บุกดินแดน ภูเขาสูงเสียดฟ้า ลิ้มเสน่ห์ "สะเมิง" เจ้ายุทธจักรสตอเบอร์รี่ อร่อย(ที่)สุด@ไทยแลนด์

 

เรื่อง:  ภาพ  ปรีชยา ซิงห์

 

 


"คนที่มาสะเมิง ต้องชอบธรรมชาติ เพราะไม่มีความเจริญใดๆ เหมือนที่อื่น...."

 

 

คำพูดเนิบๆ สไตล์หนุ่มใหญ่ชาวล้านนา   เจือด้วยใบเปื้อนยิ้มเล็กๆ ของ "อนุพงษ์ วาวงศ์มูล" นายอำเภอสะเมิง    ยังก้องอยู่ในสมอง  ขณะฉันกำลังคัดเลือกรูปภาพผลสตอเบอร์รี่โตๆ สีแดงสดๆ มากมาย  มาประกอบสกู๊ปข่าว


กลิ่นเจ้าผลไม้เมืองหนาว ของโปรดใครหลายคนชนิดนี้ ชวนให้อุปทาน(ไปเอง) ว่า ความหอมของสตอเบอร์รี่เต็มตะกร้า ยังติดอยู่ตรงที่ปลายจมูกไม่หายไปไหน 

 

 

 


 ยิ่งคิด ยิ่งกระตุ้นอารมณ์เตลิด  ครบ 1 เดือนแล้วสินะกับการไป ศึกษาดูงานบทบาทของฝ่ายปกครองในการส่งเสริมอาชีพและการท่องเที่ยว การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม    ณ   อำเภอสะเมิง-อำเภอกัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่   ระหว่าง  15-17 กุมภาพันธ์ 2556 ที่เพิ่งผ่านพ้นมา

 

 

 

 

 

ดำรงค์ สิริวิชัย อิ่มวิเศษ เลขานุการกรมการปกครอง

 

 

หลุดเขตสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ ในช่วงสายถัดจากวันแห่งความรักไป 1 วัน     รถตู้สีขาวไม่กี่คัน ขับเคลื่อนพาชาวคณะสื่อมวลชน และ เจ้าหน้าที่ของกรมการปกครอง นำโดย ท่านฯ ดำรงค์ สิริวิชัย อิ่มวิเศษ   คดเคี้ยวไปตามเส้นทาง จากตัวเมืองเชียงใหม่ มุ่งสู่ทิศตะวันตก ตามถนนบนถนนสาย 1096   สะเมิง-แม่ริม    ค่อยๆ ไต่ระดับความสูง   วนโค้งเขาสลับไปมา  ชันบ้าง ราบบ้าง ลัดเลาะผ่านหมู่บ้านน้อยใหญ่     

 

 

 

ทิวทัศน์ต้นไม้เขียวชอุ่ม สลับกับสีสันของดอกไม้ป่า  สองข้างทาง เพลินตา อิ่มใจในห้วงอารมณ์ของคนเมืองห่างไกลธรรมชาติบริสุทธิ์แท้ๆ อย่างฉันยิ่งนัก 

 

 

 

 ไม่ทันจะเกิน1 ชั่วโมงไปกี่นาทีดี  ดินแดน "ภูเขาสูงเทียมฟ้า"   จุดหมายที่ใครหลายคนอยากจะดั้นด้นขึ้นมาหาความสงบ   ก็มาสยบอยู่ตรงหน้า

 

 

  "สะเมิง"   ช่างเงียบสงบ ราวต้องมนต์ขลัง   ชวนหลงใหลยิ่งนัก

 


สายหมอกบางๆ ของสะเมิง   โอบล้อมพื้นที่  1,002  ตารางกิโลเมตร  ที่เต็มไปด้วยป่าเขากว่า 80% ไว้อย่างเงียบเชียบ   

 

 

 

 

 

"สะเมิง" จึงเป็นหนึ่งสวรรค์ในฝัน ของนักเดินทาง ที่ดั้นด้นมาพักพิงเร้นกายหาความสงบ  แท้จริง

 

 

 

 

" มาสะเมิง ต้องตั้งใจมา..."

