ปลอกเปลือกชีวิตผู้หญิงกล้าแห่งปี......ลีน่า จังจรรจา (ตอนที่ 1)

 

 

 

 

ปลอกเปลือกชีวิตผู้หญิงกล้าแห่งปี......ลีน่า จังจรรจา  (ตอนที่ 1)

 

 

ตอนที่ 1

แม่ค้าในสายเลือด

ถ้าชีวิตเลือกเกิดได้ แล้วคนเราจะเลือกยืนอยู่ตรงจุดไหนบนโลกใบนี้ดีล่ะ ก็ถ้าเป็นอย่างนั้น ใครต่อใคร ก็คงต้องแย่งกันเลือกที่จะคาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิดเป็นทายาทมหาเศรษฐีร้อย ล้าน พันล้านกันทั้งนั้น แต่ในเมื่อความจริง ไม่มีใครเลือกเกิดได้นี่ แล้วจะคิดมากไปทำไมล่ะ


“ดิฉันต้องปากกัดตีนถีบมาตั้งแต่เล็กๆ ชีวิตมันก็เหมือนละครน้ำเน่า คุกตารางก็ติดมาแล้ว จริงๆ ชีวิตมันเน่ายิ่งกว่านิยายซะอีก ดิฉันจึงได้คิดเสมอมาว่าชีวิตมันต้องสู้ถ้าเราไม่สู้ เราก็จะไม่ประสบความสำเร็จ ไม่งั้นวันนี้ คงไม่มีใครรู้จักดิฉัน”

‘ลีน่า จังจรรจา’ แม่ค้า นักธุรกิจ นักกฎหมาย หรือแม้แต่ ผู้หญิงที่อยากจะเป็นนักการเมืองหญิงคนหนึ่งในประเทศไทย
แต่ว่าใครๆ ก็ชอบมอง หาว่าดิฉัน ลีน่า จังจรรจาอยากดังบ้างล่ะ ลีน่า จังจรรจา บ้าบ้างล่ะ ลีน่า จังจรรจา เป็นพวก 18 มงกุฎ บ้างล่ะ เจ็บปวดค่ะ เจ็บปวดมาก…
บางทีการมองคนและตัดสินคนจากเปลือกนอก หรือตัดสินใครคนใดคนหนึ่งอย่างฉาบฉวย ก็ใช่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะทำให้เรารู้จักตัวตนที่แท้จริงของใครคนนั้นเสมอไป
คุณแน่ใจแล้วเหรอว่าสิ่งที่พวกคุณเห็นตามสื่อ มันทำให้พวกคุณ รู้จักตัวตนของผู้หญิงที่ชื่อ “ลีน่า จังจรรจา” เพียงพอแล้วจริงๆ

ยังไม่ทันที่ช่วงเวลารุ่งอรุณของเช้าวันใหม่จะมาเยือน เพียงแค่เสียงนาฬิกาดังเป้ง ๆ บอกเวลา 3 ยาม แสงสว่างจากแสงไฟนีออน จากบ้านเช่าสองชั้นกลางเก่ากลางใหม่ที่นับวันก็ยิ่งชำรุดทรุดโทรม ก็เริ่มส่องแสงสว่างขับไล่ความมืดให้จางหายไป
แล้วภายในเวลาอีกไม่กี่นาทีต่อมา สมาชิกทั้ง 12 คน ภายในบ้านหลังนี้ก็ต้องรีบสลัด ความเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า รวมทั้งความง่วงทิ้งไปในทันที เพื่อที่จะรีบลุกขึ้นมากัดฟันดิ้นรนทำมา ค้าขายเลี้ยงชีวิตกันต่อ เพราะทุกคนต่างมีความหวังว่าความยากจนที่มันกัดกร่อนจิตใจ อย่างไม่มีลดละนั้น มันอาจจะทุเลาเบาลงไปได้บ้าง ถ้าเราขยันทำมาหากิน

“ป๊า! เดี๋ยวฉันจะพาลีน่านั่งรถไฟ ไปที่สวนก่อนนะ ป๊าก็เอาน้ำตาลสด ที่เตรียมไว้ไปขายที่ตลาด แล้วกัน ดูลูกๆ ด้วย ฉันต้องรีบไปก่อน เดี๋ยวไม่ทัน”

