การแต่งกายของสตรีในราชสำนักเกาหลี

เวลาที่ดูซีรี่ย์เกาหลีย้อนยุคอย่าง “แดจังกึมจอมนางแห่งวังหลวง  ศึกชิงบัลลังก์จอมนางฯ” และอีกหลายๆเรื่อง  เคยสับสนเกี่ยวกับชุดฮันบกที่นักแสดงฝ่ายหญิงสวมใส่กันไหมคะ?  ว่าเขาแบ่งแยกตำแหน่งต่างๆกันอย่างไร? (ยังไม่นับรวมหน้าตาที่สุดแสนจะคล้ายกันของนางเอก นางรอง นางร้ายทั้งหลาย)

พอดีไปอ่านเจอบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแต่งกายของหญิงสูงศักดิ์และนางกำนัลของเกาหลี  เลยเอามาฝากค่ะ  เวลาที่ดูซีรี่ย์เกาหลีย้อนยุคจะได้เข้าใจว่าแต่ละคน(ที่เราคุ้นหน้าจนแยกไม่ออก) เธอรับบทสูงศักดิ์มากน้อยแค่ไหน.....

 

การปกครองในระบอบราชาธิปไตย  หรือการปกครองที่มีพระราชาเป็นผู้มีอำนาจเต็มในการปกครองนี้  จะมีการแบ่งออกเป็นฝ่ายหน้าและฝ่ายใน  ซึ่งฝ่ายหน้าก็ได้แก่  เหล่าข้าราชบริพาร  และขุนนางน้อยใหญ่ทั้งปวง  ฝ่ายในก็ได้แก่  เหล่าสตรีสูงศักดิ์ในวังหลวง  และบรรดานางกำนัลทั้งปวง  บางประเทศก็มีขันทีด้วย

                          ในราชสำนักฝ่ายในของราชวงศ์โชซอน  แบ่งเป็น 3 ชนชั้น คือ เชื้อพระวงศ์ องค์หญิงและองค์ชายที่ยังไม่ได้เสกสมรส (ไม่นับว่าเป็นผู้หญิงนะครับ) และนางวัง (ขอเรียกนางกำนัลว่านางวังนะครับ)

เชื้อพระวงศ์ โดยรวมเราจะหมายถึง พระพันปี พระมเหสี และพระสนม แต่บางรัชสมัยก็อาจจะมีพระหมื่นปี(พระอัยยิกาเจ้าในพระราชา) หรือพระพี่นางพระน้องนางด้วย

พระมเหสี หรือ วังบี คือพระภรรยาเจ้าที่มีศักดิ์สูงที่สุดในฝ่ายใน มีสิทธิขาดในการบังคับบัญชาพระสนม นางกำนัล หรือการดูแลความเป็นไปขององค์ชาย (ที่ยังมิได้เสกสมรส) องค์หญิง หากยังมีพระชนม์ชีพอยู่จะขานพระนามว่า “วังฮู”เรียกอย่างลำลองว่า “มามา” (ไม่ใช่มาม่านะ ^^ คำว่ามามาเนี่ยคนเกาหลีจะใช้กับคนที่เป็นเจ้านายหรือผู้มีตำแหน่งยศศักดิ์ ประมาณนายหญิง แต่ก็ใช้กับเจ้านายที่เป็นชายด้วยนะคับ ที่เห็นๆก็ในแดจังกึมนี่แหละ ที่เรียก“นายหญิงๆๆๆ” ไรงี้) หรือ“ชุงจอน” หรือ “ชุงกุงจอน” ทั้งสองคำ แปลว่า ตำหนักกลาง ซึ่งหมายถึงตำหนักคโยแทจอน ตำหนักของพระมเหสี คู่กับตำหนักแทจอน หรือตำหนักใหญ่ของพระราชา (คำว่าชุงจอนเนี่ย ใครดูหนังเกาหลีก็จะคุ้นๆ ไม่ใช่ชื่ออะไรหรอก คือแค่เรียกอ้อมๆน่ะ เหมือนคนไทยสมัยโบราณที่เวลากล่าวถึงพระมหากษัตริย์หรือเจ้านาย ก็จะไม่มีใครเอ่ยพระนามจริงกัน เพียงแต่กล่าวอ้อมๆ เหมือนเวลาเอ่ยถึง สมเด็จพระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ปัจจุบันก็จะเรียกว่าทูลกระหม่อมแดง หรือเอ่ยถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ อัครราชกุมารี ก็จะเอ่ยว่า ทูลกระหม่อมเล็ก) เมื่อสิ้นพระชนม์ไปแล้ว จึงจะได้รับการสถาปนาพระนามย้อนหลัง เช่น อดีตพระมเหสียุนโซวา ในพระเจ้าซองจง ถูกปลดจากตำแหน่ง และได้รับพระราชทานยาพิษ หลังจากที่พระเจ้าซองจงสิ้นพระชนม์ องค์ชายยอนซันที่เป็นพระโอรสของพระนางขึ้นครองราชย์ต่อ ก็ได้สถาปนาให้กลับเข้าสู่ตำแหน่งพระมเหสี ขนานพระนามพระนางว่า “สมเด็จพระราชินียุนแจฮยอนแห่งฮามาน”