 

นายอำเภอ อนุพงษ์   กล่าวตอนหนึ่ง ขณะบรรยายสรุปต้อนรับ   ก่อนที่เราชาวคณะทั้งหมด จะลงตะลุย สวนดอยแก้ว   ศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตร ตามเศรษฐกิจพอเพียง    ที่มีปราชญ์ชาวบ้าน วิทยา นาระต๊ะ   เป็นเจ้าของพื้นที่ปลูกสตอเบอร์รี่กว่า 20 ไร่  บนต.บ่อแก้ว แห่งนี้   

 

 

หากจะพูดว่า  อ.สะเมิง  เป็นเจ้ายุทธจักรสตอเบอร์รี่ ก็ดูจะไม่ผิดไปนัก  ด้วยความสด   รสชาติหอม หวาน  อร่อยละมุน  ทำให้สตอเบอร์รี่ ที่นี่   เป็นผลไม้ขึ้นชื่อของ จ.เชียงใหม่  และยังโด่งดังไปทั่วโลก   ทั้งยังมีเนื้อที่ปลูกมากกว่า 3,000 ไร่  มากที่สุดในประเทศ     สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรใน อ.สะเมิง กว่า 300-400 ล้านบาทต่อปี 

 

 

 

 

 

วิทยา นาระต๊ะ ปราชญ์ชาวบ้าน เจ้าของสวนดอยแก้ว

 

 


ขณะเพลิดเพลินอยู่ท่ามกลางแปลงสตอเบอร์รี่ ผลเล็กใหญ่ ที่ผลิผล แดงบ้าง  และยังคงสีขาวๆ อมเขียว รอสุกหง่อม  บ้าง ด้วยความตื่นเต้น  พร้อมกับคว้ากล้องคู่ใจ โคลสอัพ รัวชัตเตอร์ จับความงามเหล่านั้นไว้   พลันต้องสงสัยจึงถามเจ้าของสวน  ในฐานะ ประธานชมรมผู้ปลูกสตอเบอร์รี่ ถึงความต่าง ของพันธุ์ 329 กับ พันธุ์พระราชทาน 80  ที่สวนแห่งนี้ปลูกไว้   ก็ได้รับคำอธิบายว่า   พันธุ์ 329 เป็นสตอเบอร์รี่พื้นเมืองดั้งเดิม  ที่นำเข้ามาจากอิสราเอล  แต่ผลของมันจะรูปร่างบานๆ ประหลาด  ไม่สวย   มีรสค่อนข้างเปรี้ยว

 

 

 

 

สตอเบอร์รี่ พันธุ์ 329 รสชาติออกไปทางเปรี้ยว มีรูปร่างประหลาด

 

 

ส่วนพันธุ์พระราชทาน 80   ซึ่งได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของตลาดมากที่สุด   จะเป็นรูปหัวใจ   มีทั้งลูกใหญ่และเล็ก   ผลสวย 

 

สตอเบอร์รี่ พันธุ์พระราชทาน 80 รูปหัวใจ รสชาติหอมหวาน มีทั้งขนาดเล็ก-ใหญ่ กำลังเป็นที่นิยม

 

 

 

 

 เป็นความรู้ ที่ทำให้คนที่ไม่เคยรู้ เก็ตขึ้นมาทันใด

 

 

ที่แท้ สตอเบอร์รี่ ที่ ทางนายอำเภอ และปราชญ์ชาวบ้าน นำมาต้อนรับคณะดูงานของเรา  ก็คือพันธุ์พระราชทาน 80 นีเอง    มิน่าเล่า   ถึงว่ากัดเข้าไปเต็มคำ ทั้งฉ่ำ  ทั้งละมุนลิ้น แทบจะละลายในปาก  ไม่แพ้พันธุ์ที่นำเข้ามาจากเกาหลี และญี่ปุ่น อย่างที่เคยๆ ได้ลอง เชียวล่ะ (กัดไป กัดมา อร่อยกว่าด้วยนะ)

