ช้างเผือกไทย กับลักษณะมงคล 7 ประการ

 


 

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          พบช้างเผือก แก่งกระจาน เปิดตำรา ช้างเผือกไทย กับลักษณะมงคล 7 ประการ เรื่องควรรู้เกี่ยวกับ ช้างเผือก 

          สืบเนื่องจากกรณีที่มีข่าวพบช้างเผือก แก่งกระจาน เป็นช้างขนาดเล็กอายุประมาณ 3-4 ปี อาจมีลักษณะคชลักษณ์ว่าเป็นช้างสำคัญ คือ มีสีขาวนวลอมชมพูเหมือนสีหม้อใหม่ ขายาว ท่าทางสง่างาม ซึ่งยังคงอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าจะใช่ ช้างเผือก หรือไม่... ว่าแต่ ลักษณะช้างเผือก เป็นอย่างไร วันนี้เรามี ตำราช้างเผือก พร้อม ๆ กับเรื่องราวของ ช้างเผือกไทย คู่พระบารมีรัชกาลที่ 9 มาฝากกัน

          สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน  โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้กล่าวถึงคำว่า ช้างเผือก ว่า แต่เดิมเป็นคำสามัญที่คนทั่วไปใช้เรียกช้าง ซึ่งมีผิวหนังเป็นสีชมพูแกมเทา อันเป็นสีที่ผิดแปลกไปจากสีของผิวหนังช้างธรรมดา ที่ปกติมีสีเทาแกมดำ โดยมิได้คำนึงถึงลักษณะอื่น ๆ ประกอบด้วย

          ฉะนั้น คำว่า ช้างเผือก ตามความหมาย ที่เราเข้าใจกัน จึงอาจเป็นทั้งช้าง ซึ่งมีมงคลลักษณะครบ หรือไม่ครบก็ได้ และเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในเรื่องนี้ ทางราชการจึงได้กำหนดศัพท์ที่ใช้เรียกชื่อช้าง ซึ่งมีลักษณะพิเศษขึ้นใหม่ ตามพระราชบัญญัติรักษาช้างป่า พุทธศักราช 2465 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 38 หน้า 45 วันที่ 26 มิถุนายน 2464) มาตรา 4  โดยระบุไว้ว่า ช้างสำคัญ ให้พึงเข้าใจว่า เป็นช้างที่มีมงคลลักษณะ 7 ประการ ดังนี้

          1. ตาขาว

          2. เพดานขาว

          3. เล็บขาว

          4. ขนขาว

          5. พื้นหนังขาว (หรือสีคล้ายหม้อใหม่)

          6. ขนหางยาว

          7. อัณฑะโกศขาว (หรือสีคล้ายหม้อใหม่)

          ส่วน "ช้างสีประหลาด" ให้พึงเข้าใจว่า เป็นช้างที่มีมงคลลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดใน 7 อย่าง ที่กล่าวไว้ในเรื่องช้างสำคัญ จากความหมายตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ ชี้ให้เห็นชัดว่า "ช้างสำคัญ" คือ ช้างเผือกที่มีลักษณะครบถ้วน สำหรับช้างเผือกตามความหมายของคนทั่ว ๆ ไป ซึ่งส่วนใหญ่สังเกตจากลักษณะสีของผิวหนังนั้น อาจไม่ใช่ช้างสำคัญ หรือช้างเผือก ที่มีลักษณะครบถ้วนก็ได้ เพราะสีของช้างเป็นแต่เพียงมงคลลักษณะข้อ 1 ในจำนวนมงคลลักษณะ 7 ข้อ ซึ่งเข้าเกณฑ์ที่เรียกว่า "ช้างสีประหลาด" เท่านั้น ดังนั้น ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงไม่ใช้คำว่า "ช้างเผือก" เพราะเกรงว่า จะเข้าใจสับสนกัน

          นอกจาก "ช้างสำคัญ" และ "ช้างสีประหลาด" แล้ว พระราชบัญญัติฉบับนี้ยังได้กล่าวถึง "ช้างเนียม" ไว้ด้วย โดยระบุลักษณะของช้างเนียมไว้ 3 ประการ คือ พื้นหนังดำ งามีลักษณะดังรูปปลีกล้วย และเล็บดำ ซึ่งเป็นลักษณะของช้างที่แปลกประหลาดหายาก ดังนั้น ในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติรักษาช้างป่า กำหนดให้ผู้ที่ครอบครอง ช้างสำคัญ ช้างสีประหลาด ช้างเนียม ต้องนำช้างดังกล่าวขึ้นทูลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับได้กำหนดบทลงโทษไว้ในมาตรา 21 ว่า ผู้ใดมีช้างสำคัญ ช้างสีประหลาด หรือช้างเนียม แล้วปล่อยเสียหรือปิดบังซ่อนเร้นช้างนั้นไว้ ไม่นำขึ้นทูลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500 บาท และโทษนี้ ไม่ลบล้างการที่ช้างนั้นจะต้องพึงริบเป็นของหลวง

