรบกองกำลังฝ่ายใต้ที่นำโดยจอร์จ เคตต์สามารถทะลวงแนวรบข้าศึกเข้าไปได้แต่ก็ถูกทหารฝ่ายเหนือเข้าต้านทานอย่างหนัก ในที่สุดกองทัพที่อ่อนล้าของนายพลลีก็ต้องล่าถอยออกจากเกตทีสเบิร์กในวันที่ 4 กรกฏาคมและกลับไปยังเวอร์จิเนีย

การรบที่เกตทีสเบิร์กทำให้ทหารล้มตายไปมากกว่าสองหมื่นคน แต่ที่สำคัญคือสมรภูมิแห่งนี้ทำให้ความหวังของฝ่ายใต้ที่จะได้รับชัยชนะในสงครามกลางเมืองต้องจบสิ้นลง โดยหลังจากความพ่ายแพ้ที่นี่แล้วกองทัพของฝ่ายใต้ก็ตกเป็นฝ่ายรับและเริ่มถูกตีถอยร่น

นายพลยูลิซิสเอสแกรนท์

โดยในวันที่นายพลลีถอยทัพจากเกตทีสเบิร์ก นายพลยูลิซิสเอสแกรนท์ผู้บัญชาการฝ่ายเหนือก็นำทัพเข้ายึดมิสซิสซิปปีได้ จากนั้นในปีรุ่งขึ้นคือ ค.ศ. 1864 แกรนท์ก็นำทัพรุกสู่ริชมอนด์ ขณะที่กองทัพฝ่ายเหนืออีกทัพซึ่งนำโดยวิลเลียมเทคัมเซห์เชอร์แมนก็เข้ายึดแอตแลนตาและเดินทัพผ่านจอร์เจียไปจนถึงชายฝั่งทะเล

การที่ฝ่ายใต้มีทรัพยากรและแรงงานน้อยกว่าฝ่ายเหนือส่งผลให้ฝ่ายใต้ไม่อาจทำสงครามยืดเยื้อได้ และเมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 1865 นายพลแกรนท์ก็นำทัพเข้าปิดล้อมริชมอนด์ จากนั้นในวันที่ 9 เมษายน นายพลลีก็ประกาศยอมแพ้ส่งผลให้สงครามกลางเมืองต้องสิ้นสุดลงพร้อมด้วยชีวิตทหารหาญทั้งสองฝ่ายรวม 618,000 คน

รัฐทางเหนือได้จัดงานฉลองครั้งใหญ่ให้กับสันติภาพหลังการสิ้นสุดลงของสงครามครั้งใหญ่ที่ล้างผลาญชีวิตพี่น้องร่วมชาติเดียวกัน ทว่าการเฉลิมฉลองก็ต้องสิ้นสุดลงอย่างกะทันหันในวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1865 เมื่อประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น ซึ่งเพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองเมื่อวันที่ 9 มีนาคม สิ้นชีวิตจากการถูกลอบสังหารขณะกำลังชมการแสดงละครเรื่อง Our American cousin ในโรงละครฟอร์ดกรุงวอชิงตันดีซีโดยผู้ลั่นไกสังหารคือจอห์นวิลคิลส์บูทนักแสดงวัย 26 ปี ผู้มีพื้นเพเป็นชาวใต้ เขาโกรธแค้นที่ฝ่ายใต้พ่ายแพ้ในสงครามจึงวางแผนสังหารลินคอล์นเพื่อแก้แค้น ซึ่งหลังจากลงมือแล้วบูทได้ถูกกองทหารทางการไล่ล่าและถูกปลิดชีพที่โรงนาแห่งหนึ่งในเวอร์จิเนียหลังจากนั้นไม่นาน

ที่มา: http://www.komkid.com/ประวัติศาสตร์สังคม/ลินคอล์น-เลิกทาส/
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...