 

สตอเบอร์รี่ พันธุ์พระราชทาน 80 รูปหัวใจ รสชาติหอมหวาน


แปลงปลูกสตรอเบอร์รี่ภายในสวนดอยแก้ว   มีทั้งแบบปลูกเพื่อการค้า  ปลูกให้คนเที่ยวชม และปลูกเพื่อการวิจัย  ทดลองปรับปรุงสายพันธุ์ โดยมีปัจจัยสำคัญคือ สภาพดินที่เหมาะสม บวกกับสภาพอากาศ    ทั้งยังมั่นใจในความปลอดภัยจากสารเคมีได้อีก 100 % เพราะเขาใช้แต่ปุ๋ยชีวภาพ และสารกำจัดศัตรูพืชที่ผลิตขึ้นมาเอง  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


และแม้ สภาพอากาศจะดุแปรปรวน มาตั้งแต่เมื่อช่วงปลายปี 55  หลังฝนผิดฤดูตกลงมาในช่วงหน้าหนาว ทำให้ สตอเบอร์รี่ที่ สะเมิง ออกผลผลิตช้ากว่าทุกปีที่ผ่านมา  ทั้งยังน้อยด้วย   แต่ที่ งานเทศกาลสตอเบอร์รี่และของดีอำเภอสะเมิงครั้งที่ 12  ซึ่งจัดข้างที่ว่าการอำเภอสะเมิง  ในช่วงนี้พอดี  ก็ยังคงคึกคัก  เหมือนเช่นเดือนกุมภาพันธ์  ของทุกปี  

 

 

 

 

 


แน่นอน คณะของเราครั้งนี้ ได้มีโอกาสได้ไปชะแว๊บๆ  ตื่นตากับสตอเบอร์รี่สดๆ หลากสายพันธุ์    ปลอดสารพิษ   รวมถึงสตอเบอร์รี่แปรรูปต่างๆ  เป็นสินค้าโอท็อป    ทั้งแบบอบแห้ง แช่อิ่ม   หรือนำไปทำเป็น แยม เหล้า  ไวน์    วางเรียงรายออกร้านกลายเป็นถนนสตอเบอร์รี่    ที่สำคัญราคาถูกมากๆ   เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติของอำเภอสะเมิงให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย   เชื่อมโยงไร่สตรอเบอร์รีกับธุรกิจการท่องเที่ยวในรูปแบบ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร และส่งเสริมอนุรักษ์วัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีชาวพื้นเมืองและชนเผ่าต่างๆ  อย่างมาก

 

 

 

 

 

 

 

 

นับเป็นผลสำเร็จของภารกิจกระทรวงมหาดไทย  ที่ทุกฝ่าย พร้อมใจ ร่วมแรงกันพัฒนาพื้นที่อำเภอสะเมิงให้เป็นแหล่งปลูกสตรอเบอร์รีที่ใหญ่ที่สุดของไทย  โดยยึดตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว    

 

 

 

 

 


การได้มาเยือนสะเมิงครั้งแรก แม้นจะขลุกขลักด้วยความยากลำบากของเส้นทางนิดๆ   แต่กลับจุดประกายให้ฉันอยากจะหาโอกาสเพื่อมาเยือนอีกหลายๆ ครั้งต่อไป    ผลสตอเบอร์รี่มากมาย และอัธยาศัยไมตรี ที่แสนเป็นมิตรของผู้คนที่นี่   สะท้อนจริตคนเมืองที่ย่ำต๊อกอยู่กับการแข่งขัน  ให้สดชื่นดื่มด่ำกับชีวิตเรียบง่าย ที่พึ่งพิงเพียงกลไกลของธรรมชาติ  ไม่ต้องทะเยอทะยานในวัตถุแบบที่เคยคุ้นอยู่อย่างทุกวันนี้

 

 

 

เป็นชีวิตปราศจากการปรุงแต่ง ที่สุขน่าอิจฉายิ่งเสียจริง   

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...