          นอกจากนี้ สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ยังได้บรรยายลักษณะสำคัญของช้างเผือก ไว้ดังนี้ ช้างเผือก เป็นช้างพลายรูปงาม งาขวา-ซ้ายเรียวงาม กายสีดอกบัวแดง ขนตัวขุมละสองเส้น ขนโขมด สีน้ำผึ้งโปร่ง ขนบรรทัดหลังสีน้ำผึ้งโปร่งเจือแดง ขนหูสีขาว ขนหางสีน้ำผึ้งเจือแดงแก่ ตาขาวเจือเหลือง เพดานปากขาวเจือชมพู อัณฑะโกศขาวเจือชมพู เล็บขาว เจือเหลืองอ่อน หูและหางงามพร้อม เสียงเป็นศัพท์แตรงอน

          ส่วนในด้านฐานะของช้างเผือกนั้น พบว่า ช้างเผือกเป็นราชพาหนะคู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ มีฐานะเทียบเท่าเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า ดังจะเห็นได้จากพระกรรม์ภิรมย์ คือ ฉัตร 5 ชั้น ทำด้วยผ้าขาวลงยันต์ มี 3 องค์ด้วยกันคือ พระเสนาธิปัต พระฉัตรชัย และพระเกาวพ่าห์ เป็นเครื่องสูงที่ใช้กางเชิญนำพระราชยาน เวลาเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตรา และใช้พระกรรม์ภิรมย์สวมถุงเข้ากระบวนพระอิสริยยศแห่นำเสด็จพระราชวงศ์ชั้นเจ้าฟ้า ในพระราชพิธีโสกันต์ เป็นต้น

          อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า ในพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ ก็ใช้พระกรรม์ภิรมย์สวมถุงแห่นำเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังเห็นได้จากที่พราหมณ์ อ่านคำฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างและกาพย์ขับไม้ ซึ่งถือว่าเป็นของสูงจะมีเฉพาะพระราชพิธีสำคัญ ๆ ได้แก่ การสมโภชพระมหาเศวตฉัตร และเครื่องศิริราชกกุธภัณฑ์ในพระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ และพระราชพิธีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นพิเศษ เช่น คำฉันท์ดุษฎีสังเวย และกาพย์ขับไม้สมโภชพระพุทะมหมณีรัตนปฎิมากร เนื่องในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี เป็นต้น

          สำหรับ ช้างสำคัญในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีทั้งหมด 10 เชือก ในปัจจุบันอยู่ที่โรงช้างต้น สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ยกเว้นพระเศวตววรรัตนกรี ซึ่งได้ล้ม ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2510 และพระเศวตสุรคชาธาร ซึ่งล้ม ณ โรงช้างต้น เมื่อ พ.ศ. 2520 สำหรับรายชื่อที่ช้างเผือกเชือกทั้งหมด มีดังนี้

 1. พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ

          ช้างพลายเผือกโท ลูกเถื่อน นายแปลก คล้องได้ที่ จังหวัดกระบี่ เมื่อ พ.ศ. 2499 พลโท บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย น้อยเกล้าฯ ถวาย เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 เป็นช้างสำคัญในตระกูลพรหมพงศ์ จำพวกอัฎฐทิศ ชื่อ กมุท สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 11พฤศจิกายน พ.ศ. 2502

          หลังจากสมโภชขึ้นระวางแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เลี้ยงไว้ที่สวนสัตว์ดุสิต (เขาดินวนา) เป็นการชั่วคราว ได้ย้ายไปอยู่ที่โรงช้างต้น ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อ พ.ศ. 2519

 2. พระเศวตวรัตนกรีฯ

          ช้างพลายเผือกลูกบ้าน ตกลูกที่บ้านนายแก้ว ปัญญาคง ตำบลอ่อนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่พันตำรวจเอกนิรันดร ชัยนาม ผู้ว่าราชการ จังหวัดเชียงใหม่ น้อมเกล้าฯ ถวาย สมโภชขึ้น ระวาง ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2509

 3. พระเศวตสุรคชาธารฯ

          ช้างพลายเผือก ลูกเถื่อน นายเจ๊ะเฮง หะระดี กำนันตำบลการอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ได้ลูกช้างพลัดแม่ พันตำรวจเอก ศิริ คชหิรัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา น้อมเกล้าฯ ถวาย เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2511 เป็นช้างสำคัญในตระกูลพรหมพงศ์จำพวกช้าง 10 หมู่ ชื่อ ดามพหัตถี สมโภชขึ้นระวาง ณ จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2511