ยังไม่ทันสิ้นเสียงพูด คุณแม่ล่วงมุ้ย แซ่ตั้ง ก็รีบกุลีกุจอ อุ้มเด็กหญิงวัยกำลังน่ารัก พร้อมกับหาบน้ำตาลสดตรงดิ่งไปขึ้นรถไฟทันที
แต่ก็ยังมิวายมีเสียงผู้ที่เป็นสามีตะโกนไล่หลังส่งท้ายด้วยความเป็นห่วงเป็นใย

“ม้า! พาลูกขึ้นรถ ขึ้นเรือก็ระวังตัวดีๆ ล่ะ อย่าให้ลูกตกน้ำตกท่าไปล่ะ”
“รู้แล้วจ๊ะป๊า ป๊าก็รีบเตรียมตัวไปขายของเถอะ ฉันไปก่อนแล้วนะ”

แม้ลึกๆ ในใจผู้เป็นสามีจะรู้สึกสงสารผู้เป็นภรรยาจับขั้วหัวใจ แต่จะทำอย่างไรได้ล่ะ ในเมื่อตัดสินใจจูงมือกันข้ามน้ำข้ามทะเลจากถิ่นฐานเมืองมังกร บ้านเกิดเมืองนอน มาตายเอาดาบ หน้าที่ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นสยามเมืองยิ้มโดยไม่รู้ชะตาชีวิตตัวเอง และร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาจนป่านนี้แล้ว
ชายวัย 40 ปีเศษๆ พยายามข่มตาให้หลับ พร้อมกับสูดลมหายใจเข้าปอดอย่างเต็มกำลัง เพื่อระงับความเจ็บปวดที่มากัดกินความรู้สึกให้เหนื่อยล้า และบั่นทอนกำลังใจ โดยพยายามปลุกปลอบใจตัวเองว่า เมื่อยังมีลมหายใจ ชีวิตก็ต้องสู้กันต่อไป
หลังจากเติมแรงใจให้ตัวเอง “คี่หงอ แซ่จัง” ก็เร่งรีบจัดแจงภาระหน้าที่ของตัวเองให้พร้อมสรรพ ก่อนจะเดินเท้ามุ่งหน้าสู่ตลาดวรจักร แหล่งทำมาหากินของตัวเอง

ภาพแบบนี้เมื่อ 49 ปีก่อนจะมีให้เห็นอยู่เกือบทุกวัน จะไม่ได้เห็นภาพชินตาเหล่านี้อยู่บ้าง ก็ต่อเมื่อ หญิงหรือชายวัยกลางคน ที่ตรากตรำทำงานหนัก เพื่อเลี้ยงลูกทั้ง 9 คน ที่คลอดออกมาชนิดหัวปีท้ายปี ล้มป่วยจนลุกขึ้นยืนไม่ไหวนั่นล่ะ
และภาพเหล่านี้ ก็ยังติดตาตรึงอยู่ในความทรงจำของสมาชิกภายในบ้านหลังนี้อย่างไม่มีวันลืม เช่นกัน แม้วันนี้มันจะกลายเป็นความทรงจำสีจางๆ ไปแล้วก็ตามที



“พี่เกิดที่วรจักรค่ะ วรจักรจะอยู่ใกล้ๆ ที่ตลอดคลองถม ครอบครัวพี่จะยากจนมาก มีพี่น้องทั้งหมด 12 คน คุณพ่อคุณแม่ก็ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากประเทศจีน เมื่อก่อนประเทศจีน เป็นประเทศคอมมิวนิสต์อดอยากมาก แล้วคุณพ่อคุณแม่พี่มีอาชีพเป็นชาวนา ขนาดเป็นชาวนา ข้าวที่จะกินเข้าไปในแต่ละมื้อก็ยังไม่มีเลย ต้องไปขุดมันกินต่างข้าว ความยากจนมันทำให้คุณพ่อคุณแม่พี่ยอมเสี่ยงที่จะข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากซัวเถา เป็นพวกหลบหนี เข้าเมืองมาที่ประเทศไทย ความยากจน มันทำให้เราต้องกัดฟันดิ้นรนน่ะ (น้ำเสียงเศร้าๆ)