 

พระมเหสีกับพระพันปี

 

พระพันปี หรือ วังแดบี คือ พระราชมารดาในพระราชาหรือพระมเหสีในรัชกาลก่อน พระพันปีนี้มิจำเป็นต้องมีพระโอรสเป็นพระราชา เมื่อเปลี่ยนรัชกาล สถานภาพก็เปลี่ยนเป็นพระพันปีทันที เช่น สมัยองค์ชายยอนซัน ซึ่งเป็นพระโอรสในพระมเหสีแจฮยอนที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว สมัยนี้ก็จะมี “สมเด็จพระมเหสียุนจองฮยอนแห่งพาพยอง” เป็นพระพันปี ได้รับพระนามใหม่ว่า “สมเด็จพระราชชนนีจาซุนแห่งพาพยอง” ขนานพระนามกันในวังว่า “องค์พระพันปีน้อย” ตำแหน่งพระพันปี หากยังมีพระชนม์ชีพอยู่ขนานพระนามอย่างลำลองว่า “วังแทฮู” หรือ “แทฮู”หรือ “มามา”

พระหมื่นปี หรือ แดวังแดบี คือพระอัยยิกาของพระราชา หรืออาจจะเป็นพระมเหสีในพระราชาในรัชกาลก่อนหน้า 2 รัชกาล หากยังมีพระชนม์ชีพอยู่ขนานพระนามอย่างลำลองว่า “แทวังแทฮู” หรือ “มามา” เช่น พระมเหสีคิม ในพระเจ้ายองโจ (พระอัยกาในพระเจ้าจองโจ หรือ ลีซาน) ไดรับการสถาปนาเป็น “สมเด็จพระราชินีคิมจองซุนแห่งอันดง” ดำรงพระชนม์ชีพจนถึงรัชสมัยของพระเจ้าซุนโจ พระโอรสของพระเจ้าจองโจ ได้รับการสถาปนาเป็นพระปัยยิกา หรือ พระแสนปี เป็นพระมเหสีที่มีสถานะทางการเมืองเด่นเป็นอันดับต้นๆ ของราชวงศ์โชซอน

 

พระสนมต่างๆ

 

พระสนม คือ พระภรรยาของพระราชา แบ่งเป็น 8 ระดับ ได้แก่

             1. พระสนมขั้นหนึ่ง ชั้นพระสนมบิน (빈,嬪) ชอง 1 พุม (เป็นการเรียงลำดับของระบบข้าราชการของโชซอน เท่ากับ ระดับ 1) มีพระนามแตกต่างกันออกไป เช่น ฮีบิน คยองบิน ซุกบิน ชางบิน มยองบิน อันบิน เป็นต้น เช่นพระสนมคยองบิน ตระกูลปาร์ค ในพระเจ้าจุงจง