 4. พระศรีเศวตศุภลักษณ์ฯ

          ช้างพังเผือก ลูกเถื่อน ชื่อเจ้าแต๋น กรมป่าไม้ได้มาจากอำเภอ พนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้นำไปเลี้ยงไว้ ณ วนอุทยานเขาช่อง จังหวัดตรัง ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง และอธิบดีกรมป่าไม้ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย เป็นช้างสำคัญในตระกูลวิษณุพงศ์ จำพวกอัฎฐคช ชื่อ ดามพหัสดินทร์สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2519

 5. พระเศวตศุทธวิลาศฯ

          ช้างพลายเผือก ลูกเถื่อน ชื่อบุญรอด คนงานของกรมป่าไม้ได้พบลูกช้างที่ป่าบริเวณแม่น้ำแควน้อย จังหวัดกาญจนบุรี ต่อมาได้นำมาเลี้ยงไว้ ณ อุทยานเขาเขียว จังหวัดชลบุรี อธิบดีกรมป่าไม้ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย เป็นช้างสำคัญในตระกูลวิษณุพงษ์ จำพวกอัฎฐคช ชื่อดามพหัสดินทร์ สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2520

 6. พระวิมลรัตนกิริณีฯ

          ช้างพังเผือก ลูกเถื่อน ชื่อ ขจร นายปรีชาและนางพิมพ์ใจ วารวิจิตร ได้มาจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และได้นำมาเลี้ยงไว้ที่บ้าน ณ ทุ่งสีกัน กรุงเทพฯ นายปรีชาและนางพิมพ์ใจ วารวิจิตร ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย เป้ฯช้างสำคัญในตระกูลพรหมพงศ์จำพวกอัฎฐทิศ ชื่อกมุท สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2520

 7. พระศรีนรารัฐราชกิริณีฯ

          ช้างพังเผือก ลูกเถื่อน ชื่อจิตรา นายมายิ มามุ ราษฎร บ้านกูมุง หมู่ที่ ๗ ตำบลจะแนะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ได้ลูกช้างพลัดแม่บนเทือกเขากือซา นายวัชร สิงคิวิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส น้อมกล้าฯ ถวาย เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2520 เป็นช้างสำคัญในตระกูลพรหมพงศ์ จำพวกอัฎฐทิศ ชื่อ อัญชัน สมโภชขึ้นระวาง ณ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2520

 8. พระเศวตภาสุรคเชนทร์ฯ

          ช้างพลายเผือก ลูกเถื่อน ชื่อภาศรี นายสุรเดช มหารมย์เจ้าของไร่ภาศรี ใกล้เขื่อนแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ได้มาจากชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านหนองปีนแตก ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี นายศุภโยค พาณิชย์วิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี น้อมเกล้าฯ ถวายสมโภชขึ้นระวาง ณ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 เป็นช้างสำคัญในตระกูลวิษณุพงษ์ จำพวกอัฎฐคช ชื่อ ดามพหัสดินทร์

 9. พระเทพวัชรกิริณีฯ

          ช้างพังเผือกลูกเถื่อน ชื่อขวัญตา พระปลัดบุญส่ง ธัมมปาโล เจ้าอาวาสวัดเขาบันไดอิฐ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ได้มาจากนายสนิท ศิริวานิช กำนันตำบลเขาน้อย อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายศุภโยค พาณิชย์วิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี น้อมเกล้าฯ ถวาย สมโภชขึ้นระวาง ณ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 เป็นช้างสำคัญในตระกูลวิษณุพงศ์ จำพวก อัฎฐคช ชื่อดามพหัสดินทร์

 10. พระบรมนัขทัศฯ

          ช้างพลายเผือกเล็บครบ ลูกเถื่อน ชื่อดาวรุ่ง พระปลัดบุญส่งธัมมปาโล เจ้าอาวาสวัดเขาบันไดอิฐ ได้มาจากราษฎร อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้นำมาเลี้ยงไว้ที่วัดเขาบันไดอิฐ คู่กับช้างพัง "ขวัญตา" นายศุภโยค พาณิชย์วิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี น้อมเกล้าฯ ถวาย สมโภชขึ้นระวาง ณ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 เป็นช้างสำคัญในตระกูลวิษณุพงศ์ จำพวกอัฎฐคช ชื่อครบกระจอก เป็นช้างที่มีเล็บครบ 20 เล็บ คือเท้าละ 5 เล็บทั้ง 4 เท้า

          จากข้อมูลดังกล่าวเบื้องต้นจะเห็นได้ว่า ช้างเผือก ถือเป็นช้างสำคัญหายาก ที่อยู่คู่บารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาช้านาน และข่าวการค้นพบช้างเผือกในครั้งนี้ หากพบว่าเป็นช้างเผือกจริง อาจเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ประชาชนจะมีโอกาสได้ชมพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ ซึ่งหาดูได้ยากอีกด้วย

 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน , สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน , สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน  
 

24 เม.ย. 56 เวลา 11:59 1,142 50
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...