พอทีนี้คุณแม่ไม่ได้เรียนหนังสือ อยู่ที่ประเทศจีนก็ไม่ได้เรียนหนังสือ มาเมืองไทยก็เป็นคนหลบหนีเข้าเมืองอีก ท่านก็เลยคลอดลูกเองที่บ้าน ซึ่งคุณแม่เล่าให้พี่ฟังว่า ตอนที่พี่จะคลอดออกมา คุณแม่ฝันว่าเห็นเหมือนมีเจ้าหญิงอินเดียอุ้มเด็กผู้หญิงคนหนึ่งมาให้ พอตื่นขี้นมาปุ๊บ คุณแม่พี่ก็เจ็บท้องคลอดพี่ทันทีเลย แม่ก็ตะโกนบอกคุณพ่อ คุณพ่อก็เลยมาช่วยทำคลอดพี่ คุณพ่อเป็นคนตัดสายรกให้กับลูกทุกคนด้วยมือของท่านเอง

และพอท่านคลอดพี่ออกมา คุณแม่ก็เล่าความฝันที่ว่าเห็นเหมือนเป็นเจ้าหญิงอินเดีย อุ้มเด็กผู้หญิงคนหนึ่งมาให้ ด้วยความฝันนั้นแหละ คุณพ่อคุณแม่เค้าก็เลยตั้งชื่อลูกสาวคนนี้ตามเจ้าหญิงแขกในหนังอินเดียก็ แล้วกัน เพราะว่าสมัยก่อนยุคนั้น 40-50 ปีที่แล้วคนนิยมชอบดูหนังอินเดียกันมาก ไม่ต้องมองใครที่ไหนไกลหรอก ก็แม่พี่นี่แหละ โอ้โห! ท่านชอบพวกหนังอินเดียมาก แล้วพวกนางเอกหนังอินเดียส่วนมากก็จะชื่อลีนา ลีน่า อะไรแบบนี้แหละค่ะ คุณพ่อคุณแม่ก็เลยตั้งชื่อให้พี่เป็น “เด็กหญิงลีนา แซ่จัง”

พี่เป็นลูกคนที่ 9 ของพ่อแม่ และก็มีพี่น้องทั้งหมด 12 คนด้วยกัน จริงๆ พี่ก็อยากรู้นะว่าตอนที่พี่เกิดสภาพแวดล้อม บรรยากาศตอนนั้นมันเป็นยังไง แต่เราจะไปคาดหวังอะไร คุณพ่อคุณแม่พี่เค้าไม่มีอารมณ์มานั่งสุนทรีย์อะไรเหมือนคนในสมัยนี้หรอก วันเกิด จริง ๆ ของพี่ พี่ก็ยังไม่รู้เลย (หัวเราะร่วน) จริงๆ นะ แต่วันเกิดตามบัตรประชาชนที่คุณพ่อไปแจ้งให้พี่นั้น เป็นวันที่ 14 สิงหาคม 2502 เป็นคนราศีสิงห์ค่ะ ซึ่งมันก็ไม่ใช่วันเดือนปีเกิดที่แท้จริงของพี่หรอกค่ะ เพราะพอเราเกิดมาแล้วกว่าพ่อแม่เราจะไปแจ้งเกิดที่สำนักงานเขตก็ช้ามาก กว่าจะไปแจ้งก็ลูกโตแล้ว เหมือนครอบครัวคนอื่นๆ ในสมัยก่อนน่ะ ถ้าคนที่เป็นเชื้อสายลูกหลานคนจีนจะเข้าใจ แล้วลูกเค้าเยอะ เค้าก็จะจำไม่ได้หรอกว่าจริงๆ แล้วลูกคนไหน เกิดวันไหนอะไรยังไง คนมันจนน่ะ คลอดเสร็จก็ต้องทำมาหากินต่อ