2. พระสนมขั้นสอง ชั้นพระสนมควีอิน (귀인, 貴人 ) ชง 1 พุม เช่น พระสนมขั้นสองควีอิน ตระกูลปาร์ค ในพระเจ้าเซจงมหาราช

3. พระสนมขั้นสาม ชั้นพระสนมโซอึย (소의, 昭儀 ) ชอง 2 พุม เช่น พระสนมขั้นสามโซอึย ตระกูลยู ในพระเจ้าซุกจง

4. พระสนมขั้นสี่ ชั้นพระสนมซุกอึย (숙의,淑儀) ชง 2 พุม เช่น พระสนมขั้นสี่ซุกอึย ตระกูลคิม ในพระเจ้าทันจง

5. พระสนมขั้นห้า ชั้นพระสนมโซยง (소용,昭容) ชอง 3 พุม เช่น พระสนมขั้นห้าโซยง ตระกูลฮง ในพระเจ้าเซจงมหาราช

6. พระสนมขั้นหก ชั้นพระสนมซุกยง (숙용,淑容) ชง 3 พุม เช่น พระสนมขั้นหกซุกยง ตระกูลควอน ในพระเจ้าซองจง

7. พระสนมขั้นเจ็ด ชั้นพระสนมโซวอน (소원,昭媛) ชอง 4 พุม เช่น พระสนมขั้นเจ็ดโซวอน ตระกูลซิน ในองค์ชายควางแฮ

8. พระสนมขั้นแปด ชั้นพระสนมซุกวอน (숙원,淑媛) ชง 4 พุม เช่น พระสนมขั้นแปดซุกวอน ตระกูลลี ในพระเจ้าเซจงมหาราช

พระสนมทั้งหมด เรียกอย่างลำลองว่า “มามา”  บางพระองค์ที่พระโอรสได้ขึ้นครองราชย์ ก็จะได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “บูแดบิน”( 부대빈,府大嬪) เช่น พระสนมในพระเจ้าซุกจงที่เราดูกันอยู่ในเรื่อง ทงอี จอมนางคู่บัลลังก์ ได้รับการสถาปนาเป็น “พระสนมเอกฮีบิน บูแดบิน ตระกูลจาง แห่งอกซาน” ส่วนทงอีนางเอกของเรา แม้ว่าจะมาทีหลัง ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “พระสนมเอกซุกบิน ตระกูลชเว แห่งแฮจู” ทั้งสองพระองค์มีพระโอรสที่ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระราชา

องค์หญิง มีสองฐานันดรศักดิ์ แบ่งเป็น กงจู (公主) คือ องค์หญิงที่ประสูติจากพระมเหสี และ องจู (翁主) คือ องค์หญิงที่ประสูติจากพระสนมส่วนองค์ชายก็มีสองฐานันดรศักดิ์เช่นกัน คือ แทกุน (大君) หรือ องค์ชายที่ประสูติจากพระมเหสี และ กุน (君) หรือ องค์ชายที่ประสูติจากพระสนม

 

นางกำนัล หรือนางวัง

 

 

นางวัง หรือ กุงอิน หรือ กุงนยอ หรือชื่อเต็มๆ ก็คือ กุงจุงนยอกวาน(宫中女官) (แปลว่า สตรีในวังที่มีตำแหน่งหรือฐานันดร) เพราะสตรีทั้งหลายในวังนั้นแม้จะมีทั้งนางวัง แพทย์หญิง นางรำ นางทรง แต่มีเพียงนางวังเท่านั้น ที่มีสิทธิถือครองบรรดาศักดิ์  แบ่งเป็นนางวังทั่วไป ซังกุง และซึงอึนซังกุง ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่าแนเมียงบู หรือ ราชสำนักฝ่ายใน นางวังเหล่านี้ บางคนมีอำนาจถึงขนาดสามารถบงการการเมืองได้เลยทีเดียว

