สงครามยุทธหัตถีในมุมมองต่างชาติ

 

 

 

 

 

 



อย่างที่เราชาวไทยทราบกันดีอยู่แล้วว่าสงครามยุทธหัตถีในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้นทำให้ประเทศไทย(สยาม)ของเรายืนยงเป็นอิสรภาพโดยสมบูรณ์ ซึ่งความยิ่งใหญ่ของสงครามครั้งนี้ได้ถูกบันทึกไว้โดยผู้คนหลายชาติ ในมุมมองที่แตกต่างกันออกไป

ในพงศาวดารมอญจารึกเรื่องนี้ไว้ว่า
"ฝ่ายพระเจ้ากรุงไทย ๒ พี่น้อง ครั้นทรงทราบก็รีบยกกองทัพออกไป จึงพบพระมหาอุปราชา ณ เมืองสุพรรณบุรี ขณะนั้นรามัญกับไทยรบกันเป็นสามารถ พระเจ้ากรุงไทยผู้เป็นพระเชษฐาไสช้างเข้าชนกับพระมหาอุปราชา ช้างพระมหาอุปราชาเสียทีเบือนไป พระเจ้ากรุงไทยฟันด้วยพระแสงง้าว พระมหาอุปราชาถึงแก่กรรมในที่นั้น"

ส่วนจดหมายเหตุโปรตุเกสกล่าวว่า
"เมื่อพวกไพร่พลไทยเห็นเสด็จพระองค์ดำไม่หวาดหวั่นเช่นนั้นก็พากันกลับมีใจ ตั้งหน้าคอยจะต่อสู้ข้าศึกมิได้ครั่นคร้าม ทั้งสองฝ่ายได้รบพุ่งกันเป็นสามารถ ด้วยผลของการศึกครั้งนี้จะตัดสินเด็ดขาดว่าชาตากรุงสยามจะเป็นอย่างไรต่อไป จอมพลทั้ง ๒ ฝ่ายต่างทรงช้างพระที่นั่งเที่ยวค้นกันจนพบแล้ว ขับช้างทรงเข้าชนกันโดนทะนงองอาจ ทั้ง ๒ พระองค์ไม่อาลัยในพระชนมชีพเท่ากับกลัวอายที่จะปราชัยแก่ข้าศึกอันเป็นที่เกลียดชัง และที่สุดเจ้าพม่าปราชัยสิ้นพระชนม์ในเวลามีอาการเต็มไปด้วยความโกรธและความแค้นเป็นกำลัง เมื่อจอมพลสิ้นพระชนม์แล้ว พวกไพร่พลหงสาวดีก็ตื่นแตกหนี ฝ่ายไทยออกล่าไปสักเดือนหนึ่งเหมือนกับไล่ฝูงสัตว์ป่า ฆ่าฟันเสียโดยมิได้มีความกรุณา"



ส่วนพงศาวดารพม่ากลับบันทึกผิดแผกแตกต่างออกไป ว่าสงครามครั้งนี้มิได้ทำกันที่หนองสาหร่าย แต่ทำกันที่ชานพระนคร วันนั้นพระมหาอุปราชายืนช้างอยู่กลาง พระเจ้าแปรยืนช้างอยู่ข้างขวา นัดจินหน่องยืนช้างอยู่ข้างซ้าย ต่อไปข้างขวาคือมังจาชโร ขี่ช้างตกมันกำลังดุจนต้องเอาผ้าปิดตา สมเด็จพระนเรศวรทรงคชาธารออกจากพระนคร พอเห็นพระมหาอุปราชาก็ขับช้างตรงเข้าไปหา มังจาชโรจึงเปิดผ้าคลุมตาช้างหวังจะขับเข้าชนช้างสมเด็จพระนเรศวร แต่ช้างตกมันกลับแล่นเข้าแทงช้างของพระมหาอุปราชาจนสาหัสถึงกับต้องยืนพิงกับต้นไม้ ข้าศึกยิงปืนมาถูกพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์บนคอช้าง แต่นายท้ายช้างพยุงพระองค์ไว้ สมเด็จพระนเรศวรสำคัญว่าพระมหาอุปราชายังดีอยู่จึงยั้งช้างพระที่นั่ง นัดจินหน่องจึงไสช้างเข้าชนช้างสมเด็จพระนเรศวร ช้างของสมเด็จพระนเรศวรทานกำลังไม่ได้ก็ถอยกลับเข้าพระนคร

ส่วนหนังสือประวัติศาสตร์ที่ชาวอังกฤษผู้ปกครองพม่าเขียนก็ออกมาในแนวเดียวกับพงศาวดารพม่า มีบางฉบับว่าพระมหาอุปราชาถูกยิงด้วยธนู บ้างก็ว่าพระมหาอุปราชาทำให้สมเด็จพระนเรศวรบาดเจ็บ พระองค์ดำจึงเรียกให้ทหารโปรตุเกสสองคนที่ติดตาม ยิงพระมหาอุปราชาจนสิ้นพระชนม์

ต่างฝ่ายต่างก็บันทึกผิดแผกแตกต่างกันออกไป เป็นพื้นฐานจิตใจของมนุษย์อยู่แล้วครับ ท่านผู้อ่านจะเลือกเชื่อฝ่ายไหนก็ใช้วิจารณญาณในการตัดสินเองนะครับ


16 พ.ค. 56 เวลา 07:14 4,304 1 130
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...