อีกอย่างหนึ่ง คุณแม่พี่เค้าก็เป็นคนหัวโบราณมาก ไม่มีทางยอมให้ใครรู้วันเกิด ที่แท้จริงของลูกๆ หรอก เพราะกลัวคนอื่นจะไปทำคุณไสย คือคนจีนโบราณเค้าจะคิดกันอย่างนั้น แล้วแม่หัวโบราณมาก จนป่านนี่พี่ก็ไม่รู้เลยว่าตัวเองเกิดวันที่เท่าไหร่ แต่พี่ก็จะถือเอาวันที่ 14 สิงหาคม ที่คุณพ่อคุณแม่ไปแจ้งเกิดให้เนี่ยแหละ เป็นวันคล้ายวันเกิดของพี่ในแต่ละปี (หัวเราะ) ก็เราไม่รู้ คุณแม่ไม่ได้บอก เราก็ต้องเอาแบบเนี่ยแหละ”

ความทรงจำสีจางๆ

“แล้วก็อย่างที่ได้เกริ่นจั่วหัวไปนั่นแหละ ตอนเด็กๆ เท่าที่พี่จำความได้ ทุกๆ วันเลย พอตีสอง ตีสาม พี่น้องพ่อแม่ก็ต้องตื่นลุกจากที่นอนกันหมดแล้ว เพราะแม่ต้องไปขายน้ำตาลสด แล้วสมัยก่อนช่วงนั้นก็มีข่าวซีอุยกำลังดัง ซีอุยที่ควักไส้ ควักพุง ควักตับเด็กมากิน คนเค้าเล่าขานกันซะน่ากลัว แล้วตอนนั้นพี่ก็ยังเล็ก เล็กสุด คุณแม่พี่ไปไหนก็จะกระเตงเอาพี่ไปด้วย

ก็คือคุณแม่ต้องไปหาบน้ำตาลสด ไปรับซื้อถึงที่สวนตาลเลยน่ะ แล้วก็ไม่ใช่ใกล้ๆ ด้วย ไกลมาก… คือตอนนั้นคุณแม่พี่อยู่กรุงเทพฯใช่มั้ยคะ อยู่ตรงตลาดวรจักรอย่างที่บอก ตีสองตีสามก็ต้องรีบตื่นลืมตาขึ้นมาแล้ว พี่เองก็ต้องตื่นกะเค้าด้วย พออาบน้ำแต่งตัวเสร็จแล้ว คุณแม่ก็ต้องรีบจรลีไปนั่งรถไฟที่หัวลำโพง แล้วก็ต้องอุ้มพี่ไปด้วยนะ

ตอนเด็กๆ น่ะ พอลงรถไฟปุ๊บจำได้แม่นเลยว่า เราต้องไปนั่งเรือข้ามไปอีกต่อหนึ่ง พอถึงสวนตาล ฟ้าก็สว่างพอดี แล้วเราก็จะไปซื้อน้ำตาลสดที่เค้าเอาลงมาจากต้นสดๆ นั้นแหละ และก็ต้มที่สวนนั้นเลย เอาฟืนมาก่อไฟกองใหญ่ เอากระทะใบใหญ่ๆ มาต้มเพื่อกันไม่ให้มันบูดมันเสีย พอต้มเสร็จแล้วก็เอาใส่หาบ แล้วก็หาบมาขึ้นเรือ ขึ้นรถไฟเอากลับมาที่บ้าน เป็นอย่างนี้มาตลอดมันเป็นภาพที่พี่จำความได้มาตั้งแต่เด็กๆ”

และแม้จะเป็นเด็กเล็กๆ วัยเพียงไม่กี่ขวบ แต่ทุกเช้าที่ถูกปลุกให้ลุกจากที่นอน ที่มีพี่ๆน้องๆ นอนเรียงกันเป็นแผงอัดแน่นยังกับปลากระป๋อง แต่ “เด็กหญิงลีนา” ก็จะลุกขึ้นมา เดินตามหลังผู้เป็นแม่ ทุกเช้าอย่างไม่เคยออกอาการงอแงเฉกเช่นเด็กคนอื่นๆ เลยสักครั้ง ตรงกันข้าม “เด็กหญิงลีนา” กลับเป็นเด็กเรียบร้อย ว่านอนสอนง่าย และยังรู้จักช่วยแบ่งเบาภาระของผู้เป็นแม่อีกต่างหาก….