นางในทั่วไป จะเริ่มจากการเข้าวังมาตั้งแต่เด็กๆ โดยผ่านการสอบเป็นเซ็งกักชิ หรือ นางกำนัลเด็ก และสอบต่อมาประจำปีเรื่อยมา จนอายุประมาณสิบห้าปี  ก็จะมีการสอบอีกครั้ง  เรียกการสอบนี้ว่า  ออชอนเคียงยอน  โดยผู้ที่สอบตกก็จะต้องถูกขับออกจากวัง  โดยคนที่สอบผ่านก็จะได้เข้าพิธีนาอินฉิก  เพื่อถวายสัตย์เป็นนางวัง  ถือว่าเป็นนางวังเต็มตัวแล้ว  นางวังถือเป็นสตรีสูงศักดิ์  ที่บุคคลอื่นที่ไม่มียศตำแหน่งเทียบเท่า  จะบังอาจล่วงเกินมิได้

เมื่ออายุประมาณ  30  ปีก็จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นซังกุง โดยนางวังจะประกอบไปด้วย  ซังกุง  ซังอี  ซังบก  ซังฉิก  ซังชิม  ซังกง  ซังจอง  ซังกี  ซึ่งเป็นหน่วยงานในแนเมียงบู  ซังกุง จะถือตำแหน่ง  ชอง  5  พุม  หรือ ระดับ  9

  แนเมียงบูควบคุมดูแลโดยพระมเหสี  และมีหัวหน้านางวังคือ  เชโจซังกุง  หรือ  ซังกุงปกครอง  ทำหน้าที่ปกครองนางวังทั้งหมดในสังกัด  และจะมีฝ่ายต่างๆ อีก  เช่น  ฝ่ายโซจูบัง  (ห้องเครื่อง)  ฝ่ายจาซูดัง  (ห้องเย็บปัก)  เป็นต้น โดยหัวหน้าของแต่ละฝ่ายเรียกว่า  ซังกุงสูงสุด

ซังกุงเหล่านี้ยังมีแบ่งย่อยอีก  เป็นซังกุงธรรมดา  และซังกุงชั้นสูง  สังเกตจากแคดูและชุดที่สวมใส่  แคดูคือเครื่องประดับศีรษะสำหรับนางวัง ทำด้วยผ้าแพร  บ่งบอกสถานะ มักมีสีต่างกัน  ในสมัยนั้น  หากใครมีผมสูงที่สวมจากวิก (คาเช) ก็จะมียศสูงเท่านั้น  หากเป็นสตรีธรรมดา  มิได้อยู่ในวัง  ก็จะไม่ใส่แคดู 

ซังกุงชั้นธรรมดา  จะสวมใส่ชุดสีเขียวอ่อน  ได้แก่  ซังกุงที่ประจำอยู่ซูรากัน  หรือห้องเครื่องใหญ่,  ซังกุงน้อยใหญ่ต่างๆ, ซังกุงลิ้มรส  (คีมีซังกุง), ซังกุงที่ทำงานอยู่ฝ่ายต่างๆ, ซังกุงที่ประจำอยู่ตำหนักต่างๆ,  รวมทั้งซังกุงคนสนิทของเชื้อพระวงศ์ด้วย แต่ยกเว้นซังกุงคนสนิทของพระพันปี (แทฮวางฮุ) ซังกุงเหล่านี้จะไม่สวมแคดู  ยามทำงานก็จะสวมใส่เสื้อกันเปื้อนสีขาวเช่นเดียวกับนางวัง

ซังกุงชั้นสูง  จะสวมใส่ชุดสีเขียวเข้ม สวมแคดู  ความสูงของวิกแล้วแต่ยศ ได้แก่  ซังกุงปกครอง,  ซังกุงสูงสุด,  ซังกุงพี่เลี้ยง,ซังกุงหัวหน้าในแผนกต่างๆ ของฝ่ายห้องเครื่องและฝ่ายห้องเย็บปัก

ชุดของนางวัง  จะใส่ชุดสีม่วง (ในซีรีส์ดูเหมือนว่านางวังห้องเครื่องจะใส่สีแดง นางวังห้องเย็บปักสวมสีแดง ที่จริงสวมสีม่วงเหมือนกัน เพียงแต่แตกต่างตามความเข้มของสีเท่านั้น)ก่อนที่จะเข้าพิธีนาอินฉิก  จะต้องสวมใส่สีเขียวเข้ม  เซ็งกักชิจะสวมเสื้อสีชมพู  เปียถูกปล่อยยาว  ต่างจากนางวังที่โตขึ้นมาหน่อย  จะรวบเปียไว้  โดยผูกด้วยโบว์สีแดง เวลามีงานพระราชพิธี  หรือพวกนางวังอยู่เวรตามตำหนักต่างๆ  ก็จะมีชุดฮวารยอ  (เสื้อที่มีชายยาว  ไว้สำหรับสอดมือด้านใต้) เวลาทำงาน  จะมีเสื้อกันเปื้อนสีขาวสวมใส่

 

 

สำหรับซังกุง  จะมีชุดสำหรับพระราชพิธี  คือ ชุดวอนซัม ซึ่งผ่าจนถึงรักแร้ ซึ่งจะต้องสวมเครื่องประดับศีรษะอันใหญ่โต ในเวลาต่อมา เมื่อมีการยกเลิกการสวมวิกผมเพื่อบอกตำแหน่งก็มีการนำผมมารวบไว้ด้านหลังเฉยๆมีเพียงเครื่องประดับและชุดเท่านั้นที่สามารถบอกยศของผู้สวมได้

ความแตกต่างของชุดฮวารยอกับชุดทังอีก็คือ ชุดฮวารยอเป็นชุดของนางวัง ไม่มีลวดลายสวยงาม แต่ชุดทังอี คือ ชุดของเชื้อพระวงศ์ มีลวดลายตามศักดิ์ของผู้สวมใส่

นางวังที่ได้รับการถวายตัว จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นซึงอึนซังกุง และหากตั้งครรภ์หรือโปรดปรานเป็นพิเศษ ก็จะได้รับการแต่ตั้งให้เป็นพระสนม ซึงอึนซังกุงนี้ มีศักดิ์สูงกว่าซังกุงปกครองที่ดูแลฝ่ายในเสียอีก

เมื่อแรกเริ่มที่เข้ารับพิธีนาอินฉิก นอกจากที่จะมีพระมเหสีเป็นองค์ประธานแล้ว นางวังจะต้องปฏิญาณต่อเชโจซังกุง หรือซังกุงปกครองด้วยว่า ไม่ว่าจะทำผิดด้วยประการใด จะต้องสำเร็จโทษกันเองภายใน อย่าได้แพร่งพรายออกไปให้เป็นที่เสื่อมเสียต่อแนเมียงบู (ฝ่ายใน) แม้แต่พระมเหสีที่เป็นผู้ดูแลฝ่ายในก็ต้องปิดบัง เพราะการทำผิดของนางในถือว่าเป็นความผิดของซังกุงผู้ดูแลรับผิดชอบ จึงอาจจะถูกล้มล้างอำนาจยกแผงก็เป็นได้