“ตอนเล็กๆ พี่เป็นเด็กเลี้ยงง่ายมากๆ ไม่เคยร้องไห้กระจองอแงสักกะนิด เลี้ยงง่ายมากๆ อาจเป็นเพราะว่าเรารู้ว่าบ้านเราจนแค่ไหน และพี่ก็เป็นเด็กดีด้วย (ยิ้มหวาน) สมัยเด็กๆ พี่ชอบช่วยคุณแม่ทำงานบ้านซักผ้า จำความได้ ตอน 7 ขวบก็ทำงานบ้านแล้ว ทั้งซักผ้า ถูบ้าน ขัดห้องน้ำ อย่างเรื่องซักเสื้อผ้า พี่เป็นลูกคนที่ 9 ใช่มั้ย แล้วต่อมาก็มีน้องชาย และก็น้องสาวอีก เสื้อผ้าของทุกคนในบ้านพี่ซักให้หมด ของคุณพ่อคุณแม่ด้วย แหม! เป็นคนรักสะอาดมาก” (ยิ้มอย่างภาคภูมิใจ)

แม่ค้าในสายเลือด

“พอมาอายุ10 ขวบ คราวนี้ก็ได้มาเป็นแม่ค้า ตามพ่อกับแม่แล้วทีนี้ คือตอนนั้นพี่ก็เข้าโรงเรียนแล้ว พี่ก็เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดพระพิเรนทร์ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับตลาดวรจักร ก็เรียนตามประสาคนจนน่ะ ซึ่งก็เป็นอันรู้กันว่าเรียนโรงเรียนวัดก็จะเรียนแค่ครึ่งวันเท่านั้น พอเลิกเรียนตอนเที่ยงปุ๊บ พี่ก็จะรีบกลับมาที่บ้านเลย เพราะรู้ว่าพอมาถึงที่บ้านคุณแม่ก็จะหาบ น้ำตาลสดไปให้นั่งขายอยู่ริมถนน พี่ก็จะนั่งขายน้ำตาลสดที่แม่หาบเอามาทิ้งไว้ให้นี่แหละตั้งแต่บ่ายโมงถึง หนึ่งทุ่มเลยนะ ขายถุงละสลึงเดียวเอง วันหนึ่งๆ พี่ก็จะขายน้ำตาลสดได้ประมาณ 25 บาท พอขายถึงทุ่มหนึ่งปุ๊บ แม่พี่ก็จะมาหาบเอาของกลับ เราก็จะเดินตามแม่กลับบ้าน เป็นอย่างนี้อยู่ทุกๆ วัน

ชีวิตในวัยเด็กของพี่วันๆ ก็ทำหน้าที่เป็นแม่ค้าขายน้ำตาลสดนี่แหละ ไม่มีเวลา ไม่มีโอกาสได้ไปวิ่งเล่น หรือไปเที่ยวที่ไหนกับใคร หรือว่าเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ เค้าหรอกนะ เพราะอาชีพพ่อค้า แม่ค้าก็จะค้าขายกันอย่างไม่มีวันหยุด แล้วพี่น้องทุกคนในครอบครัวพี่ก็ไม่ได้มีอารมณ์ต้องนั่งเล่นตามประสาเด็กๆ เหมือนลูกๆ บ้านคนอื่นๆ เค้าหรอก



ความสุขที่สุดในวัยเด็กก็เห็นจะเป็นช่วงที่ถึง เทศกาลตรุษจีน สาร์ทจีนนั่นแหละที่พี่น้องได้มาอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา เพราะวันนั้นเราจะต้องมานั่งคุกเข่าไหว้บรรพบุรุษกัน แล้วคุณพ่อคุณแม่ก็จะหยุดขายของ ก็ไหว้เจ้าเสร็จ ก็จะพาเราไปเที่ยว คือไม่ได้ไปไหนไกลจากตลาดวรจักรนักหรอกนะ แต่แค่นั้นก็มีความสุขแล้วล่ะ

แล้วก็ไม่ใช่แต่พี่ลีน่าคนเดียวเท่านั้นนะ ที่ต้องมานั่งขายของน้ำตาลสด พี่ๆ เค้าก็ขาย น้ำตาลสดเหมือนเราเหมือนกัน ตอนนั้นพี่คนหนึ่งขายอยู่ตรงเวิ้งนครเกษม ใกล้ๆ กับสำเพ็ง อีกคนหนึ่งขายที่ตลาดสวนมะลิ ส่วนอีกคนหนึ่งขายตลาดศรีวรจักร ของพี่ลีน่าขายตลาดวรจักร แล้วสุดท้ายอีกคนหนึ่งก็ไปขายอยู่หน้าสมาคมYMCA ซึ่งสมาคมYMCA นี่จะสอนภาษาอังกฤษ สอนพวกดนตรีอะไรอย่างนี้นะคะ ขายอยู่ถึง5 สาขาด้วยกัน ก็แม่เราลูกเยอะไง และก็ยากจนก็ต้องช่วยกันทำมาหากิน

เวลาคนมันจน มันก็จนมากเหลือเกินนะ คือเรายากจนมาก กับข้าวที่จะกินยังไม่มี ก็จะต้องไปขอเค้ากินก็ยังเคยมีเลยเชื่อมั้ย ก็คือหมายความว่าร้านอะไหล่แถวตลาดวรจักรมีเยอะ เค้าก็เอากับข้าวเค้าที่ให้กับลูกน้องที่มารับ-ส่งอะไหล่แล้วกินเหลือ พวกของเหลือๆ นะก็จะ เทรวมใส่หม้อมา แล้วก็ต้มเป็นจับฉ่ายมาให้เรา โอ้โห้ (ทำเสียงสูงตาลุกวาว) มันก็เป็นอาหารเหลาที่วิเศษสำหรับเราแล้วน่ะ ดีกว่ากินข้าวกับน้ำปลานะ (หัวเราะเสียงใสเชียวล่ะค่ะ )

แล้วพี่เองก็ยังจำได้นะว่าวันไหนมีเงิน 6 สลึง ก็จะดีใจมากเลย ก็จะเอาหม้อใหญ่ๆ ไปซื้อก๋วยเตี๋ยวเป็ด แล้วก็บอกคนขายไปว่าขอน้ำเยอะๆ เต็มหม้อนะคะ ซึ่งคนขายเค้าก็ใจดีกับเรา เหมือนกัน คือเหมือนเค้าก็สงสาร เวทนาเรานะเค้าก็ให้เราเยอะเชียวแหละ เราก็จะเอากลับมาใส่เครื่องปรุงเยอะๆ แล้วก็มากินกับข้าว แหม! อร่อยจังเลย (ยิ้มหวาน) มันแบบว่าแหม! มันรู้สึกโอ้โห! เราได้กินก๋วยเตี๋ยวเป็ด แต่มันเหมือนเป็นอาหารเหลาของเราเลย(หัวเราะ) หม้อหนึ่งมากินกันตั้ง 10 กว่าคนน่ะ หม้อละ 6 สลึง แต่มันเป็นอาหารที่ครอบครัวเราแบบ กว่าจะหาเงินมาซื้อกินได้เหนื่อยเหลือทน

คือเราก็ขายน้ำตาลสดมาตั้งแต่เด็กๆ พออายุถึง11ขวบ คุณแม่พี่ก็มาหกล้ม แขนหักซะนี่ ก็เลยหาบของไปขายต่อไปไม่ได้แล้ว ตอนนั้นท่านก็อายุก็เริ่มเยอะขึ้นเรื่อยๆ นึกออกใช่มั้ยคะ สภาพผู้หญิงวัยกลางคน ที่ผ่านการทำงานมาอย่างหนักหนาสาหัส แล้วพอคุณแม่แขนหัก ก็หาบของไปขายไม่ได้ พี่ก็เลยต้องเป็นคนหาบเอาน้ำตาลสดไปขายแทนแม่เองเลย


มันก็เลยมาถึงจุดเปลี่ยนอีกจุดหนึ่งของชีวิตพี่แล้ว เพราะคราวนี้พี่ต้องออกจากโรงเรียนเลย ตอนนั้นจำได้ว่าพี่เพิ่งเรียนอยู่แค่ป.5 เองมั้ง ตอนนั้นอายุประมาณ11 ขวบ ก็ตัดสินใจออกมาหาบของขายแทนแม่ทุกวันๆ ทำตลอด เนี่ยชีวิตในวันเด็กพี่ก็เป็นแบบเนี่ยอยู่กับอาชีพการเป็นแม่ค้า ค้าขายมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ เหมือนมันฝังอยู่ในสายเลือดเลย (หัวเราะร่วน)