นางวัง ถือคติหนึ่งที่ว่า “นางวังคือสตรีของพระราชา” ซึ่งไม่ว่าใครก็ไม่สามารถเกี้ยวพาหรือฉุดคร่าไปเป็นภรรยาได้ แม้แต่พระสนมหรือพระมเหสีที่มีสถานะถูกปลดหรือเมื่อเปลี่ยนรัชกาล “สตรีของพระราชา” ทั้งหมดนี้ หากมีอันที่จะต้องออกไปอยู่นอกวัง จะต้องรักษาความบริสุทธิ์ไว้ยิ่งชีพ นางวังที่ถูกปลด แม้จะถูกปลดก็ไม่สามารถมีสามีได้ มีทางเลือกเพียงสองทาง คือ ออกบวช หรือฆ่าตัวตายเท่านั้น มิเช่นนั้นก็ต้องหนีออกไปให้ไกลเท่าไหร่ได้ยิ่งดี เพราะอาจถูกสำเร็จโทษตามบัญญัติฝ่ายในได้ ส่วนพระมเหสีหรือพระสนมที่ถูกปลด มีเพียงทางเลือกเดียวคือ การออกบวช (แต่ที่เห็นๆคือเพียงนุ่งขาวด้วยผ้าป่านเนื้อหยาบ) ภายใต้การกักบริเวณไว้ในที่พัก ส่วนการเปลี่ยนรัชกาล พระมเหสีมีสถานภาพที่ดีกว่า คือได้เป็นพระพันปี อาศัยอยู่ในวัง ไม่ว่ารัชกาลจะเป็นโอรสพระนางหรือไม่ ต่างกับพระสนมที่ต้องออกไปอยู่นอกวังและออกบวชเพียงสถานเดียว

หากฝ่ายในทำผิด จะมีการสำเร็จโทษ 3 ประการให้เลือก คือ เมื่อพระราชโองการมาพร้อมกับถาดเครื่องสำเร็จโทษ หลังจากที่อ่านโองการสำเร็จโทษ นักโทษจะต้องเลือกเอาว่าจะตายเช่นไร ในถาดจะมียาพิษ ผ้า (ใช้ผูกคอตาย) และมีดสั้น แต่ส่วนมากก็จะมีเพียงการประทานยาพิษ (สงสัยมีธรรมเนียมไว้หรูๆ มั้ง 555+) แต่มีเหตุการณ์หนึ่ง คือ การปลดและถวายยาพิษต่อพระมเหสีแจฮยอนในพระเจ้าซองจง ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดผลตามมาอย่างใหญ่หลวง คือ เมื่อพระโอรสของพระนางขึ้นครองราชย์สืบต่อ ก็ได้มีการสังหารผู้เกี่ยวข้องกับการตายของพระมารดา เรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “การสังหารหมู่ปราชญ์ปีมูโอ”  ที่นำไปสู่กลียุคและการล้มล้างองค์ชายยอนซันโอรสของพระนาง ใครเคยดูก็จะรู้ว่าเหตุการณ์นี้ก็คือเหตุการณ์ที่ยุนโซวาฝากผ้าเปื้อนเลือดไปให้วอนจานั่นแหละ

และการผูกคอก็มีในประวัติศาสตร์เป็นที่โด่งดังอีก ก็คือการแขวนคอนางออลูตง ที่จริงนางออลูตงเนี่ย ไม่ได้เกิดสมัยเดียวกับพระเจ้าซองจง ยุนโซวาหรือคิมชูซอนหรอกครับ แต่คนเขียนบทเขาเอาไปใส่รวมไว้ให้มันเศร้าๆ เท่านั้นเอง ออลูตงในประวัติศาสตร์เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าเซจง ก่อนหน้าพระเจ้าซองจงหลายรัชกาลหยุคับ ออลูตงเป็นภรรยาของเชื้อพระวงศ์คนหนึ่ง แล้วแอบไปมีความสัมพันธ์กับพระโอรสของพระเจ้าเซจง จนเรื่องแดงออกมา จึงมีการนำนางไปสำเร็จโทษด้วยการแขวนคอประจาน คนเกาหลีถือว่าเป็นความอัปยศที่สุดที่มีสตรีต่ำทรามถึงขั้นคบชู้สู่ชาย แม้กระทั่งในประวัติศาสตร์ก็ไม่ต้องการเอ่ยชื่อ เพียงกล่าวชื่อนางว่า“ออลูตง” ซึ่งแปลว่า “ความอัปยศ”

 

 

 

ที่มา: http://writer.dek-d.com/army-gang/story/viewlongc.php?id=758922&chapter=1
3 มิ.ย. 56 เวลา 15:24 4,029 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...