ทีนี้พอโตขึ้นอีกหน่อย ทีนี้เก่งล่ะ ด้วยความที่เราขายของเป็นประจำทุกวันใช่ ทีนี้พอเก่งขึ้น คล่องขึ้นพี่ก็มาขายที่ตลาดวรจักร เชื่อมั้ย อุ้ย! จากขายวันหนึ่งเนี่ยได้วันละ ประมาณ หนึ่งร้อย สองร้อยบาทเนี่ย ทีนี้วันหนึ่งเราขายได้ตั้งพันแปดเชียวนะ (ทำตาโต) สมัยก่อนพันแปดเงินใหญ่นะ เงินใหญ่ ก็คิดดูค่าเงินเมื่อประมาณ 35 ปีก่อน สมัยนั้นยังใช้เงินบาท เงินสลึงกันอยู่เลย

ตอนนั้นพี่อายุราวๆ 15 ขวบแล้วล่ะ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราขายของดีมาก เริ่มได้เงิน เป็นกอบเป็นกำ และก็มีเงินพอเหลือเก็บด้วยล่ะ คือด้วยความที่เราเป็นคนไม่อยู่นิ่ง ชอบพัฒนา เหมือน เป็นเด็กที่มีเลือดแม่ค้าอยู่ในสายเลือดอย่างที่บอกนั่นละ เป็นคนตัวเล็กใจใหญ่ ชอบคิด ทำนู่นทำนี่ ทีนี้เรามีร้านขายน้ำตาลสดแล้วใช่ พี่ก็คิดได้ว่าเราน่าจะมีน้ำหลายๆ อย่างให้ลูก ค้า ได้เลือกซื้อ ดีกว่ามาขายน้ำตาลสดอย่างเดียว ก็เลยทำน้ำลำใย น้ำเก๊กฮวย น้ำมะพร้าว มาขายเพิ่ม อุ้ย! ซึ่งพอเอาไปขาย มันก็ขายได้ดีแหละ คราวนี้เอาใหญ่เลย คิดใหญ่เลย ขายทั้งซาหริ่ม ขายลอด ช่องสิงคโปร์ ขายน้ำแห้ว ขายน้ำวุ้น ขายน้ำเฉาก๊วย โอ้ย! ขายอยู่สิบกว่าอย่าง เก่งมาก อายุแค่ 15 เองนะ (ยิ้มแววตาเป็นประกาย ท่าทางภาคภูมิใจ)

คือตอนนั้นเราก็ขยันนะ ทำทุกอย่างคือพี่น้องคนอื่นเค้าก็ขายกันแต่น้ำตาลสด แต่พี่ไม่ทำนะ ขายน้ำตาลสดอย่างเดียวเราไม่เอา เรายอมตื่นแต่เช้าตรู่ เหนื่อยเพิ่มขึ้นมานิดหนึ่งนั่ง รถเมล์ออกจากบ้านไปมหานาคซื้อเฉาก๊วย ลอดช่อง กลับมาก็มานั่งคั้นน้ำกะทิ แล้ว คือพี่เป็นคน ชอบเรียนรู้ไปเรื่อยๆ เป็นคนที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง ทำงานตลอด คือเราเองก็กัดฟันสู้เหมือนกัน เพราะรู้แล้วว่าความยากจนมันลำบากแค่ไหน”

แค่เริ่มต้นย้อนวันวานในวัยเด็กเพื่อทำความรู้จักกับประวัติของ ชีวิตของ “เด็กหญิงลีนา แซ่จัง” เราก็ได้พบกับเรื่องราวชีวิตต้องสู้ ที่มีความ ลำบากยากจนเป็นแรงผลักดันให้ต้องปากกัดตีนถีบอย่างไม่มีท้อถอย

ฉบับหน้าเรื่องราวชีวิตของ “เด็กหญิงลีนา แซ่จัง” จะรันทดหดหู่ และต้องกัดฟันสู้กันขนาดไหนติดตามฉบับหน้าค่ะ


โปรดติดตาม ตอนที่ 2 “ดอกรักผลิบาน”  นิยายชีวิต ลีน่า จังจรรจา

 

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...